เลขาฯ ศาลยุติธรรมสั่งคุมเข้มหลีกเลี่ยง ข้าราชการเดินทางพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เตือนพวกปกปิดข้อมูลกลับจากประเทศเสี่ยง มีโทษทางอาญา หนัก-เบา ตามผลของการกระทำและความรุนแรงที่เกิดต่อสังคม แพ่งด้วย
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.63 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ศย.005/6ว33(ป) ลงวันที่ 26 ก.พ.63 ถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease2019: COVID-19) ด้วยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ลำดับที่ 14 ตามที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือนระดับ 3 หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น
ในการนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-โควิด-19, ไวรัสโคโรนา, ไวรัสโคโรนา, ไวรัสอู่ฮั่น จึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการดังนี้
1. ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางหรือเลื่อนการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
2. กรณีได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ให้แจ้งสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณายกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางออกไปให้พ้นช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส
3. กรณีที่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างยิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังหรือแวะผ่านประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสได้ ให้แจ้งสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี และเฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 14 วันเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
...
ด้าน ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา เปิดเผยว่า การปิดบังไม่ยอมเปิดเผยว่า ได้เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนตนเองแสดงอาการติดเชื้อและแพร่เชื้อแก่ผู้อื่นนั้น เข้าข่ายเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือตายตาม ป.อาญามาตรา 390 และ 391 มีโทษทางอาญาจะหนัก-เบาตามผลของการกระทำและความรุนแรงที่เกิดต่อสังคม
ส่วนความรับผิดชอบละเมิดทางแพ่ง ถือว่า จงใจฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 หรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง ทำให้ผู้อื่นเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ (ถูกกักตัว) ทางทำมาหาได้ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าทนทุกข์ทรมาน ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะพร้อมดอกเบี้ยอีกด้วย.