ตำรวจไซเบอร์เตือนภัยประชาชน SMS แจกอั่งเปาฟรี วันตรุษจีน โดยแนบลิงก์ให้กด อาจถูกล้วงข้อมูลจากมิจฉาชีพ พร้อมแนะ 7 แนวทางป้องกัน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 มกราคม 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสใช้เทศกาลสำคัญก่อเหตุหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
วันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีนถือเป็นเทศกาลที่สำคัญ มีการเฉลิมฉลองกันในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยวันตรุษจีนปีนี้ ตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2566 ตามธรรมเนียมจะเป็นวันที่จะไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือคนที่เรานับถือ รวมถึงมีการมอบอั่งเปาให้ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่มอบให้เด็ก ลูกหลานมอบให้พ่อแม่ เป็นต้น แต่ก็เป็นหนึ่งในแผนประทุษกรรมเดิมๆ ของมิจฉาชีพที่นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชน
โดยมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสดังกล่าวส่งลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) อ้างว่าทานได้รับอั่งเปาฟรี ได้รับสิทธิพิเศษ หรือได้รับเงินรางวัลต่างๆ มิจฉาชีพจะหลอกลวงประชาชนคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ปลอม หลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงิน เช่น ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิตหรือเครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปเข้าถึงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น ใช้บัตรเดบิตหรือเครดิตรูดชำระค่าสินค้า หรือถูกโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย
โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ
...
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวังตรวจสอบให้ดี ตระหนักถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมิจฉาชีพมักจะใช้ความโลภของเหยื่อเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ใช้สถานการณ์สำคัญๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามวันเวลาเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น กรณีประชาชนหลายรายถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร หลอกให้กดลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน สุดท้ายสูญเงินเป็นจำนวนมาก
จึงฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกัน ดังนี้
1. ระมัดระวังการกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือการดาวน์โหลดแอปพลิชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ
2. ตรวจสอบหมายเลขที่ส่งข้อความมาให้แน่ชัด ว่ามาจากหน่วยงานใด
3. เพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือ URL อย่างละเอียด
4. ระมัดระวังเว็บไซต์ปลอม หรือเว็บไซต์เลียนแบบ หากต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บด้วยตนเอง
5. หากผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลไปยังเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวแล้ว ให้รีบทำการเปลี่ยนรหัสผ่านทันที ทั้งเว็บไซต์ธนาคารจริง อีเมล สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
6. ติดตั้ง และหมั่นอัปเดตโปรแกรม Anti-Virus อยู่เสมอ
7. แจ้งเตือน และเผยแพร่ไปยังคนใกล้ตัว หรือผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ