ข้อสังเกตในการเล่นรถเก่าจากญี่ปุ่น ถ้ามันคือรถที่ถูกใช้โดยตัวเอกใน Fast & Furious โอกาสที่รถรุ่นนั้นจะราคาทะยานมีสูงมากแม้ว่าอายุจะเยอะแล้วก็ตาม แต่ในอีกมุมหนึ่ง ที่ชายขอบของคำว่ากระแส มีรถญี่ปุ่นอีกหลายรุ่นที่มีลักษณะโดดเด่นแต่ไม่ได้เป็นรถดาราเลยไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก เมื่อมีข่าวเรื่องที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติการนำเข้ารถเก่าอายุ 30 ปีขึ้นไปแบบไม่ต้องตัดบอดี้ นิ้วเลยพานอยากลองส่องหารถสักรุ่นที่อายุเข้าข่ายดังกล่าว แม้ว่าราคารวมค่าใช้จ่ายด้านการนำเข้าและภาษีต่างๆ แล้วจะเป็นของเล่นคนรวยอยู่ดี แต่รถแปลกที่ชื่อชวนแวะร้านกาแฟรุ่นนี้ เป็นรถที่น่ามีไว้ขับเล่นวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดหลังคากินลมในสไตล์ของคนรวยที่ไม่ได้ต้องใช้แบรนด์รถเพื่อบอกใครว่ารวย
ThairathOnline วันอาทิตย์นี้เอาใจคอรถเก่ากันหน่อย เพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งข่าวเรื่องของ Suzuki ในประเทศไทยที่แถลงข่าวยืนยันทำตลาดในประเทศไทยต่อไปแม้จะไม่มีรถที่ประกอบจากโรงงานบ้านเราเมื่อสิ้นปี 2025 ไปแล้ว โดยเขาโชว์แผนการที่จะทยอยนำรถรุ่นใหม่ๆ มาทำตลาด โดยมีทั้งรถพลังไฟฟ้าล้วน และรถแบบไฮบริด ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะเป็น MHEV ไฮบริดเบาๆ แบบ Ertiga กับ XL7 ที่ขายอยู่ตอนนี้ หรือเป็นไฮบริดในลักษณะอื่น โดยรวมนับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปเราจะได้เห็นรถใหม่จากค่ายนี้ 4 รุ่น นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาประสบการณ์ตั้งแต่วันซื้อยันวันขาย ตัวรถของค่ายนี้ Defect ในช่วง 5 ปีหลังมาอยู่ในอัตราที่ดี รถแสนคัน มีพังขั้นหนัก 14 คัน ดีกว่าสมัย 2010-2015 มาก เหลือแค่ปรับปรุงการบริการ ซึ่งจะเริ่มต้นโดยการขยายวารันตีงานซ่อม ขยายวารันตีคุณภาพรถยนต์ และกลยุทธ์อื่นๆ
ให้พูดจากความเห็นส่วนตัว ตอนนี้ Suzuki เหมือนผู้โดยสารของเครื่องบินเล็กที่ตกในทะเลละครับ แต่ยังไม่ตายและพระเจ้าประทานหมอนรองก้นแบบลอยน้ำได้มาให้เกาะ และมองไปไกลๆ ก็เห็นแผ่นดินอยู่ ถ้าสู้ด้วยแรงใจแรงกาย ตั้งใจจะรอด ก็ยังสามารถอยู่รอดได้ครับ แต่เรื่องของเรื่องคือ Suzuki และผู้แทนจำหน่าย ก็ต้องฮึดสู้ไว้ก่อน อะไรที่งัดมาดึงลูกค้าได้ก็ต้องทำเต็มที่ ถึงตัวรถไม่ได้มีเทคโนโลยีเด่นๆ ณ วันนี้ แต่ลูกค้าจำนวนมากแค่อยากได้รถที่ไว้ใจได้ว่าไม่พัง ซ่อมง่าย ใช้ทน ประหยัดค่าบำรุงรักษา ประหยัดค่าเชื้อเพลิง ค่าประกันถูก
...
แต่รถที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ไม่ได้เป็นรถประหยัดๆ แบบนั้นเสียทีเดียว นี่คือรถที่หากคุณต้องการ ราคาของมันอาจไม่ได้ถูกอย่างที่คิด ผมเปิดดูในเว็บรถมือสองญี่ปุ่น มีตั้งแต่ราคา 200,000 บาทไปจนถึง 600,000 บาท ซึ่งคุณต้องบวกภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีอื่นๆไปอีกราว 3 เท่าของราคารถที่คุณจ่าย และค่าใช้จ่ายในการขนส่งมาไทย พูดราคาแล้วคุณอาจจะบอกว่าราคานี้ไปเล่น MX-5 NA ดีกว่าไหม ถ้าเอาในแง่ความคุ้มค่าสิ่งที่ได้กับสิ่งที่จ่าย ผมว่าแน่นอน MX-5 ตอบโจทย์..แต่การเล่นรถเก่า มันคือส่วนผสมระหว่างเศรษฐศาสตร์ ตรรกศาสตร์ และใจเสมอครับ ถ้าใจมันใช่ อะไรก็ยอม เหมือนคนเราที่ต้องการสิทธิต่างๆ เรียกร้องความเสมอภาค สนับสนุน Free Speech ยัน Freedom แต่ยอมตกอยู่ภายใต้อธิปไตยเมียตั้งแต่วันสุดท้ายที่เมียกราบตักตอนแต่งงาน หญิงที่สวยกว่า มีเยอะแยะ ใจดีกว่า ทำกับข้าวเก่งกว่า มีถมไป แต่คนเลือกเมียคนนี้ด้วยใจ อะไรก็เป็นเรื่องเล็ก
Suzuki Cappuccino คือรถที่เมียคุณอาจจะชอบเมื่อได้เห็นรูปลักษณ์แต่ด่ากราดเมื่อทราบค่าใช้จ่ายเพื่อการครอบครอง ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำให้เธอเห็นความน่ารักของมันได้หรือไม่ Cappuccino เป็นรถขนาดเล็กมาก ซึ่งที่ญี่ปุ่นเรียกรถคลาสนี้ว่า K-Car หรือ Kei-Car ซึ่งรัฐบาลจะกำหนดว่าตัวถังห้ามใหญ่เกินเท่าไร เครื่องห้ามโตเกินกี่ซี.ซี. บ้านเราชอบเรียกแบบดูถูกว่ารถกระป๋อง แต่รถกระป๋องพวกนี้ในญี่ปุ่นนี่รัฐบาลสนับสนุน ปกติคนญี่ปุ่นจะมีรถต้องให้ทางรัฐตรวจสอบยืนยันนะครับว่าซื้อรถแล้วมีที่จอดเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ Kei Car ไม่ต้อง แถมราคารถ ค่าดูแลก็ถูก ใช้ในเมืองก็ประหยัด (แต่ถ้าวิ่งข้ามจังหวัด 110-120 กินโหดอยู่นะเคยลองมาแล้ว)
...
พอถูกกฎหมายบังคับให้ตัวเล็ก Kei Car ส่วนมากเลยพยายามทำทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยภายในกว้างขวางมาก พอรถหลายรุ่นทำทรงออกมาเป็น Econo Box เหมือนกันหมด ตลาดรถเล็กก็เลยน่าเบื่อ ในยุค 1990s ก็เลยมีบางบริษัท ลองทำรถ Kei Car ที่เป็นทรงสปอร์ตตี้ขึ้น ปรุงเสน่ห์ให้ลูกค้าเห็นแล้วรู้สึกดีขึ้น แทนที่จะรู้สึกว่าซื้อกระป๋องเหล็กเพื่อใช้งานไปวันๆ เขาก็รู้สึกเหมือนซื้อสินค้าแฟชั่นกิ๊บเก๋ นอกจากรถอย่าง Suzuki Cappuccino แล้ว ก็ยังมี Autozam AZ-1 ประตูปีกนกจาก Mazda และ Honda Beat (ชื่อเหมือนมอเตอร์ไซค์ 105 ซี.ซี. บ้านเรา แต่นี่เป็นรถยนต์ครับ) ทุกวันนี้รถทั้งสามรุ่นถือว่าเป็นนางฟ้าตัวเล็กๆ ของวงการสะสมรถคลาสสิกมือสองญี่ปุ่น มีแค่คันนึงก็บ้าแล้ว ใครมีทั้งสามคันคือสุดยอดเพราะค่าตัวค่าบูรณะสามคันรวมกัน ซื้อ Supra JZA80 ได้เลย
...
Cappuccino เกิดมาเพราะวันหนึ่ง Suzuki คิดว่า Kei Car ส่วนมากมีแต่รูปทรงน่าเบื่อ ก็เลยแหกแทบจะทุกข้อที่ไม่ได้บัญญัติเป็นกฎหมาย นู่น รถเล็กคันอื่นเครื่องวางขวางขับหน้าตัวถังทรงเหลี่ยมสี่ที่นั่ง นี่ ไอ้กาแฟนี่มาในทรงแบบรถสปอร์ตอังกฤษยุค 70s เลย หน้ายาว ท้ายสั้นกุด มีสองที่นั่ง เครื่องยนต์วางตามยาว ขับเคลื่อนล้อหลังแบบรถสปอร์ต แม้แต่บาลานซ์น้ำหนักของตัวรถก็ 50:50 เหมือนสปอร์ตยุโรป โครงการได้รับการอนุมัติในปี 1987 และใช้เวลาไม่กี่ปี รถคันต้นแบบ “Cappuccino Concept” ก็โชว์ตัวในงาน Tokyo Motor Show ปี 1989
...
หลังจากปรับรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะต่อการผลิตขายจริง Suzuki ก็เปิดตัว Cappuccino ขายอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนปี 1991 โดยมีสโลแกนภาษาญี่ปุ่นที่แปลความได้ว่า “ความฝันของใครสักคนที่จะเป็นเจ้าของรถสปอร์ต 2 ที่นั่งในราคาถูกแสนถูก เป็นจริงแล้วในวันนี้” ซึ่งมันก็กึ่งจะจริงแหละครับ เพราะราคา 1,458,000 เยนตอนเปิดตัวนั้น ถ้ามองว่าเป็นรถสปอร์ตก็ถือว่าถูก เพราะ EUNOS ROADSTER (MX-5 ในญี่ปุ่น) ราคา 2,172,000 เยน แต่ค่าตัวของ Cappuccino ก็ใกล้เคียงกับ Autozam AZ-1 และในงบพอๆ กันคุณสามารถซื้อ Honda Civic 1.5 VTEC ได้ คุณลองนึกภาพดูครับ ถ้าวันนี้ Honda ไทย ขาย S660 ในราคาเท่า Civic ตัวล่างๆ ก็ย่อมมีทั้งคนที่คิดจะไม่ซื้อและคนที่ซื้อโดยไม่ต้องคิดละครับ
ด้วยความเป็น Kei Car ทำให้ Cappuccino ต้องมีขนาดตัวเล็ก ศัพท์คนรุ่นลุงบ้านเราเรียกแบบดูถูกว่าพร้อมมุดใต้สิบล้อ ด้วยความยาวแค่ 3,295 มม. กว้างแค่ 1,395 มม. และสูงแค่ 1,185 มม. พูดง่ายๆ คือคุณลองนึกภาพ Hilux Revo สักคันตรงความยาวฐานล้อ ตัวรถไอ้กาแฟทั้งคันน่ะยาวกว่าฐานล้อ Revo แค่คืบเดียว เพราะฉะนั้นพวกช่องจอดริมทางเล็กๆ ที่รถเก๋งคันอื่นจอดยาก ไอ้กาแฟทิ่มก้นหักล้อแต่งหน้าแล้วจอดได้สบาย ความกว้างตัวรถแคบกว่ารถเล็กยุคใหม่ราว 1 ฟุต เวลาไปจอดในช่องจอดตามห้างต่างๆ เหลือที่เปิดประตูเยอะจนน่าจะมีแต่ควายเท่านั้นที่จอดให้เบียดจนคุณขึ้นรถไม่ได้
เสน่ห์อีกอย่างของ Cappuccino คือหลังคาครับ ด้วยวิธีการออกแบบอันแยบยลของ Suzuki ที่คิดรูปแบบมาดีแล้วสำหรับรถเล็ก ทำให้รถคันนี้สามารถแปลงโฉมเป็นรถได้ 4 แบบเฉพาะตรงหลังคานั่นแหละ เริ่มต้นจากการเป็นสปอร์ตคูเป้หลังคาแข็ง กันฝนกันแดดได้บ้าง คุณไขกระจกลง แล้วถอดบางชิ้นของหลังคาออก ตัวหลังคานี่จะแบ่งถอดได้สามส่วนคือปีกซ้าย ปีกขวา และแกนกลาง ถ้าคุณถอดเฉพาะปีก เหลือแต่แกนกลาง คุณก็จะได้รถแบบ T-Top แต่ถ้าถอดแกนกลางด้วย คุณก็จะได้ทรงรถแบบ Targa เหมือนพวก Porsche และท้ายสุด ถ้านั่นยังไม่พอ คุณผลักกระจกชิ้นหลังลงข้างล่าง ก็จะได้ทรงเป็นรถเปิดประทุน 100% แล้วกระจกหลังชิ้นนี้ไม่ใช่พลาสติกนะครับ เป็นกระจกและมีไล่ฝ้าด้วย การที่แบ่งหลังคาเป็นสามส่วน ก็เพื่อทำให้เมื่อถอดแล้ว คุณสามารถเอาแต่ละชิ้นไปยัดไว้ในฝากระโปรงท้ายได้ ซึ่งพอใส่ลงไป คุณก็แทบจะไม่เหลือที่ทำอะไรแล้ว เพราะความเล็กของรถเป็นเหตุ แต่ก็ยังมียางอะไหล่กับชุดประแจมาให้ตามสไตล์รถยุคนั้น
ภายในของ Cappuccino ก็มีของให้เท่าที่คุณคาดหวังจากรถขนาดเล็กในยุค 90s ที่ราคา 1.4 ล้านเยน มีกระจกไฟฟ้า ซึ่งย้ายจากประตูมาติดตรงคอนโซลกลางเพื่อไม่ให้ตัวสวิตช์และเบ้ามากินพื้นที่เข่า กระจกมองข้างปรับด้วยมือ มีพวงมาลัยสปอร์ต 3 ก้าน เครื่องปรับอากาศแบบไม่อัตโนมัติ บนหน้าปัด มีมาตรวัดรอบขนาดใหญ่ สเกลลากไปถึง 12,000 รอบ เรดไลน์ที่ 8,500 รอบ น่ากลัวมาก ตรงกันข้ามกับมาตรวัดความเร็วที่จะทำให้ Honda Brio ขำด้วยตัวเลขสูงสุดบนมาตรวัดแค่ 140 คุณอย่าได้คาดหวังความกว้างขวางจากภายในรถที่ตัวสั้นเท่าฐานล้อ Revo แล้วมีสองที่นั่ง ถ้าคุณยังนั่งขับมันได้ แปลว่าคุณยังไม่อ้วน ความที่หน้ารถยาว ตำแหน่งเบาะเตี้ย ทำให้ได้ฟีลแบบรถสปอร์ตจริงจัง คล้ายพวก TVR สปอร์ตเปิดประทุนอังกฤษ แต่ทุกอย่างเหมือนไปวิ่งผ่านไฟฉายย่อส่วนของโดราเอมอนมา ก็เท่านั้น
ในรถ Cappuccino คุณจะพบการออกแบบที่ดู Simple ซึ่งเป็นสไตล์การทำภายในแบบ Suzuki ที่แม้ไม่เหมือน..แต่คุณจะได้ฟีลบางอย่างคล้ายๆ กัน อยู่ใน Swift Eco 2012, Celerio และรถเก๋งรุ่นอื่นในค่าย แม้จะไม่ล้ำยุคมากนัก ไม่มีอะไรที่เด่นเป็นพิเศษ ไม่ได้มีวัสดุจุดไหนพรีเมียม แต่มองแล้วเหมือนเอาภายในของรถคลาสสูงๆ มาปรับวัสดุให้ใช้แบบรถประหยัด แต่จะมีบางจุดที่ออกจะแปลกๆ อยู่บ้าง เพื่อนผมอยู่นิวซีแลนด์ ซื้อ Cappuccino มาคันนึงโดยไม่มีคู่มือ ส่งข้อความถามว่า “Help me, we’ve just bought the car and we don’t know how to open that damn fuel filler flaps.” คือมันหาที่เปิดฝาถังน้ำมันไม่เจอ แล้วมันคิดว่าผมรู้ ผมก็ไม่รู้จะถามใคร แต่ Google ให้มัน เจอว่าที่เปิดฝาถังน้ำมัน อยู่ใต้ช่องเก็บของตรงที่เท้าแขนครับ ส่วนคันชักเปิดฝากระโปรงหน้า พี่แกก็ไปซ่อนอยู่ในลิ้นชักหน้า แถมซ่อนมุมบนจนเกือบมองไม่เห็นด้วย
เครื่องยนต์ของ Suzuki Cappuccino เป็นรหัส F6A 3 สูบ ทวินแคม 12 วาล์ว 657 ซี.ซี. เทอร์โบชาร์จเจอร์ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวกับที่ใช้ในรถขับหน้าอย่าง Suzuki Cervo Mode SR-Turbo แต่จับมาปรับจูนใหม่ เอาแรงม้าแรงบิดไปกองที่รอบสูงขึ้น และจับวางตามยาว แรงม้าสูงสุด 64 แรงม้า แจ้งมาแค่นี้เพราะตามกฎของ Kei Car สามารถมีแรงม้าได้ไม่เกินนี้ครับ ส่วนแรงบิดสูงสุด แค่ 8.7 กก.ม. เท่านั้นเอง แถมต้องลาก 4,000 รอบถึงจะได้แรงบิดระดับนี้ด้วย แม้จะน้อย แต่ก็ต้องไม่ลืมครับว่า Cappuccino มีน้ำหนักตัวแค่ 700 กิโลกรัมเท่านั้น คือเบากว่า Lotus Elise เจเนอเรชันแรกเสียอีก ถ้าเทียบไปแล้ว อัตราเร่งของมันก็น่าจะเหมือนกับรถ 1.4 ตันที่มี 128 แรงม้า ก็ประมาณ Civic 1.6 นั่งเต็มคัน และอัตราเร่งของเจ้ากาแฟก็ได้ประมาณนั้นครับ 0-100 รถเดิมๆ อยู่แถว 14 วินาที และนั่นก็คือ รถเกียร์ธรรมดา ยางเดิม 165/65R14 และเฟืองท้ายสูงปรี๊ด 5.125:1 แล้ว
แต่ในระยะหลัง เราก็ทราบกันว่า Cappuccino นี้สามารถโมดิฟายจนเป็นรถวิ่งแข่งลงเขา เป็นรถสนาม หรือเป็นรถดริฟต์ได้ ไอ้อัตราเร่ง 0-100 ที่ช้าราวอีโคคาร์นั้น แค่ส่งรถให้ Speed Shop จัดการเปลี่ยนเทอร์โบ โมดิฟายเพิ่ม จูนกล่อง เปลี่ยนหม้อน้ำและชุดระบายความร้อนให้ดีขึ้นหน่อย มันจะกลายเป็นพริกขี้หนูแสบได้ บางคันที่ผมเห็นมาคือ 0-100 ในระดับ 6 วินาที แต่อัตราเร่งทางตรง ไม่ใช่จุดเด่นของมันหรอกครับ
ถ้าคุณใช้ชีวิตวัยรุ่นในยุคเปลี่ยนศตวรรษ ก็คงพอจำกันได้ว่ามีหนังสือการ์ตูน และ ANIME อย่าง Initial D ซึ่งในเรื่องนั้น พระเอก ฟูจิวาระ ทาคุมิ ขับ Sprinter Trueno AE86 และเอาชนะรถคู่แข่งรุ่นอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า มีพลังมากกว่า อย่าง R32 GT-R, RX-7 FD3S ได้ เมื่อพระเอกกับเพื่อนรวมทีมกันแล้วไปแข่งบนทางภูเขาในจังหวัดอื่น ก็เจอ “พันธมิตรนักซิ่งไซตามะ” ซึ่งวางแผนเอาชนะรถพระเอกด้วยการ “ให้มันเจอในสิ่งที่มันไม่เคยรับมือมาก่อน” ซึ่งในที่นี้ก็คือ ความสังเกตของหัวหน้าทีมไซตามะที่อ่านเกมออกว่า ทาคุมิใช้รถเล็กและเบาอย่าง 86 รบรากับรถใหญ่และหนักกว่ามาตลอด เขาจึงหารถที่เบากว่าและเล็กกว่า 86 ลงไปอีก แล้วก็วานให้นักแข่งแรลลี่ระดับโปรที่เป็นคนไซตามะมาขับให้ รถที่ทีมไซตามะใช้ตอนนั้น ก็คือ Suzuki Cappuccino นี่ละครับ
แน่นอนว่าในเนื้อเรื่องมังงะ พระเอกก็ชนะอยู่ดี แต่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดวงการรถซิ่งสมัยนั้น ซึ่งรู้อยู่แล้วว่า ถึงจะน้อยด้วยพลัง แต่ถ้าเป็นทางโค้งและระยะเบรก รถเบาอย่าง Cappuccino จูนดีๆ ทำเวลาได้รวดเร็วมาก
ในช่วงปี 1992 ทาง Suzuki GB (อังกฤษ) เห็นรถอย่าง Cappuccino ก็เลยเอาชาเอิร์ลเกรย์ไปไหว้นายที่ญี่ปุ่นแล้วบอกว่า เอามาขายบ้านไอเถอะ รถแบบนี้ขายได้แน่ มันเป็นสิ่งที่คนอยากได้ ทางนายญี่ปุ่นก็เกาคางแกร่กๆ ทำยังไงดีวะ..ก็รถคันนี้มันผลิตขึ้นมาเพื่อตลาดญี่ปุ่น Kei Car โดยเฉพาะ ไม่ได้นึกเผื่อการทำตลาดในประเทศอื่นเอาไว้เลยนี่หว่า แต่ด้วยความพยายามของทาง GB ร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ก็ต้องวิ่งไปวิ่งมากันอยู่นาน เพราะต้องนำรถไปตรวจสอบ ให้ทางรัฐฯ ของเมืองอังกฤษชี้ว่าจุดไหนบ้างที่ไม่ผ่านเกณฑ์กฎหมายของประเทศเขา แล้วก็ต้องไปหาทางปรับแต่งให้ถูกกฎหมาย คุณผู้อ่านควรทราบไว้ว่า การเอารถไปขายในประเทศหนึ่ง ไม่ได้จู่ๆ จะหยิบไปขายก็ขายได้เลยครับ อย่างขั้นตอนปรับรถให้ผ่านเกณฑ์ของอังกฤษนี้ Suzuki ก็ต้องทำอยู่ปีครึ่ง เปลี่ยนชิ้นส่วน 23 รายการกว่าจะเข้าไปขายในอังกฤษได้ แล้วเอาเข้าจริงก็ขายได้แค่ราวพันกว่าคัน ส่วนมากเป็นสีแดง น้อยนักเป็นสีเงิน
ซ้ำร้าย ในช่วงต้นยุค 90s นั้น ฟองสบู่อันสวยหรูของญี่ปุ่นก็ได้แตกลง ส่งผลกับยอดขายรถทุกแบบ และรถ Kei Car ที่ราคาเท่า Civic พันห้าอย่างเจ้ากาแฟ ก็ได้รับผลกระทบทางด้านยอดขายเช่นกัน ดูจากกราฟยอดขายเอาก็ได้ครับว่า จากจำนวนรถประมาณ 28,000 คันที่ผลิตออกไปจากโรงงานระหว่างปี 1991-1998 นั้น รถจำนวน 15,000 คัน คือรถที่ขายได้ภายในสองปีแรกหลังเปิดตัว ที่เหลือคือรถที่ทยอยขายมาเรื่อยๆ 6 ปีกว่าจะหมด
ในปี 1995 Suzuki มีการอัปเดตเพิ่มเติมให้ Cappuccino ที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนเครื่องยนต์จาก F6A เป็น K6A ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ใหม่ต่างออกไปเลย เปลี่ยนจากกระบอกสูบชักยาวปากกระบอกแคบ เป็นปากกระบอกกว้างแล้วชักสั้น เปลี่ยนจากสายพานขับแคมชาฟท์เป็นโซ่ แรงม้าสูงสุดเท่าเดิม แรงบิดเพิ่มเป็น 9 กก.ม. พร้อมกันนี้ยังมีออปชันเพิ่มเติมอย่างพวงมาลัยพาวเวอร์ สำหรับคนที่แรงมือไม่พอหมุนยาง 165 และมีรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะออกมา และมีอุปกรณ์ให้เลือกเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยอย่างถุงลมนิรภัย เบรก ABS เป็นต้น รถเวอร์ชันอัปเดตแล้ว จะมีกระจังหน้าที่ต่างเล็กน้อย แต่ภาพรวมของรถยังเหมือนเดิม ถ้าจำไม่ผิด รถพวกนี้จะเปลี่ยนเลขตัวถังจาก EA11R เป็น EA21R ครับ
นี่ก็คือประวัติของรถเล็กๆ ที่อายุรถในวันนี้ คันแรกๆ ที่ออกจากโรงงานก็ 33 ขวบแล้ว ถ้าใครคิดว่าสามารถรับมือการใช้งาน และการเสาะหาอะไหล่เพื่อนำมาซ่อมแซมบำรุงรักษาได้ ก็น่าสน ถ้าจะเอามาทำเป็นรถคลาสสิกแบบที่มีเสน่ห์จากดีไซน์ คือคุณไม่ต้องไปโมดิฟายมัน ไม่ต้องไปทำให้มันแรง หรือแต่งมันด้วยชุดแต่งมากมายหรอกครับ แค่รถสภาพเดิมๆ เก็บงานรอบคันให้เนียน คุณขับไปห้าง ยามไม่ให้คุณจอดช่องซุปเปอร์คาร์หรอก แต่คุณขับไปมีตติ้งที่ประชาชื่น คนขับซุปเปอร์คาร์บางคนอาจจะยิ้มรับและชวนคุยเรื่องรถของคุณ รวมถึงคนอื่นๆ ที่ชื่นชอบรถคลาสสิกด้วยเช่นกัน เป็นความสุขแบบที่ไม่ต้องใช้แรงม้า หรือตัวเลข 0-100 สวยๆ มาเป็นตัวดำเนินเรื่องครับ
Pan Paitoonpong