วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรม ไฟไหม้ตึกถล่ม ในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 ยังระบุไม่ได้มีการต่อเติมอาคารหรือไม่ ต้องขอดูแปลนบ้านเพื่อถอดบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต ขณะที่ตำรวจสอบปากคำผู้ที่พักอาศัย พร้อมเก็บเซิร์ฟเวอร์หาหลักฐานคลี่คลายประเด็นสงสัย ถูกวางเพลิงหรือไม่
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 4 เมษายน 2564 พ.ต.อ.ชาญฤทธิ์ ทรัพย์สมบัติ ผกก.สน.ธรรมศาลา พ.ต.อ.พนภัสส์ คุมพล ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.น.7 และพนักงานสอบสวน สน.ธรรมศาลา เดินทางมาสอบปากคำผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุถล่มในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 เขตทวีวัฒนา ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในประเด็นที่ยังตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นการวางเพลิงหรือไม่
เบื้องต้น จากการสอบสวนผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ให้การตรงกัน ว่าก่อนเกิดเหตุเห็นเปลวไฟลุกขึ้นจากป้อมยามเก่า ซึ่งใช้เป็นห้องเก็บของ ขนาด 3 คูณ 3 เมตร ภายในมีท่อพีวีซี ปั๊มลมเสียบปลั๊กไว้ตลอด เผาเบาะรถตู้ พนักงานช่วยกันใช้ถังดับเพลิงฉีด และเอาลูกบอลดับเพลิงปาเข้าไปหลายลูก แต่ไม่เป็นผล เป็นเหตุให้ถังลมระเบิด ทำให้เปลวไฟพุ่งเป็นลำเข้าสู่ตัวบ้าน โดยเผาเบาะรถตู้ที่วางติดตัวบ้าน แล้วลามเข้าไปเผาอุปกรณ์ว่ายน้ำ ที่ประกอบด้วยตีนกบและเสื้อชูชีพ ที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีทำให้เพลิงลุกลามไปอย่างรวดเร็วจนไหม้หมดทั้งอาคาร
สำหรับภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าบ้าน ไปจนถึงในตัวบ้าน พบว่าตู้เก็บเซิร์ฟเวอร์บันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิด 3 ตัว อยู่บริเวณห้องฝั่งซ้ายของตัวบ้าน คาดว่าไม่ถูกเพลิงไหม้ เพราะเพลิงพุ่งไปทางห้องโถงที่อยู่ด้านขวา จึงต้องรอการรื้อถอนเพื่อนำเซิร์ฟเวอร์ออกมาตรวจสอบภาพต่อไป
ขณะที่ฝ่ายสืบสวน กก.สส.บกน.7 ได้เข้าทำการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ บริเวณประตูทางเข้าหมู่บ้านทั้ง 3 ทาง ที่สามารถเข้ามายังบ้านที่เกิดเหตุได้ เพื่อคลายประเด็นสงสัยกรณีอาจถูกวางเพลิง เนื่องจากเจ้าของบ้านโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าเคยถูกขู่วางเพลิงมาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากฝักใฝ่การเมือง และติดป้ายเกี่ยวกับการเมืองไว้รอบบ้าน
...
ต่อมาเวลา 14.00 น.วันเดียวกัน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมน์ หรือ วสท. พร้อมทีมงานเดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมเปิดเผยว่า วันนี้คงจะตรวจสอบอะไรมากไม่ได้ เนื่องจากสภาพอาคารพังทลายลงมาหมดแล้ว จึงต้องไปหาข้อมูล แบบแปลนการก่อสร้างอาคารว่ามีจุดใดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มลงมา เบื้องต้นประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอแปลนบ้าน เพื่อที่นำไปถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต
ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุว่ามีการต่อเติมอาคาร ตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตหรือไม่ ต้องขอดูแปลนบ้าน อาคารแห่งนี้มีการก่อสร้างในช่วงปี 2554-2555 ซึ่งในช่วงนี้มีเทคโนยีการก่อสร้าง การใช้วัสดุที่ดี ทนต่อไฟอยู่แล้ว จึงต้องดูสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยขนาดของพื้นที่เองก็มีส่วนเกี่ยวข้อง หากพื้นที่แคบจะทำให้อาคารอมความร้อนมากกว่าอาคารที่อยู่ในพื้นที่กว้าง พื้นที่โล่งกว้างจะทำให้ความร้อนกระจายตัวได้มากกว่า
ขณะเดียวกัน วัสดุ สิ่งของที่อยู่ภายในบ้านที่เป็นเชื้อเพลิง เช่น กระดาษ พลาสติกต่างๆ รวมทั้งวัตถุไวไฟ จะเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงได้ถึง 900-1,000 องศา จากปกติที่วัสดุก่อสร้างจะทนความร้อนได้ 300-600 องศาฯ ซึ่งตรงส่วนนี้ทำให้โครงสร้างอาคารเกิดรอยร้าว มีการแยกตัวออกจากกัน ความร้อนจึงเข้าไปในช่องว่าง ทำให้เหล็กเปลี่ยนรูปร่างหรือเปลี่ยนสภาพ ยื้อกันระหว่างจุดที่แข็งแรงของตัวบ้านกับจุดที่อ่อนแอ เป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มลงมา โดยยืนยันว่า อาคารที่มีอายุประมาณ 10 ปีนั้น ถือว่ายังไม่เสื่อมสภาพ หากถ้าก่อสร้างอย่างถูกต้อง จะอยู่ได้ 30-50 ปี
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาคารหลังนี้เสามีขนาดเล็กกว่าคาน รศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะรับน้ำหนักใต้แนวดิ่ง คานจะต้องรับน้ำหนักมากกว่าเสา สำหรับประเด็นการฉีดน้ำดับไฟ ตรงส่วนนี้ยืนยันว่าไม่ส่งผลให้อาคารถล่มลงมา เพราะปูนไม่ดูดซับน้ำ
ส่วนการเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ประโยชน์ของอาคาร จากที่อยู่อาศัยเป็นที่เก็บของ หากไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง.