Ranger Raptor 2.0 ลิตร เครื่องยนต์ดีเซล ฟังดูดี แต่การโลดโผนโจนทะยานอาจไม่ตอบสนองด้านความบันเทิงเริงรมย์เท่ากับ Raptor เครื่องยนต์เบนซิน V6 3.0 จอมยกซด แต่ถ้าเป็นคนใจเย็น ไม่ได้ขับแบบเร็วจี๋ขึ้นได้เป็นขยี้ หรือใช้ความเร็วสูงต่อเนื่อง รุ่น 2.0 ลิตร ของ Ranger Raptor ใหม่ ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน ราคา 1.699 ล้าน ถูกลง 1 แสน เป็นราคาใหม่ที่อัพขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง แต่ก็ยังมี Ford Ranger อีกรุ่นที่ขับได้สูสีกัน แต่ถูกกว่ามาก นั่นก็คือ Stormtrak ราคา 1,414,000 บาท แต่ความเท่ที่น้อยกว่าไดโนเสาร์ทำให้ Stormtrak เป็นได้แค่พระรองเมื่อเทียบกับ Raptor ที่ทั้งใหญ่ และดุดันกว่า
...
โดยภาพรวม สไตล์ที่คล้ายกับ Raptor V6 แต่ขุมกำลังมีเรี่ยวแรงน้อยกว่า (มาก) สิ่งที่ลูกค้าบางคนต้องการก็คือ เครื่องยนต์ที่กินน้ำมันน้อยกว่า แค่ 8.7-9.5 กิโล-ลิตร แทนที่จะเป็น 5.5-6.5 กิโลเมตรต่อลิตร Raptor 2.0 ลิตร Bi Turbo กำลัง 210 แรงม้า กับ 500 นิวตันเมตร เร่งไม่ติดเท้าเหมือน V6 3.0 ลิตร ดูเหมือนเครื่องยนต์จะเล็กเกินไป แต่ก็สามารถใช้งานแบบขับออกทางไกลได้อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องมากังวนเรื่องเงินค่าน้ำมันมากนัก ไม่ต้องจ่ายกันเดือนละ 3-4 หมื่น เหมือน V6 3.0 ลิตร แต่ก็ต้องแลกด้วยอารมณ์หรือฟิลลิ่งที่ขับได้ไม่ดุดันเท่า ต้องเลือกเอาเองระหว่างความประหยัดกับความบังเทิงที่ค่อนข้างสวนทางกันอยู่แล้ว ทุกวันนี้การขับรถกระบะคันโตไปตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการหาที่จอดรถแถบสุขุมวิทซอยต้นๆ หรือขับวนในอาคารจอดรถของโรงแรมหรู ดูเหมือนจะยากลำบากกว่าการเอาตัวรอดจากหล่มโคลนในป่าลึก ไม่ว่าจะเลือกรุ่นไหน คุณก็จะได้กระบะอเมริกันคันโตที่ใหญ่คับซอย แต่ดูเท่เมื่อวิ่งอยู่บนถนน ใช้งานได้จริงและกินน้ำมันมากกว่ากระบะทั่วไป
...
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา Ford ประกาศลดราคาของ Ranger Raptor เจเนอเรชันที่สอง เครื่องยนต์ดีเซล Bi-turbo2.0 ลิตร โดยเปิดราคาใหม่ที่ 1,699,000 บาท ลดลง 1 แสนบาทจากราคาเดิม 1,799,000 บาท ถูกลงแสนนึงถือว่าสมน้ำสมเนื้อ เป็นการลดราคาเมื่อวันที่ 17 พย. 2567 เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบคู่ 2.0 ลิตร ดูเหมือนจะไม่ค่อยจะเหมาะสมกับขนาดและน้ำหนักของรถปิกอัพไซส์ยักษ์ มาพร้อมกับกำลัง 210 แรงม้า ระบบส่งกำลังแน่นอนว่าเกียร์มิชิแกนยังคงถูกนำมาใช้เหมือนเดิม เป็นเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ของ Ford ที่ผลิตในโรงงานระบบส่งกำลังในมลรัฐมิชิแกน กำลังที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับ 381 แรงม้าในรุ่น V6 เบนซิน มีแรงบิด 500 ขับแล้วก็ถือว่า เพียงพอต่อการใช้งาน เร่งไม่โหดดึงไม่หนักเท่ารุ่นเบนซิน รวมถึงโช้คอัพ Fox Live Valve ปรับไฟฟ้า ที่ถูกเปลี่ยนเป็นแบบ Internal Bypass ดิฟล็อกไฟฟ้า Electronic Locking Differential ถูกยกเลิกออกไป ระบบท่อไอเสียแปรผันก็ถูกยกออก ทำให้เสียงคำรามอันเร้าใจมีเฉพาะใน V6 3.0 ลิตร โหมดควบคุมระบบกันสะเทือนก็ไม่มีมาให้ รวมถึงโหมดที่โดนยกเลิกอย่าง Normal Off-Road และ Sport เครื่องเสียงพรีเมียม Bang & Olufsen Sound System ก็โดนยกออก โดยมีราคาถูกลง 250,000 บาท เมื่อเทียบกับ Raptor รุ่นเบนซิน V6 3.0 ทวินเทอร์โบ
...
...
ถ้าสังเกตดีๆ ท่อระบายไอเสียแบบแอคทีฟฝั่งละท่อในรุ่น V6 พอกลายมาเป็นรุ่นดีเซล ท่อกลมที่ส่งเสียงเร้าใจถูกยกเลิกออกไป การไม่มีปลายท่อไอเสียโครเมียม บ่งบอกว่านี่คือไดโนเสาร์ที่ใช้ขุมพลังดีเซล ในแง่ของรูปลักษณ์นั้นดูดีกว่ารถเจนแรก จากความบึกบึนและหน้าตาที่บ่งบอกความเป็นอเมริกันอย่างเต็มที่ ซุ้มล้อที่กว้างขึ้นของ Raptor 2025 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง มันยังคงเป็นรถกระบะที่ดู โดยมีจุดประสงค์หรือเป้าหมายในการใช้งานที่ครอบคลุม ด้วยความหลากหลายของอุปกรณ์ สมรรถนะที่คุมง่าย และพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่ารถเอสยูวีตรงกระบะท้าย งานตกแต่งภายในยังคงเน้นสีส้ม-ดำ มหน้าจอสัมผัสแนวตั้งที่คุ้นเคย ฉลาดและใช้งานได้ง่าย อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของรุ่นดีเซล กว่าจะตะกายไป 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องใช้เวลาประมาณ 10.5 วินาที ช้ากว่า Raptor V6 เบนซิน ถึง 2.5 วินาที แต่อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่ 9.5 กิโลเมตรต่อลิตรนั้นประหยัดกว่ารุ่น V6 อย่างเทียบกันไม่ติด! แต่ถ้าเติมดีเซลพรีเมี่ยมของ ปตท ลิตรละ 44 บาท อันนั้นก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกประหยัดขึ้นแม้แต่น้อย
ใบหน้าของไดโนเสาร์ เจน 2 โดดเด่นด้วยกระจังหน้าใหญ่ยักษ์ ไฟหน้า LED แบบ 'C-clamp' ที่ทำให้ด้านหน้าดูกว้างขึ้นกว่าเดิม ไฟหน้ามาพร้อมระบบอัตโนมัติ ล้อสไตล์ออฟโรดแบบมาตรฐาน ยาง BF Goodrich KO2 AT 285/70R17 (116-113S) High Performance All-Terrain Tires ที่ยอดเยี่ยมกระเทียมโทน ส่วนโค้งของซุ้มล้อกว้าง และให้ความรู้สึกว่าถูก 'สร้างมา' เพื่อการขับแบบลุยแหลก กระบะท้ายมาพร้อมพลาสติกกันกระแทก บั้นท้ายแทบจะไม่แตกต่างจากรุ่น V6 3.0 ลิตร แค่ไม่มีท่อระบายไอเสียทรงกลมฝั่งละท่อเท่านั้น ช่วงล่างที่เป็นจุดขายของ Raptor ด้านหน้าแบบปีกนกคู่ Double Wishbone with Coil Spring – FOX 2.5" Shock ด้านหลัง Coil Spring – FOX 2.5" Shock with Watt’s Linkage มิติตัวรถ มีขนาดความกว้าง 2,028 มิลลิเมตร ยาว 5,381 มิลลิเมตร สูง 1,922 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 3,270 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 272 มิลลิเมตร มิติกระบะท้าย กว้าง 1,420 มิลลิเมตร ยาว 1,564 มิลลิเมตร สูง 540 มิลลิเมตร นำ้หนักรถปาเข้าไป 2,300 กิโลกกรัม หรือ 2.3 ตัน จะเซ็ตให้เบากว่านี้ก็ได้ แต่ความแข็งแกร่งบึกบันสไตล์ปิคอัพมะกันก็จะลดทอนความขลังลงไป
งานตกแต่งภายในของ Ranger Raptor Next Gen นั้นเหมือนกับ Ranger รุ่นใหม่ตัวถังดับเบิ้ลแค็บ แต่มีการปรับรูปแบบให้แตกต่าง เบาะนั่งทาง Ford บอกว่า ใช้การออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตำแหน่งที่นั่งนักบินในเครื่องบินขับไล่ F22 Raptor จริงๆแล้ว เก้าอี้นักบินนั่งไม่สบายเท่าเบาะของ Raptor พื้นที่เบาะคู่หน้ากว้างขวาง แดชบอร์ดคอนโซลตกแต่งด้วยพลาสติกสีส้ม ช่องแอร์ทรงรังผึ้งท่ีสวยงาม บางจุดของห้องโดยสาร พวกแผงประตู เบาะ และขอบของแดชบอร์ด บุด้วยวัสดุแบบใหม่ที่มีส่วนผสมของหนังที่คล้ายกับหนังกลับ Alcantara การออกแบบตัวเบาะคู่หน้าปรับไฟฟ้า 10 ทิศทาง มีรูปทรงที่โอบอุ้มสรีระของคน การออกแบบเบาะที่นั่งในลักษะดังกล่าวจะช่วยทำให้นั่งขับได้สบายตัวขึ้นมาก ไม่ว่าจะขับบนไฮเวย์ หรือเอาลงไปขับบนทางดินทางลูกรังด้วยความเร็วสูง
เบาะหลังใช้หนังและวัสดุตกแต่งเพิ่มเติมรวมถึงธีมสีเหมือนกับเบาะคู่หน้า ลวดลาย Code Orange ปรากฏอยู่ทั่วทั้งห้องโดยสาร โดยเฉพาะบริเวณช่องแอร์และพวงมาลัยที่ประทับตรา Raptor พวงมาลัยหุ้มหนังแท้ มีแถบหนังสีส้มอยู่ตรงกึ่งกลางด้านบน เพื่อเป็นแนวทางในการเล็งตำแหน่งองศาของพวงมาลัยในแนวรถซิ่ง หนังที่ใช้หุ้มรอบวง มีสัมผัสพิเศษแบบอ่อนนุ่มบางจุด มันมาพร้อมปุ่มมัลติฟังก์ชัน และแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ทำให้ Raptor อยู่เหนือกว่า Ranger หรือ Everest รุ่นท็อป รวมถึงวัสดุไมโครไฟเบอร์ที่คล้าย Alcantara บนช่องเก็บของหน้ารถ แผงประตู และงานตกแต่งบนเบาะนั่ง
ธีมภายในห้องโดยสารใช้สีดำและสีส้มตกแต่งเบาะ ช่องแอร์และพวงมาลัย ช่องแอร์ที่ตกแต่งด้วยเส้นขอบสีส้มดูแปลกตา แถบสีส้มตรงตำแหน่ง 12 นาฬิกาบนพวงมาลัยทรงสามก้าน มาพร้อม Paddle Shift แดชบอร์ดดิจิทัลที่ทันสมัย หน้าจออินโฟเทนเมนต์ขนาด 12 นิ้ว ตรงกึ่งกลางแดชบอร์ด สามารถเลือกโหมดการขับขี่ได้จากพวงมาลัย พวงมาลัยสามก้าน มี Paddle Shift มาให้สับเกียร์ 10 สปีด พร้อมปุ่มฟังก์ชันปรับตั้ง Adaptive Cruise Control ระบบสเตอริโอลำโพง 10 ตัว กล้อง 360 องศา ใช้งานได้ดีเมื่อมองไม่เห็นยอดเนินขณะที่กำลังปีนป่ายบนทางวิบาก หรือมีปัญหาในการดูพื้นที่จอดรถว่าต้องจอดรถใกล้ขอบถนนหรือเปิดประตูออกไปได้แค่ไหน กล้องของ Raptor ช่วยในการคำนวนมุมจอด และเปิดทัศนวิสัยมุมมองรอบคันที่ต้องการจะ
นอกจากจอแสดงผลอินโฟเทนเมนท์แนวตั้งขนาด 12 นิ้ว แล้ว Ford Ranger Raptor Next Gen ยังแตกต่างจาก Ranger จากการใช้แผงหน้าปัดดิจิตอล instrument cluster TFT tft thin film transistor ขนาด 12.3 นิ้ว ปรับเปลี่ยนการแสดงผลได้อย่างงดงาม อ่านค่าง่ายจากกราฟิคที่คมชัด ความชัดของจอภาพมาตรวัดที่แสดงตำแหน่งเกียร์เอาไว้ตรงกลาง ควบรวมการแสดงผลที่มีความหลากหลาย โดยยังคงใช้หลักการเดิมของมาตรวัดแบบคลาสสิกที่คุ้นเคย เชื่อมโยงด้วยสีสันท่ีน่ามอง มาตรวัดรอบทรงกลม ตรงกลางเป็นจอภาพแสดงข้อมูล MID multi function display แสดงข้อมูลที่สำคัญเช่น อุณหภูมิในหม้อน้ำ อุณหภูมิน้ำมันเครื่อง อุณหภูมิน้ำมันเกียร์ ระดับเชื้อเพลิงในถังต่อระยะทางที่สามารถไปถึง อัตราสิ้นเปลือง ระบบอินโฟเทนเมนต์ การเชื่อมต่อ การนำทาง อุณหภูมิภายนอก จอภาพมาตรวัดคลัสเตอร์ที่ด้านหน้าคนขับสามารถแสดงการนำทางแบบสด พร้อมด้วยข้อมูลทางเทคนิคและกลไกมากมาย สำหรับเวลาที่คุณต้องการเรียกดูข้อมูล คลัสเตอร์ดิจิทัลยังสามารถปรับแต่งได้ตามการผสมผสานข้อมูลต่างๆ
จอภาพมอนิเตอร์กลางวางตำแหน่งในแนวตั้งของระบบอินโฟเทนเมนต์ก็ดีเช่นกัน มีการผสมผสานความซับซ้อน คุณสมบัติที่หลากหลาย และความสะดวกในการใช้งานเข้าด้วยกัน มีเมนูและตัวเลือกมากมายให้ใช้งาน โดยเฉพาะปุ่มทางลัดที่ด้านบนสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการแสดงผลกลับไปที่ส่วนหลักได้ แม้ว่าจอแสดงผลจะมีขนาดที่ยาวผิดปกติ แต่ Ford ออกแบบให้ปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศ (โซนคู่) โดยวางตำแหน่งอยู่ที่ด้านล่าง พร้อมกับปุ่มปรับระดับเสียงที่เน้นความสำคัญทั้งหมดของการใช้งาน ซึ่งช่วยได้ดี เพราะปุ่มหมุนเหล่านี้ใช้งานขณะเดินทางได้ง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการสัมผัสไปที่หน้าจอในขณะที่รถกำลังขับเคลื่อน หน้าจอมอนิเตอร์กลางวางตัวในแนวตั้งขนาดใหญ่ ทำให้คุณมีทุกอย่างที่ต้องการในโลกยุคใหม่ เช่น การเชื่อมต่อ Apple CarPlay แบบไร้สาย เชื่อมต่อ Android Auto, ระบบนำทางแบบ3D, บริการสตาร์ตรถจากระยะไกล และการระบุตำแหน่ง (ผ่านแอป FordPass), วิทยุดิจิตอล ระบบเสียงลำโพง 8 ตำแหน่งรอบห้องโดยสาร
Raptor ดีเซล มีน้ำหนักบรรทุก 652 กิโลกรัม ความสามารถในการลากจูง หรือพ่วงลากเทรลเลอร์ ได้ 2,500 กิโลกรัม โช้คอัพ Fox ระบบกันสะเทือนที่ทำให้ Raptor สามารถรับมือกับภูมิประเทศออฟโรดด้วยความเร็วมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Raptor ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับภูมิประเทศอันโหดร้ายของไทย ซึ่งหมายความว่าคุณควบคุมมันได้เหมือนกับรถแรลลี่ ในกรณีที่ระบบกันสะเทือนของรถกระบะคันอื่นๆ พังทลาย Raptor ยังไปได้อย่างสมดุล มันกระเด้งข้ามหลุมบ่อลอนลูกคลื่น ได้โดยไม่ทำให้คนขับและผู้โดยสารรู้สึกแย่
ตัวเลข 0-100 ใน 10.5 วินาที ทำให้อัตราเร่งของ Raptor ดีเซล 2.0 ลิตร Bi Turbo ไม่สามารถต่อสู้บนทางตรงกับรถสปอร์ตได้ แต่มันก็เร็วพอที่จะทำให้คนขับรู้สึกมั่นใจ ยิ่งไปกว่านั้นมันสามารถขับแบบออฟโรดบนพื้นที่ทุรกันดาร การคลานผ่านหิน/โคลน/ทรายอย่างช้าๆ และการตะลุยเส้นทางขุรขระด้วยความเร็วสูง มีชุดตัวช่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่จะทำให้การขับออฟโรดดูง่ายขึ้นมาก เมื่อขับเร็วบนทางลูกรังที่ขรุขระ คุณจะรู้สึกว่าจริงๆ แล้ว Raptor คือรถแรลลี่ขนาดยักษ์ที่ค่อนข้างเชื่องมือเลยทีเดียว แต่การไต่ระดับความเร็วของเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบ ยังเป็นรองแรงดึงสนุกๆ ของเครื่องยนต์เบนซิน V6 3.0 ลิตร ทวินเทอร์โบ ที่ดึงโหดกว่ามาก เครื่องดีเซลเร่งจาก 140 ไปจนถึง 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใช้เวลานานเกินไป ทำให้รู้สึกว่ามันเร่งได้อืดกว่ารถเจนแรกพอสมควร นั่นเป็นเพราะเครื่องยนต์ต้องแบกรับน้ำหนักรถที่มากว่า 2.3 ตัน การจูนอัปเครื่องยนต์แม้จะเบ่งบานพลังงานอย่างเต็มที่ แต่ไม่พุ่งทะยานติดเท้าเหมือนเครื่องเบนซิน แลกคืนด้วยอัตราสิ้นเปลืองที่พอจะรับได้ ไม่ยกซดเหมือนถังรั่วเหมือน V6
ระบบกันสะเทือนของ Fox Racing และเทคนิคการหน่วงแบบ Internal Bypass ไม่ใช่ Live Valve แม้จะมีราคาโช้คถูกลง แต่ระบบรองรับของมันสามารถตอบสนองต่อทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะบนเส้นทางวิบากที่ผมขับไปลองถึงองคต-ลำตะเพิน Toyota GR Hilux นั้นก็ขับได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรที่เหมือนกับการขับ Raptor หากเป็นความสามารถทางออฟโรดนี่คือหนึ่งในตัวเลือกที่ถึงจะแพง แต่ก็แลกกับประสิทธิภาพที่จะได้รับพร้อมกับอัตราสิ้นเปลืองที่ดีงามของเครื่องดีเซล 2.0 ลิตร
ใน Raptor Gen 2 สำนัก Ford Performance ทุ่มเทความพยายามอย่างมากในการใส่ความพิเศษลงไปในรถรุ่นนี้ มีการเสริมความแข็งแกร่งของแชสซีแบบแลดเดอร์เฟรม ใส่ยางออฟโรด KO2 ที่ดูมีปุ่มโปนออกมา แต่จริงๆ แล้ววิ่งได้นุ่มเอาเรื่อง ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพสูง รองรับการลุยทางวิบากได้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตามมีข้อควรสังเกตถึงความแตกต่างที่สำคัญสองสามข้อระหว่าง Raptor รุ่นดีเซลและรุ่นเบนซิน เครื่องดีเซลจะมาพร้อมกับเฟืองท้ายแบบล็อคด้านหลังเท่านั้น (เครื่องยนต์เบนซินมาพร้อมกับชุดล็อกเฟืองท้ายอีกหนึ่งอันที่ด้านหน้า) โช้คอัพของรุ่นดีเซลเป็นค่าตายตัว ส่วนรุ่นเบนซินนั้นปรับด้วยไฟฟ้า
Raptor มีการบังคับเลี้ยวที่แม่นยำ พวงมาลัยไฟฟ้าแปรผันน้ำหนักของพวงมาลัยไปตามความเร็ว โดยเฉพาะในย่านความเร็วต่ำขณะถอยเข่าออกที่จอดรถแคบๆ นั้น พวงมาลัยไฟฟ้าปรับน้ำหนักให้เบาสบายมือ แม้จะใช้ยางเส้นเขื่อง แต่ระบบผ่อนแรงหมุนก็ทำหน้าที่ได้ดี ระบบกันสะเทือนปรับปรุงใหม่เพื่อช่วยให้เข้าโค้งได้ดีขึ้น พร้อมการควบคุมตัวถังที่โดดเด่น ยางออฟโรดที่วิ่งบนไฮเวย์ได้ดี เพลาล้อหลังแข็งแกร่งเชื่อมต่อได้ง่าย ระบบขับเคลื่อน 4x4 แบบฮาร์ดคอร์ และซอฟต์แวร์ควบคุมการยึดเกาะถนนที่ซับซ้อน รวมถึงอินโฟเทนเมนต์ที่ทันสมัยกับระบบความปลอดภัยที่คอยประคับประคองและแจ้งเตือนถึงการขับที่ไม่ได้เรื่องในบางครั้งซึ่งอาจเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
ทั้งหมดทั้งปวง ทำให้ Raptor เป็นรถที่สามารถขับไปได้ทุกที่ ไม่ว่าจะขึ้นทางลาดเอียง วิ่งด้วยความเร็วสูงบนทางกรวด หรือทางดิน ด้วยสไตล์ Baja มันลุยได้หนักกว่า Land Rover Defender ซ่อมถูกกว่า แต่ดูไม่แพงเท่า! จุดที่ชอบก็คือ อัตราสิ้นเปลือง 8.7-9.5 กิโลเมตรต่อลิตรของเครื่องดีเซล ระบบกันสะเทือนที่ออกแบบสำหรับการเดินทางระยะไกล ช่วยให้คนขับและผู้โดยสารมีความสบาย และสุดท้าย ความใหญ่โตดุดันที่ทำให้รถกระบะรุ่นอื่นดูเล็กลงไปถนัดใจ.