สัปดาห์นี้ ขอพาออกจากการส่องรถมือสองสักนิดมาคุยกันในหัวเรื่องทั่วไปที่จะไม่เร่งเร้าให้คุณไปเปิดดูว่ามีเงินเหลือกี่แสนในบัญชี เพราะไอ้คุณ แพน ไพฑูรย์พงษ์ (ก็คือผม) มันช่างสรรหารถมายั่วให้ตบะแตกได้ทุกสัปดาห์ โถ..คุณผู้อ่านเห็นใจผมเถอะครับ ถึงแม้เป็นนักเขียนรับเชิญให้กับทางไทยรัฐออนไลน์ ไม่ได้ประจำสำนักงาน แต่ก็ต้องช่วยน้าฉ่าง อาคม รวมสุวรรณ นักข่าวประจำคอลัมน์ยานยนต์ในการแบก KPI ของแกเช่นกัน แล้วพอคนไทยชอบรถดี รถถูก ก็มักมีคนอ่านที่อยากอ่านรถราคา 1-3 แสนกันเยอะกว่าบทความแบบอื่น แค่นั้นเองจ้า

...

เอาล่ะ แต่วันนี้ ผมมีความคันที่เอาคาลาไมน์ทาแล้วก็ไม่หาย มันคือเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในโลกรถยนต์ที่เราจะเห็นได้จากคอมเมนต์ใน Facebook หรือ Tiktok ที่บางครั้งผมอ่านแล้วถึงกับอยากยกขาหลังเกาหูด้วยความคันสุดๆ “ขอโทษนะครับ ความรู้/ความเชื่อแบบนี้น่ะ รับมาจากไหน อยากรู้ต้นตอเอามากๆ” จะพูดเลยก็ได้ว่า ในฐานะคนทดสอบรถ ผมนั้นต้องรบกับพวกแบกความเชื่อมาถล่มความจริงมาเยอะ แล้วสุดท้ายมันไม่ได้จบที่ว่า “ใครถูก” แต่ดันจบที่ว่า “ใครเสียงดังกว่า” ผมเลยต้องมาอาศัยมุมเงียบๆ ในคอลัมน์วันอาทิตย์นี้ มาเปิดอกเปิดใจให้ท่านที่ยังมีกะใจรับฟังบ้าง ส่วนท่านที่ไม่ได้คิดจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ผมขออนุญาตเรียนเชิญท่านปิดบทความนี้แล้วไปทำอาหารเสิร์ฟแมวที่บ้านแทนจะดีกว่านะครับ ประหยัดเวลาเราทั้งคู่

ความเชื่อที่ว่านี่ก็คือ “ถ้าตัวรถขนาดพอกัน รถแรงม้าเยอะกว่า ย่อมเร็วกว่า”

นี่เลย..ความเชื่อที่ผมต้องรบกับมันตั้งแต่สมัยอยู่มหาวิทยาลัยเลยด้วยซ้ำ จริงอยู่ว่าเวลาเห็นตัวเลขแรงม้าบนโบรชัวร์เยอะๆ คนที่รู้เรื่องรถแบบสะพานปลายขาด ก็จะต้องมองว่าแรงม้าสูง แปลว่าแรง ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ตอนพวกน้าๆ กระบะเขาขิงกันระหว่าง Toyota 204 แรงม้า กับ Ford เทอร์โบคู่ตัวแรก 213 แรงม้านั่นไง ม้าเยอะกว่ายังไงก็ต้องแรงกว่าดิ จริงมั้ย? โถ 9 ตัวยังจะหั่นขิงนะลูก

...

อันดับแรกเลย คุณคิดว่า ม้า 213 ตัวที่อยู่บนโบรชัวร์ Ford กับ 204 ตัวที่อยู่บนโบรชัวร์ Toyota น่ะมันวัดด้วยเงื่อนไขเดียวกันเหรอครับ? ไม่จำเป็นเสมอไป และแรงม้าที่คุณเห็นนั้นก็ไม่จำเป็นว่ามันสามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลานะครับ เวลาเราเห็นตัวเลขแรงม้าในเอกสาร มันคือ “แรงม้าสูงสุดที่เครื่องยนต์หรือมอเตอร์ตัวนั้นมันสามารถสร้างได้” แต่ในความเป็นจริง ผู้ผลิตอาจกลัวคนขับใจร้อนตายไว เลยไปสั่งลดกำลังให้เกียร์ 1 เกียร์ 2 ปล่อยม้าแค่ 80-85% ของแรงม้าสูงสุด พวกรถอย่าง Hilux Revo ที่เป็นเครื่อง 2.8 ลิตร 204 แรงม้านี่ล่ะครับ เป็นแบบนั้น

...

รถบางรุ่น แจ้งแรงม้าสูงสุดไว้เยอะจริง แต่เป็นแรงม้าภายใต้โหมด Overboost หรือโหมดเพิ่มพลังชั่วคราว ที่คุณจะได้ใช้พลังระดับนั้นเฉพาะตอนเร่งแซงช่วงหนึ่ง แต่พอกดคันเร่งแช่ไว้นานๆ กล่อง ECU ก็จะลดแรงม้าลง..Honda CR-V e:HEV ตัวใหม่เป็นแบบนั้นเพราะมันดึงกำลังจากเครื่องและมอเตอร์มาถีบตัวรถร่วมกันได้ในช่วงคิกดาวน์เพื่อการเร่งแซงอย่างปลอดภัย แต่ถ้าคุณแช่มันจนเกิน 140 กม./ชม. รถมันก็จะมองว่าคุณอะบ้าความเร็ว แล้วก็ทยอยลดกำลังลง

...

**ดังนั้น ม้าสูงสุดบนโบรชัวร์ คือม้าสูงสุดที่เครื่อง/ขุมพลังนั้นๆ สามารถให้คุณได้ แต่ หนึ่ง..ไม่ได้บอกว่าได้แรงเท่านั้นในช่วงความเร็วไหน ได้เท่ากันทุกเกียร์หรือเปล่า และสอง..เขาไม่ได้บอกคุณว่ามันเป็นแรงม้าที่วัดจากจุดไหนของรถ**

ถ้าเป็นการวัดแรงม้าที่ตัวเครื่อง หรือที่ผมกับเพื่อนชอบเรียกว่า “ม้าท้ายเครื่อง” นั้น ก็จะได้ค่าตัวเลขสูงดูดี แต่ถ้าเป็นการวัดแรงม้าบนแท่นวัดแบบที่เอาล้อไปหมุนลูกกลิ้ง แบบนั้นก็จะต้องมีม้า หายไปในระบบเกียร์ เพลา และล้อ หรือแม้กระทั่งการสลิประหว่างยางรถกับตัวลูกกลิ้ง ทำให้ได้แรงม้าน้อยกว่า บริษัทรถไม่ได้บอกคุณหรอกว่า ม้าที่เขาวัดเอาเลขมากรอกโบรชัวร์นั้น วัดด้วยวิธีไหน

แต่เท่าที่พอจะบอกได้ก็คือ รถสมัยนี้โดยเฉพาะรถเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็น BMW, Mercedes-Benz, VW Group เวลาวัดม้าบนแท่นออกมา มักได้ตัวเลขใกล้เคียงบนโบรชัวร์มาก หรือรถกระบะญี่ปุ่นยุคนี้ที่พวกเอะอะก็ด่ากระบะมักพูดว่าม้าขี้โม้ ก็ได้ตัวเลขม้าวัดที่ดุมล้อเยอะแล้วนะครับ อย่างพวก Ford 213 แรงม้า ก็วัดออกมาได้ 190-205 ตัว พวก Revo 2.8 ลิตร 204 แรงม้า ขึ้นวัดก็ได้ 195-210 ตัว..เยอะกว่าตัวเลขโบรชัวร์ Nissan Navara Twin Turbo 2.3 ลิตร บนโบรชัวร์บอก 190 แรงม้า ผมวัดจริงมาหลายคัน ได้ 192-196 ตัวตลอด

อย่างไรก็ตาม พวกรถที่ขายแถวๆ ปี 2000 บวกลบ หรือเก่ากว่านั้น ยังน่าจะใช้วิธีวัดแบบเก่า มีตัวเลขแรงม้าบนโบรชัวร์ที่สูงอยู่สักหน่อย ดังนั้น พวกเพื่อนๆ ผมที่ขับรถตัวแรงจากยุค 90s บอกว่ามี 272 ม้า 300 แรงม้า เวลาเราไปลงสนามกับพวกรถรุ่นใหม่ๆ ที่สเปกบอกว่ามีแค่ 252 ม้า..ไอ้ 252 ม้าวัยเยาว์นี่ฉีกพวกเราบนทางตรงกระจายนะครับ

เพราะฉะนั้น เวลาเห็นแรงม้าบนโบรชัวร์สมัยนี้ ดูไว้เพื่อแค่พอรู้แนว แล้วเอาไปพิจารณาประกอบกับส่วนอื่นๆ อย่าด้อยค่าตัวเองด้วยการเอาม้าไม่กี่ตัวไปขิงถล่มรถค่ายอื่นที่คุณไม่ชอบหน้าเลยครับ มันจะดูโง่แบบวินเทจเอา

นอกเหนือจากการดูแรงม้าแล้ว ส่วนอื่นๆ ที่เราควรพิจารณายังมีอีกครับ การทำงานของเกียร์ อัตราทดเกียร์/เฟืองท้าย น้ำหนักของตัวรถ (ซึ่งรถที่ดูตัวเท่าๆ กันอาจไม่จำเป็นต้องหนักเท่ากัน และในกรณีของรถยนต์ น้ำหนักต่างกัน 100 กก. นั้นให้ผลต่างกันชัดเจนในอัตราเร่ง) และที่สำคัญคือ แอโร่ไดนามิกส์ ความสามารถของตัวรถในการแหวกฝ่าอากาศนั้นก็มีผล

พูดเรื่องเกียร์..สมัยก่อน Honda Civic รุ่นตาโต จะมีรุ่นพิเศษ 1.8 Si เกียร์อัตโนมัติ 148 แรงม้า ส่วนรุ่นประหยัดสุด 1.6 LXi ไม่มี VTEC จะมีอยู่ 120 แรงม้าเท่านั้น แต่พอนำไปวิ่งเทียบกันจริง ไอ้ตัวประหยัดเกียร์ธรรมดาวิ่งทิ้งห่างตัวพิเศษเลย..นี่คือการเทียบที่อยู่บนรถทรงเดียวกัน ยางขนาดเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบด้านแอโร่ไดนามิกส์ และน้ำหนักรถต่างกันไม่เกิน 55 กก. แต่เป็นเพราะเกียร์..รุ่น Si 148 แรงม้า ใช้เกียร์ออโต้ 4 จังหวะ และมีอัตราทดจัดจ้านพอๆ กับน้ำแข็งก้อนนึง ความต่อเนื่องในอัตราเร่ง ไม่มีทางสู้รถ 120 แรงม้า แต่ได้เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ที่เอากำลังลงพื้นได้มากกว่า มีจังหวะเกียร์ที่รับ/ส่งต่อเนื่องกว่าได้

แต่ผ่านไป 20 ปี โลกของเกียร์อัตโนมัติพัฒนาจนจับกำลังลงพื้นได้มากขึ้น แล้วจากที่เคยมี 4 จังหวะ ทุกวันนี้ มี 6-9 จังหวะ ในขณะที่เกียร์ธรรมดาส่วนมากจะอยู่ที่ไม่เกิน 6 จังหวะ ทำให้ข้อได้เปรียบของเกียร์ธรรมดาทุกวันนี้ไม่ได้เยอะแบบสมัยก่อน ยิ่งถ้าไปเจอพวก CVT หนังสติ๊กนรกอย่างพวก Civic Turbo 1.5 ลิตรทั้งหลาย เกียร์ธรรมดาก็หงอยได้นะครับ เพราะ CVT คือเกียร์ที่สามารถจะมีอัตราทดเท่าไหร่ก็ได้ จะวิ่งอยู่ด้วยความเร็วเท่าไร กระแทกคันเร่งไป สามารถเลือกอัตราทดเอารอบเครื่องไปอยู่ย่านที่เรียกกำลังดีๆ ได้ตลอด จุดอ่อนของมันจึงมีแค่ช่วงออกตัว แต่ลอยลำเมื่อไหร่ Civic Turbo CVT จูนมา 230 แรงม้า วิ่งจนพวกเกียร์ธรรมดาตัวซิ่ง 240-250 แรงม้าหลอนได้นะครับ

ถ้าคุณอยากจะทำอะไรให้เป็นมากกว่าแค่ดูแรงม้าจากช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ บนโบรชัวร์ อย่างแรกเลย คุณควรจะลองดูแรงม้าแบบเป็นกราฟ ที่บอกว่า ณ รอบเครื่องเท่าไหร่ มีแรงม้ากี่ตัว กราฟแบบนี้ล่ะครับสามารถบอกนิสัยจริงของเครื่องได้มากกว่าแค่ตัวเลขแรงม้าสูงสุด เพราะถ้าสมมติบอกว่ารถคุณมี 200 แรงม้า ที่ 7200 รอบต่อนาที..ในชีวิตจริงรถคุณไม่ได้ทะยานไปข้างหน้าแล้วรอบมันคาอยู่ 7200 ตลอด ถูกต้องหรือไม่? เวลากดคันเร่งในสนามจริงๆ มันก็จะต้องมีการกวาดจาก 5,500-7,500 เราก็ต้องดูกราฟแรงม้าว่า ในย่านนั้น แรงม้าในกราฟสูงสม่ำเสมอหรือไม่ พวกอาจารย์จูนเครื่องจะพูดกันเสมอว่า ตัวเลขแรงม้าสูงสุด เอาไว้คุย แต่พื้นที่ใต้เส้นกราฟในช่วงรอบที่มีการใช้จริงระหว่างแข่ง..นั่นคือจุดที่ส่งผลต่อการแพ้ชนะ ในสมรรถนะของเครื่องยนต์

ผมยกตัวอย่างเครื่องรุ่นคลาสสิกหน่อย (เพราะผมมันแก่) อย่างเครื่องยนต์ Toyota 4A-GE 20 วาล์วฝาดำ ตามสเปก 165 แรงม้า ซึ่งอยู่ในรถผม เจ้านี่เป็นเครื่องไม่มีเทอร์โบ แรงบิดจึงน้อยนิดแค่แถวๆ 150-160 นิวตันเมตรเท่านั้น ไอ้ที่แรงม้าสูงได้เพราะการปั่นรอบสูง..ใช่ครับ แรงม้า คือค่าที่คำนวณจากแรงบิดที่วัดได้ คูณด้วยรอบเครื่อง แล้วหารด้วยค่า Constant ถ้าแรงบิดคุณเป็น นิวตันเมตร Constant ก็จะเท่ากับ 7127 การได้ตัวเลขม้า 165 ของมันจากแรงบิดน้อยๆ เพราะมีรอบเครื่องที่สูงมาเป็นหนึ่งในตัวคูณ

ส่วนรถเพื่อนผม เป็นเครื่อง 4A-GZE ซูเปอร์ชาร์จ 1.6 ลิตรเท่ากัน แต่แรงม้าตามสเปก 170 ตัว ในขณะที่แรงบิดสูงกว่าเยอะ (210 นิวตันเมตร) ถ้าเทียบกันแล้ว แม้ม้าจะห่างกันแค่ 5 ตัว แต่เวลาไปขับจริง รถเพื่อนผมกดคันเร่งทีดึงสนุกกว่าเยอะ ช่วง 5,000-6,500 รอบเข็มฟาดไวกว่า ถ้าดูเป็นกราฟแรงม้า จะเห็นเลยว่ารถเพื่อนผมพอรอบสูงกราฟแรงม้าจาก 5,000-6,500 สูงสม่ำเสมอ ส่วนของผม มาแบบรีบๆ แล้วค่อยขึ้นนิดๆ ในช่วง 7,000-8,000 นี่คือสิ่งที่ทำให้รถเพื่อนผม กดแล้วดึงดี สนุก ขับใช้งานสบาย แต่ถ้าต้องมาอัด 6,500-8,000 รอบตลอด รถผมจะเสียเปรียบไม่มาก

โดยสรุป..ถ้าอยากรู้ว่าใครเร็วจริง..ในไทยมีสนามแดร็กนะครับ เอาไปลองวิ่งจับเวลาพร้อมๆ กันให้รู้ดำรู้แดงไปเลย แล้วมันจะจบ แต่ถ้าคุณไม่สะดวกนำรถไปสนามควอเตอร์ไมล์แบบนั้น พอเห็นแรงม้า ก็อย่าเพิ่งตื่นเต้น ถามหากราฟก่อน ถ้าไม่มีกราฟ ก็ดูเอาไว้แบบแค่พอรู้ ว่ามันเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่ต้องเอาแรงม้าบนโบรชัวร์ไปเถียงกับคนอื่นหรอกครับ เพราะต่อให้เทียบด้วยรถที่มีขนาดตัวพอๆ กัน คันที่มีแรงม้าเยอะกว่า ไม่ได้กินรวบปลายเส้นเสมอไป ต้องพิจารณา เรื่องเกียร์ ล้อและยาง แอโร่ไดนามิกส์ และในกรณีของรถเกียร์ธรรมดาหรือพวกรถที่ไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยเหลือ ฝีมือคนขับจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

อย่ามองม้าเป็นอาหารจานหลัก ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงนะจ๊ะ.

Pan Paitoonpong