รองโฆษก ตร.เผย ผบ.ตร.กำชับทุกหน่วยออกตรวจสอบ กวดขันสถานประกอบการ แหล่งมั่วสุม หรือสถานที่ที่มีประชาชนแออัดจำนวนมาก หากพบการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด หลัง ศบค.มีมติคลายล็อกวันนี้
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงตามที่มีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 45) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อผ่อนปรนให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติมากขึ้น พร้อมได้กำชับทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ลงไปกำกับดูแล พร้อมกำชับการปฏิบัติของทุกหน่วยในสังกัดที่เกี่ยวข้อง โดยให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ สร้างการรับรู้ มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสตามแนวทางของ ศบค. และตามประกาศ คำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด รวมถึงการออกตรวจสอบ กวดขัน พร้อมให้คำแนะนำ สถานประกอบการ ร้านค้า ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ประกาศ ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 45) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
...
ซึ่งมีสาระสำคัญด้วยกัน 3 ด้านคือ 1.การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม แบ่งเป็น พื้นที่เฝ้าระวังสูง 46 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวัง 14 จังหวัด พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่)
2.การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ของมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถาการณ์ระดับต่างๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) และ (ฉบับที่ 44) ยังคงมีผลใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนด (ฉบับที่ 45)
3.มาตรการควบคุมและป้องกันโรคสำหรับสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร มาตรการควบคุมและป้องกันโรคสำหรับสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร์โรคทั่วราชอาณาจักร สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วราชอาณาจักร ที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังและเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งผ่านการตรวจมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้ว และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมกรโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี สามารถยื่นเรื่องขอเปิดให้บริการได้ โดยผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ต้องจัดเตรียมสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID - Free Setting) และต้องกำกับดูแลความพร้อมของบุคลากรผู้ให้บริการและผู้เข้ารับบริการให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และมาตรการป้องกันโรคต่างๆ ตามที่ราชการกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ ดังนี้
1. เปิดให้บริการ จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 24.00 น. และงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความแออัด
2. ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการ (พนักงาน นักร้อง นักดนตรี บุคคลที่เกี่ยวข้อง) ต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์และฉีดเข็มกระตุ้น รับการตรวจ ATK ทุก 7 วัน และคัดกรองความเสี่ยงด้วย Thai Save Thai (TST)
3. ผู้ประกอบการ ต้องจัดให้มีการตรวจสอบประวัติการรับวัคซีนของผู้รับบริการ โดยต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์และเข็มกระตุ้นเท่านั้น และผู้รับบริการต้องปฏิบัติตามมาตรการ (Universal Prevention) รวมถึงแนะนําให้ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ที่จะมีอาการรุนแรง หรือความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต (กลุ่ม 608) เลี่ยงการเข้าใช้บริการสถานที่ดังกล่าว
รวมถึงกิจการอื่นที่สามารถเปิดดำเนินการได้และได้ขออนุญาตเปิดกิจการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ได้แก่ สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย ตัดผม ทำเล็บ สัก สปา นวดแผนไทย ยิม ฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ โรงมหรสพ โรงละคร สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบสมุนไพร เป็นต้น
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่ออีกว่า ขอฝากประชาชสัมพันธ์ให้ประชาชน สถานประกอบการ ปฏิบัติตามคำสั่ง ประกาศ ข้อกำหนด ตามที่ ศบค. คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ได้ประกาศออกมา และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
อีกทั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้ทุกหน่วยในพื้นที่เกี่ยวข้องประสานงานกับหน่วยร่วมปฏิบัติในพื้นที่ ออกตรวจสอบสถานประกอบการ แหล่งมั่วสุม หรือสถานที่มีประชาชนแออัดจำนวนมาก หากพบการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้กำชับตำรวจทุกนายห้ามมีส่วนข้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดทุกรูปแบบไม่ว่าจะโดยตรง หรือทางอ้อม หากตรวจสอบพบว่าพื้นที่ใดปล่อยปละละเลย หรือหย่อนยาน จะพิจารณาดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับต่อไปไม่มีข้อยกเว้น
...
นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.