มาถึงนาทีนี้ ชาว Social Media ทั้งหลาย คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ลันลาเบล” ผู้หญิงคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของสังคมในยุคที่เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญในการวัดความสุขของผู้คน

“ลันลาเบล” หรือในชื่อจริงว่า “ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์” วัย 25 ปี เสียชีวิตปริศนาอยู่ที่โซฟาในล็อบบี้ของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านบุคคโล หลังจากที่ได้รับงาน “เอนเตอร์เทน” ลูกค้าที่จัดงานปาร์ตี้ในบ้านย่านบางบัวทอง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

การเสียชีวิตของ “ลันลาเบล” ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและชาว Social Media เป็นอย่างมากเพราะเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ปกติและ “มีเงื่อนงำ” ที่ชวนให้สงสัยอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่สาเหตุการเสียชีวิต ความเกี่ยวข้องกับผู้ชายซึ่งจากหลักฐานต่างๆ ชี้ชัดว่า เป็นผู้นำร่างของลันลาเบลมาทิ้งไว้ที่โซฟา และเป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับผู้ตายก่อนที่จะเสียชีวิต

...

แต่ที่สำคัญคือ “ลันลาเบล” มีอาชีพรับจ้างเป็นพริตตี้ ถ่ายแบบ โปรโมตสินค้าและสร้างสีสันให้กับงานต่างๆ ตามแต่จะมีผู้จ้าง จึงถือว่า เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในแวดวง Social Media พอสมควร ทำให้ กรณีนี้ มีองค์ประกอบในเชิงคุณค่าข่าวครบถ้วน ทั้งในด้านความเป็นปริศนาและมีเงื่อนงำ และความมีชื่อเสียงของผู้เสียชีวิต

ยิ่งเป็นยุคที่สื่อต่างแข่งขันกันในเรื่องเรตติ้งและยอดวิว ข่าวการเสียชีวิตของลันลาเบลที่มีองค์ประกอบของข่าวครบทั้งคลิปวิดีโอ และภาพการสนทนาที่เชื่อกันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ชายคนสุดท้ายที่อยู่กับเธอ จึงทำให้ข่าวที่นำเสนอทางโทรทัศน์และทางสื่อออนไลน์มีสีสันและแง่มุมในการเสนอข่าวอย่างหลากหลายทั้งในด้านคดีและประเด็นข้างเคียง เช่น ความเสี่ยงในการประกอบอาชีพของหญิงสาวที่อยู่ในแวดวงเดียวกับผู้ตายและธุรกิจมืดที่เกี่ยวข้อง

แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีพื้นที่ในการเสนอข่าวอย่างจำกัด จึงมุ่งการนำเสนอข่าวเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีความเท่านั้น การเกาะติดข่าวจึงเป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความมีเงื่อนงำของคดี

ดังนั้น ข้อห่วงใยที่เกิดขึ้นจากการเสนอข่าวกรณีการเสียชีวิตของลันลาเบลส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นจากการนำเสนอข่าวของสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ที่มีการเกาะติดถึงพฤติกรรมและชีวิตส่วนตัวของทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ต้องหาในคดีนี้ ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมได้วางหลักในการนำเสนอข่าวลักษณะนี้ไว้ใน “แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว” ที่ร่วมกันกำหนดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

แนวปฏิบัติดังกล่าวระบุว่า ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงเคารพสิทธิส่วนบุคคลในการได้มาซึ่งข้อมูลของผู้ตกเป็นข่าว และในการเสนอข่าวขององค์กรสื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำในการนำเสนอข่าวเชิงตัดสินหรือเกินข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหากระทำผิดไปแล้วหรือเชิงประณามที่เป็นการชี้นำให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชัง

การนำเสนอข่าวหรือภาพข่าวนั้น สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวที่มีลักษณะอุจาด และไม่นำเสนอภาพข่าวศพผู้เสียชีวิต รวมทั้งไม่นำเสนอภาพข่าวของผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นการตอกย้ำความรุนแรงและความทุกข์โศกของญาติ นอกจากนี้ สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลอื่นใดอันอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้น

...

หากนำหลักการที่ในระบุในแนวปฏิบัติดังกล่าวมาเทียบเคียงกับการนำเสนอข่าวในคดีลันลาเบลแล้ว ก็นับว่ามีข้อน่าห่วงใยว่าอาจเข้าข่ายละเมิดแนวปฏิบัตินี้ได้ เช่น การนำเสนอภาพข่าว (คลิป) ของผู้เสียชีวิตทั้งในช่วงที่ถูกลากไปมา และสภาพของผู้เสียชีวิตที่อยู่ในสภาพเหมือนคนไม่มีสติ รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญาติของผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวได้ในอนาคต

ส่วนการป้องกันและแก้ไขไม่ให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่อาจจะเข้าข่ายละเมิดแนวปฏิบัติข้างต้นนั้น สามารถกระทำได้หลายแนวทาง เช่น ผู้เสียหายหรือใครก็ตามที่เห็นว่าการนำเสนอข่าวและภาพข่าวน่าจะละเมิดแนวปฏิบัติซึ่งเป็นส่วนขยายของข้อบังคับจริยธรรม ร้องเรียนไปยังองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องให้สอบสวนหรือตักเตือนองค์กรสื่อมวลชนนั้นๆ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ ชาว Social Media ช่วยกันแสดงความคิดเห็นกดดันให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนดำเนินการตักเตือนองค์กรสื่อมวลชนให้ระมัดระวังการเสนอข่าวและภาพข่าวโดยไม่ต้องให้มีผู้ร้องเรียน ก็สามารถกระทำได้

การร้องเรียนต่อองค์กรวิชาชีพและกดดันองค์กรสื่อมวลชนผ่าน Social Media นับเป็นวิธีการกำกับดูแลสื่อมวลชนไม่ให้นำเสนอข่าวและภาพข่าวที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ตายหรือผู้ต้องหาที่ได้ผลยิ่งกว่าการใช้กระบวนการทางกฎหมายมาดำเนินการเพราะมีความล่าช้าและไม่ได้ผลในเชิงการปฏิบัติได้ในระยะยาว

...

กรณีการนำเสนอข่าวและภาพข่าวในคดีการเสียชีวิตของลันลาเบลจึงน่าจะเป็นกรณีศึกษาและบททดสอบว่า สื่อมวลชนไทยมีระดับของการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้เสียชีวิตและผู้ต้องหามากน้อยเพียงใด รวมทั้งพลังของ Social Media ว่าจะมีมากน้อยเพียงใดหากไม่มีผู้ร้องเรียนและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเองไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา

ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็พอจะประเมินได้ว่า “ชาวเน็ต” ชาวไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะไม่ให้การสนับสนุนสื่อมวลชนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการละเมิดจริยธรรมของสื่อมวลชนเพิ่มขึ้นด้วย...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong