"นครบาล" ประกาศบังคับใช้กฎหมายจราจรเด็ดขาด ใครโดนใบสั่งแล้วไม่จ่ายค่าปรับ ได้ใบเตือนก่อน 1 ครั้ง หาก 15 วันยังเฉย ถูกพนักงานสอบออกหมายเรียก ครบ 2 ครั้ง ไม่มาโดนหมายจับ เตือน เสียประวัติ สมัครงานยาก ทำนิติกรรมลำบาก เดินทางไม่สะดวก มีผลวันนี้

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ดูแลงานจราจร พร้อมด้วย พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. ร่วมประชุมกับรอง ผบก.จร, และ รอง ผบก.น.1-9 และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบงานจราจร กรณีการบังคับใช้กฎหมายกรณีประชาชนไม่มาชำระค่าปรับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก

โดยพล.ต.ต.จิรสันต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีปัญหาอุบัติเหตุจราจรค่อนข้างมาก สาเหตุเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่มีการมาชำระค่าปรับและกระทำผิดซ้ำ ทาง บช.น. ภายใต้นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. สั่งกำชับการปฏิบัติ ให้ทาง บช.น. มีแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด หลังที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรแล้วไม่ไปชำระค่าปรับจำนวนมาก และยังคงมีพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและเกิดปัญหาการจราจร สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง บช.น.จึงได้กำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีวินัยจราจร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครได้ในระดับหนึ่ง โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้าและความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับการกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นกรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจรจะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง หรือใบเตือน 1 ครั้ง โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่ง โดยให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยผู้กระทำความผิดสามารถเลือกชำระค่าปรับ ได้ที่สถานีตำรวจทุกสถานีทั่วประเทศ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของธนาคารกรุงไทย, เคาเตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์ PTM และทางไปรษณีย์

...

“จากนั้นกรณีพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ ส่วนกรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตาม ม.155 “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองที่สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หรือหมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ ตามที่กล่าวมาได้” รอง ผบช.น.ดูแลงานจราจร กล่าว

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลของการถูกออกหมายจับในคดีอาญานั้น เมื่อถูกออกหมายจับแล้ว จะถูกบันทึกในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวบุคคลที่มีหมายจับได้ทั่วราชอาณาจักร โดยใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมฐานข้อมูล หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับกุมจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเกิดความยากลำบากในเรื่องการเดินทาง ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีที่หน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญาว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับ เกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม เนื่องจากถูกออกหมายจับมีชื่ออยู่ในทะเบียนกลางทำนิติกรรมต่างๆ ไม่ได้ และกรณีผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองหรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกัน หากประชาชนมีข้อสงสัยว่ามีใบสั่งค้างชำระหรือไม่  โดยความมุ่งหวังให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และขอความร่วมมือทุกท่านในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เพื่อช่วยกันลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาการจราจรที่เกิดจากการไม่เคารพกฎหมายจราจรและไม่มีวินัย เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดภัยและน่าอยู่ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทาง Facebook และ Twitter 1197

เมื่อถามว่า มาตรการเริ่มตั้งแต่วันนี้หรือย้อนหลังใบสั่งต่างๆ ด้วยนั้น พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะทำการตรวจสอบใบสั่งไม่ตรวจอายุความ เน้นบุคคลกระทำความผิดซ้ำๆ บ่อยครั้งก่อน สำหรับคนที่จ่ายค่าปรับแล้วจะถูกถอนประวัติการดำเนินคดีหรือไม่นั้น การดำเนินการมีการแจ้งให้ชำระภายใน 7 วัน ตรวจสอบอีก 30 วัน กรณีไม่จ่ายค่าปรับจะยังไม่ถูกออกหมายจับ กรณีการออกใบเตือนภายใน 15 วัน ครั้งที่ 1 แต่หากยังไม่มาจ่ายค่าปรับจะแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี หากออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ไม่มาจ่าย ทางพนักงานสอบสวนจะขออนุมัติศาลออกหมายจับกรณีดังกล่าว หลังจากจ่ายค่าปรับแล้วก็จะทำเรื่องถอนหมายจับดังกล่าวออกจากระบบ ส่วนใบสั่งที่หมดอายุความแล้วจะไม่กระทำกับการดำเนินการดังกล่าวนั้น ดำเนินการภายในเขตกรุงเทพมหานคร ยอดสูงสุดของคนที่ไม่จ่ายมากที่สุดคือ 59 ใบ ยังไม่ได้ตรวจสอบทุกพื้นที่จึงเชิญเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่ามีพื้นที่อื่นๆ อีกหรือไม่ เพื่อดำเนินการมาตรการดังกล่าวต่อไป

...