ทำไมต้องซื้อเครื่องบินขับไล่ คำตอบก็คือ เพื่อการคานอำนาจการต่อรอง การป้องปรามฝ่ายตรงข้ามและประเทศที่ไม่หวังดี และหากคุณมีญาติพี่น้องที่เป็นนักบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทย แล้วเขาต้องมาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกขณะบินปฏิบัติภารกิจ เนื่องจากต้องขึ้นบินกับเครื่องบินรบรุ่นเก่าที่ใกล้จะปลดประจำการ คุณจะรู้สึกอย่างไร? กองทัพฯ ต้องสูญเสียนักบินที่มีความสามารถ ซึ่งใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการผลิตนักบินรบแต่ละนาย

...

กองทัพอากาศไทยมีแผนจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ 19 (บข.19) หรือ F-16 ที่ประจำการนานกว่า 30 ปี แล้ว โดยจะประเดิมล็อตแรก 4 ลำ พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายใต้งบประมาณประจำปี 2568 จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่เพื่อทดแทนเครื่องรุ่นเก่าที่หมดอายุ เป็นโครงการต่อเนื่องจนไปถึงปี 2577 เพื่อให้ครบ 1 ฝูงบิน จำนวน 12 ลำ ตามการประเมินขีดความสามารถและภัยคุกคามในสมุดปกขาวของกองทัพอากาศประจำปี 2567 ตัวเลือกเครื่องบินขับไล่ที่เข้าข่ายการพิจารณานั้นมี 2 แบบ คือ เครื่องบินขับไล่แบบ 19 (F-16 รุ่น Block 70/72) จาก Lockheed Martin และเครื่องบินขับไล่แบบ 20 (SAAB JAS-39 Gripen E/F ของ SAAB เป็น 2 ตัวเลือกที่ดี และไม่ควรกระเสือกกระสนดิ้นรนอยากได้  F-35 ที่ตกบ่อยจนผิดสังเกต ดีที่อเมริกาไม่ขายเครื่องรุ่นนี้ให้กับ ทอ. ไทย เพราะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในขณะที่กำลังทำการฝึกบิน

Saab JAS 39 Gripen เครื่องบินขับไล่พหุบทบาทรุ่นที่สี่ของสวีเดน พัฒนาขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และเข้าประจำการในกองทัพไวกิ้งในปี 1996 คุณลักษณะที่น่าสนใจของเครื่องบินขับไล่ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และมีความคล่องตัวก็คือ ต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ และต้นทุนต่อชั่วโมงบินน้อยกว่า 3-4 เท่า ซึ่งน้อยกว่าการใช้งานเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Lockheed Martin F-35 Lightning II และมีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินน้อยกว่าเครื่องบินขับไล่ของกองกำลังนาโต้อย่าง Eurofighter Typhoon ถึงสองเท่า และยังน้อยกว่า F-16 Block 40/50 ถึง 1.5 เท่า

คุณสมบัติที่น่าสนใจอีกอย่างของ Saab JAS 39 Gripen E คือ ความสามารถในการใช้ทางหลวงเป็นรันเวย์เพื่อบินขึ้น หรือร่อนลงจอด ด้วยระยะทางวิ่งที่สั้นกว่า ความสามารถในการลงจอดบนพื้นที่ชื้นแฉะ ด้วยระยะทางสั้นแค่ 500 เมตร แตกต่างจาก Eurofighter Typhoon ซึ่งต้องการทางวิ่งที่เรียบและยาว นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมของเครื่อง JAS 39 Gripen ให้พร้อมสำหรับการขึ้นบิน ใช้เวลาเพียง 10-20 นาที เท่านั้น

...

Saab JAS 39 Gripen E สามารถติดตั้งขีปนาวุธและระเบิดของกองกำลังนาโต รวมถึงอาวุธของโลกตะวันตกได้หลากหลายประเภท เช่น : IRIS-T, AIM-9 Sidewinder, A-Darter, MBDA Meteor, AIM-120 AMRAAM, MBDA MICA, AGM-65 Maverick, KEPD .350, RBS-15F, GBU-12 Paveway II, Mark 82, GBU-39 ระเบิดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็ก

...

เครื่องบินรบรุ่นล่าสุด Saab JAS 39 Gripen E หรือ JAS 39E มีราคา 85 ล้านดอลลาร์ต่อลำ คิดเป็นเงินบาทของไทย จะอยู่ที่ 2,947,800,000 บาท Saab JAS 39 Gripen E รุ่นใหม่ ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศของสวีเดนและบราซิล ปัจจุบัน กองทัพอากาศสวีเดนมี JAS 39C จำนวน 71 ลำ และเข้าประจำการ JAS 39E จากคำสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่นี้เพิ่มเติมอีก 60 ลำ ส่วนเครื่อง JAS 39E จำนวน 24 ลำ และ JAS 39D จำนวน 4 ลำ ถูกสั่งซื้อโดยสาธารณรัฐเช็กและฮังการี

...

Saab Gripen E เป็นอากาศยานขับไล่ขนาดกะทัดรัดรุ่นอัปเกรดของเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ Gripen C/D ได้รับการพัฒนาในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยเป็นการอัปเกรด JAS 39 A/B รุ่นก่อนหน้า ในขณะที่รุ่น E/F ได้รับการพัฒนาในปี 2010 เพื่อปรับปรุงและยกระดับศักยภาพทางการบิน สมรรถนะและระบบอาวุธให้เหนือชั้นกว่า JAS 39 ทุกรุ่น ผู้บริหารของ Saab กล่าวว่า "E-series ได้กำหนดนิยามใหม่ ให้กับกำลังทางอากาศสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยการขยายความสามารถในการปฏิบัติการ"

JAS 39 Gripen E ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน General Electric F414 แบบใหม่ แรงขับ 22,000 ปอนด์ ซึ่งทำให้ Gripen สามารถบินได้ด้วยความเร็วเหนือเสียงโดยไม่ต้องใช้สันดาปท้าย (Supercruise) โครงเครื่องบินที่ได้รับการอัปเกรดใหม่ ระบบทำการบินใหม่หมด และชุดสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพสูง

เครื่องบินรบ JAS 39 E-series รุ่นล่าสุด มีความสามารถในการบรรทุกสูงสุดถึง 16,500 กิโลกรัม (16 ตัน) ความเร็วสูงสุด Mach 2 หรือ 2,450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีพิสัยบิน (บินไกล) 3,000 กิโลเมตร ติดตั้งเรดาร์ AESA ใหม่ ระบบค้นหาและติดตามด้วยอินฟราเรด (IRST) เพื่อติดตามภัยคุกคามในระยะไกล ระบบสื่อสารใหม่ประกอบด้วย SATCOM ทำให้ส่งข้อมูลเกินกว่าระยะสายตามองเห็นหรือ line-of-sight ได้ และ UHF video data-link สำหรับรับส่งข้อมูลกับ FAC บนพื้นดินในภารกิจ CAS

นอกจากนี้ Gripen E ยังมีคุณสมบัติที่ Saab เรียกว่า Human-Machine Collaboration (HMC) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง Human-Machine Interface (HMI) และระบบยุทธวิธีที่นำเสนอเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับนักบิน โดยการกรองข้อมูลด้านเทคนิคให้สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด ทำให้นักบิน ประหยัดเวลาและดำเนินการได้อย่างรวดเร็วแทบจะทันทีในช่วงที่ต้องออกบินปฏิบัติการ Gripen E เป็นเครื่องบินขับไล่แบบแรกที่บรรทุกขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ Meteor (AAM) ที่มีความสามารถในการติดตามและทำลายเป้าหมายในระยะไกลถึง 130 กิโลเมตร ในขณะที่ Gripen C สามารถบรรทุกขีปนาวุธ Meteor ได้สี่ลูก เครื่อง Gripen E สามารถบรรทุกได้สูงสุดเจ็ดลูก นอกจากนั้น อาวุธยุทโธปกรณ์แบบอากาศสู่อากาศของ Gripen-E ยังรวมถึงขีปนาวุธระยะสั้น IRIS-T นำวิถีด้วยอินฟราเรด ขีปนาวุธพิสัยใกล้ ASRAAM และ Python แบบสร้างภาพด้วยอินฟราเรด และอาวุธพิสัยไกล เช่นอาร์ ดาร์เตอร์ เครื่องบินลำนี้ยังสามารถบรรจุขีปนาวุธ Sidewinder และขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยกลางขั้นสูง (AMRAAM)

JAS 39 Gripen E บรรทุกอาวุธอากาศสู่พื้นผิวได้หลายชนิด รวมถึงระเบิด Mk82, Mk83 และ Mk84, ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ GBU-12, GBU-16 และ GBU-10 และระเบิดขั้นสูง เช่น GBU- 49 และ GBU-39 ในบรรดาขีปนาวุธอากาศสู่พื้นซึ่ง Gripen E สามารถบรรทุกได้นั้น มีทั้ง RBS15F ER, TAURUS KEPD 350, AGM-65 Maverick และ Brimstone ของ MBDA (DMB)

JAS 39 Gripen E ติดตั้งปืนกลอากาศความเร็วสูงอเนกประสงค์ Mauser BK27 ขนาด 27 มม. ให้ความสามารถในการโจมตีทั้งอากาศยานและต่อต้านยานเกราะหรือยิงทำลายบังเกอร์

สำหรับมาตรการป้องกันตัวเอง Gripen-E ติดตั้งระบบเตือนขีปนาวุธเข้าใกล้ (MAW) บรรจุระบบยิงเป้าลวงได้มากกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องบินขับไล่ประเภทเดียวกัน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเอาตัวรอด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ Gripen-E เอาชนะคู่แข่งจาก Dassault Rafale และ Boeing's F/A-18 Super Hornet คือ ต้นทุนการดำเนินงานและอายุการใช้งาน บวกกับความสามารถทางการบินที่สร้างโดยบริษัท Saab ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงสู่อากาศยานรบที่ทันสมัยที่สุดของสวีเดนซึ่งมีนัยสำคัญมากขึ้น

Gripen-E มีราคาถูกกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของราคาเครื่องบินขับไล่ Rafale ของ Dassault หรือ F/A-18 ของ Boeing นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินของ Gripen-E ยังอยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 138,800 บาท เทียบกับค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งชั่วโมงบิน ที่ 14,000 ดอลลาร์ (485,940 บาท) ของเครื่องบินขับไล่ Rafale และ F/A-18 ยิ่งไปกว่านั้น มีรายงานว่า Saab ได้เสนอการถ่ายโอนเทคโนโลยีในระดับที่สำคัญกว่าสำหรับเครื่องบินรบให้กับกองทัพอากาศบราซิล ซึ่งเมื่อเทียบกับ Dassault และ Boeing กลายเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้กองทัพอากาศบราซิลบรรลุข้อตกลงกับ Saab ได้เร็วขึ้น

ส่วนเครื่องบินขับไล่ที่ ทอ. ไทย อยากได้ (ไม่รู้จะอยากไปทำไม) แต่พวกอเมริกันไม่ยอมขายให้ก็คือ F-35 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 แบบเครื่องยนต์เดี่ยวความเร็วเหนือเสียง พร้อมเทคโนโลยีล่องหน เป็นเครื่องบินรบรุ่นที่สองและเข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2549 ถือเป็นเครื่องบินรบล่องหนความเร็วเหนือเสียงรุ่นแรกของสหรัฐฯ F-35 มีประสิทธิภาพด้านการตรวจการณ์ในระดับเพดานบินต่ำ เซนเซอร์แบบใหม่ที่ช่วยให้สามารถรับรู้และตอบโต้ได้อย่างทันท่วงที ควบรวมกับประสิทธิภาพของการบินโจมตีระยะไกล บินได้ไกลกว่าเครื่องบินรบในยุคที่สี่ซึ่งกินเชื้อเพลิงมากกว่า และเป็นเครื่องบินรบหลักในการปฏิบัติการปราบปรามการป้องกันทางอากาศของข้าศึก (SEAD) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลอเมริกัน ส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ไปแล้ว 750 ลำ และประสบเหตุตกไปแล้วอย่างน้อย 8 ลำ (รัฐบาลอเมริกัน ส่งออกไปแล้ว 800 ลำ เท่ากับจำนวน 100 ลำ ตกไปแล้ว 8 ลำ และเป็นการตกในลักษณะกำลังทำการฝึกบินทั้งสิ้น) ในภูมิภาคอินโด-แฟชิฟิก มีประเทศอย่างออสเตรเลีย ญี่ปุน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์เท่านั้นท่ีซื้อมาประจำการในกองทัพอากาศของตนเอง ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของรัฐบาลอเมริกันมานานแล้ว เรียกได้ว่า จะทำอะไรก็มีพี่ใหญ่คอยชักใยชี้นำอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

Lockheed Martin F-35 A Lightning II มีกี่รุ่น?

F-35A ออกแบบเพื่อใช้งานในการบินขึ้นลงปกติบนรันเวย์สนามบิน เป็นรุ่นที่ ทอ. ไทย เล็งไว้ว่าจะซื้อ!

F-35B ออกแบบเพื่อใช้งานในการบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งบนเรือบรรทุกเครื่องบินหรือภารกิจอื่นๆ ที่ไม่มีรันเวย์สำหรับเครื่องบิน

F-35C ที่ออกแบบเพื่อใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะมีปีกใหญ่กว่ารุ่นอื่นๆ

เห็นของอเมริกันก็ว่าดี ทั้งๆที่บางอย่างก็ไม่ได้เหมาะสมกับประเทศไทย แถมยังแพงและเป็นเครื่องขับไล่รุ่นใหม่ที่มีระบบต่างๆซับซ้อนมาก โครงสร้างของ F-35 ลอกแบบมาจาก F-22 มีการใช้วัสดุประเภทคอมโพสิตประกอบถึง 35% ของน้ำหนักเฟรม รุ่นที่เบาที่สุดมีน้ำหนักตัวเปล่า 29,300 ปอนด์ (13,300 กิโลกรัม) F-35 มีขนาดเล็กกว่า F-22 Raptor ที่มีสองเครื่องยนต์ การออกแบบท่อไอเสียนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจาก General Dynamics โมเดล 200 ซึ่งเป็นอากาศยานขึ้น-ลงในแนวดิ่ง ในปี พ.ศ. 2515 เพื่อทำให้การพัฒนา F-35B รุ่นพิเศษที่เป็นอากาศยานขึ้น-ลงในแนวดิ่ง Lockheed จึงปรึกษากับสำนักงานออกแบบ Yagolev โดยการซื้อแบบมาจากการพัฒนาของ Yagolev ในเครื่องรุ่น Yak -141

เทคโนโลยีการล่องหน
ระบบอิเล็กทรอนิกส์ผสานและเซนเซอร์ซึ่งใช้ข้อมูลร่วมกัน ทั้งจากนอกและในเครื่องบิน เพื่อเพิ่มความระมัดระวังตัวให้กับนักบินและเพิ่มการระบุเป้าหมาย การยิงอาวุธ และส่งข้อมูลให้กับศูนย์บัญชาการได้รวดเร็วขึ้น เครือข่ายข้อมูลความเร็วสูง IEEE 1394 บิต และช่องทางไฟเบอร์ออบติก
เครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ ไม่สามารถติดตั้งถังเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ แต่สำหรับ F-35 จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงอย่างมาก ไม่เหมือนกับ F-22 และF/A-18 ตรงที่ F-35 นั้นไม่มีปีกเสริมส่วนหน้า แต่มันใช้ส่วนปีกเสริมที่เหมือนกับ SR-71 แบล็กเบิร์ดแทน ปีกขนาดใหญ่รูปทรงประหลาดเก็บเชื้อเพลิงได้มากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4

ห้องนักบิน
F-35 เครื่องบินในฝันของ ทอ. ไทย มีจุดเด่นตรงจอแสดงผลที่กว้างมาก โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 28x8 นิ้ว ระบบจดจำเสียงของห้องนักบิน มีไว้เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้งานได้มากกว่าเครื่องบินทั่วไป เป็นเครื่องบินปีกนิ่งลำแรกของสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบนี้ แม้ว่าระบบที่ใกล้เคียงกันจะมีอยู่ใน AV-8B และ F-16 Vista ในการพัฒนาระบบโดยบริษัทอดาเซล ซิสเทมส์ นักบินจะบินโดยใช้คันบังคับทางขวามือและซ้ายมือเป็นคันเร่ง หมวกติดจอแสดงผลจะถูกใช้กับเอฟ-35 ทุกรุ่น หมวกที่มีกล้องมองตามเป้านั้น ถูกนำไปใช้กับ F-15 F-16 และ F/A-18 ในขณะที่เครื่องบินขับไล่บางลำ มีหมวกบินติดจอแสดงผลพร้อมกับหน้าจอฮัด นับเป็นครั้งแรกในหลายทศวรรษ ที่เครื่องบินขับไล่ชั้นแนวหน้าจะไม่มีหน้าจอฮัด ส่วนเก้าอี้ดีดตัวของ Martin-Baker รุ่น US16E ถูกนำมาใช้กับ F-35 ทุกรุ่น US16E นั้นมีความสมดุลในด้านการทำงาน รวมทั้งความปลอดภัยที่คำนึงถึงขีดจำกัดของสภาพแวดล้อม น้ำหนักของนักบิน และขนาดตัวของนักบิน มันใช้ระบบคันดีดคู่ซึ่งจะอยู่ที่ส่วนท้าย

เครื่องยนต์
เครื่องยนต์หลักของ F-35 คือ Pratt & Whitney F135 ส่วนเครื่องยนต์ General Electric/Rolls-Royce F136 นั้นกำลังอยู่ภายใต้การพัฒนาเพื่อใช้เป็นเครื่องยนต์ทางเลือก สำหรับเครื่องบินที่เป็นแบบขึ้น-ลงในแนวดิ่งนั้นจะใช่ระบบยกของ Rolls-Royce ระบบดังกล่าวคล้ายคลึงกับ YAK-141 ของรัสเซีย และ VJ 101D/E ของเยอรมนี ดังนั้นการออกแบบเครื่องบินขึ้น-ลงในแนวดิ่งรุ่นต่อๆ มา อย่าง Harrier Jump Jet ใช้ใบพัดของเครื่องยนต์ Rolls-Royce Pegasus เพราะพบว่าไม่ง่ายนักที่จะออกแบบใบพัดอันเดียวที่ใหญ่พอจะผลักผ่านลมความเร็วต่ำเพื่อยกตัวขึ้นและในขณะเดียวกันต้องใหญ่พอที่จะทำความเร็วเหนือเสียง

ลิฟซิสเทมประกอบด้วยใบพัดยก ชาฟท์ขับเคลื่อน แท่นหมุนสองแท่น และ 3BSM (3 Bearing Swivel Module, 3BSM) 3BSM เป็นท่อไอเสียแบบขยับได้ซึ่งทำให้ท่อไอเสียของเครื่องยนต์หลักสามารถสะท้อนลงไปที่หางของเครื่องบิน ใบพัดยกที่อยู่ใกล้กับส่วนหน้าของเครื่องบินทำให้เกิดแรงขับที่สมดุล ใบพัดยกจะทำงานโดยเครื่องยนต์แรงดันต่ำผ่านทางชาฟท์ขับเคลื่อนและกระปุกเกียร์ การควบคุมการหมุนในตอนที่บินช้าๆ นั้นจะต้องสลับอากาศแรงดันสูงจากเครื่องยนต์แรงดันต่ำผ่านทางปีกที่มีท่อไอเสียแบบขยับติดตั้ง ซึ่งเรียกว่าแท่นหมุน (Roll Posts)

ใบพัดยกตัวของ F-35B ต้องเจอเข้ากับผลกระทบจาก flow multiplier เช่นเดียวกับเครื่องขึ้นลงทางดิ่ง Harrier ของอังกฤษ โครงสร้างที่เพิ่มเข้าไปนี้เป็นการเพิ่มน้ำหนักขณะทำการบินตามแนวนอน แต่สร้างความสามารถในการยกตัวมากขึ้น ท่อไอเสียเย็นของใบพัดยังลดความร้อน ลมความเร็วสูงที่พุ่งลงด้านล่างขณะขึ้นในแนวดิ่ง (ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับลานวิ่งและดาดฟ้าเรือ) แม้ว่าจะซับซ้อนและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ระบบยกก็ทำงานได้ในระดับที่ผ่านการทดสอบ

ช่องเก็บอาวุธของ F-35
F-35 ติดตั้งปืนกลอากาศ GAU-22/A สี่ลำกล้องขนาด 25 มม. ใน F-35 A ปืนใหญ่อากาศจะติดตั้งอยู่ภายใน พร้อมกระสุน 180 นัด ใน F-35 B และ C จะมีกระสุนในกระเปาะภายในเพิ่มอีก 220 นัด แท่นปืนสำหรับ B และ C นั้นจะเป็นแบบเก็บเพื่ออำพราง แท่นนี้จะสามารถถูกใช้สำหรับอุปกรณ์ที่แตกต่างออกไปในอนาคต

ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศสองลูกและอาวุธอากาศสู่อากาศหรืออากาศสู่พื้นสองนัด (ระเบิดขนาด 2,000 ปอนด์ สองลูกในแบบ A และ C ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์สองลูกในแบบ B) สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน อาจเป็น AIM-120 AMRAM / AIM-132 Asram / Jay Dam ระเบิดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก มากสุดได้อย่างละ 4 ในแต่ละช่องเก็บอาวุธ ขีปนาวุธ Brimstone และชุดระเบิดพวง ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ MBDA Meteor ถูกนำมาใช้เพื่อเติมเต็มช่องเก็บอาวุธ สหราชอาณาจักรได้วางแผนเอาไว้ว่าจะใส่ AIM-132 amram เข้าไปสี่ลูก แต่ก็เปลี่ยนเป็นติดตั้งทั้งด้านในและด้านนอกอย่างละสองแทน ช่องเก็บอาวุธจะถูกดัดแปลงเพื่อให้รับ amram ได้ 6 ลูก

เมื่อเรดาร์สามารถตรวจจับสิ่งใดก็ตามที่ยื่นออกจากเครื่องบิน ขีปนาวุธ ระเบิด และถังเชื้อเพลิง ซึ่งติดบนปีกหรือปลายปีก จึงลดความสามารถในการอำพรางลง สองตำแหน่งที่ปลายปีกสามารถติดตั้ง AIM-9X ได้เท่านั้น จุดอื่นๆ สามารถติดตั้ง AIM-120 AMRAM / Storm Shadow AGM-158 Jasm ระเบิดนำวิถี ถังเชื้อเพลิงขนาด 480 และ 600 แกลลอน ช่องเก็บอาวุธภายในสามารถเก็บ AIM-120 แปดลูก และ AIM-9 สองลูก ด้วยความสามารถในการบรรทุก F-35 สามารถขนอาวุธได้มากกว่าเครื่องบินขับไล่แบบอื่นๆ รวมทั้ง F-22 Raptor

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน F-35 Lightning II

ก.ย. 2561 - เครื่องบินรบ F-35 B ประสบเหตุตกใกล้ฐานทัพเรือในรัฐเซาท์ แคโรไลนา แต่นักบินดีดตัวออกมาได้อย่างปลอดภัย จากการตรวจสอบพบว่า เป็นผลจากข้อบกพร่องในถังเชื้อเพลิง โดยถือเป็นการตกครั้งแรกของเครื่องรุ่น F-35

เม.ย. 2562 – เครื่องบิน F-35 ของกองทัพญี่ปุ่น ประสบเหตุตกในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือ ด้วยความเร็วขณะทำการบินสูงถึง 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้นักบินเสียชีวิต ถือเป็นการตกครั้งที่ 2 ของเครื่องบินรุ่นนี้

พ.ค. 2563 – เครื่องบิน F-35 A ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประสบเหตุตกที่ฐานทัพในรัฐฟลอริดา แต่นักบินดีดตัวออกมาได้อย่างปลอดภัย

ก.ย. 2563 - เครื่องบิน F-35 A ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประสบเหตุตกระหว่างลงจอด นักบินดีดตัวออกมาได้อย่างปลอดภัย จากการตรวจสอบพบว่ามาจากสภาพร่างกายของนักบิน และข้อบกพร่องบางจุดในตัวเครื่องบิน

พ.ย. 2564 – เครื่องบิน F-35 ของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ประสบเหตุตกทะเล หลังปฏิบัติภารกิจจากเรือบรรทุกเครื่องบินเอชเอ็มเอส ควีน เอลิซาเบธ

ม.ค. 2565 – เครื่องบินรบ F-35 A ของกองทัพอากาศเกาหลีใต้ ประสบเหตุต้องลงจอดฉุกเฉิน แต่อุปกรณ์ลงจอดไม่ทำงาน และต้องลงจอดแบบท้องเครื่องบินไถลไปกับพื้น จากการตรวจสอบพบว่า เกิดจากนกบินเข้าไปในเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่อุปกรณ์ล้อลงจอดไม่กาง

ม.ค. 2565 – เครื่องบิน F-35 C ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ประสบเหตุตกลงทะเลจีนใต้ หลังอุบัติเหตุการลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส คาร์ล วินสัน โดยใช้เวลานานราว 3 เดือน กว่าจะเก็บกู้เครื่องบินขึ้นมาจากทะเลได้

(ที่มา : บีบีซีไทย https://www.bbc.com/thai/articles/ce49y3x4q3do )


ประเทศที่นำ F-35 ไปใช้บินปฏิบัติภารกิจอยู่ มี 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ อิตาลี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ในขณะที่ Su-35 ซึ่งมีเรดาร์ที่สามารถตรวจพบ F-22/F-35 และจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องบินรุ่นที่ 4+ ที่ดีที่สุดในขณะนี้จากรัสเซีย ราคาอยู่ที่ 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพดี

แผนเดิมของอเมริกาคือสร้าง F-35 ที่ปฏิบัติงานได้ดีกว่า F-16 และจะทยอยปลดประจำการ F-16 แต่เครื่อง F-35 ก็ยังไม่มีความเสถียรขณะใช้งาน เนื่องจากมีข้อบกพร่องมากมายเมื่อนำไปใช้ปฏิบัติการจริง จึงมีแผนเอา F-16 กลับมาปรับปรุงใหม่ซึ่งถูกกว่า F-35 ไปใช้แล้วต้องซ่อมบำรุงไม่จบสิ้น

หนึ่งในความล้มเหลวของเครื่อง F-35 ก็คือเครื่องบินรบชนิดนี้เป็นเครื่องบินที่ออกแบบให้ล่องหนหรือมีคุณสมบัติยานรบสเตลท์ แต่ปัญหาก็คือขณะบินอยู่บนอากาศ เครื่องบินชนิดนี้จะไม่สามารถส่งข้อมูลฝ่ายตรงข้ามใดๆ ไปถึงฐานได้ถ้าไม่เปิดเผยตำแหน่งของตนให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ ทันทีที่ใช้ระบบส่งข้อมูลข้าศึกไปยังฐาน ตำแหน่งบินของ F-35 ก็จะถูกเปิดเผยและอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามจับสัญญาณได้

หลังจากตรวจสอบ วิศวกรการบินของอเมริกัน พบว่าเครื่องบินรบ F-35 มีปัญหา 700 กว่าจุดที่ยังแก้ไม่เสร็จ แม้แต่ตอนนี้ ก็ยังแก้ไขไม่เสร็จ เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายจะไปซ่อมจุดต่างๆ ทั้งหมดเพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล

รัฐบาลอเมริกันยอมรับแล้วว่าการลงทุนสร้าง F-35 เป็นโครงการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

เมื่อกระแสหลายฝ่ายยืนยันว่าเครื่องบินรบ F-35 ไม่ได้ดีอย่างที่คาด รัฐบาลอังกฤษจึงเปลี่ยนจากที่เคยสั่งซื้อ 138 ลำ มาเหลือ 48 ลำ เท่านั้น อ้างว่าไม่มีเงินซื้อ


เหตุที่ยังปรับปรุงข้อบกพร่องไม่เสร็จ ทำให้เครื่องบินรบ F-35 ประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กองทัพอากาศอเมริกันเอาออกมาบินก็ประสบอุบัติเหตุ กองทัพอากาศญี่ปุ่นก็ประสบอุบัติเหตุจนทำให้นักบินเสียชีวิต กองทัพอากาศอังกฤษนำไปใช้บินก็ประสบอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน

กองทัพอากาศเกาหลีใต้ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มีข่าวว่ารัฐบาลเกาหลีใต้สั่งห้ามใช้เครื่องบินเครื่องนี้บินปฏิบัติงานทั้งฝูง เพราะระบบลงจอดรวน (ล้อหน้าไม่กางออก) จนกว่าการตรวจสอบจะสิ้นสุดลง โดยพบปัญหามากถึง 234 ครั้ง และใน 64 ครั้ง เครื่องบินไม่สามารถทำการบินได้ เนื่องจากเกิดปัญหาหลายจุด ทำให้อัตราความล้มเหลวและความไม่พร้อมที่จะปฏิบัติการณ์ทางอากาศ สูงกว่าเครื่องบินรบรุ่นเก่ามากอย่างไม่น่าเชื่อ! รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องจ่ายเงินงบประมาณทางทหารเพื่อซื้อเครื่องบินรบรุ่นนี้ ด้วยงบประมาณที่สูงมากถึงสี่แสนล้านบาท กับการสั่งซื้อ F-35 มากถึง 60 ลำ!


อเมริกันบอกว่า F-35 เป็นเครื่องบินสเตลท์ เรดาร์ตรวจจับไม่ได้ แต่ขณะที่นำ F-35 ไปแสดงโชว์ที่เยอรมนี เรดาร์บริษัทเอกชนในเยอรมนีสามารถจับได้ แม้ว่าอเมริกาจะคุยว่ามีคุณสมบัติเป็นสเตลท์ก็ตาม

F-35 เป็นเครื่องบินล่องหน แต่เรดาร์กองทัพรัสเซียก็สามารถตรวจจับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรดาร์ของจรวดต่อต้านอากาศยานรบแบบ S-300 PM-2 สามารถตรวจจับ F-35 ได้ในระยะไกล โดยไม่ต้องถึงระดับเรดาร์ตรวจจับอากาศยานรบ S-400/S-500/S-550 รุ่นใหม่ แม้แต่น้อย เรียกได้ว่า เห็นตั้งแต่ไก่โห่และพร้อมที่จะตอบโต้อย่างทันทีทันใด

(ข้อมูลจาก ไทยโพสต์ https://www.thaipost.net/general-news/63453/)

กองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน เต็มไปด้วยเครื่องบินรบที่รอการปลดระวาง หรือปลดประจำการ เนื่องจากใช้งานมานานแล้ว การเปลี่ยนเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะเสริมเขี้ยวเล็บของทัพฟ้าไทย ให้เป็นที่ยำเกรงของฝ่ายตรงข้าม แต่การเลือกซื้อเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับภูมิประเทศของไทยที่มีชายฝั่งทั้งสองด้านยาวเกือบ 3000 กิโลเมตร มีค่าซ่อมบำรุงต่อชั่วโมงบินไม่สูงมากเกินไป และมีความเชื่อมั่นสูงในการปฏิบัติการณ์รบ เกิดอุบัติเหตุน้อยหรือแทบไม่เคยเกิด ดูจะเหมาะสมมากกว่าการเลือกซื้อเครื่องบินที่กำลังมีปัญหานะครับ.