นายอัจฉริยะ พาตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงหมูและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ที่ได้ความเดือดร้อนจากการนำเข้าหมูเถื่อน ติดโรค เข้าร้องดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ เบื้องต้นพบว่ามูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้าน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 พ.ค. 2566 ที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ สุทัศน์ ตั้งธโนปจัย กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พาตัวแทนเกษตรกร ผู้เลี้ยงหมู ประมาณ 50 คน เดินทางมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งวัฒนะ เพื่อเข้าพบ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ และนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.กองภาษีอากร ดีเอสไอ หลังได้รับความเดือดร้อนจากการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่ติดโรคและสำแดงเอกสารเท็จผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยเลี่ยงภาษี ผ่านด่านท่าเรือแหลมฉบังและอื่นๆ มูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านบาท เพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษ

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวว่า ช่วงตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีบริษัทเอกชนร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุน ทำเอกสารเท็จลักลอบการนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนไม่ผ่านการตรวจสอบโรคระบาดจากกรมปศุสัตว์ เข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 65 ตำรวจ ปคบ. พร้อม กรมปศุสัตว์ สามารถจับกุมบริษัทชิปปิ้งแห่งหนึ่งที่ จ.สมุทรสาคร ยึดอายัดตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 11 ตู้เป็นเจ้าของเดียวกัน และแจ้งข้อหาเอาผิดได้เพียง 1 ตู้ นอกจากนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ 3 ตู้ใน 11 ตู้ มีเอกสารเท็จเลี่ยงภาษีกรมศุลกากรและกรมสรรพากร ขณะนี้กำลังขยายผลเอาผิดบริษัทชิปปิ้งหลายอื่น ซึ่งผ่านเข้ามาทางด่านท่าเรือแหลมฉบัง

นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบใบเอกสารที่ยึดได้ของบริษัทชิปปิ้งดังกล่าว อ้างว่าเป็นการนำเข้าอาหารแช่แข็งประเภทเนื้อหมูจากเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่บริษัทชิปปิ้ง สำแดงเอกสารเท็จ เป็นนำเข้าจากฮ่องกง และเปลี่ยนเป็นนำเข้าประเภทพลาสติก (โพลิเมอร์ของโพรพิลีน) ทำให้มูลค่าเสียภาษีลดลง เบื้องต้นพบว่ายังมีการนำเข้าผ่าน 4 ด่านกรมศุลกากร คือ 1.ด่านท่าเรือแหลมฉบัง 2.ด่านมุกดาหาร 3.ด่านสะเดา จ.สงขลา และ 4.ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่เกี่ยวข้อง

...

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มีตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างอยู่ที่ด่านกรมศุลกากรอีก 161 ตู้ พบเนื้อหมูลักลอบนำเข้ามา 4.5 หมื่นกิโลกรัม คิดเป็นความเสียหายราคาตลาดกิโลกรัมละ 100 บาท และค่าภาษีตู้ละ 2 แสนบาท ความเสียหายกว่า 4 พันล้านบาท โดยวันนี้มาร้องเรียนดีเอสไอเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทชิปปิ้ง และนายทุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

ด้าน นายสัตวแพทย์ สุทัศน์ กล่าวว่า การลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนดังกล่าวสร้างความเสียหายทั้ง ผู้ประกอบการ เกษตรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ และชาวไร่ชาวนาผู้ปลูกข้าวโพดหรือมัน เป็นผลิตอาหารสัตว์ เป็นปัญหาระดับชาติ ส่งผลกระทบต่อราคาขายตามท้องตลาดไม่สามารถขายได้ตามปกติ นอกจากนี้ พบว่ามีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศมาขายในท้องตลาดเมืองไทยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เดือนละประมาณ 1,000 ตู้ หรือเฉลี่ย 6-7 ล้านตัว เมื่อปี 65 ซึ่งเกรงว่าอาจไม่ปลอดภัยเพราะไม่ผ่านการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า เบื้องต้นพบว่ามูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้านบาท โดยดีเอสไอจะสืบสวนสอบสวน พร้อมรวมรวมพยานหลักฐานว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้นจะพิจารณารับเป็นคดีพิเศษตามขั้นตอนต่อไป.