ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิพากษาให้บริษัทสยามสปอร์ตชดใช้เงินแก่บริษัทซีนิเพล็กซ์ 240 ล้าน และให้สมาคมฟุตบอลชดใช้เงินแก่บริษัทสยามสปอร์ต 50 ล้าน กรณีพิพาทลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก

เวลา 12.30 น. วันที่ 23 ส.ค. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อ่านคำพิพากษาคดีแพ่ง หมายเลขดำ ทป 79/2560 และ 32 /2560 ที่บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้องสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จำเลยที่ 1, พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จำเลยที่ 2, นายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ จำเลยที่ 3, นายศุภสิน ลีลาฤทธิ์ จำเลยที่ 4, นายธนศักดิ์ สุระประเสริฐ จำเลยที่ 5, นายวิทยา เลาหกุล จำเลยที่ 6, นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ จำเลยที่ 7, นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ จำเลยที่ 8, นายทรงเกียรติ ลิ้มอนุสรณ์ จำเลยที่ 9, นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล จำเลยที่ 10, นายสมเกียรติ กิตติธรกุล จำเลยที่ 11, นายทรงยศ เทียนทอง จำเลยที่ 12, พล.ร.อ.นาวิน รนเนตร จำเลยที่ 13, นายธวัช อุยสุย จำเลยที่ 14, น.ส.นันทนี วงศ์อำนิษฐกุล จำเลยที่ 15, นายวิชิต คนึงสุขเกษม จำเลยที่ 16, นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล จำเลยที่ 17, นายธนวัชร์ นิติกาญจนา จำเลยที่ 18, นายณัฐ ชยุติมันต์ จำเลยที่ 19 และบริษัทซีนิเพล็กซ์ จำกัด (บริษัทในกลุ่มทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป TVG) จำเลยที่ 20 ตามลำดับ เรื่อง ผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ลิขสิทธิ์สยามสปอร์ต 1,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นกรณีที่ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแลสิทธิประโยชน์สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในสมัยที่ นายวรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมฯ ได้ยื่นฟ้อง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และสภากรรมการชุดใหม่ที่มี พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นนายกสมาคมฯ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ในคดีแพ่ง หมายเลขคดีดำที่ ทป 79/2560 ฐานผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำนวน 1,400 ล้านบาท

...

โดยภายหลังรับฟ้องคดีแล้ว ศาลเห็นว่า คดีทั้ง 2 สำนวน มีประเด็นเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกัน พยานหลักฐานหลักหลายชิ้น เป็นพยานหลักฐานเดียวกันคู่ความหลักบางรายอยู่ในคดีทั้ง 2 สำนวน หากรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน จะเป็นการสะดวกรวดเร็วและก่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมยิ่งกว่าการแยกพิจารณา จึงมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ทป 32/2560 และ 79/2560 เข้าด้วยกันโดยให้เรียกชื่อคู่ความตามที่ปรากฏในคดีหมายเลขดำที่ ทป 79/2560

ในวันนี้ทนายความบริษัท สยามสปอร์ตฯ และสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เดินทางมาฟังคำพิพากษา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว จึงพิพากษาว่า ให้บริษัท สยามสปอร์ตฯ โจทก์ ชำระเงิน 240 ล้านบาท แก่บริษัทซีนิเพล็กซ์ จำกัด จำเลยที่ 20 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 คำขออื่นของจำเลยที่ 20 ให้ยก นอกจากนี้ ให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่บริษัทสยามสปอร์ตฯ จำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรร้อยละ 75 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (27 มิถุนายน 2560) คำขออื่นของโจทก์ให้ยก ส่วนจำเลยที่ 2-20 ให้ยกฟ้อง สำหรับค่าธรรมเนียมศาลทั้ง 2 สำนวน ให้ผู้แพ้ชำระแทนผู้ชนะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามคำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หากคู่ความยังมีประเด็นโต้แย้งก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ศาลอ่านคำพิพากษานี้ (23 ส.ค.2562)

สำหรับคดีดังกล่าวนี้ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ เคยแถลงชี้แจงว่า “สืบเนื่องจากคณะผู้บริหารสมาคมฯ เห็นว่าสัญญามีต่อ หรือมีกับ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับสมาคมฯ เพราะตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นกำหนดระยะเวลา 5 ปี สัญญานั้นได้กำหนดค่าตอบแทนสิทธิประโยน์ให้กับสมาคมฯ ร้อยละ 5 จากรายได้สิทธิประโยชน์ทั้งหมด แต่ทางบริษัท สยามสปอร์ตมิได้จ่ายเงินค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาคมฯ คือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา”

“ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์แล้ว จำนวน 240 ล้านบาท แต่กลับไม่ยอมส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้สมาคมฯ ทำให้สมาคมฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างมาก และสภากรรมการสมาคมฯพิจารณาแล้ว จึงมีมติบอกเลิกสัญญากับ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 7 มีนาคม 2559”

"อีกกรณีคือ เมื่อบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท ฟ้องต่อศาลนั้น กลับนำสัญญาแต่งตั้งผู้บริหารสิทธิประโยชน์ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 50 มาฟ้องสมาคมฯ และเรียกค่าเสียหาย 1,400 ล้านบาท จะเห็นว่าสัญญามีสองสัญญา สัญญาหนึ่ง บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จะต้องจ่าย 5 เปอร์เซ็นต์ แต่อีกสัญญาจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ตั้งแต่ปี 2556 ไม่มีหลักฐานทางบัญชีปรากฏ หรือไม่มีหลักฐานใดๆ ปรากฏว่า บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท ได้มอบเงินค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามสัญญาให้กับสมาคมฯ จึงเป็นเหตุที่สมาคมฯ บอกเลิกสัญญาดังกล่าว"

"แต่เมื่อบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับสมาคมฯ ในการบอกเลิกสัญญา สมาคมฯ ก็ต่อสู้ในประเด็นที่ว่า บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท ไม่ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ ตามเงื่อนไขของสมาคมฯ แต่อย่างใด เป็นระยะเวลา 5 ปี”

ขณะที่ทางบริษัท สยามสปอร์ต จำกัด (มหาชน) โดยนายสรายุทธ มหวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ และ นายทวยเทพ ไวทยานนท์ กรรมการของบริษัท ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อมูลในเรื่องดังกล่าวกับกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสรุปใจความข้อพิพาทว่า กรณีที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กับบริษัท ซีนิเพล็กซ์ จำกัด (บริษัทในกลุ่มทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป TVG) ได้ร่วมกันกระทำผิดสัญญาบริหารสิทธิประโยชน์ ฉบับที่ 1 ฤดูกาลแข่งขัน 2556-2560, สัญญาบริหารสิทธิประโยชน์ ฉบับที่ 2 ฤดูการแข่งขัน 2561-2565 และ สัญญาถ่ายทอดเสียงและภาพการแข่งขันฟุตบอลฯ ฤดูกาลแข่งขัน 2557-2559 (วงเงินสัญญา 1,800,000,000 บาท), ฤดูกาลแข่งขัน 2560-2563 (วงเงินสัญญา 4,200,000,000 บาท) ซึ่งทำให้บริษัทสยามสปอร์ตได้รับความเสียหาย

...

บริษัทฯจึงได้ให้การต่อสู้ในคดี และได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสมาคมฟุตบอล และบริษัท ซีนิเพล็กซ์ จำกัด รวมเป็นเงิน 1,401,220,807.15 บาท พร้อมให้ปฏิบัติตามสัญญาถ่ายทอดเสียงและภาพฯ ในฤดูกาลแข่งขัน 2560-2563 โดยให้ชำระเงินตามสัญญา จำนวน 3,900,000,000 บาท ให้กับบริษัท สยามสปอร์ตฯ ซึ่งทั้งสองคดี ศาลทรัพย์สินฯ ได้มีคำพิพากษาแล้วในวันนี้.