ในคอกม้าลำพอง Ferrari หลายท่านคงจะคุ้นกับรถระดับค่อนข้างสูงของค่ายอย่าง 812 Superfast หรือ F12 Berlinetta หรือถ้าใครเริ่มไม่เด็กแล้วก็จะทันรถอย่าง 550 Maranello ซึ่งรถเหล่านี้ล้วนเป็นรถเครื่องวางหน้า V12 พลังสูงมากในยุคของมัน แต่ก่อนหน้านั้น Ferrari เคยทำเครื่องสูบนอนยัน 12 สูบ วางกลางลำ แล้วขายเป็นรถระดับสูงของค่ายอยู่นานหลายทศวรรษ หนึ่งในรถเหล่านั้นก็คือ Testarossa ผู้มีทรงลิ่มทิ่มโลก ครีบด้านข้างอันเป็นเอกลักษณ์ และราคาในปัจจุบันที่ถ้าไม่รวย ก็อย่าฝัน

...

ในสัปดาห์ที่แล้วเราพาคุณผู้อ่านไปชมรถฝีมือดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียน ก็เรียนแจ้งให้ทราบว่าวันนี้เราจะยังไม่ออกจากประเทศนี้ไปไหน เนื่องจากซุปเปอร์คาร์ตัวเด่นๆ ของโลกที่นักสะสมถวิลหาหลายต่อหลายรุ่นก็มาจากประเทศนี้ โดยในวันนี้ผมนึกขึ้นได้ว่าบทความวันอาทิตย์ของเรา แทบไม่เคยแตะรถจากแบรนด์ Ferrari เลย ก็คิดว่าจะลองยกมาเล่าให้ฟังสักรุ่น ต้องยอมรับว่า ด้วยรูปทรงอันสวยงาม จากฝีมือการสะบัดปากกาของสำนัก Pininfarina ซึ่งเคยเปรียบดังครีมเทียมคู่บุญกาแฟของค่าย Ferrari ก่อนที่ทาง Ferrari จะปรับมาใช้วิธีออกแบบรถแบบ In-house อย่างที่พวกเขาทำในปัจจุบัน มันทำให้ยากที่จะเชื่อว่านี่คือรถที่ออกจำหน่ายเมื่อ 40 ปีที่แล้วนะครับ งานออกแบบของคนรุ่นปู่เรา ไม่เบาเลยทีเดียว ทำให้มันได้ไปอยู่ในซีรีส์ดังอย่าง Miami Vice และเกมยุคก่อนอย่าง Outrun นับได้ว่าเป็น Iconic Car คันหนึ่งของยุค 80s เลยทีเดียว

...

ก่อนหน้าที่จะเกิด Testarossa นั้น Ferrari ทำรถเครื่องวางกลางลำมาก่อนแล้ว รถอย่าง 512 Berlinetta Boxer นั้นก็มีชื่อเสียงทั้งในด้านความสวยงามและพลังมหาโหด ทว่าสิ่งที่ลูกค้าตัวจริงตำหนิมามากคือ มันเป็นรถที่ดิบไปสำหรับการขับในชีวิตประจำวัน ขับยาก ใช้งานยาก ไม่มีที่ให้เก็บสัมภาระ หม้อน้ำวางไว้ข้างหน้า เดินท่อน้ำผ่านห้องโดยสารซึ่งส่งไอร้อนระอุมายังเจ้าของรถและเด็กสาวที่นั่งข้างๆ ทำให้ Ferrari ยอมที่จะปรับรถเข้าหาลูกค้าบ้าง โดยขยายตัวถังกว้างออกไปอีกราว 1 ฟุต เพื่อให้มีพื้นที่ระดับไหล่ เพิ่มความยาวรถเพื่อให้มีที่สำหรับวางสัมภาระหลังคนขับได้บ้าง แต่ตัวรถยังเป็นแบบสองที่นั่งเครื่องวางกลางลำอยู่นะครับ

ชื่อ Testarossa นั้น ตั้งขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากรถแข่ง 250 Testa Rossa ปี 1957 คนที่ไม่รู้ภาษาอิตาเลียนอาจจะอ่านชื่อแล้วช่างเพราะพริ้งเหมือนชื่อหญิงในตำนาน แต่จริงๆ แล้วมันแปลว่า “ไอ้หัวแดง” ซึ่งมาจากฝาครอบเครื่องยนต์ของรถ 250 ที่เป็นสีแดงนั่นล่ะครับ

...

ดีไซน์ส่วนหลักของรถ รับผิดชอบโดยมือปืน (หรือมือปากกา) ของ Pininfarina ชื่อ Emanuele Nicosia ภายใต้การควบคุมดูแลของ Leonardi Fioravanti ตัวลูกน้อง เก่งในเรื่องการออกแบบรถให้ดูเซ็กซี่ (Nicosia ออกแบบ Ferrari 288GTO ด้วย) ตัวหัวหน้า เก่งเรื่องการประยุกต์แอโรไดนามิกส์เข้ากับบอดี้ของรถ ท่านทราบหรือไม่ว่า ครีบระบายความร้อนด้านข้างของ Testarossa นั้น ตอนแรกพวกเขาไม่ได้อยากจะทำให้มันเป็นริ้วและใหญ่โตเสียขนาดนั้น ทีมออกแบบพยายามทำให้มันมีขนาดเล็กลงแล้ว แต่กฎหมายกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายใหญ่ของรถรุ่นนี้) มีข้อกำหนดว่า ถ้าช่องระบายอากาศด้านข้างโตเกินเท่านั้นเท่านี้..จะต้องมีตะแกรงกัน เป็นกฎหมายด้านความปลอดภัย Nicosia กับ Fioravanti จึงตัดสินใจทำดีไซน์เป็นครีบซี่ๆ ขนาดใหญ่ เท่ากับด้านข้างรถจะไม่มีรูโตที่ขัดกับกฎของอเมริกา แม้จะเป็นเอกลักษณ์น่าจดจำ แต่บางคนก็แซะว่าทำให้ด้านข้างรถเหมือนเป็นที่ขูดชีสให้เป็นฝอยๆ (Cheese grater)

...

แต่ต่อให้ใครล้อ ช่องซี่ๆ นี้ก็จำเป็นครับ เพราะ Ferrari ตัดสินใจย้ายหม้อน้ำจากด้านหน้ารถ เอามาไว้ด้านข้างซ้าย/ขวาแทน จึงต้องอาศัยลมจากช่องนี้ระบายความร้อน แต่ผลดีที่ได้ก็คือ ไม่ต้องเดินท่อน้ำร้อนผ่านห้องโดยสารให้ร้อนตูดเด็กอีกต่อไป เป็นการใช้ดีไซน์เพื่อแก้ปัญหาในการใช้งานของลูกค้า หลายคนมองว่าในอดีต Ferrari ไม่ง้อไม่สนลูกค้า อาจจะเพราะอ่านมาจากความแซ่บที่ Enzo Ferrari ไปด่า Ferruccio Lamborghini ผู้ซึ่งติการทำงานคลัตช์ของรถ Ferrari แต่จริงๆ แล้ว ใครที่อยากขายรถ ก็ต้องเอาใจคนจ่ายเงินครับ ถ้าอยากจะขายรถให้มันได้..ยกเว้นพวกรุ่นพิเศษที่คนซื้อต้องง้อค่ายรถ อย่าง F40

รูปแบบของช่วงล่าง ยังมีความคล้ายคลึงกับ 512 Berlinetta Boxer อยู่ กล่าวคือ เป็นช่วงล่างดับเบิลวิชโบนทั้งหน้าและหลัง ในรุ่นแรกๆ ที่ขายก่อนปี 1986 จะใช้ล้อตามมาตราเมตริกไซส์ VR415 แต่พอหลังจากนั้นมา จะปรับเป็นล้อขนาด 16 นิ้ว ยางหน้า 225/50 ยางหลัง 255/50 ระบบเบรก เป็นดิสก์ 4 ล้อ จานหน้าขนาด 309 มิลลิเมตร และจานหลัง 310 มิลลิเมตร 40 ปีผ่านไป คุณคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของรถยนต์นะครับ ทุกวันนี้ รถครอบครัวแม่บ้านขับส่งลูกเรียนบางรุ่น ล้อ ยาง และเบรก โตกว่า Testarossa เสียอีก แต่นี่คือไซส์ที่จัดว่าใหญ่โคตรในสมัยนั้น ที่ซึ่งรถบ้านทั่วไปยังใส่ล้อ 13-14 นิ้วอยู่

ส่วนเครื่องยนต์ 12 สูบนอนยัน ที่เราชอบเรียกกันว่า Boxer นั้น มีรหัสว่า “Tipo F113A” ซึ่งรากฐานของมัน ก็มาจาก Tipo F102 และ F110 ที่อยู่ใน 512 Berlinetta Boxer นั่นเอง โดยมีขนาดความจุ 4,924 ซี.ซี. เหมือนกัน แต่เครื่อง F113A นั้นจะปรับเปลี่ยนฝาสูบเป็นแบบ 4 วาล์วต่อสูบเพื่อเพิ่มโฟลว์ในรอบสูงได้ดีขึ้น ระบบบริหารจัดการเครื่อง ยังเป็นแบบที่นิยมในยุคนั้นที่เป็นยุคก้ำกึ่งระหว่างกลไกกับไฟฟ้า โดยระบบจุดระเบิดเป็นอิเล็กทรอนิกส์ Marelli MED120 ส่วนระบบจ่ายเชื้อเพลิงเป็น Bosch K-Jetronic ซึ่ง K มาจากคำว่า Kontinous เนื่องจากหัวฉีดนี้ไม่ได้คุมปริมาณน้ำมันด้วยจังหวะการเปิด/ปิด แต่จะจ่ายตลอดแล้วคุมปริมาณด้วยปัจจัยอื่นเช่นแรงดันแทน แต่รถที่ส่งไปจำหน่ายยังอเมริกาและญี่ปุ่น เจอเรื่องมาตรฐานมลภาวะกำกับ ทำให้ต้องใส่เครื่องกรองไอเสีย และเปลี่ยนไปใช้หัวฉีด KE-Jetronic (กลไก/ไฟฟ้า) แทน

ในรูปแบบที่มีพลังมากที่สุด ไร้เครื่องกรองไอเสีย เครื่องยนต์ F113A มีแรงม้ามากถึง 390 แรงม้า แรงบิด 490 นิวตันเมตร ทำให้ ณ วันที่ Testarossa เปิดตัวขายจริงในงาน Paris Autoshow มันกลายเป็นรถ Production Car ผลิตขายให้คนทั่วไปซื้อได้ที่มีแรงม้ามากที่สุด ถ้าไม่นับรถที่ขายในจำนวนโคตรจำกัดอย่าง 288 GTO ที่วางขายในปี 1984 เช่นเดียวกัน ในด้านสมรรถนะ มันทำอัตราเร่ง 0-100 ได้ภายใน 5.7 วินาที ควอเตอร์ไมล์ได้ภายในเวลา 13.5 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 290 กม./ชม. ในปี 1984 นั้น ลองมองดูรถในประเทศไทยครับ รถเก๋งที่เร็วที่สุดในตารางราคายุค 80s นั้นน่าจะมีแค่เบนซ์ W123 280E หรือ Volvo Turbo ซึ่งรถพวกนั้นวิ่งได้ 200 นิดๆ เท่านั้น

ในปี 1991 หลังจากที่ขาย Testarossa ไปได้ราว 7,000 คันแล้ว Ferrari ก็อัปเดตขุมพลังและหน้าตาเล็กน้อย เกิดมาเป็น Ferrari 512TR ซึ่งรูปทรงเกือบถอดแบบมากันเด๊ะ ต่างกันชัดเจนคือกันชนหน้า ทรงของไฟตัดหมอก ล้อ และเครื่องยนต์ ซึ่งในปีนั้น 512TR ขยับไปใช้ระบบควบคุมเครื่องยนต์แบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มขั้นแล้ว ทำให้ได้แรงม้าเพิ่มจาก 390 เป็น 428 แรงม้า ซึ่ง Ferrari ต้องทำ เพื่อให้มีรถเรือธง 12 สูบ เอาไว้ดักทางคู่แข่งอย่าง Lamborghini Diablo V12 492 แรงม้าในสมัยนั้น 512TR นั้นสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 313 กม./ชม. โดยรวมแล้วมันเป็นรถที่ดีขึ้น ขับง่ายขึ้นเพราะน้ำหนักคลัตช์เบาลง บังคับควบคุมได้ดีขึ้น แต่ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ ยอดขายรวมเดินช้ากว่า Testarossa เท่าตัว ขายจนถึงปี 1994 ก็ฟันยอดไปได้แค่ประมาณ 2,200 คันเท่านั้น

ในร่างท้ายสุดที่เป็นมรดกตกทอดจาก Testarossa ก็คือ F512M ซึ่งเปลี่ยนไฟป๊อปอัพ เป็นไฟหน้าแบบธรรมดา เปลี่ยนล้อลายใหม่ ปรับกำลังเครื่องเพิ่มเป็น 448 แรงม้า แต่ก็ขายได้แค่ 501 คันเท่านั้น และจากนั้นไป เราก็ไม่เคยเห็น Ferrari เครื่อง Flat-12 ออกจากโรงงานอีกเลย

พูดถึงคำว่า Flat-12 นั้น จะเล่าให้ฟังว่า นักออกแบบเครื่องยนต์ของ Ferrari เอง กล่าวว่า “อันที่จริง มันไม่นับเป็นเครื่อง Boxer นะ ต้องเรียนกว่าเครื่อง Flat-12” สาเหตุก็เพราะลักษณะของข้อเหวี่ยง ไม่ได้เหมือนเครื่อง Boxer ที่เรารู้จักกันครับ ถ้าเป็นเครื่อง Boxer หรือ “ชกมวย” นั้น ถ้าสูบ 1 กำลังชักถอยห่างจากศูนย์ตายบน สูบ 2 ก็จะถอยห่างเช่นกัน แต่ในเครื่อง Flat ของ Ferrari เวลาสูบ 1 เลื่อนเข้าหาศูนย์ตายบน สูบ 2 จะถอยห่างศูนย์ตายบน เวลาเรามีตา X-ray แล้วมองเครื่องจากด้านบน สูบ 1 ไปซ้าย สูบ 2 ก็ไปซ้ายด้วย อันนี้ผมก็เพิ่งทราบเมื่อไม่นานมานี้แล้วก็เรียกเครื่อง Ferrari ว่า Boxer-12 มาตลอดชีวิตแหละครับ

ปัจจุบัน Testarossa ไม่ใช่รถหาดูในสภาพดีๆ ได้ง่ายนัก แม้จะผลิตไปมากกว่า 7,000 คัน คนที่ซื้อรถรุ่นนี้ไปส่วนมาก เป็นคนดังที่ใครเกิดทันยุค 80s ร้องอ๋อหมดครับ ไม่ว่าจะเป็น Elton John, Rod Stewart หรือแร็ปเปอร์อย่าง Dr. Dre หรือ MC Hammer ก็มีรถรุ่นนี้ Don Johnson ซึ่งเป็นดารานำในซีรีส์ Miami Vice ยุคนั้น ขับ Testarossa สีขาว แล้วก็ได้รถสีเงินมาอีกคัน เพราะว่าปู่ Enzo Ferrari ของเรา เป็นแฟนคลับซีรีส์เรื่องนี้ แล้วถูกชะตากับ Johnson มาก เลยมอบให้ฟรีๆ เลยหนึ่งคัน

นี่ล่ะครับเรื่องราวพอสังเขปของ Testarossa เจ้าหัวแดง ที่เป็นรถในโปสเตอร์ติดห้องของใครหลายคนที่อ่านบทความนี้อยู่เมื่อสมัยพวกคุณยังวัยรุ่นครับ


Pan Paitoonpong