ผู้เสียหายเข้าร้อง คปภ. นำรถยนต์ทำสีที่อู่ย่านรามอินทรา ช่างแอบนำรถไปจัดฉาก ขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์ลูกค้าคันอื่น เพื่อเรียกเงินค่าสินไหมจากประกันถึง 6 ครั้ง ในเวลา 2 เดือน โดยมีพนักงานของบริษัทประกันภัย ร่วมขบวนการด้วย ชี้พฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อฉล

วันที่ 8 ต.ค. ได้มีผู้เสียหายอ้างว่าถูกเจ้าของอู่รถยนต์แห่งหนึ่งย่านรามอินทรา แอบนำรถไปจัดฉากเฉี่ยวชนกับรถยนต์ลูกค้าคันอื่นที่นำมาซ่อมกับอู่ เพื่อเรียกเงินค่าสินไหมจากบริษัทประกัน เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ ตัวแทนบริษัทประกันภัยรถยนต์ โดยระบุว่า การนำรถออกไปเฉี่ยวชนทุกครั้ง มีพนักงานของบริษัทประกันภัยร่วมขบวนการด้วย

หนึ่งในผู้เสียหาย เล่าว่า ต้องการเปลี่ยนสีรถยนต์โตโยต้า รุ่นโคโรน่า อัลติส จึงเข้าไปติดต่อสอบถามที่อู่รถยนต์ดังกล่าว วันที่ 30 เมษายน 2563 โดยเจ้าของอู่บอกว่าจะทำประกันรถยนต์ให้ 2 บริษัท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลดค่าทำสีให้ พร้อมแจ้งว่าจะใช้เวลาทำสีประมาณ 20 วัน แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดรับรถ ทางอู่กลับบ่ายเบี่ยง บอกว่ายังทำสีรถไม่เสร็จ จนล่วงเลยมากว่า 2 เดือน จึงได้รับรถคืน ซึ่งเมื่อนำรถกลับมาใช้ ก็พบความผิดปกติ

"มีการเปลี่ยนแบต เปลี่ยนล้อ รถสตาร์ตไม่ติด ประตูตก จึงตรวจสอบไปยังบริษัทประกันภัย พบว่ามีการนำรถไปเคลมประกัน เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุถึง 6 ครั้ง โดยที่ไม่ทราบเรื่องมาก่อน ก่อนจะทราบภายหลังว่ามีผู้เสียหายอีกหลายราย ที่ถูกอู่รถดังกล่าวนำรถออกไปเฉี่ยวชน รายละ 6-8 ครั้ง เพื่อรับเงินสินไหมจากบริษัทประกันในหลักแสนบาท จึงตัดสินใจติดต่อสอบถามกับผู้เสียหายรายอื่น และเข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง" 

...

ขณะที่ นายโสรัจน์ สกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เปิดเผยภายหลังรับข้อร้องเรียน ระบุว่า หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะเชิญบริษัทประกัน 3 แห่ง ที่เป็นเจ้าของกรมธรรม์ของผู้เสียหายทั้งหมด มาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมกับผู้ร้อง ในวันที่ 15 ต.ค. 63

สำหรับแนวทางการตรวจสอบ จะมีใน 2 ประเด็น คือ 1. การดูแลคุ้มครองผู้ร้องทั้ง 4 ราย ในเรื่องของเงื่อนไขกรมธรรม์ ในเรื่องของการจัดซ่อม ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์หรือไม่ 2. พฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลเกี่ยวกับการประกันภัย เช่นภายหลังนำรถเข้าซ่อม พบมีการเรียกเคลมหลายครั้ง ซึ่งส่วนนี้ทาง คปภ.มีแนวทางการดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันว่าระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย จะไม่ใช้เวลานาน ขึ้นอยู่กับผลสอบสวนข้อเท็จจริง และข้อมูลที่แต่ละฝ่ายเตรียมมา ซึ่ง คปภ.จะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

นายโสรัจน์ กล่าวต่อว่า การร้องเรียนในลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่ง คปภ.มีแนวทางการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยจะมีการฟ้องร้องในความผิดอาญาตาม พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ