ยางรถยนต์รุ่นใหม่ในปัจจุบัน แม้จะมีการพัฒนามาดีเท่าไรก็ยังเกิดความร้อนในเนื้อยางขณะวิ่งใช้งาน โดยเฉพาะปัญหาของการบิดตัวจนทำให้เกิดการเสียดสีของผ้าใบและโมเลกุลในเนื้อยาง หรือที่เรียกว่าการเสียดสีภายในเนื้อยาง Internal Friction
อีกสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิของยางสูงขึ้นก็คือ ค่าพลังงานความร้อนของเนื้อยาง เมื่อมีการใช้งานจะทำให้อุณหภูมิของยางมีความร้อนเพิ่มขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง เมื่อความร้อนที่เกิดขึ้นเท่ากับความร้อนที่ระบายออกไป ก็จะทำให้ค่าความร้อนของยางเกิดอาการคงที่ ในยางรถยนต์ทั่วไป ค่าความร้อนคงที่จะเกิดขึ้นเมื่อขับใช้งานติดต่อกันประมาณ 30-60 นาที การเติมลมยางที่ถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับการใช้งานยางรถยนต์ หากแรงดันลมยางอ่อนเกินไป จะทำให้เกิดการบิดตัวของยางมากกว่าปกติ สิ่งที่ตามมาก็คือ อุณหภูมิของยางจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ยางเกิดความเสียหายตามมาซึ่งอันตรายมาก!
...
นอกจากนั้นยังมีตัวแปรอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิของยางสูงขึ้นจนเกินกว่าค่าปกติ เช่น น้ำหนักของการบรรทุกสัมภาระสิ่งของ ถ้ายางรับน้ำหนักมากเกินไป บวกกับการใช้ความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ยางจะร้อนอย่างรวดเร็ว ยางแบบเรเดียลจะเกิดความร้อนขณะขับใช้งานน้อยกว่ายางทั่วไปเนื่องจากมีการเคลื่อนตัวบริเวณหน้ายางน้อยกว่าจากเข็มขัดรัดหน้ายางคอยคาดโครงยางเอาไว้ ความร้อนที่เกิดขึ้นจนเกินขีดจำกัดของยางทำให้ยางเสียหายหรือระเบิด
หากต้องการบรรทุกสัมภาระจำนวนมาก ควรเติมลมยางให้มากกว่าปกติเล็กน้อยและไม่ควรใช้ความเร็วในการขับขี่ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบรรทุกหนักโดยเฉพาะรถกระบะส่งของหรือสินค้าที่มีน้ำหนักมาก ควรจอดพักรถเป็นระยะทุกๆ 1 ชั่วโมง เพื่อให้อุณหภูมิของยางลดลง เป็นการยืดอายุการใช้งานไปในตัวแถมยังปลอดภัยกว่าการวิ่งแบบไม่มีการหยุดพักอีกด้วย ความร้อนจากผิวถนนในเขตร้อนอย่างประเทศไทย โดยเฉพาะผิวถนนคอนกรีตก็มีส่วนที่ทำให้อุณหภูมิของยางสูงขึ้น
...
อาการดึงที่พวงมาลัยเกิดขึ้นเพราะอะไร?
สำหรับอาการดึงที่พวงมาลัยที่สร้างปัญหาให้กับการควบคุมรถยนต์นั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากแรงดันลมยางที่ไม่เท่ากันในแต่ละข้าง เช่น ยางข้างขวาล้อหน้ามีแรงดันลมยางต่ำกว่ายางข้างซ้าย ควรตรวจสอบแรงดันลมยางก่อนจะพุ่งไปที่ศูนย์ล้อ โดยเฉพาะมุมโทอิน - โทเอ้าท์ หรือแรงบิดที่เกิดจากเครื่องยนต์ รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าหากมีแรงบิดของล้อขับเคลื่อนที่ไม่เท่ากันก็จะทำให้เกิดแรงดึงที่พวงมาลัยไปทางซ้ายหรือขวาได้อีกเช่นกัน สภาพของถนนซึ่งมีความลาดเอียงที่ไม่เท่ากันก็ส่งผลให้พวงมาลัยเกิดแรงดึงได้ โดยเฉพาะถนนที่มีผิวโค้งหรือหลังเต่า หากแรงดันลมยางอยู่ในเกณฑ์ปกติอาการดึงที่พวงมาลัยจะหายไปเมื่อวิ่งบนถนนที่มีผิวเรียบ
...
ทำไมแรงดันลมยางจึงลดลง?
แม้ยางจะไม่มีอาการรั่ว ฉีกขาดหรือเกิดความเสียหาย แต่ลมยางก็ยังสามารถรั่วซึมได้ตามธรรมชาติ สังเกตได้จากลูกโป่งที่เติมลมไว้ เมื่อทิ้งไว้นานๆ ลมในลูกโป่งก็จะมีการรั่วซึมออกมา การรั่วซึมตามธรรมชาติของยาง เกิดขึ้นได้ทั้งยางที่ไม่มียางในและยางที่ใช้ยางใน เนื่องจากลมยางบางส่วนสามารถรั่วซึมผ่านเนื้อยางที่มีรูพรุนซึ่งตาเปล่ามองไม่เห็น เป็นเรื่องปกติของยางทุกประเภท เมื่อเติมลมยางให้อยู่ในค่าที่กำหนดและยางอยู่ในสภาพปกติจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าลมยางจะซึมออกมาจนเหลือน้อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบแรงดันลมยางอยู่เสมอๆ
...
สาเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วซึมของลมยาง
1-ความเสียหายของจุ๊บเติมลม
หากใช้รถยนต์บ่อยครั้ง ควรตรวจสอบจุ๊บเติมลมหรือเปลี่ยนทุกๆ 2 ปี หรือเมื่อเปลี่ยนยางเส้นใหม่ทุกครั้งก็ควรเปลี่ยนจุ๊บเติมลมด้วยทุกครั้ง
2-แม็กคดหรือเบี้ยวจากการกระแทกอย่างรุนแรง
เช่น ตกหลุม ขับจนยางเบียดขอบฟุตปาท ทำให้ขอบยางที่จะต้องเบียดชิดกับขอบกระทะล้อแม็กไม่สามารถแนบชิดกันได้ แก้มยางฉีกขาดเสียหาย ทำให้ลมยางรั่วซึมออกมา
3-โดนตะปู นอตหรือของมีคมทิ่มตำ
โดยเฉพาะบนหน้ายางที่ตรวจสอบได้ลำบาก ทำให้ลมยางค่อยๆ รั่วซึมออกมา หากตะปู นอตหรือของมีคมติดคาหน้ายาง การรั่วซึมจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อของมีคมหลุดออกจากหน้ายาง การรั่วของยางจะเกิดขึ้นเร็วกว่า
4-โครงเหล็กของยางเกิดความเสียหาย
ซึ่งอาจเกิดจากการบดไปบนผิวถนนเมื่อยางมีแรงดันลมอ่อนมากๆ การรั่วซึมจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้ยางเส้นนั้นเสียหายอย่างหนักจนใช้งานต่อไปไม่ได้
ปัญหาการแตกลายงาของยาง
นอกจากความร้อนและแสงแดดที่เป็นตัวการทำให้ยางเสื่อมสภาพแล้ว สภาพผิวถนนยังมีส่วนอย่างมากในด้านการสึกหรอของยาง
สาเหตุของยางแตกลายงาเกิดจากอะไร?
ความร้อนและแสงแดด โดยเฉพาะการจอดรถตากแดดในที่โล่งแจ้งไม่มีร่มเงาบดบังแสงอาทิตย์ หากจอดตากแดดบนพื้นคอนกรีตอุณหภูมิก็จะยิ่งสูงขึ้น
การใช้งานอย่างหนักหรือขับแบบไม่ถูกวิธีจนทำให้ยางเกิดความเค้นและความเครียดสูง
การดูแลรักษาที่ไม่ถูกต้อง น้ำยาเคลือบแก้มยางให้ดำเงางามบางยี่ห้อส่งผลถึงแก้มยางทำให้เกิดอาการแข็งกระด้าง
การจอดรถทิ้งไว้นานๆ โดยไม่มีการขยับ น้ำหนักของรถจะกดยางส่วนที่อยู่บนพื้นจนยางเสียรูปหรือยางไม่กลม จึงควรนำรถออกไปวิ่งบ้างเพื่อให้ยางทำงานและเปลี่ยนจุดกระจายความเครียดออกไปให้ทั่วทั้งเส้น.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/