Mazda new Mazda BT-50 เป็นกระบะรุ่นใหม่ที่ถูกเปิดตัวและนับเป็นรถปิกอัพรุ่นแรกที่ออกขายในปี 2564 BT-50 ใหม่ ใช้การออกแบบด้วยเส้นสายจากแนวคิด KODO Design มีส่วนหน้าที่คล้ายกับรถยนต์นั่งและรถเอสยูวีตระกูล CX Series มีการควบรวมจุดเด่น ด้วยการนำเอาความต้องการของลูกค้า เช่น การออกแบบทันสมัย สไตล์ปิกอัพยุคใหม่ที่เชื่อมโยงกับรถเอสยูวีหรู การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ พร้อมระบบความปลอดภัยที่ควบรวมการขับใช้งานในทุกรูปแบบ ห้องโดยสารรุ่น 4 ประตู ให้ความสะดวกสบาย คล้ายกับการขับรถอเนกประสงค์เอสยูวี เป็นรถปิกอัพที่มีความอเนกประสงค์รอบด้าน โดยเฉพาะความแข็งแกร่งทนทานของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังที่ใช้ร่วมกับแบรนด์ Isuzu ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ การเปิดตัว Mazda BT-50 เจเนอเรชั่นใหม่ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เป็นการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ให้กับตลาดรถปิกอัพ หลังจากที่ Mazda แยกทางกันเดินกับ Ford การหาพันธมิตรที่สามารถแชร์เทคโนโลยีร่วมกันเพื่อลดต้นทุน ก็เริ่มต้นขึ้น การจับมือกับแบรนด์ Isuzu จะทำให้ Mazda ไม่ต้องพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลหรือโครงสร้างหลักของรถ BT-50 ปรับจูนให้สามารถใช้งานได้ในทุกโอกาส จุดเด่นก็คือความทนทาน สวยงาม และมีศูนย์บริการที่ครอบคลุม
...
...
...
Mazda BT-50 2021 รุ่นและราคา
กระบะตัวเตี้ย
Mazda BT-50 STD 1.9 E 553,000 บาท
Mazda BT-50 FSC 1.9 C 679,000 บาท
Mazda BT-50 DBL 1.9 C 771,000 บาท
Mazda BT-50 DBL 1.9 S 847,000 บาท
ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง หรือ 4 ล้อ ยกสูง
Mazda BT-50 FSC 1.9 C Hi-Racer 714,000 บาท
Mazda BT-50 FSC 1.9 C Hi-Racer 6 AT 768,000 บาท
Mazda BT-50 FSC 1.9 S Hi-Racer 787,000 บาท
Mazda BT-50 FSC 1.9 S Hi-Racer 6AT 832,000 บาท
Mazda BT-50 DBL 1.9 S Hi-Racer 891,000 บาท
Mazda BT-50 DBL 1.9 S Hi-Racer 6AT 936,000 บาท
Mazda BT-50 DBL 1.9 SP Hi-Racer 1,012,000 บาท
Mazda BT-50 DBL 1.9 SP Hi-Racer 6AT 1,070,000 บาท
...
ขับเคลื่อน 4 ล้อ
Mazda BT-50 DBL 4×4 3.0 SP 1,118,000 บาท
Mazda BT-50 DBL 4×4 3.0 SP 6 AT 1,153,000 บาท (คันทดสอบ)
เมื่อดูที่รูปลักษณ์ภายนอก คุณก็จะพบกับความแตกต่างระหว่างรถทั้งสองรุ่น (Isuzu D-MAX V Cross / Mazda New BT-50 DBL) ความคมเข้มของหน้าตาแบบใหม่ใน new BT-50 เปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมๆของ D-MAX โดยใช้หน้าตาของเอสยูวีในแบรนด์ Mazda ซึ่งคล้ายกับรถรุ่น CX-8 เริ่มจากกระจังหน้าที่มีรูปทรงคล้ายกับรถเอสยูวีในตระกูล CX ไม่ว่าจะเป็น CX-3 CX-30 CX-5 และ CX-8 ชุดกระจังพลาสติกโครเมียมสีเงิน ตัดกับพลาสติกสีดำลงลึกในด้านของรายละเอียดที่สื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการออกแบบ ไฟหน้า Projector LED พร้อมไฟหรี่กลางวัน LED Daytime Running Light กันชนหน้าคล้ายรถเก๋งของ Mazda ออกแบบให้สอดรับกับแนวของกระจังหน้า พร้อมไฟตัดหมอกและไฟเลี้ยวที่อยู่ในกรอบไฟแนวตั้งบริเวณมุมทั้งสองข้างของกันชนหน้า ฝากระโปรงหน้าเป็นอีกจุดที่เชื่อมโยงกับชุดกระจังและแก้มข้าง แนวเส้นของฝากระโปรงจากขอบของไฟหน้า มีการยกสันนูนขึ้นเล็กน้อยเพื่อทำให้ส่วนหน้าของมันดูโฉบเฉี่ยวและสง่างาม
ด้านข้างตัวถัง โดยเฉพาะรุ่นดับเบิ้ลแคป DBL ใช้เส้นนำสายตาในแนวนอน ลากอยู่ด้านบนจากบริเวณแก้มข้าง ผ่านบานประตูทั้งสองไปจนถึงกระบะท้ายต่อเชื่อมกับขอบของไฟท้าย กระจกมองข้าง พร้อมไฟเลี้ยวในตัวแบบ LED กาบบันไดสำหรับเหยียบขึ้นเพื่อเข้าไปในห้องโดยสารใช้วัสดุที่มีความคงทน ล้ออะลูมิเนียมลาย 5 ก้านแบบใหม่ สีเงินสลับสีดำ ขนาด 18 นิ้ว ห่อรัดด้วยยางของ Bridgestone รุ่น Dueler HT 684 ไซส์ 265/60R18 110S มิติตัวถังของ Mazda new BT-50 DBL มีขนาดความยาว 5,280 มิลลิเมตร เทียบกับความยาวของ Isuzu new D-MAX ที่ 5,265 มิลลิเมตร เทียบกับ BT-50 โฉมที่ผ่านมาซึ่งมีความยาว 5,365 มิลลิเมตร จะพบว่า BT-50 รุ่นใหม่นั้น สั้นกว่ารุ่นที่แล้วเล็กน้อย สำหรับความกว้างของตัวถังของ new BT-50 อยู่ที่ 1,870 มิลลิเมตร เทียบกับความกว้างของ Isuzu new D-MAX ที่ 1,870 มิลลิเมตร เท่ากันพอดิบพอดี และมีความกว้างมากกว่า BT-50 รุ่นที่แล้ว 50 มิลลิเมตร สัดส่วนความสูงของ new BT-50 อยู่ที่ 1,790 มิลลิเมตร เท่ากับความสูงของ new D-MAX แต่เตี้ยกว่า BT-50 รุ่นที่แล้ว 31 มิลลิเมตร ตัวเลขความยาวฐานล้อของ new BT-50 และ new D-MAX เท่ากันพอดิบพอดีที่ 3,125 มิลลิเมตร แต่ฐานล้อของรุ่นใหม่ สั้นกว่า BT-50 รุ่นที่แล้ว 105 มิลลิเมตร
บั้นท้ายเรียบง่าย ยกมาทั้งยวงจาก new D-MAX ไม่ว่าจะเป็นกระบะท้าย กันชนหลังและไฟท้าย ฝาท้ายกระบะติดตั้งมือจับที่เปิดฝาท้ายทำจากพลาสติกโครเมียมสีเงิน รุ่นสูงสุดติดตั้งกล้องมองหลังมาให้เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการขับถอยหลัง กันชนหลังเหล็กพ่นสีเดียวกับตัวถังพร้อมพลาสติกกันรอยเมื่อต้องเหยียบกันชนเพื่อขึ้นไปบนกระบะหลัง สำหรับล้อและยางอะไหล่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม (ใต้กระบะหลัง) ด้านบนของกระจกบังลมบานหลังบริเวณขอบ กึ่งกลางของหลังคามีการติดตั้งไฟเบรกดวงที่สาม หลอด LED เพื่อเพิ่มความคมชัดของไฟเบรกขณะที่มีการแตะเบรกเพื่อแจ้งเตือนให้กับรถคันข้างหลังได้รับรู้ ไฟท้ายมีทรงที่คล้ายกับ Isuzu new D-MAX แต่มีรายละเอียดภายในที่แตกต่างกัน จุดที่หยิบเอาของ new D-MAX มาใช้ก็คือ กันชนหลัง และมือจับที่เปิดฝาท้ายพร้อมกล้องมองหลังนั่นเอง
ห้องโดยสารของกระบะรุ่นใหม่ภายใต้แบรนด์ Mazda มีการแจ้งในเอกสารว่า การออกแบบภายในห้องโดยสารของ new BT-50 ออกแบบโดยปรับปรุงให้สามารถเข้า-ออกจากประตูหลังได้สะดวกขึ้น เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พวงมาลัย Talescopic ปรับได้ 4 ทิศทาง ทั้งไกล-ใกล้ หรือสูง-ต่ำ รวมถึงวัสดุป้องกันเสียงถูกติดตั้งเพื่อลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร ลดเสียงลมปะทะตัวถังบริเวณบานประตูหน้า ชิ้นส่วนของ new D-MAX ถูกนำมาปรับใช้ แช่น แดชบอร์ด คอนโซลที่ยกมาทั้งเซต เปลี่ยนแผงควบคุมอุณหภูมิใหม่ ที่เน้นความหรูหรามีระดับคล้ายรถราคาแพง เป็นชุดควบคุมอุณหภูมิแบบดิจิตอลปุ่มกด โดยได้ดีไซน์ที่ให้ความสวยงามน่าใช้ จอแสดงผลกลางสั่งงานด้วยระบบสัมผัสที่มีฟังก์ชันมากมายก่ายกองใช้ไม่หมด เช่น เนวิเกเตอร์ กล้องมองหลัง การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก ช่อง USB
พวงมาลัย Mazda หน้าตาออกในแนวพวงมาลัยรถสปอร์ตเนื่องจากใช้ทรงแบบสามก้าน ด้านขวามือของก้านวงติดตั้งสวิตช์ของระบบปรับตั้งความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control ด้านซ้ายมือ เป็นปุ่มปรับตั้งและเลือกฟังก์ชันต่างๆ ปุ่มรับหรือวางสายโทรศัพท์บลูทูธ ปุ่มสั่งงานด้วยระบบเสียง ปุ่มควบคุมระบบเครื่องเสียงแบบ 4 ทิศทาง ก้านวงหุ้มหนังแท้จับได้กระชับมือดี
จุดที่ทำออกมาได้ดีสำหรับงานตกแต่งภายในของ Mazda new BT-50 ก็คือ เบาะหุ้มหนังสังเคราะห์ที่สวยงาม ตัวเบาะคนขับในรุ่นสูงสุดปรับไฟฟ้า แต่เบาะคนนั่งยังใช้การปรับด้วยมือเหมือนเดิม ควรจะให้เบาะไฟฟ้าคู่หน้ามาได้แล้วสำหรับรุ่นสูงสุด เนื่องจากNissan Navara รุ่นท็อปนั้น มาพร้อมกับเบาะไฟฟ้าคู่หน้าทั้งสองตัว เบาะหนังไวนิลของ BT-50 ใช้โทนสีน้ำตาล มีรูระบายเพื่อลดความอับชื้น เบาะคู่หน้ามีรูปทรงแบบสปอร์ต พร้อมที่รองบริเวณหัวไหล่และด้านข้างของตัวเบาะที่ออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวขยับไปมาเมื่อเข้าโค้ง พนักเท้าแขนบริเวณถัดจากซุ้มเกียร์ ออกแบบให้เป็นกล่องเก็บของเล็กๆ ที่ใช้เก็บของกระจุกกระจิกได้ดี จุดต่อมาที่ทำออกมาดีก็คือ วัสดุหุ้มหลังคาด้านในของห้องโดยสาร เป็นวัสดุพวกใยสังเคราะห์สีดำ ออกแบบให้ช่วยซับเสียงไปในตัว หลังตาของ new BT-50 รุ่นสูงสุดมีลำโพงติดตั้งอยู่ด้านบนอีกต่างหาก จุดของไฟส่องสว่างด้านหน้าในห้องโดยสาร มีที่ใส่แว่นกันแดดมาให้เพื่อความสะดวกในการเก็บแว่นตาราคาแพง เบาะหลังมีพื้นที่ไม่มาก แต่ก็พอเพียงสำหรับผู้โดยสารสองคน พร้อมช่องแอร์ตรงกึ่งกลางระหว่างเบาะคู่หน้าเพื่อให้ลมเย็นกับคนที่นั่งอยู่ด้านหลังในวันที่มีอากาศร้อน
คันเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีด ออกแบบคล้ายหัวเกียร์ของรถเก๋งมากกว่าจะเป็นหัวเกียร์ของกระบะสายลุย ผลักคันเกียร์มาทางขวา เพื่อเข้าสู่โหมดแมนนวล แล้วใช้คันเกียร์ โยกขึ้นลง (+/-) เพื่อเปลี่ยนอัตราทดบนเส้นทางที่คดเคี้ยว หรือต้องการเรียกแรงบิด รวมถึงการใช้เอนจิ้นเบรกเพื่อลดความเร็วก่อนเข้าโค้งด้วยการลดเกียร์ลงต่ำ ข้างซุ้มคันเกียร์ยังมีสวิตช์ช่วยขับขณะลงหรือขึ้นทางลาดชัน (Hill Descent Control and Hill Start Assist) ช่องเชื่อมต่อ USB มีมาให้หลายตำแหน่งรอบๆ ห้องโดยสาร สำหรับการชาร์จสารพัดอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบพกพาขนาดเล็ก ใต้แผงควบคุมอุณหภูมิ เป็นที่อยู่ของปุ่มปรับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มีให้เลือกทั้ง 2H 4H 4L ช่องเสียบไฟ DC 12V/120W ปุ่มกดเพื่อยกเลิกการทำงานของแอร์แบ็คที่ตำแหน่งผู้โดยสารตอนหน้า ปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ ช่องแอร์ทรงสี่เหลี่ยมล้อมกรอบด้วยพลาสติกสีเงิน อีกตำแหน่งที่มีการตั้งใจทำให้สวยงามก็คือ งานตกแต่งแผงประตูพร้อมมือจับที่เปิดประตูสีเงินทั้งสี่บาน หนังและพลาสติกที่นำมาใช้ดูดีมีราคากว่าของคู่แข่งแบบเห็นๆ
หลังจากแยกทางกับ Ford แล้วมาจูบปากกับ Isuzu เจ้า new BT-50 จึงมีขุมกำลัง 2 ความจุของ Isuzu new D-MAX ให้เลือก
เริ่มจากเครื่องยนต์ดีเซล 1.9DDi เทอร์โบ แถวเรียง 1.9 ลิตร ปริมาตรความจุ 1,898 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ 80.0 มิลลิเมตร ช่วงชัก 94.4 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5:1 ให้กำลังสูงสุด 110 กิโลวัตต์ หรือ 150 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 1,800-2,600 รอบต่อนาที เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร ของ Ford ใน BT-50 โฉมที่แล้ว ก็พบว่า เครื่องดีเซล 2.2 ลิตร ตัวเก่า มีแรงบิดมากกว่าเล็กน้อยที่ 375 นิวตันเมตร แต่มีแรงม้าเท่ากันพอดีที่ 150 แรงม้า
เครื่องยนต์ของรถคันทดสอบ เป็นรถ BT-50 รุ่นสูงสุด ถ้าเป็นคนที่ชอบเดินทางพร้อมครอบครัวและรับกับความรู้สึกของช่วงล่างในรถปิคอัพได้ ก็ขอให้เลือกรุ่น 3.0 ลิตรไปเลย จะหมดปัญหาในเรื่องของแรงบิด ความคล่องแคล่วและการบรรทุกสัมภาระที่ให้กำลังเหนือกว่ารุ่น 1.9 สำหรับเจ้า BT-50 คันทดสอบซึ่งเป็นรถรุ่นสูงสุด DBL 4×4 3.0 SP 6 AT ค่าตัว 1,153,000 บาท วางเครื่องยนต์ดีเซลแถวเรียง 4 สูบ 3.0 ลิตร อัดอากาศด้วยเทอร์โบพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ปริมาตรความจุ 2,999 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ 95.4 มิลลิเมตร ช่วงชัก 104.9 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.3:1 กำลังสูงสุด 140 กิโลวัตต์ หรือ 190 แรงม้า แรงบิด 450 นิวตันเมตร เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ 3.2 ของ Ford ที่ประจำการอยู่ใน BT-50 รุ่นท็อปสุดโฉมที่แล้วก็พบว่าเครื่องยนต์ 3.2 ลิตรของ Ford ที่อยู่ใน BT-50 ตัวสุดท้ายมีกำลัง 200 แรงม้า และมีแรงบิดมากกว่าที่ 470 นิวตันเมตร แต่ความแข็งแกร่งทนทานและความเสถียรของเครื่องยนต์นั้น เครื่องดีเซล 3.0 ลิตร ของ D-MAX ที่วางอยู่ใน New BT-50 เหนือกว่าในด้านความเหนียว
ระบบส่งกำลังก็ยังยกชุดเกียร์ของ new D-MAX มาให้เลือกสองแบบ ทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะและเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด รถทดสอบรุ่นท็อปเครื่อง 3.0 ลิตร ติดตั้งระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งเป็นชุดเกียร์ขับเคลื่อนสี่ล้อที่มีขนาดกะทัดรัด ทอร์คคอนเวอร์เตอร์มีน้ำหนักเบาพร้อมระบบล็อกอัพที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ มีการตอบสนองพอใช้ได้ เมื่อลองโยกคันเกียร์เพื่อเปลี่ยนอัตราทดด้วยตัวเอง เกียร์ไหลลื่นพอใช้และเปลี่ยนเกียร์ได้ไม่ถึงกับเร็วมากนัก
สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้เพลาขับทำจากอะลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักเบาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเกียร์ส่งกำลังหรือ Transfer case ทำให้สามารถสลับโหมดการขับเคลื่อนและการทำงาน 4H/4L ได้เร็วขึ้น เมื่อใช้งานโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อ รุ่นขับทุกล้อยังมาพร้อมกับระบบล็อกเฟืองท้ายไฟฟ้า electronic limited slip differential ระบบเบรกของ new BT-50 ด้านหน้าแบบดิสเบรก ขนาด 17 นิ้ว ส่วนด้านหลังยังคงใช้ดรัมเบรก ระบบรองรับ ด้านหน้าดับเบิ้ลวิชโบนปีกนกคู่ ด้านหลังแบบแหนบซ้อน โครงสร้างแชสซี มีการใช้โลหะเหล็กแบบเหนียวพิเศษ
Mazda New BT-50 รุ่นท็อปสุด ติดตั้งระบบช่วยขับ Advanced Driver Assistance System (ระบบ ADAS เหมือนกับ new D-MAX) เช่น
ABSM
Advanced Blind Spot Monitoring : ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ตัวระบบจะส่งสัญญาณเสียงพร้อมไฟกะพริบเตือน หากตรวจพบรถในเลนด้านข้างที่กำลังแซงขึ้นมาจากทางด้านหลัง และอยู่ในจุดที่ผู้ขับอาจมองไม่ทันสังเกต
RCTA
Rear Cross Traffic Alert : ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง โดยระบบจะส่งสัญญาณเสียงพร้อมไฟกะพริบเตือนขณะถอยหลัง หากระบบตรวจพบความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุจากรถที่กำลังเคลื่อนที่ตัดเข้ามาจากด้านหลัง
Parking Aid
ระบบช่วยจอด กล้องมองหลังพร้อมสัญญาณเสียงแจ้งเตือนขณะถอยเข้าไปใกล้สิ่งกีดขวาง
HDC Hill Descent Control
ระบบช่วยควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน
HAL
ระบบช่วยออกตัวรถขณะอยู่บนทางลาดชัน
ABSM Advanced Blind Spot Monitoring
ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM เป็นระบบเซนเซอร์เพื่อตรวจจับเมื่อมีรถเคลื่อนที่เข้ามาทางด้านหลังเมื่อเปลี่ยนเลน โดยระบบจะส่งสัญญาณเตือนบนกระจกเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งเป็นเซนเซอร์ตัวเดียวกันที่ใช้กับระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA) ที่ช่วยส่งสัญญาณเตือนคนขับเมื่อตรวจพบว่ามีรถยนต์กำลังเคลื่อนที่เข้ามาจากทางด้านหลัง
ถุงลมนิรภัย SRS 6 ตำแหน่ง
Mazda new BT-50 รุ่นสูงสุด ติดตั้งเซนเซอร์ 4 ตัวบนกันชนด้านหน้าและด้านหลังจะช่วยกะระยะห่างระหว่างรถกับวัตถุ โดยระบบจะส่งเสียงแจ้งเตือนผู้ขับขี่เมื่อรถเคลื่อนเข้าไปใกล้วัตถุจนถึงระยะห่างที่กำหนด
Mazda new BT-50 รุ่นสูงสุด ดับเบิ้ลแค็บ 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ เครื่องยนต์ 3.0 DDi ของ Isuzu ถูกขับออกจากกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งหน้าไปตางสุพรรณบุรี ต่อเชื่อมกับอำเภอด่านช้าง และอำเภอบ้านไร่ ในจังหวัดอุทัยธานี ความเห็นหลังจากควบออกมาได้ไม่ไกล จากความรู้สึกที่รถส่งถ่ายออกมา พวงมาลัยและช่วงล่าง รวมไปถึงเครื่องยนต์และเกียร์ที่นำมาจากแบรนด์เจ้าแห่งยอดขายรถกระบะอย่าง Isuzu ซึ่งเน้นความคงทน แต่การควบคุมยังคงเป็นรอง Nissan Navara PRO4X ซึ่งผมเคยใช้เส้นทางเดียวกันนี้ ทดสอบกระบะตัวแต่งของ Nissn สำหรับระบบขับเคลื่อนของ BT-50 ในรุ่น 3.0 ลิตร เทอร์โบดีเซล มีประสิทธิภาพพอสมควร การเร่งความเร็วเพื่อแซงรถช้า แรงบิด 450 นิวตันเมตร เพียงพอต่อการใช้งาน แต่การบรรทุกสัมภาระพร้อมผู้โดยสารแบบเต็มคันรถ New BT-50 จะสำแดงสมรรถนะของการวิ่งออกมาให้เห็น
เมื่อมีน้ำหนักบรรทุกหรือโหลดเพิ่มมากขึ้น อาการกระเด้งกระดอนเมื่อวิ่งตัวเปล่าไม่มีการบรรทุกก็จะน้อยลง ประสิทธิภาพของชุดบังคับเลี้ยว ซึ่งผมเคยชอบพวงมาลัยใน BT-50 ตัวเก่า ในรถ BT-50 รุ่นเก่า มีชุดบังคับเลี้ยวที่เหนือกว่าในด้านของความแม่นยำ new BT-50 ในร่างทรงของ Isuzu new D-MAX มีให้แค่ความนิ่มนวลและความสบายในการขับ แต่การถ่ายเทน้ำหนัก อาการโคลงตัว และความย้วยเมื่อเปลี่ยนทิศทางแบบฉับพลันทันที ยังคงมีอยู่ ช่วงล่างหรือระบบกันสะเทือนของ BT-50 รุ่นใหม่ เหมือนกับ Isuzu D-MAX ทุกอย่าง ใจจริง อยากให้ Mazda ปรับช่วงล่างในสไตล์ของตัวเอง มากกว่าจะหยิบของ D-MAX มาทั้งยวงโดยที่ไม่ได้ลงมือปรับตั้งอะไรทั้งสิ้น ผมจึงชอบอารมณ์ ความรู้สึกและการตอบสนองของช่วงล่าง กับพวงมาลัย ใน BT-50 ตัวเก่ามากกว่า สำหรับประสิทธิภาพของการเบรก เมื่อใช้เบรกฉุกเฉินแบบเต็มกำลัง ถือว่าทำออกมาได้ดี แม้เบรกหลังจะยังคงใช้แบบดรัมเบรก แต่สามารถหยุดรถตามที่ต้องการได้ พลังในการเบรกเหมาะสมกับมวลน้ำหนัก แต่จะให้ดีและเหนือกว่าคู่แข่งทุกแบรนด์ ยัดเบรกหลังเป็นดิสเบรกก็จะดีกว่านี้อีกเยอะ
แรงบิดขณะเร่งความเร็วบนทางตรงยาว ออกมาในลักษณะไหลขึ้นไปเรื่อยๆ จริงๆแล้ว เครื่องยนต์ 3.0 ลิตร ของ Isuzu จะขับสนุกและตอบสนองได้ดีกว่าเครื่องเล็กอย่าง 1.9 DDi ทำให้คิดถึงเครื่องบ้าพลังของ Ranger อยู่เหมือนกัน นั่นคือเครื่อง 2.0 ลิตรที่มีความจุน้อยกว่าเครื่อง Isuzu ถึง 1,000 ซีซี. แต่ปรับแต่งมาจนสามารถเบ่งแรงบิดได้ถึง 500 นิวตันเมตร สำหรับแรงบิด 450 นิวตันเมตร ของ New BT-50 ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน เร่งแซงพอได้ ไม่ต้องกะระยะแซงแบบเครื่องเล็ก รวมถึงการทำความเร็วเดินทางต่อเนื่องบนไฮเวย์ที่ทำออกมาได้ดี รอบเครื่องยนต์ไม่สูงมากจนเกินไป เมื่อใช้ความเร็วตามกฏหมายกำหนด บางจังหวะมีดันขึ้นสู่ย่านความเร็วสูงเพื่อทดสอบการทรงตัว ในย่านความเร็วสูง Mazda New BT-50 ทรงตัวใช้ได้ แต่ไม่ควรเปลี่ยนทิศทางเร็วๆในกระบะยกสูง หรือทางที่ถูกต้องก็คือ ใช้ความเร็วตามที่กฏหมายกำหนด คุณจะสามารถควบคุมปิคอัพยกสูงได้อย่างปลอดภัย อย่าลืมเผื่อระยะเบรก โดยไม่ขับเข้าไปใกล้กับท้ายรถคันข้างหน้ามากจนเกินไป และลดความเร็วลงทุกครั้งที่จะเลี้ยวโค้ง New BT-50 ให้ความมั่นใจใช้ได้เมื่อขับเร็วๆ เครื่องยนต์และเกียร์ ตอบสนองได้ดี แต่ไม่ได้ดีเหนือกว่ารถคู่แข่งที่มีแรงบิดมากกว่า
โครงสร้างแชสซีสไตล์ปิคอัพ ใช้เหล็ก High Tensile Steel ช่วงล่างหน้าแบบดับเบิ้ลวิชโบน ปีกนกคู่สองชั้น มีสปริงที่เช็ตค่าการยืดยุบค่อนข้างแข็ง แต่ซับแรงสั่นสะเทือน หรือแรงกระแทกขณะลงหลุมได้ดีพอใช้ ชุดแหนบหลังเพื่อเน้นการบรรทุกสัมภาระ เอามาวิ่งตัวเปล่าเร็วๆแบบการทดสอบในครั้งนี้ จะมีอาการกระเด้งกระดอนอยู่บ้าง เมื่อขับผ่านผิวถนนแบบโลกกระจันทร์ แต่ความสามารถในการบรรทุกนั้นไม่เป็นรองแบรนด์คู่แข่ง ส่วนยาง Bridgestone Dueler H/T รองรับการลุยทางวิบาก เช่น ทางลูกรังที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ หรือทางที่โรยด้วยหินก้อนเล็กๆได้ดีพอสมควร แก้มยางที่สูงช่วยทำให้ลดอาการสะเทือนลงไปได้บ้าง ไซล์ 265/60R18 กับลายดอกยางถี่ยิบ คือยางในสไตล์กึ่งเรียบกึ่งลุย ที่รองรับการใช้งานได้ดี เกาะถนนใช้ได้เมื่อขับเร็ว และมีการรีดน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเมื่อขับในขณะฝนตก ถ้าจะลุยให้โหดกว่าเส้นทางแถบบ้านใต้จากแก่นมะกรูดไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ของชนชาวกระเหรี่ยง ซึ่งมีสภาพเส้นทางไม่ค่อยเอื้อยอำนวยสักเท่าไหร่ ใส่ยางออฟโรดเต็มรูปแบบ ก็จะไปในทางโหดๆได้ดีขึ้น โดยเฉพาะทางดินที่เปียกลื่นและต้องการดอกยางลึกๆ ใหญ่ๆ เพื่อตะกุยเอาตัวรอดขึ้นมาจากหล่มลึก
ระบบขับเคลื่อนที่นักเลงออฟโรดสามารถปรับการขับจาก 2 มาเป็น 4 ล้อ ในรูปแบบ Shift on the Fly จากขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง มาเป็นขับเคลื่อน 4 ล้อในรูปแบบ 4H คือหนึ่งในความสามารถของ New BT-50 DBL Double Cab 4x4 ในทางแบบชนบทที่คับแคบของจังหวัดอุทัยธานี ชายขอบของป่าห้วยขาแข้ง พวงมาลัยให้ความรู้สึกถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างการควบคุมและสัมผัสที่แม่นยำหนักแน่น แต่ไม่ได้แม่นเท่า Nissan Navara PRO4X ที่มีพวงมาลัยเริ่ดกว่า พวงมาลัยของ New BT-50 ทำให้ผมนึกถึงพวงมาลัยใน D-MAX ทั้งความรู้สึก ระยะของการหมุนและสัมผัสของน้ำหนักแนวรถกระบะ Mazda BT-50 เป็นปิกอัพพันธุ์ลุยที่มีชุดบังคับเลี้ยวเที่ยงตรงใช้ได้ แต่ออกแนวรีเลย์นิดๆ ในด้านความรู้สึก ยังไม่ค่อยจะกระชับ และฉับไวเท่ากับ Ford Ranger ที่ใช้พวงมาลัยไฟฟ้า ยาง Bridgestone Dueler H/T อย่างที่บอกว่า เป็นยางกึ่งๆ วิ่งได้ทั้งเรียบและขรุขระ แต่ถ้ามีหล่มโคลนลึกต้องเปลี่ยนเป็นยางดอกใหญ่ที่ลุยได้ดีบนทางวิบากแบบจัดเต็ม ยางติดรถใน New BT-50 รุ่นขับสี่ รองรับการใช้งานได้ดี เงียบและมีความนุ่มอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ
Isuzu และ Mazda ใช้ความพยายามอย่างมาก ในการที่จะเอาชนะรถปิกอัพคู่แข่งที่มีพวงมาลัยหรือชุดบังคับเลี้ยวดีๆ แต่ยังต้องใช้การปรับจูนอีกพอสมควร หรือไม่ก็กล้าพอที่จะเปลี่ยนจากพวงมาลัยไฮดรอลิกส์ ไปเป็นไฟฟ้าที่มีความแม่นยำมากกว่า Mazda BT-50 มีการจัดวางแซสซีส์ เครื่องยนต์ เกียร์ เฟืองท้าย และเพลาขับเคลื่อน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในขณะขับขี่ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักๆในการผลิตรถกระบะ ส่งผลไปถึงการทรงตัว ที่ทำออกมาได้น่าพึงพอใจ สัดส่วนของความสูงในรถปิกอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ ไม่เหมาะสำหรับการหักพวงมาลัยเร็วๆ แบบหวดเข้าโค้งมุมแคบด้วยความเร็วสูงเนื่องจากมีความสูงมากกว่ารถเก๋ง อาการโคลงตัวในโค้งหรือบนถนนที่ขรุขระก็เยอะมากกว่ารถเตี้ย การใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับสภาพเส้นทาง จะช่วยทำให้คุณควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย โดยมีความสบายของเบาะและงานตกแต่งภายใน รวมถึงระบบอินโฟเทนเมนท์ที่รองรับการเชื่อมต่อสารพัดรูปแบบ
ระบบหน่วงความเร็ว ทำหน้าที่ทันทีเมื่อขับลงทางลาดชัน ทำให้คุณไม่ต้องใช้เบรคหนักๆ ไปตลอดทางเมื่อต้องผจญกับเส้นทางขึ้น-ลงภูเขาแบบนี้ ทางลูกรัง ทางโคลนเลนและหลุมบ่อ BT-50 ลุยได้สบายๆ และไปในพื้นที่ที่รถเก๋งไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ New BT-50 วิ่งผ่านไปได้อย่างสบายๆ การขับลัดเลาะไปตามไหล่เขา ด้วยการวางตำแหน่งรถ หรือลงไปตรวจสอบเส้นทาง เมื่อไม่แน่ใจ ด้วยความที่อยากจะทดสอบประสิทธิภาพของรถคันนี้ ผมจึงเลือกเส้นทางที่ขับออกจากแก่นมะกรูด โดยใช้ทางชนบท ตัดผ่านลุยทุ่งและป่าเขา เพื่อทดสอบสมรรถนะด้านการลุย หลุมโหดๆ ขนาดควายลงไปนอนเล่นได้ทั้งฝูง กับบางช่วงบางตอนที่เต็มไปด้วยหินก้อนโต ทำให้ผมขับช้าลงจนแทบจะคลานในบางช่วงบางตอน เส้นทางที่ชาวบ้านใช้ในอำเภอบ้านใต้ เต็มไปด้วยธรรมชาติที่สงบสวยงามโดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนแบบนี้ แม้อากาศภายนอกจะร้อนเฉียด 40 องศาเซลเซียส แต่ระบบควบคุมอุณหภูมิภายในห้องโดยสารทำงานได้ดี ช่วยกระจายความเย็นฉ่ำตลอดเส้นทาง ลงไปถ่ายภาพการทดสอบแล้วโดนแดดแรงๆ เผาจนเหงื่อท่วมตัว กลับขึ้นมาบนรถก็ได้ความฉ่ำทันที ช่วยได้เยอะเลยทีเดียวล่ะครับ
เมื่อวิ่งไปจนสุดทางหลวงชนบท 3011 ต่อจากทางเรียบๆ มันก็คือทางลูกรังออฟโรดเต็มรูปแบบ ที่วิ่งออกจากเส้นทางลาดยางหลัก เป็นทางฝุ่นในช่วงหน้าร้อนที่ใช้ทดสอบความสามารถของ New BT-50 ได้ดี ทำให้รู้สึกได้ถึงความแตกต่าง เมื่อต้องลงจากรถหรูมานั่งขับเจ้าตัวลุยตะกาย 4 ล้อของ Mazda บนทางวิบากที่ทารุณกรรมช่วงล่างและยาง BT-50 วิ่งอย่างทุลักทุเล ลุยป่าฝ่าทางลูกรังได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องอาศัยฝีไม้ลายมืออะไรกันมากมายนัก เกียร์ออโต้ 6 สปีดที่มีตำแหน่งบวก-ลบ แบบทริปทรอนิกส์ บวกระบบขับเคลื่อนทุกล้อ ที่ถูกเลือกใช้ในตำแหน่ง 4H ทำให้การไต่ขึ้นหรือขับลงเขาทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยการดันคันเกียร์ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งมักเป็นเกียร์ 2-3 เกียร์อัตโนมัติ 6 อัตราทด ของ BT-50 ซึ่งเป็นชุดเกียร์ออโต้ของ Isuzu ตอบสนองได้เร็วและทำงานส่งถ่ายแรงบิด 450 นิวตันเมตรกระจายไปยังล้อขับเคลื่อนทั้ง 4 ตามโหมดที่ปรับตั้งซึงมีทั้ง 4L และ 4H ให้เลือกใช้ตามสภาพเส้นทางที่คุณใช้ลุย เจอสภาพทางโหดหน่อยค่อยๆ ไปก็ใช้เกียร์ 4L ขรุขระไม่มากแต่ยังมีหลุมอยู่บ้างพอจะวิ่งเร็วได้ก็ 4H อาการกระเด้งกระดอน เมื่อขับเร็วๆ ไหลผ่านหลุมบ่อเล็กๆ เล่นเอาเมื่อยบั้นเอวอยู่เหมือนกัน
แรงบิด 45.9 กิโลกรัมเมตร ในย่าน 2,000 รอบต่อนาที ที่ออกมาจากเครื่องยนต์ 3.0DDi Blue Power ฉุดรั้งผลักดันตัวรถตะกุยตะกายขึ้นมาจากเนินที่ตั้งชันหรือหล่มลึกที่ไม่รู้จักหมดสิ้น การขับทดสอบแบบออฟโรดสร้างความสนุกสนานและความบันเทิงสำหรับพวกบ้าขับในด้านการควบคุมพวงมาลัยและคันเร่งให้มีความสัมพันธ์ไปกับสภาพทาง แรงบิดที่ส่งออกมาตั้งแต่รอบต่ำทำให้การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินบนหลุมบ่อเป็นไปตามที่ต้องการ ความสามารถในการบุกตะลุยทางลูกรังขรุขระ แต่เมื่อยางต้องมาผจญกับทางลูกรัง แรงบิดที่ปล่อยออกมาอาจทำให้ล้อหลังกับส่วนท้ายของ Mazda New BT อยู่ไม่เป็นที่เป็นทางได้เหมือนกัน เมื่อแรงบิดถูกปลดปล่อยออกมาจนหมด Bridgestone Dueler H/T ก็รับไม่ไหว อาการสไลด์ท้ายออกข้างจากความลื่นของเส้นทางที่โรยหินกรวดและดินลูกรังสีแดง สร้างความตื่นเต้นปนความสนุกสนานได้เหมือนกันหากคุณรู้จักควบคุมคันเร่งและพวงมาลัยในโหมดขับเคลื่อน 4H
ปัจจุบัน เครื่องยนต์ของรถกระบะรุ่นใหม่ของแต่ละค่ายมีการปรับปรุงเทคโนโลยี ทั้งระบบอัดอากาศ ระบบวาล์ว ชุดหัวฉีดแรงดันสูง และระบบระบายความร้อน เพื่อเค้นพละกำลังแรงบิดให้ออกมาได้มากที่สุด แบบไม่มีใครยอมใคร แรงฉุดลากหรือแรงบิดที่เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล ปรับจูนมาเพื่อการฉุดตัวเองออกจากเส้นทางวิบาก รวมถึงการลากน้ำหนักบรรทุกที่เป็นจุดเด่นของรถกระบะ บนทางตรงยาวมันจึงมีพลังเหลือเฟือในการทำความเร็ว ซึ่งอาจเร็วจนคุณเสียอาการ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดแล้วต้องหักพวงมาลัยหลบกระทันหัน สำหรับการขับขี่บนไฮเวย์ เนื่องจากมีกำลังมากพอที่จะวิ่งในย่านความเร็วสูง ผู้คนในประเทศนี้จึงมักขับเจ้ากระบะยกสูงด้วยความเร็วที่มากเกินควรจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย สัดส่วนของความสูงที่กลายเป็นข้อด้อยเมื่อขับเร็วเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การหักพวงมาลัยกระทันหันเพื่อหลบหรือแซง หรือไปเจอกับทางที่ไม่มีความคุ้นชิน เช่น โผล่ไปพบกับโค้งมุมแคบ หรือพวกที่กลับรถแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจทำให้ตัวรถเสียอาการจนยากที่จะควบคุม โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่ผิวถนนอยู่ในสภาพที่ไม่ปกติ แม้จะมีแรงม้าท่วมท้นมากเกือบๆ 200 ตัว กับแรงบิดระดับ 450 นิวตันเมตร แต่การขับขี่บนทางตรงแบบไฮเวย์ ควรระมัดระวังไม่ให้ความเร็วสูงมากจนเกินไป ความเร็วตามค่าที่ป้ายกำหนดอาจดูช้ามากสำหรับคนที่ใจร้อน แต่มันถูกกฏหมายจราจรและเป็นความเร็วที่ทำให้คุณสามารถควบคุมรถได้อย่างง่ายดายหากปฏิบัติตาม เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ในการที่จะทำให้คนไทยทำตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เห็นได้เลยจากสถิติอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนที่สูงติดอันดับโลกอยู่ในขณะนี้
ทุกอย่างของ new BT-50 รุ่นสูงสุดนั้นโอเคเลยล่ะครับ เป็นรถปิกอัพยกสูง 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ทำออกมาดีพอสมควร ยกเว้นช่วงล่าง กับสัมผัสของพวงมาลัย ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของกระบะ Mazda แต่พอมาใช้ชิ้นส่วนร่วมกับ Isuzu new D-MAX ช่วงล่างที่โดดเด่น กับพวงมาลัยอย่างคม และมีความแม่นยำในรถรุ่นที่แล้ว หายไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าคุณเป็นคนที่ขับไม่เร็ว อาการดังกล่าวแทบจะไม่รู้สึก แต่ถ้าเป็นพวกเท้าหนักสายโหด ชอบใช้ความเร็วสูงต่อเนื่อง ลงคันเร่งลึกบ่อยๆ และเคยครอบครอง Mazda BT-50 โฉมที่แล้ว คุณจะรู้สึกได้ถึงความย้วยเมื่อลองขับ อาการย้วยและกระเด้งกระดอนเมื่อวิ่งตัวเปล่าไม่ได้บรรทุกสัมภาระ ยังคงเกิดกับ D-MAX และ BT-50 แต่แลกกลับด้วยความทนทาน ไม่จุกจิกกวนใจ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ เกียร์ และช่วงล่างนั้นไม่ได้สลับซับซ้อนหรือใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอะไร ออกแนวถึกทนอยู่รับใช้กันนานปี เหมือนมี Isuzu อยู่ในบ้าน ซึ่งมีหน้าตาเป็นรถ Mazda นั่นเองล่ะครับ.