กก.ผจก.“ทีพีเค เอทานอล” พร้อมทนายเข้าให้ปากคำ ปปป. กรณีถูกกรมการค้าต่างประเทศเลือกปฏิบัติตัดสิทธิ์ประมูลข้าวเสื่อมสภาพ ทั้งที่เสนอราคาสูงสุด ข้องใจโดนแจ้งไม่มีคุณสมบัติเข้าเสนอราคา

จากกรณีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดให้เอกชนร่วมประมูลข้าวชนิดที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.60 จำนวน 1.03 ล้านตัน และครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.60 จำนวน 2.12 ล้านตัน อย่างไรก็ดีมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบมาพากล และอาจมีการกีดกันเอกชนไม่ให้เสนอราคาได้นั้น กระทั่งนายสุเมธ เลิศตันติสุนทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีเค เอทานอล จำกัด แถลงข่าวกรณีที่บริษัท ทีพีเคฯ ถูกกรมการค้าต่างประเทศตัดสิทธิ์เข้าประมูลข้าวเสื่อมเพื่อการอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล

ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 ก.ย.60 ที่ บก.ปปป. นายสุเมธ เลิศตันติสุนทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีเค เอทานอล จำกัด พร้อมด้วยนายอาทิตย์ พุ่มเข็ม หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของบริษัท เข้าให้ปากคำกับ พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. พ.ต.อ.จักร เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. พ.ต.อ.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผกก. บก.ปปป. ภายหลังยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของโครงการจำหน่ายข้าวในสต็อกของรัฐ หลังถูกตัดสิทธิ์เข้าประมูลข้าวเสื่อมเพื่อการอุตสาหกรรม

...

นายสุเมธ กล่าวว่า บริษัทฯ ของตนประกอบกิจการผลิตเอทานอลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อทราบข่าวประกาศการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ครั้งที่ 1/2560 จำนวน 1,030,000 ตัน ตนเห็นว่าสามารถใช้ข้าวเสื่อมดังกล่าวเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลได้ จึงเข้าร่วมการประมูลและชนะการประมูลในฐานะผู้เสนอราคาสูงสุด จำนวน 520,000 ตัน ขณะรอการทำสัญญาได้ไปยื่นเสนอราคาซื้อข้าวครั้งที่ 2/2560 ก็ได้รับแจ้งว่าบริษัทถูกตัดสิทธิ์ไม่มีคุณสมบัติเข้าเสนอราคา

"กรมการค้าต่างประเทศให้เหตุผลว่าบริษัทของตนมีความสัมพันธ์กับบริษัทที่เคยก่อให้เกิดความเสียหายกับทางราชการในปี 2537 แต่บริษัทดังกล่าวไม่ได้ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ต้องห้ามเข้าร่วมประมูล ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นธรรม ต่อมาจึงได้ถอดรายชื่อกรรมการบริษัทที่เคยมีรายชื่อเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทที่มีปัญหา แต่ก็ยังถูกตัดสิทธิ์ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทที่ชนะการประมูลก็เคยมีประวัติที่มีความเสียหายให้แก่รัฐชัดเจน ยิ่งกว่ากรณีของตนอีก แต่กลับไม่ถูกตัดสิทธิ์ โดยเคยเป็นผู้ประมูลซื้อข้าวแล้วทิ้งประมูลไปเปิดบริษัทใหม่ มีรายชื่อกรรมการซ้ำกัน 5 คน และมีที่ตั้งโรงงานเป็นที่เดียวกัน ตนจึงขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐานหรือไม่ จึงมาต่อร้องนายกฯ และมาให้ข้อมูลกับ บก.ปปป.ตรวจสอบการระบายข้าวในครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุผิดพลาดซ้ำรอยกับกรณีการระบายขายข้าวแบบจีทูจี" นายสุเมธ กล่าว

พล.ต.ต.กมล กล่าวว่า เป็นการให้สอบปากคำหลังบริษัททีพีเคฯ หลังเข้าร้องเรียนที่สำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากนี้จะนำข้อมูลไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป.