อัยการสูงสุด ตีกลับสำนวน "กระติก" ข้อหาแจ้งความเท็จ คืนตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกคำรับสารภาพให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้น พร้อมแจงเหตุผล ชี้ คดีมีความยุ่งยากซับซ้อน
ความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโม-ภัทรธิดา หรือนิดา พัชรวีระพงษ์ ที่พลัดตกเรือสปีดโบ๊ตจมแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมืองนนทบุรี
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 5 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานอัยการนนทบุรี นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา นายประยุทธ เพชรคูณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด น.ส.สุภาภรณ์ นิปวณิชย์ อัยการจังหวัดนนทบุรี น.ส.สาวิตรี สัมฤทธิ์สุขโชค อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรี นายชัยวัฒน์ โล่วณิชเกียรติกุล ที่ปรึกษา ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนคดี น.ส.นิดา หรือแตงโม ดาราสาวพลัดตกเรือเสียชีวิต
นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีได้รับคดีบันทึกคำรับสารภาพของผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ระหว่าง พ.ต.ท.สมุทร์ เกตุยา ผู้กล่าวหากับ น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือกระติก ผู้ต้องหาในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาประมาณ 19.00 น. ที่ สภ.เมืองนนทบุรี ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ เมื่อเป็นคดีที่ผู้ต้องหารับสารภาพแล้วเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง พนักงานสอบสวนก็เลยส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาเพื่อฟ้อง ภาษากฎหมายเรียกว่าฟ้องวาจา
นายอิทธิพร กล่าวว่า เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรีได้รับสำนวนนี้แล้ว จะได้มีการประชุมร่วมกันกับอัยการจังหวัดนนทบุรี และอัยการแขวงนนทบุรีหลายๆ ท่าน เมื่อประชุมร่วมกันแล้วพนักงานอัยการเห็นว่าคดีนี้พนักงานอัยการเห็นว่า แม้ว่าพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจนำตัวผู้ต้องหามาให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องศาล โดยไม่ต้องสอบสวนและให้ฟ้องด้วยวาจา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 20 ก็ตาม
...
นายอิทธิพร กล่าวว่า แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่สำคัญที่สังคมสื่อมวลชนให้ความสนใจ เนื่องจากคดีนี้เป็นการกล่าวหาผู้ต้องหาจากการให้การของผู้ต้องหาที่ให้การกับพนักงานสอบสวนสืบเนื่องจากการเสียชีวิตของนางสาวภัทรนิดา หรือแตงโม ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงเพื่อสังคมรับทราบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต และข้อหาอื่นกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ อีกหลายคน
นายอิทธิพร กล่าวว่า ในชั้นนี้สำนักงานอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรียังไม่ทราบข้อเท็จจริงคดีอันเป็นคดีหลัก คือคดีการเสียชีวิตของคุณแตงโม เป็นคดีเอกภาพ หรืออาจมีความเกี่ยวพันกับคดีหลักที่พนักงานสอบสวนกำลังสอบสวนอยู่ในขณะนี้นั้น เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคดีนี้มันมีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อน ซึ่งตามหนังสือสั่งการของสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งแต่ปี 2544 ได้กำหนดการวางแนวทางปฏิบัติไว้ เป็นกรณีในลักษณะเช่นนี้ ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ แต่พนักงานอัยการจะไม่ยื่นฟ้องตามบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหา โดยคืนตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกคำรับสารภาพให้พนักงานสอบสวนไปทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียก่อน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วให้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อไป
นายอิทธิพร กล่าวว่า ดังนั้นในวันนี้สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงจึงมีคำสั่งให้คืนตัว น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือกระติก พร้อมบันทึกคำให้การรับสารภาพให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ไปทำการสอบสวนต่อไป คือให้กลับไปทำการสอบสวนให้เต็มรูปแบบ แล้วค่อยส่งคืนมาให้พนักงานอัยการ
นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปกติแล้วถ้าเป็นกรณีผู้ต้องหาให้การรับสารภาพและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการคดีศาลแขวง โดยทั่วไปถ้าไม่ยุ่งยากซับซ้อนเราก็จะยื่นฟ้องวาจาส่งต่อศาลได้ทันทีภายใน 48 ชั่วโมง ตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่เรื่องนี้เป็นกรณีที่พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนตลอดจนสังคมได้ติดตามข่าวสารมาเป็นระยะ การให้การที่ถูกกล่าวหาว่าให้การเท็จครั้งนี้ สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของแตงโม ดังนั้นคดีหลักมันอยู่ในข่ายคดีเอกภาพตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา 2564 ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ที่พนักงานอัยการไปรู้ข้อเท็จจริงในส่วนอื่นที่จะทำให้การพิจารณาคดีเป็นตัวอย่างถี่ถ้วนรอบคอบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเคยมีหนังสือเวียนสั่งการจากสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าหากมีการบันทึกฟ้องวาจาแต่หากเป็นคดียุ่งยากซับซ้อนไม่จำเป็นต้องฟ้องวาจาต่อศาลทันที จะให้นำสำนวนกลับไปสอบสวนให้เสร็จสิ้น
นายประยุทธ กล่าวว่า หนังสือเวียนดังกล่าวสืบเนื่องจากเคยมีคดีบันทึกฟ้องวาจา ส่งพนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกายตาม ป.อาญา 295 ซึ่งส่งฟ้องไปเพราะผู้ต้องหารับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุกแต่รอลงอาญา จากนั้นคนถูกทำร้ายพิการบาดเจ็บสาหัสไม่สามารถที่จะฟ้องได้อีก เพราะกลายเป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4)
นายประยุทธ กล่าวอีกว่า สำนวนคดีนี้แม้จะเป็นการฟ้องด้วยวาจาได้ แต่เมื่อฟ้องแล้ววันนี้มันมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อความยุติธรรม ตรงนี้ต่างหากที่เราห่วง สมมติว่าจำเลยให้การรับสารภาพ คำตัดสินของศาลที่เสร็จเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงใหม่มันไม่สามารถที่จะรื้อร้องฟ้องได้อีก เพราะมันเป็นการฟ้องซ้ำนี่คือประการที่ 1
ประการที่ 2 แนวตัดสินของศาลในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐาน อาจจะเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นๆ ด้วย ทั้งหมดนี้คือที่พนักงานอัยการบอกว่าเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ให้กลับไปสอบสวนใหม่ให้สิ้นกระแสความ กลับมาใหม่ส่งมาใหม่ถามว่าเสียหายไหม ไม่เสียหายเพราะหลักฐานเดิม รูปแบบต่างๆ เป็นเหมือนเดิม เราก็ฟ้องตามที่เขารับสารภาพ แต่ถ้าจะฟ้องตรงนั้นกฎหมายเพิ่มเติมถ้าจะฟ้องตรงนั้น ต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดให้ฟ้อง เพราะฉะนั้นสังคมอย่าได้คลางแคลงเพราะสิ่งที่เราทำอยู่นี้อยู่บนตระหนักถึงการอำนวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นเอง ก็ส่งกลับไปให้พนักงานสอบสวนทำเสียใหม่.