บางครั้งรางวัลชีวิตก็แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ น้ำตา เสียงด่าจากคนในบ้าน ว่าเอาเงินไปทำอะไรที่มันดีกว่านี้ได้ไหม แต่นิสัยคนบ้ารถ ย่อมทำงานแทบตายแล้วเอาเงินมาเผากับพาหนะสี่ล้อ ในอดีตถ้าใครอยากได้ Porsche 911 ต้องจ่ายเงินมหาศาลเพื่อความ Exclusive ของรถ หรือถ้าเอื้อมไม่ถึง 911 คุณก็จะมีแต่ Porsche เครื่องวางหน้าอย่าง 924, 944 หรือ 968 ซึ่งเป็นมรดกจากความร่วมมือกับ Volkswagen ซึ่งเริ่มเก่าและขายไม่ดี Boxster คือจุดเริ่มต้นของการกู้วิกฤติหายนะทางการเงินของ Porsche ที่มาพร้อมโอกาส และความเสี่ยงในชื่อเสียง แต่ 28 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่า การตัดสินใจในครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

...

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเปิดอ่านข่าวจากสื่ออเมริกัน Road & Track ซึ่งเป็นสื่อฯที่ผมติดตามอ่านมาตั้งแต่สมัยยังอยู่มัธยมต้น ข่าวบางข่าวอ่านแล้วก็ใจหาย อย่างล่าสุดบทความของคุณ Emmet White เขียนว่าปี 2025 นี้ Porsche จะเลิกผลิต Boxster กับ Cayman ที่เป็นเครื่องเบนซินล้วนออกจากโรงงานแล้ว และเป็นคำสัมภาษณ์โดยตรงจาก Production Manager ของ Porsche เองด้วย ลูกค้าในอเมริกายังสามารถสั่งซื้อ 718 Boxster/Cayman เครื่องสันดาปได้นะครับ แต่ฝั่งยุโรปในหลายประเทศ ไม่สามารถทำได้แล้ว ภายในกลางปี 2025 การผลิตจะยกเลิกและแทนที่ด้วยรถสปอร์ตไฟฟ้า คล้ายกันกับที่ Macan ครอสโอเวอร์ตัวขายดีของค่าย จะเลิกขายรุ่นเบนซินในปี 2026

Macan Electric เพิ่งจะเปิดตัวในไทยไปเมื่อ 5 สิงหาคม และจากที่เห็นมันก็เป็นรถที่น่าจะดีพอให้คุณหายคิดถึงเวอร์ชันเบนซินได้ ด้วยดีไซน์ เทคโนโลยี และตัวเลขพละกำลังมหาศาลจากมอเตอร์ แต่กับรถสปอร์ตอย่าง Boxster/Cayman ผมมองว่าคนที่ซื้อรถเหล่านี้พกความคาดหมายจากรถมาคนละแบบกับ Macan คนเหล่านี้คือกลุ่มที่เสียงเครื่องยนต์ การเปลี่ยนเกียร์ การตอบสนองที่ดีจากน้ำหนักรถที่เบา ยังเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับพวกเขา ก็รู้สึกไม่ค่อยปลื้มกับการตัดสินใจของ Porsche เท่าไรในเรื่องนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่แปลก ตรงที่ 718 สองบอดี้ มียอดขายแค่ราว 1/6 ของ Macan ดังนั้นถึงเลิกผลิตรุ่นนี้ไปเลย ก็ไม่ได้สะเทือน Porsche เท่าไร แต่ผมไม่ชอบไอเดียที่ว่า ถ้าคุณอยากสัมผัสเสียงเครื่อง คุณมีทางเลือกเหลือแค่ Cayenne, Panamera และถ้าเป็นรถสปอร์ต ก็เหลือแค่ 911

นั่นทำให้ผมอยากพาคุณย้อนมาดูสปอร์ตเครื่องวางกลางลำอย่าง Boxster 986 ซึ่งในช่วงที่มันกำลังจะออกมา ก็มีทั้งคนที่ชอบ และไม่ชอบ แต่ท้ายสุดมันกลายเป็นกำลังสำคัญให้ Porsche สามารถสร้างเงินก้อนหนึ่ง มาพัฒนา SUV อย่าง Cayenne ที่กลายเป็นรถพลิกชะตาทางการเงินให้ Porsche ได้ในภายหลัง จากบริษัทที่เกือบเจ๊ง กลายเป็นบริษัทรถที่สามารถสร้างกำไรต่อยอดต้นทุนได้ดีที่สุดในโลกอยู่พักหนึ่ง

...

ลองจินตนาการตามผมนิดนะครับ..ย้อนเวลากลับไปปี 1991 ช่วงที่เรายังจีบสาวผ่านตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ และถังขยะเต็มไปด้วยถุงขนมโอเดงย่าที่เด็กซื้อมาแล้วไม่กินแต่แกะการ์ดดราก้อนบอลไปเขี่ยเล่น สมัยนั้น Porsche มีรถขายอยู่สามรุ่นคือ 968 สี่สูบวางหน้า 911 6 สูบนอนยันเครื่องวางหลัง และ 928 เครื่อง V8 วางหน้าขับหลัง แรงทุกรุ่น ขับมันทุกตัว และขายไปขายทุนไปทุกโมเดล จน Wendelin Wiedeking CEO หนุ่มอายุ 40 กว่าๆ เข้ามาตรวจสอบวิธีการผลิตรถทุกรุ่นว่าเสียเงินไปกับอะไร ในขณะเดียวกันก็สั่งลดจำนวนคนและหน้าที่ที่ไม่จำเป็นใน Porsche ออก เรียกได้ว่าทุก 5 คนที่ทำงานในตอนนั้น มี 1 คนที่จะต้องรับซองแล้วออกไป แต่ต้องทำแบบนั้น เพราะบริษัทเองกำลังจะตาย

...

ปี 1992 เป็นช่วงที่ทั้งโลกยังไม่ได้บ้ากระแส SUV หนัก ดังนั้น Porsche จึงมองหาหนทางในการสร้างรถที่ราคาถูก แต่ไม่กระจอก เพื่อเอาเงินมาหมุนในบริษัท พวกเขาเริ่มต้นด้วยรถเครื่องวางหลัง เปิดประทุน ที่ขนาดเล็กและเบากว่า 911 แต่ดีดลูกคิดยังไงก็ไม่สามารถสร้างกำไรจริงจังได้ จนกระทั่งบางคนที่ Porsche ได้ไอเดียว่า ที่มันเปลือง เพราะเราต้องลงทุนทุกอย่างเพื่อสร้างรถรุ่นเดียว แต่ถ้าลงทุนครั้งเดียวแล้วสร้างรถได้สองรุ่นเลย มันก็จะคุ้มทุนง่ายขึ้น ซึ่งในปี 1992 นั้น Porsche อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเตรียม 911 โฉม 993 แล้ว แต่ 996 ยังเป็นแค่กระดาษอยู่ ก็เลยมีคำถามขึ้นมาว่า “แล้วถ้าเราพยายามใช้ชิ้นส่วนร่วมกันระหว่าง 911 รุ่นต่อไปกับรถสปอร์ตรุ่นนี้ให้ได้มากที่สุดล่ะ?”

...

996 กับ Boxster นั้นมีความต่างกันที่คันหนึ่งเครื่องวางหลัง คันหนึ่งเครื่องวางท้าย Porsche เลยตัดสินใจว่า งั้นเราจะเซฟต้นทุนด้วยการพัฒนาซีกหน้าของรถร่วมกัน โดยบอสที่ Porsche บอกว่า “ไปสร้าง 911 ใหม่มา แล้วค่อยมาคิดว่าจะทำยังไงกับ Boxster โดยใช้ส่วนหน้าของรถร่วมกันมากที่สุด” วิธีนี้ ส่งผลดีตรงที่รถรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะถูกลงเท่าไหร่ แต่ความตั้งใจในการสร้างก็เท่า 911 ไปแล้วครึ่งคัน ถ้าคุณคิดว่ามันประหยัดแค่ค่าชิ้นส่วน รบกวนมองใหม่นะครับ พอซีกหน้ารถเหมือนกัน มันประหยัดทั้งค่าทดสอบการชน การปรับปรุงด้านอากาศพลศาสตร์ การออกแบบช่วงล่างหน้าทั้งหมด ระบบบังคับเลี้ยว ไฟหน้า และอื่นๆ อีกมาก

ในช่วงแรกผู้บริหารบางคนมีความกังวลมาก พวกเขาไม่ชอบไอเดียที่จะทำให้ 911 ดูเหมือนโดนดาวน์เกรดลง บางคนจึงเสนอว่า ถ้าลำตัวส่วนหน้าของรถต้องเหมือนกัน แล้วลำตัวช่วงหลังต่างกันได้ ก็ให้รถรุ่นน้องใช้เครื่องยนต์ 4 สูบแทนที่จะเป็น 6 สูบนอนยันแบบ 911 เพื่อให้ลูกค้า 911 รู้สึกว่าพวกเขาจ่ายแพงเพื่อสิ่งนี้ อย่างไรก็ตามฝ่ายบัญชีมองว่า การใช้พัฒนาเครื่องยนต์ใหม่ในเวลานั้นจะใช้ทุนทรัพย์มหาศาล และการเอาเครื่องยนต์ของ Volkswagen หรือ Audi มาใช้ก็ไม่เวิร์ก เพราะในเวลานั้นทั้งสองค่ายไม่มีเครื่อง 4 สูบที่มีสมรรถนะสูงพอ จึงได้ข้อสรุปว่าใช้เครื่องยนต์ 6 สูบนอนยันแบบ 911 นั่นล่ะแต่จูนพลังให้น้อยกว่า

ปัญหาก็คือเครื่อง 6 สูบบ็อกเซอร์วางกลางลำนั่น ทำให้ไม่มีที่สำหรับช่วงล่างหลังมัลติลิงค์แบบ 911 Porsche จึงต้องใช้ช่วงล่างแม็คเฟอร์สันสตรัทด้านหลัง Porsche

เคยคิดลองช่วงล่างปีกนกสองชั้นแบบปีกนกบนสั้น และลองสร้างรถต้นแบบช่วงล่างนั้นออกมา ผลปรากฏว่าในรถของ Porsche ช่วงล่างดับเบิลวิชโบนจะทำงานดีกว่ากันชัดเจนก็ต่อเมื่อมีการใช้ความเร็วสูงเกิน 250 เท่านั้น และกินต้นทุนเพิ่มพอสมควร Porsche

ในระหว่างการออกแบบช่วงท้ายสุดนั้น Grant Larson หนึ่งในทีมออกแบบที่ทำงานเป็นลูกน้องของบอสฝ่ายดีไซน์ Harm Lagaay ประท้วงเรื่องการออกแบบส่วนหน้าของรถ เพราะฝ่ายผลิตสั่งให้ใช้ไฟหน้าและกันชนหน้าร่วมกันกับ 911 แต่ Larson พยายามสู้เต็มที่ จนผู้บริหารยอมให้ชิ้นส่วนกันชนหน้ามีรายละเอียดตรงช่องรับอากาศที่ต่างกันเพื่อให้ Boxster มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมากขึ้น

ในเดือนมกราคม 1993 รถต้นแบบของ Boxster ถูกนำไปโชว์ที่งานใน Detroit โดย CEO Wendelin Wiedeking ให้ข่าวว่า รถคันนี้จะมีราคาไม่เกิน 40,000 ดอลลาร์ และทางบริษัทจะผลิตออกมาขายจริง ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าอเมริกันซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของ Porsche อย่างมาก ระหว่างนั้น Porsche ก็เซ็นสัญญากับซัพพลายเออร์หลายเจ้า โช้คอัพ ลงนามกับ Bilstein สปริง กับ Krupp ส่วน Brembo รับเบรก ส่วนยางนั้นมีทั้ง Bridgestone, Pirelli, Continental และ Michelin ไฟส่องสว่างจุดต่างๆจาก Bosch เกียร์ธรรมดาจาก Audi กันชนจาก Peguform หลังคาผ้าใบจาก Car Top System ถึงแม้จะมีซัพพลายเออร์เจ้าประจำอยู่ แต่หลายเจ้าถูกตัดออกไป สมัยสร้าง 993 Porsche ต้องดีลกับซัพพลายเออร์ 950 เจ้า ใน Boxster นี้ ลดเหลือ 300 เจ้าเพื่อลดต้นทุนและความซับซ้อนในการบริหารจัดการชิ้นส่วน BMW ก็เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ เพราะบอดี้บางส่วนก็สร้างโดย BMW

แต่ไม่ใช่ 986 ทุกคันจะสร้างที่เยอรมนีนะครับ 55% ของรถรุ่นนี้ ประกอบที่โรงงานของ Valmet ในฟินแลนด์ ถ้าอยากรู้ว่ารถคันไหนประกอบโรงงานนี้ ให้ดูเลขตัวถัง หลักที่ 11 ถ้าเป็นอักษร “U” จะย่อมาจากโรงงาน Uusikaupunki ที่ฟินแลนด์ แต่นั่นไม่ได้แปลว่างานประกอบจะสู้ Zuffenhausen ไม่ได้..อันที่จริงกลับกันเลย รถจากโรงงานฟินแลนด์มีปัญหาเรื่องคุณภาพน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ

Boxster เปิดตัวในปี 1996 ก่อนหน้า 911 ราวหนึ่งปี เพราะ Porsche ต้องการเร่งให้เจ้าโรดสเตอร์ตัวนี้มาดับความซ่าของ BMW Z3 และ Mercedes-Benz SLK และแม้ว่ารุ่นแรก เครื่อง 2.5 ลิตร 204 แรงม้าจะไม่ได้มีพลังรุนแรงอะไรเลยหากเทียบกับรถสมัยนี้ แต่ในปี 1996 พลังระดับนี้ก็พอจะเรียกหาความบันเทิงยามกดคันเร่งลากรอบได้ สื่อมวลชนชั้นนำของโลกให้การยอมรับว่า Boxster คือ Porsche ราคาถูกแต่สมรรถนะไม่ได้แย่ตามราคา บาลานซ์ของรถจากการเป็นเครื่องวางกลางลำ น้ำหนักตัวที่เบาแค่ราว 1.2-1.3 ตัน การจูนช่วงล่างและพวงมาลัยของ Porsche ทำให้มันเป็นรถที่ขับสนุก และสามารถสร้างฐานลูกค้าที่เยาว์วัยลง เพราะคุณไม่ต้องเก็บเงินจนแก่เพื่อเป็นเจ้าของ

90% ของลูกค้าที่ซื้อ Boxster รุ่นแรกคือคนที่เคยใช้ BMW หรือ Mercedes-Benz มาก่อน แล้วรู้สึกว่า Boxster คือรถที่พวกเขาพยายามไม่ต้องเยอะก็เอื้อมถึง อายุเฉลี่ยของคนที่ซื้อลดจาก 45 ปีใน Porsche รุ่นก่อนๆ มาเหลือแค่ 36 ปี ได้ Young Buyer เพิ่มขึ้น และยอดจองที่ทะลักเข้ามานั้น ก็มากกว่าตัวเลขคาดการณ์แบบ “หวังสูง” ของ Porsche ไปอีกราว 60% มันคือรถที่เปิดโอกาสให้ Porsche 911 มีชีวิตอยู่ต่อไป แม้ว่าแฟนพันธุ์แท้ 911 จะด่า Porsche ที่บังอาจเอาซีกหน้าของรถรุ่นที่ถูกกว่ามาใส่ แต่ในระยะยาว คนที่รู้เรื่องรถ ยอมรับว่าเพราะการตัดสินใจของ CEO ครั้งนั้น ทำให้ Porsche 911 ยังหายใจมาจนทุกวันนี้

ในปี 2000 Porsche ปรับปรุงสมรรถนะเพิ่มเติมให้ Boxster โดยยกเลิกเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรเดิม เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ 2.7 ลิตร 220 แรงม้าในรุ่น “Boxster” และ 3.2 ลิตร 250 แรงม้าในรุ่น “Boxster S” ต้องรุ่นหลังนี่ล่ะครับ มีเรี่ยวแรงพอที่จะไปเล่นกับพวกรถ 4 สูบเทอร์โบยุคใหม่ได้บ้าง แต่ถ้าเจอพวก 4 เม็ดโมดิฟายหนักๆ หรือพวก 6 สูบเทอร์โบรุ่นหลังๆมานี่ ถ้าเป็นทางตรงก็ยอมเขาเถอะ เพราะแม้จะเป็น Porsche แต่ 0-200 กม./ชม. ภายใน 21-22 วินาทีนั้น ก็เป็นไปตามตัวเลขแรงม้า ไม่ได้มีอภินิหารว่าม้า Porsche ต้องตัวโตกว่าม้า VW หรือ Audi

พอปี 2003 ก็เปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนกันชน ไฟเลี้ยวหน้าหลัง จากเลนส์ส้ม เป็นเลนส์ใส เปลี่ยนกระจกบังลมหลังในหลังคาผ้าใบจากพลาสติกใสเป็นกระจกจริงพร้อมไล่ฝ้า เพิ่มทางเลือกกับล้อดีไซน์ใหม่ และเพิ่มลิ้นชักเก็บของที่ฝั่งคนนั่ง นอกจากนี้ยังมีการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่อีกครั้ง แต่แรงม้าเพิ่มไม่มาก ก็คือ 225 และ 258 ตัว

การขับ Porsche Boxster 986 เทียบกับพวก 718 Boxster รุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตนั้น จะทำให้คุณเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งยานยนต์ว่าผู้ผลิตรถยนต์คิดว่าคนใช้รถต้องการอะไร ใน 718 นั้น สิ่งเดียวที่ผมเกลียดคือเสียงเครื่องยนต์ 4 สูบที่ดัง แต่ไม่ไพเราะ เหมือนให้ไจแอนท์ร้องเพลงให้ฟัง..คือมันมีพลังแต่ไม่ได้น่าฟังขนาดนั้น ถ้ามองข้ามเรื่องเสียงไป 718 แม้กระทั่งรุ่นธรรมดา 300 แรงม้า ก็เป็นรถที่รวดเร็ว ว่องไว กระแทกคันเร่งตรงไหนก็มา มันให้ความรู้สึกเหมือนรถพยายามจะคาดเดาว่าคุณจะทำอะไร และสนองตอบให้ไวที่สุดเท่าที่ทำได้

แต่กับ 986 นั้นมันต่างกันออกไป ผมเคยมีประสบการณ์กับ 986 ไม่มากนัก ในทั้ง 3 ขุมพลังของเขา รุ่น 2.5 ลิตรเกียร์ Tiptronic นั้นคือรถที่เราจะเอ็นจอยกับความเป็น Porsche ในทุกเรื่องยกเว้นเรื่องความแรง รถ 2.7 ลิตร 220 แรงม้านั้นดีขึ้น แต่ไม่มาก ส่วนรุ่น S 3.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา คือทางเลือกที่ผมชอบที่สุด ด้วยความที่ช่วงล่าง เบรก และพละกำลังมาอยู่ในจุดที่ลงตัวพอดี กระนั้นก็ตาม เมื่อเทียบกับ 718 รุ่นล่างสุด ถ้าเป็นในเรื่องการตอบสนอง ไม่ว่าจะตอนเร่งหรือตอนเลี้ยว แทบจะบอกได้ว่า “รุ่นหลาน” นั้นชนะแทบในทุกเรื่อง คุณจะไม่มีวันรู้สึกว่า 986 เป็นรถที่พวงมาลัยเฉื่อย จนกว่าจะไปขับ 718 แล้วมาเทียบกัน เช่นเดียวกับความแรง ซึ่ง

718 ตอกตรงไหนก็มา แล้วก็ชิฟท์เกียร์ขึ้นที่ 6,000 รอบก็ยังไว ในขณะที่กับ 986 ผมรู้สึกอยากสับเกียร์ที่ 7,000 รอบมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เราเคารพรถในแง่ที่ว่า ถ้ามองเรื่องอายุรถที่ S คันที่ผมขับนั้นอายุ 22 ปีแล้ว ก็รู้สึกทึ่งว่าเทคโนโลยีที่อายุห่างกันเท่าเด็กมหาวิทยาลัยปี 4 ไม่ได้ทำรถให้แตกต่างกันไปมากกว่านี้ บางทีวิศวกรรุ่นน้าๆของเราก็เก่งกว่าที่เราคิด แล้วต้องระลึกไว้ด้วยว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการออกแบบและสร้างรถของยุค 1990s นั้นก็คนละเรื่องกับช่วงเวลาที่ 718 ถูกพัฒนามา เห็นได้ชัดว่ารุ่นน้าๆ ที่ทำงานกับเทคโนโลยียุคเก่าสามารถสร้างรถที่ขับได้ดีจนคนรุ่นเรานั้น..ถ้าต้องใช้ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์โบราณเท่ากัน..คงทำไม่ได้เท่าเขา

สิ่งที่ 986 และ Porsche รุ่นใดก็ตามที่ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบนอนยันให้คุณได้ก็คือ ความนุ่มเรียบของเสียงเครื่องยนต์ในยามกดคันเร่งครึ่งๆ เดินเบามีจังหวะเฉพาะตัวแบบหกสูบนอนยันที่หลับตาได้ยินก็จำได้ และเวลาลากรอบสูง คุณจะรู้สึกว่าระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงกว่าปกติด้วยความหวานของเสียงเครื่องยนต์ที่ช่างเหมือนยาเสพติดในใจของคนรักรถ ที่ดึงดูดให้คุณไปหาท่อซิ่งเกรดดีๆ ใส่เพื่อฟังเสียงนั้นให้ชัดขึ้น และให้ชาวบ้านด่าคุณดังขึ้น แต่คุณคงไม่ได้ยิน

การตอบสนองของคันเร่งและพวงมาลัย จะหนักและเนือยกว่า 718 รุ่นใหม่ แต่ห่างไกลจากคำว่ารถบ้านมาก อันที่จริง เอามาตรฐานรถสปอร์ตยุคใหม่มาเทียบ 986 ก็ยังทำได้ดี และผมกลับชอบน้ำหนักพวงมาลัยของ 986 มากกว่ารุ่นใหม่ด้วยซ้ำ เวลาหมุนแล้วเหมือนได้หมุนอะไรที่มันหน่วงมือบ้าง คันเร่งค่อนข้างเป็นธรรมชาติ จนนึกว่าขับรถคันเร่งสายอยู่ ทั้งที่จริง Boxster หลังจากปี 2000 มาจะเป็นคันเร่งไฟฟ้าแล้ว เทียบกับสปอร์ตญี่ปุ่นในยุคใกล้เคียงกันนั้น ผมว่า MX-5 สนุกกว่า คล่องกว่า แต่ขาดเรื่องพลัง ส่วน MR2 ที่เป็นรถเครื่องวางกลางลำเหมือนกัน แรงสู้ได้ แต่น่ากลัวกว่าในเรื่องบาลานซ์โดยเฉพาะจังหวะยกและย้ำคันเร่งในโค้งซึ่ง Boxster ใจดีกับคนขับโง่ๆมากกว่า

เมื่อลองถามเจ้าของ Boxster ว่าการใช้งานรถรุ่นนี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ได้รับข้อมูลว่า ถ้าคุณเทียบกับเบนซ์หรือ BMW ที่เป็นรถทั่วไป แน่นอนว่า Boxster ย่อมแพงกว่า แต่ถ้าเป็นสปอร์ตเยอรมันรุ่นที่เริ่ม Exclusive หน่อย มีคลาส มีรูปแบบรถใกล้เคียงกัน Boxster ก็ไม่ใช่รถที่บำรุงรักษายากหรือแพงมากนัก แค่อย่าให้ราคามือสองปัจจุบัน 1.1-1.8 ล้านบาท หลอกให้คุณคิดว่าค่าซ่อมมันจะเท่า E-Class เพราะยังไงมันก็คือ Porsche อะไหล่รอบนอกโดยรวม ไฟหน้า ไฟท้าย ชุดเบรก ผ้าเบรก กันชน มีให้เลือกเยอะทั้งมือหนึ่งและมือสอง อะไหล่สิ้นเปลืองส่วนมาก ราคาไม่สูงถ้าเทียบกับราคารถตอนป้ายแดง (ในปี 2002 นั้น Boxster 2.7 ราคาราว 7.5 ล้านบาท และ Boxster S 8.3 ล้านบาท) เนื่องจากเป็นรถที่คนทั่วโลกนิยม มีคนใช้เยอะ ทำให้มีอะไหล่ผลิตออกมาป้อนเสมอ

ส่วนที่หนักหนาหน่อยก็คือ อะไรก็ตามที่ต้องยกเครื่องออกมาทำ เครื่อง M96 แต่เดิมนั้นจะมีปัญหาทั้งผนังกระบอกสูบ รวมถึง Intermediate Shaft Bearing กับซีลท้ายเครื่องเป็นโรคประจำตัว ซึ่งกว่า Porsche จะแก้ Defect ได้ก็รอจนถึงปี 2000 แต่ด้วยอายุรถที่มาก ทำให้ของเหล่านี้ก็ต้องถึงเวลาเปลี่ยนของมันอยู่ดี ห้องเครื่องแคบสไตล์รถเครื่องวางกลางลำ จะทำอะไรแต่ละอย่างต้องยกลงมาทำข้างนอก ถ้ามีเหตุให้ต้องยกเครื่อง รื้อและประกอบเครื่องหรือเกียร์ ค่าแรงอย่างเดียวก็ 50,000 บาทแล้วครับ นอกจากนี้ ปั๊มติ๊กรั่ว กรอบแตก ต้องยกโครงเปลี่ยน ราคาราว 30,000 บาท กลไกทางระบายน้ำหลังคา ถ้าประกอบกลับไม่ดี น้ำฝนจะรั่วลงกล่องคอนโทรลหลังคาทำให้ช็อต ตัวกล่องนี้อย่างเดียวก็ 45,000 บาท

พูดง่ายๆคือ ถ้าเจอรถราคาถูก แต่หมกมา เครื่องใกล้เคียง เกียร์พัง แอร์ไม่สมประกอบ มันเป็นไปได้ที่คุณจะเจอบิลค่าซ่อมครั้งเดียวทะลุ 600,000 บาท พิมพ์ไม่ผิดครับ เพราะเราต้องมองว่านี่คือรถราคา 7-8 ล้านตอนป้ายแดง รถราคาแปดล้านของปี 2024 เวลาคุณซ่อมใหญ่ยกชุดมันน่าจะแพงพอกันล่ะครับ ดังนั้นเจ้าของ Boxster หลายรายจะบอกว่า เลือกคันที่ทำมาจบแล้ว เจ้าของเสียเลือดชักเนื้อตัวเองให้คุณไปแล้ว มีใบเสร็จ มีประวัติการซ่อมที่ชัดเจนโปร่งใส รถพวกนี้ต่อให้วางราคามาแพงกว่าคันอื่นหลายแสน แต่มีแนวโน้มที่ใช้แล้วจะมีความสุขมากกว่า

ดังนั้น ถ้าหากคุณมีงบประมาณพอ แล้วอยากลองสัมผัสรถในระดับคลาสที่ก้าวข้าม BMW หรือ Mercedes-Benz ไปอีกระดับ แต่คุณไม่ใช่มหาเศรษฐี และไม่มีเงินห้าหรือหกล้านบาท มากพอจะไปซื้อ Porsche รุ่นใหม่ๆได้ ผมจะบอกว่าบางครั้งสิ่งที่ให้ความสุขกับเราได้มาก มันก็คือสิ่งที่ Basic ที่สุด เช่น รถสปอร์ต ที่สร้างมาโดยวิศวกรรมที่ดี (ถ้าไม่นับจุด Defect) ไม่มีเทอร์โบ ไม่มีระบบช่วยเหลืออิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ ทุกอย่างเป็นกลไก และไปได้ไวด้วยหลักฟิสิกส์กับความทุ่มเทของวิศวกรช่วงล่าง มีอรรถรสในการขับ และมีสไตล์ที่เวลาขับไปจอดมีตติ้งที่ไหน รถของคุณก็ยังน่ามอง

คุณอาจจะสนเจ้า Porsche Boxster 986 นี่ แต่ย้ำชัดๆ ว่า ถ้ามีงบค่าซื้อรถรวมค่าซ่อมไม่ถึง 1.5 ล้านบาท ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ เก็บเงินรอไปก่อนครับสองล้านค่อยเริ่มว่ากัน.


Pan Paitoonpong