ก่อนอื่น ต้องบอกว่า ไม่มียางยี่ห้อใดที่จะรองรับการใช้งานได้อย่างครอบคลุมทุกประเภททั้งออฟโรดและสปอร์ต รถแต่ละแบบนั้นใช้ยางที่แตกต่างกันออกไป เลือกยางให้ตรงกับประเภทของรถ ลักษณะการใช้งานในชีวิตประจำวัน การใช้ความเร็ว ขับเร็ว หรือไปเรื่อยๆ? และสภาพถนนที่วิ่งเป็นประจำ อยากจะบอกว่ายางคือชีวิตของคุณและผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ซึ่งหมายถึงครอบครัวที่มีความสำคัญสูงสุด ควรให้ความใส่ใจตรวจสอบและดูแลรักษาสภาพของยางให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ยางรถยนต์เมื่อผ่านการใช้งานไปสักระยะก็จะเริ่มกระบวนการเสื่อมประสิทธิภาพ ปัญหาแก้มยางบวม ยางแตก เกิดขึ้นได้เสมอเมื่อขับใช้งาน การให้ความใส่ใจ ดูแลรักษายางรถยนต์ จะทำให้เดินทางไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

หมั่นตรวจสอบยางรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เมื่อพบว่ายางรถยนต์มีรอยแตกลายงา หรือหลุดร่อน แก้มด้านข้างบวม ให้เปลี่ยนไปใช้ยางอะไหล่ก่อนที่จะออกเดินทาง หรือเป็นไปได้ก็เปลี่ยนยางใหม่ไปเลย เพื่อป้องกันอันตรายระหว่างการขับ ปัญหายางบวม ดอกยางหลุดร่อน หรือกลายเป็นยางที่หมดสภาพเพราะใช้งานมานาน อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน 

...

ยางแตกเกิดจากอะไร 

1. ยางรถยนต์เสื่อมสภาพ
ลมยางที่อ่อนกว่าปกติ ต้องเติมลมยางบ่อยแม้ไม่มีรอยรั่วซึม แก้มยางหรือหน้ายาง มีรอยแตกลายงา ฉีกขาด ดอกยางสึกหรอ ยางที่เสื่อมสภาพ มักส่งเสียงดังขณะวิ่ง รวมถึงเสียงยางตอนเบรกที่ดังมาก ทั้งที่ไม่ได้ใช้เบรกรุนแรงอะไรแรง เสียงยางแหกปากดังสนั่นขณะเข้าโค้งโดยขับไม่เร็ว หากยางเสื่อมสภาพให้รีบเปลี่ยนยางใหม่ทันที

2. ขับด้วยความเร็วสูงเป็นประจำ
เมื่อใช้ความเร็วต่อเนื่องและเกินกว่าสมรรถนะของยางที่จะรองรับได้ นอกจากโดนตะปูตำ ลมยางอ่อนแล้ว ความเร็ว ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุให้รถยางแตกได้ โดยเฉพาะยางที่ใช้งานมานานจนหมดสภาพ 

3. บรรทุกน้ำหนักเกิน
การแบกของที่มีน้ำหนักมากๆ แล้วขับใช้งานทางไกลเป็นประจำ ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพยางอยู่เสมอ เมื่อใส่ของ หรือสัมภาระเกินค่าพิกัดบรรทุกของรถบ่อยๆ จะทำให้ยางสึกหรออย่างรวดเร็วและแบกรับน้ำหนักไม่ไหวอีกต่อไป อาจแตกแบบลมรั่วออกมาจนหมด หรือระเบิดเป็นชิ้นๆ ซึ่งอันตรายมาก

...

4. เติมลมยางไม่ถูกต้อง
เติมมากเกินไป เพราะคิดว่าจะต้องบรรทุกและวิ่งยาว ทำให้เติมลมยางเผื่อมากไปบ้าง หรือน้อยไปบ้าง รวมถึงปัญหาลมยางรั่วซึม โดนตะปู หรือสกูล ในตำแหน่งที่มองไม่เห็น ไม่มีฟังก์ชันตรวจสอบแรงดันลมยาง 

5. ยางร้อนจัด
มักเกิดจากบรรทุกหนักบนถนนที่ไม่เรียบและใช้ความเร็ว ลมยางไม่ถึงเกณฑ์ที่ระบุจากบริษัทผู้ผลิต บางครั้งเกิดจากเบรกติด เมื่อเบรกติดก็ทำให้อุณหภูมิของล้อและยางพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้รถได้

...

6. เลือกขนาดยางไม่เหมาะสม
ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใส่ยางที่ใหญ่เกินไป ยางที่ใหญ่กว่ายางมาตรฐานติดรถ ทำให้เกิดแรงต้านทาน เป็นสาเหตุของการกินน้ำมัน แลกเปลี่ยนด้วยฟิลลิ่งการยึดเกาะและเบรกที่อาจดีขึ้น (หรือแย่ลงถ้าล้อและยางใหญ่มากเกินไป) ขนาดยางที่ไม่พอดี แก้มที่ต่ำเตี้ยเสี่ยงต่อความเสียหายของล้อและยางเมื่อตกหลุมแรงๆ รวมไปถึงการใช้ยางกับรถแบบผิดประเภท 

7. ยางที่ไม่ได้คุณภาพ
ชอบประหยัด แต่ทำไม่ถูกทาง แทนที่จะซื้อยางใหม่ กลับไปซื้อยางเปอร์เซ็นต์ราคาถูกที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ หมดสภาพ ซื้อยางราคาถูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย 

...

เมื่อรถยางแตกต้องตั้งสติให้ดีๆ อย่าตกใจ จับพวงมาลัยให้แน่นกว่าเดิม อย่าใช้เบรกหนักๆ หรือเบรกแบบฉุกเฉินเพราะตกใจกลัว การใช้เบรกเมื่อยางระเบิดเพราะตกใจ จะทำให้รถเสียหลักอย่างรุนแรง เปิดไฟฉุกเฉินแจ้งเตือนรถรอบข้าง ลดความเร็วลงด้วยการยกเท้าออกจากแป้นคันเร่ง เมื่อความเร็วลดลงในระดับที่ปลอดภัยแล้วให้หาที่จอดให้ไกลกว่าบริเวณไหล่ทางซึ่งอันตรายมาก เมื่อรถจอดอยู่ในที่ปลอดภัยแล้วจะเปลี่ยนยางด้วยตัวเอง หรือโทรเรียกช่างมาช่วยเพื่อให้เบาแรง เพราะงานเปลี่ยนยางอะไหล่นั้นหนักหนาเอาเรื่อง เรียนรู้วิธีการเปลี่ยนยางอะไหล่ด้วยตนเอง มีอุปกรณ์ซ่อมแซมฉุกเฉินติดรถ อย่าลืมตรวจเช็กและเติมลมให้กับยางอะไหล่เสมอ 

ป้องกันยางแตก 

1. ตรวจยางรถยนต์ทุกเส้นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่มีรอยร่อน ชำรุด แตกลายงา บวมข้าง หากพบว่ามีการเสื่อมสภาพอย่างชัดเจน ยางบวม รั่วซึม แตก ให้เปลี่ยนยางเส้นนั้นทันที

2. เข้าศูนย์บริการยาง เพื่อสลับยาง ตั้งศูนย์ถ่วงล้อตามระยะทาง เปลี่ยนยางใหม่ทุกๆ 40,000-50,000 กิโลเมตร หรืออาจน้อยกว่านั้นถ้าขับเร็ว ถนนที่ใช้ประจำมีสภาพไม่ดีจะทำให้ยางสึกหรอเร็วกว่าปกติ 

3. ตรวจสอบแรงดันลมยางเป็นประจำ
อย่างน้อยวัดแรงดันลมยางอาทิตย์ละครั้ง หรือก่อนเดินทางไกล อย่าลืมดูยางอะไหล่ว่ามีลมยางพร้อม หรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ 

4. ใช้ยางให้เหมาะสมกับประสิทธิภาพของรถและถนน
ยางที่ใช้สามารถทำความเร็วได้ระดับไหน หรือบรรทุกหนักได้เท่าไร ควรศึกษาหาความรู้ไม่ขับลูกเดียว ยางไปแตกกลางทางที่เปลี่ยวๆ นี่ไม่ดีเลยแหละ

ยางปูด ยางบวม ยางเส้นนั้นถือว่าหมดสภาพการใช้งาน ให้เปลี่ยนยางใหม่ทันที แก้มยางที่ปูดบวมคือความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้าง สุดท้ายมันจะนำไปสู่ความเสียหายของยางทั้งเส้น

แรงสั่นสะเทือนของยางจนเกิดเสียงหอนอาจเกิดจากความผิดปกติในกลไกของยาง เช่น การตั้งศูนย์ถ่วงล้อ หรือขอบล้อบิดงอ ส่งผลให้ยางเสียหายได้ เมื่อมีแรงสั่นสะเทือนผิดปกติเกิดขึ้น หรือได้ยินเสียงยางดังอย่างผิดปกติ ต้องตรวจสอบโดยช่างผู้ชำนาญ และเปลี่ยนยางตามคำแนะนำ

วิธีการขับเพื่อถนอมและยืดอายุการใช้งานของยาง 

ขับไปเรื่อยๆ แต่อย่าไปแช่คาขวา
เมื่อจำเป็นต้องขับขี่บนถนน หรือพื้นผิวที่ขรุขระ ให้ลดความเร็วของรถลง ยิ่งทางมีกรวดหินก็ต้องขับด้วยความเร็วต่ำมาก เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายต่อยางและศูนย์ล้อ การขับรถบนถนนที่อุดมไปด้วยหลุม บ่อ ศูนย์ล้อรถจะเคลื่อน เป็นสาเหตุที่ทำให้ยางสึกไม่สม่ำเสมอและเสื่อมสภาพเร็ว ใช้ความเร็วสูงแล้วตกหลุมก็ทำให้ยางแตกได้ ขับให้ช้าลงบนถนน หรือทางที่ไม่เรียบ ตรวจเช็กศูนย์ล้อ เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในค่าที่ถูกต้องและเหมาะสม

สลับยาง
ทำการสลับยางตามคำแนะนำในคู่มือประจำรถ หรือทุกๆ 10,000 กิโลเมตร

อย่าลืมว่า ยางที่ดีที่สุด คือ ยางที่มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน และมีขนาดกับลายดอกยางเหมาะสมกับสมรรถนะของรถ การที่ไม่มียางอะไหล่ อาจทำให้ต้องยืนโดดเดี่ยวเดียวดายเมื่อยางแตก ยิ่งไปแตกในเขตที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ยิ่งแย่กันไปใหญ่ หมั่นดูแลรักษายางอะไหล่ ตรวจเช็กความดันลมยางทุกเดือน และตรวจสอบให้แน่ใจว่ายางอะไหล่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ยางอะไหล่ที่ไม่มีลมจะสร้างอารมณ์ขุ่นเคืองให้กับคุณภรรยาในวันที่พาเขาไปยางแตกไกลๆ เชื่อเถอะ ผมเคยโดนมาแล้ว.