แบตเตอรี่รถยนต์เหมือนเป็นหัวใจหลักของรถเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าแบตเตอรี่ไม่ทำงาน รถยนต์ก็ไม่มีทางสตาร์ตให้ติดขับเคลื่อนไปได้ จึงเป็นเสมือนสิ่งแรกที่เวลาเราเปิดกระโปรงเครื่องยนต์ สายตาก็ต้องจับดูที่แบตเตอรี่และปริมาณน้ำกลั่น จากนั้นค่อยชำเลืองมองน้ำมันเครื่องและหม้อน้ำในลำดับถัดไป

ทำความรู้จักชนิดของแบตเตอรี่กันก่อน

ถ้าคุณเป็นคนไม่มีเวลาดูแลแบตเตอรี่เท่าไรนัก เลือกแบตเตอรี่แบบแห้ง หรือกึ่งแห้ง อาจเป็นคำตอบที่ดีกว่า แม้ราคาจะสูง แต่แบตฯ แบบแห้งจะไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเลยตลอดอายุการใช้งาน ส่วนแบตฯ กึ่งแห้งต้องเติมน้ำกลั่นทุก 6 เดือน หรือเมื่อรถวิ่งได้ระยะครบ 10,000 กิโลเมตร

ทีนี้มาดูแลแบตเตอรี่แบบน้ำ หรือแบตเตอรี่เปียก หรือแบบที่ต้องเติมน้ำกลั่นนั่นแหละครับ ผู้ใช้รถต้องหมั่นเติมน้ำกลั่นเมื่อรถวิ่งครบระยะ 1,000 กิโลเมตร แต่ด้วยข้อดีที่ราคาถูก ทนความร้อนได้ดีกว่า และมีอายุการใช้งานนานกว่าแบตเตอรี่แบบแห้ง

น้ำกลั่นสีชมพูต่างกับสีใสอย่างไร

น้ำกลั่นรถยนต์ มีหน้าที่เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าภายในแบตเตอรี่ มีฤทธิ์เป็นกรด ช่วยให้รถสตาร์ตติดง่าย ตัวน้ำกลั่นเป็นน้ำกลั่นด้วยความร้อน ทำให้สิ่งเจือปนในน้ำระเหยกลายเป็นไอน้ำ ควบแน่นเป็นหยดน้ำบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปนของแร่ธาตุ โลหะหนัก จึงสามารถนำน้ำมาเติมแบตเตอรี่และช่วยยืดอายุของแบตเตอรี่ได้ จึงตอบคำถามว่าไม่ควรนำน้ำเปล่ามาเติมแบตเตอรี่รถยนต์โดยเด็ดขาด เนื่องด้วยแร่ธาตุและโลหะหนักจะมีผลต่อการทำงานของแบตเตอรี่นั่นเอง

...

ในท้องตลาดเรามักเห็นน้ำกลั่น 2 ประเภทที่ขายกันแพร่หลายคือน้ำกลั่นสีชมพู ซึ่งมีราคาสูงกว่าเล็กน้อย ส่วนสีใสจะมีราคาต่ำลงมาหน่อย หากถามว่าของแพงกว่าหมายถึงดีกว่าหรือไม่ ตามสรรพคุณกล่าวกันว่าสีชมพูมีประสิทธิภาพลดความร้อนให้กับแบตเตอรี่ ช่วยให้เก็บกำลังไฟไว้ได้นานมากขึ้น แบตฯ อายุอึดขึ้นว่ากันง่ายๆ แต่หากหาข้อมูลในบางความเห็นก็เชื่อกันว่า การที่มีสีในน้ำกลั่นเพียงเพื่อการที่มีสีต่างจากน้ำใสๆ ช่วยให้ตรวจเช็กปริมาณน้ำกลั่นในแบตฯ ได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง ดังนั้นผมขอไม่ฟันธงถึงประสิทธิภาพของน้ำกลั่นแล้วกันครับ แต่ขอแนะนำให้ซื้อน้ำกลั่นในแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ลดโอกาสเจอน้ำกลั่นปลอม ซึ่งจะเป็นผลเสียกับแบตเตอรี่ในอนาคต

วิธีการเติมน้ำกลั่น

หากเป็นคนใช้รถยนต์เป็นประจำวันละหลายชั่วโมงก็ควรตรวจเช็กน้ำกลั่นแบตเตอรี่ทุกสองสัปดาห์เป็นอย่างน้อย หรือเมื่อขับครบ 1,000 กิโลเมตรก็ได้ครับ โดยเวลาเติมน้ำกลั่นไม่ควรเติมต้องล้นออกมาจากหม้อแบตฯ ระวังฝา หรือเศษฝุ่นละอองตกเข้าไปในรูที่เติมน้ำกลั่นด้วย ป้องกันการเจือปนของสารโลหะอื่นๆ เติมน้ำกลั่นในปริมาณที่กำหนดให้ครบทั้ง 6 ฝา จากนั้นปิดฝาให้เรียบร้อยและเช็ดหม้อแบตฯ ด้วยผ้าแห้ง.

ผู้เขียน : เครื่องยนต์คนขยัน