"รองฯกอล์ฟ" พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม.ชี้แจงกรณีปรากฏกระแสข่าวส่งต่อทางสังคมออนไลน์ เศรษฐีอินเดียจํานวนมากแห่เดินทางมารักษาโควิด-19 ในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น., พล.ต.ท.โส.ภณรัช สิงหจาร แพทย์ใหญ่ (สบ 8) โรงพยาบาลตํารวจ และ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. แถลงข่าวการดําเนินงานของ ตร. ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ห้องศรียานนท์ อาคาร 1 ตร.
พล.ต.ต.อาชยน ชี้แจงกรณีปรากฏกระแสข่าวส่งต่อทางสังคมออนไลน์ ว่าเศรษฐีอินเดียจํานวนมากแห่เดินทางมารักษาโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การคัดกรองคนไทยและคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ เริ่มตั้งแต่ก่อนการเดินทาง โดยสถานทูตไทยจะคัดกรองก่อน สถานทูตไทยในประเทศต้นทาง จะตรวจสอบก่อนว่าคนต่างชาตินั้น ได้ผ่านการรับรองการตรวจเชื้อโควิดมาก่อน โดยต้องมีเอกสารยื่นกับสถานทูต ดังนี้
1. ผลการตรวจแล็บโควิด PCR test มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง (COVID FREE) เพื่อยืนยันว่า ปลอดภัยจากเชื้อ โควิด-19
2. ต้องมีประกันกรณีติดเชื้อโควิดภายหลัง ทุนประกัน วงเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
จากนั้นสถานทูตจึงจะออกใบรับรองให้เดินทางเข้าไทย หรือ COE (Certificate of Entry) ซึ่งจะมีข้อมูล สถานที่ State Quarantine ในไทยระบุไว้ สําหรับแสดงเมื่อเดินทางเข้าไทยด้วย แต่คนต่างชาตินั้น ต้องอยู่ในเงื่อนไข VISA ที่รัฐบาลอนุญาตด้วย เช่น VISA ประเภททูต เจ้าหน้าที่รัฐ ทําธุรกิจ มีครอบครัวไทย มีถิ่นที่อยู่ใน ไทย รวมถึงกรณีที่รัฐบาลโดย ศบค. อนุญาตภายใต้ข้อตกลงพิเศษเช่น กลุ่มนักลงทุน เป็นต้น
...
ส่วนกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อโควิด-19 เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ สามารถขอ VISA เข้าไทยได้เพื่อรักษาพยาบาล และเข้ารับการรักษา แบบ HQ หรือ AQ ที่โรงพยาบาลที่รักษา ซึ่งต้องมีหนังสือรับรอง จาก รพ.ประเทศต้นทาง (กรณีมารักษาตัว)
โดยกลุ่มคนเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาล อยู่ในกลุ่มคน ลําดับ ที่ 10 ตามข้อกําหนด ฉบับที่ 12 และ 13 ออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คําสั่ง ศบค.ที่ 4/2564 ลง 31 มี.ค.64
พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่าในส่วนภารกิจของ ตม. ที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ช่วยเหลือด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ในการช่วยตรวจคัดกรอง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนเข้าประเทศ โดยจะตรวจเอกสารที่สถานทูตออกให้ หรือ COE อีกครั้ง โดย ตม. จะดูเงื่อนไข VISA ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ และตามที่ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ กําหนด เป็นหลัก หากผิดเงื่อนไข ก็ปฏิเสธการเข้าเมือง คนต่างชาติต้องเดินทางกลับ
โดยการเข้าประเทศตามเงื่อนไข พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของสัญชาติอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 1-20 เม.ย 64 แยกเป็น
1. เข้ามาทํางาน 426 ราย
2. เข้ามาภายใต้ข้อตกลงพิเศษ 110 ราย เป็นกลุ่มนักลงทุน นักธุรกิจ เป็นต้น
3. มีคู่สมรส บิดามารดาหรือบุตรของคนไทย จํานวน 30 ราย
4. นักเรียนนักศึกษาตลอดจนบิดามารดาของบุคคลดังกล่าวจํานวน 16 ราย
5. มีถิ่นที่อยู่ในไทยตลอดจนคู่สมรสและบุตร จํานวน 10 คน
6. คณะทูต ผู้แทนรัฐบาล จํานวน 8 คน
7. รักษาพยาบาล โรคที่ไม่ใช่โควิด-19 ในประเทศไทยและผู้ติดตาม จํานวน 2 คน
สําหรับลําดับสัญชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1-20 เม.ย. 64 เรียงตามลําดับจากมากสุด ไปน้อย อินเดียจะอยู่ลําดับที่ 7 คือ
1. ไทย จํานวน 7,176 ราย
2. จีน จํานวน 2,148 ราย
3. ญี่ปุ่น จํานวน 1,700 ราย
4. สหรัฐอเมริกา จํานวน 1,153 ราย
5. อังกฤษ จํานวน 617 ราย
6. เยอรมนี จํานวน 608 ราย
7. อินเดีย จํานวน 602 ราย
พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. กล่าวว่า สตม. จึงขอเรียนให้ทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทําความผิดต่างๆ รวมทั้งการดําเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทําผิดกฎหมาย ก่อเหตุ อันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือทําให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หากประชาชนท่านใดพบเบาะแสในการกระทําความผิด กรุณาแจ้งมายัง สํานักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลข 1178