ในปัจจุบัน ถ้าเราเอ่ยชื่อยี่ห้อ Isuzu กับเพื่อนชาวไทยด้วยกัน สิ่งที่คุณจะนึกถึงนอกจากรถบรรทุกหรือรถบัส ก็คงมีแค่รถครอบครัวอย่าง MU-X หรือกระบะขวัญใจชาวไทยทุกวัยยอดขายเต็งหนึ่งอย่าง D-Max ถ้าคุณอายุ 30 ในวันนี้หรือแก่กว่านั้น คุณอาจไม่ทราบว่าครั้งหนึ่งแบรนด์อย่าง Isuzu ก็เคยสร้างรถเก๋ง ไม่ว่าจะเป็นรถที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงตนเอง สร้างโดยไปสะกิดไหล่ชาวบ้านขอจับมือ หรืออาจจะสร้างมาเป็นรถต้นแบบให้ Toyota ตกกะใจเล่นก็ตาม น่าเสียดายที่วิกฤติด้านการเงินของ Isuzu บริษัทแม่ บวกกับภาวะฟองสบู่แตกในญี่ปุ่น ทำให้ Isuzu ต้องหันมาเอาดีกับตลาดรถอเนกประสงค์ และรถเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก โดยทยอยยกเลิกการจำหน่ายรถเก๋งในสังกัดตนเองตั้งแต่ช่วงกลางยุค 90s เป็นต้นมา
...
คอลัมน์รถวันอาทิตย์คราวนี้ ผมจะพาย้อนไปดูรถเก๋งของ Isuzu 8 รุ่น (แต่บางรุ่นอาจมีหลายเจเนอเรชัน) ซึ่งต้องขอขอบคุณ คุณสุกิจ เลิศธนะแสงธรรม รุ่นน้องในวงการรถยนต์ซึ่งเคยเขียนบทความรถเด่นในความทรงจำ พูดถึงรถเก๋งของ Isuzu เอาไว้บนเว็บไซต์ Autodeft.com และเนื้อหาเกี่ยวกับ Isuzu โดยคุณ J!MMY เขียนไว้บนเว็บไซต์ Headlightmag ถึงรถ Isuzu หลายต่อหลายรุ่น สิ่งเหล่านี้เป็นเนื้อหาที่ช่วยสตาร์ตการเขียนให้ผมเป็นอย่างดี แต่รถรุ่นที่เราชอบและอยากเขียนถึง อาจจะต่างกันบ้าง ตามมารยาทคนเขียนงานที่ถ้าหากก๊อบปี้เสียทุกอย่างก็ไม่ดีงาม ผมกลัวจะโดนแม่ผมตีตายเพราะลอกการบ้านเพื่อนน่ะครับ
Isuzu Bellett
Bellett เป็นรถเก๋งรุ่นที่สองที่ทาง Isuzu ออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเอง รุ่นแรกคือ
Bellel ซึ่งเป็นรถตัวยาว 4.4 เมตร พอจำหน่ายไปได้ราว 2 ปียอดขายไม่ได้ตามที่
Isuzu คาดหวังไว้เพราะอย่าลืมว่าในช่วงปีนั้น ทั้ง Toyota และ Nissan ต่างก็เข็นรถเก๋งไซส์เดียวกันออกมาชนแล้ว Isuzu จึงมุ่งเป้าไปที่รถขนาดเล็กลง Bellet จึงมีลำตัวยาวเพียงประมาณ 4 เมตร น้ำหนักตัวไม่ถึงตัน Bellet 4 ประตูรุ่นแรกๆ ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 1.5 และ 1.8 ลิตร เป็นเครื่อง OHV (แคมชาฟท์อยู่ด้านข้างกระทุ้งตะเกียบเปิดปิดวาล์วด้านบน หรือที่คนไทยเรียก “เครื่องตะเกียบ” และฝรั่งเรียกว่า Pushrod) ต่อมาก็มีเครื่องยนต์รุ่นใหม่เป็น OHC เอาแคมชาฟท์มาอยู่บนฝาสูบเหมือนรถสมัยปัจจุบัน มีทั้งขนาด 1.3 ลิตร 58 แรงม้า และ 1.6 ลิตร 80 แรงม้า
Bellett เป็นรถรุ่นแรกที่ Isuzu กล้าส่งไปขายยุโรป และมีชื่อเสียงพอประมาณ
ที่ฟินแลนด์ ผู้แทนจำหน่ายท้องถิ่นโปรโมตมันด้วยการเอารถสเปก Group-2
Rally ไปลงแข่งรายการ 1000-Lakes Rally และได้อันดับสิบ ถึงไม่ได้ยืนโพเดียม
แต่ก็สะกิดใจชาวยุโรปได้บ้าง นอกจากบอดี้ 4 ประตูแล้ว ก็ยังมีรถ Bellett บอดี้ 2 ประตูคูเป้ด้วย
...
เริ่มตั้งแต่ปี 1964 กับรถ Bellett GT ซึ่งนับว่าเป็นรถญี่ปุ่นรุ่นแรกที่กล้าเอาตัวอักษร “GT” มาใช้เป็นชื่อรุ่น นอกจากทรงสวยกะทัดรัด เป็นที่ต้องตาของวัยรุ่นญี่ปุ่นสร้างตัวแล้ว สมรรถนะของเครื่องยนต์ก็ได้รับการปรับปรุงจนในเวอร์ชันท้ายๆ มีพลังมากถึง 115 แรงม้า
ส่วนเวอร์ชันแรงพิเศษ อย่าง Bellett GT-R ซึ่งเปลี่ยนเป็นเครื่องทวินแคม 122 แรงม้า ปรับจูนมาเพื่อการแข่งขันแต่อนุญาตให้คนทั่วไปซื้อใช้ได้ แต่ก็ขายไปเพียง 1,400 คัน ทำให้ในปัจจุบัน ใครมีรถรุ่นนี้แล้วยังวิ่งได้ เปรียบเสมือนมีทองคำเคลื่อนที่อยู่ในบ้าน ด้วยรูปทรงที่แปลกแต่ถูกใจวัยรุ่นสมัยนั้น บวกกับราคาที่คุยง่าย Bellett สร้างยอดขายรวมทั่วโลกได้มากกว่า 170,000 คัน มากกว่า Bellel รุ่นพี่เกือบห้าเท่าตัว นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกของ Isuzu ในการสร้างรถรุ่นนี้ออกมา
...
Isuzu 117 Coupe
หลังจากที่สร้างรถตำรับครอบครัวขายจนตั้งตัวได้ Isuzu ก็เริ่มมองหาหนทางที่จะ
“ขาย” ความสามารถของตัวเองในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ ในยุค 60s ที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวจากสงครามเต็มขั้นและท้องถนนเต็มไปด้วยสีสัน ชนชั้นกลางที่มีเงินมากขึ้นเริ่มอยากหารถที่มีสไตล์โดดเด่นเหนือรถใช้งานทั่วไป ดังสังเกตได้ว่ารถญี่ปุ่นทรงสวยอย่าง Nissan Silvia, Fairlady Z และ Toyota 2000GT ต่างก็เกิดในยุคนี้
...
บริษัทรถรู้ดีว่ารถซีดานครอบครัวคือ “ตัวขาย” แต่รถทรงสวยๆ นั้นคือ “ตัวดึง” ลูกค้าเข้าโชว์รูมและเสริมภาพลักษณ์มั่งคั่งให้กับแบรนด์ Isuzu จึงให้วิศวกรพัฒนา “รถรุ่นที่เหนือกว่า” มาสามบอดี้ คือซีดาน แวก้อน และคูเป้ รถสองรุ่นแรกจบออกมาเป็น Isuzu Florian ในขณะที่รถคูเป้กลับใช้ชื่อ “117” ซึ่งเป็นรหัสประจำโครงการพัฒนา อยากทำรถให้สวย ก็มีวิธีลัด Isuzu จึงไปจ้างนาย Giorgetto Giugiaro ซึ่งเป็นดีไซเนอร์อิตาลี เคยอยู่สำนัก Bertone แล้วย้ายมาอยู่สำนัก Ghia ซึ่งตา Giugiaro นี้ นอกจากแกจะยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันแล้ว ถ้าคุณเอาชื่อไป Google ดูจะเห็นรายชื่อรถที่แกออกแบบยาวกว่าเมนูอาหารร้านเหลาเหลาเสียอีก
นอกจากนี้ 117 Coupe รุ่นแรกๆ ยังทำตัวเยี่ยงรถหรูด้วยการเป็นรถประกอบด้วยมือ ใช้วัสดุชั้นเลิศ หนังชั้นดี และไม้ที่ไปหั่นมาจากป่าในไต้หวัน แล้วก็ประกอบขายตั้งเป้าไว้เดือนละ 50 คัน เครื่องยนต์ก็ใช้เครื่อง 1.6 ลิตรทวินแคม ซึ่งเป็นระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์รุ่นแรกๆ (Bosch D-Jetronic) และยังนับเป็นรถญี่ปุ่นรุ่นแรกที่ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงหัวฉีดไฟฟ้า ลูกค้าญี่ปุ่นถูกใจแย่งกันซื้อจนในภายหลังต้องเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นแบบสายพานการผลิตเช่นเดียวกับรถรุ่นอื่นๆ เพื่อให้ส่งมอบลูกค้าได้ทัน
จากปี 1972 ขายได้ 965 คัน ก็กลายเป็น 9,506 คันในปี 1973 ในปี 1977 ก็มีการไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนไฟหน้าจากแบบไฟกลม เป็นไฟเหลี่ยม ปรับวัสดุภายในจากวัสดุนุ่มกับหนังให้มีพลาสติกเข้าไปแทนมากขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุน แล้วก็ลากขายไปจนถึงปี 1981 และขายไปได้ราว 82,000 คัน ซึ่งถ้ามองว่าในช่วงสี่ปีแรกยอดขายน้อยเพราะประกอบด้วยแรงงานคน ก็นับว่า 117 เป็นรถที่ได้รับความนิยม สร้างชื่อเสียงให้กับ Isuzu ได้เป็นอย่างดี และในปัจจุบัน 117 Coupe ที่สภาพงามๆ ในญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนเพชรที่ชาวรถคลาสสิกต่างก็พยายามใฝ่หามาถือครอง
Isuzu Bellett MX1600 GT Concept
เปล่าครับ ผมไม่ได้เสพของมึนเมาขณะเขียนบทความนี้แล้วก็ไม่ได้ไปเอารูปซุปเปอร์คาร์เมืองสปาเกตตีที่ไหนมาลงผิด นี่คือรถต้นแบบที่ Isuzu นำออกโชว์ตั้งแต่ปี 1969
ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ลองคิดดูนะครับว่าคนสมัยนั้นจะตกใจขนาดไหน ปกติค่ายนี้จะสร้างแต่รถใช้งาน จู่ๆ กลับโชว์รถลิ่มแหลมกลิ่นอิตาเลียนเต็มตัวขนาดนี้
ที่ทำได้ก็เพราะ Isuzu เขาไปจ้างสำนักออกแบบ Ghia ซึ่งก็มอบให้นาย Tom Tjaarda ชาวอเมริกันดีไซน์ให้ ตาคนนี้ก็ไม่ใช่ธรรมดานะครับเพราะแกเคยอยู่กับ Ghia แล้วย้ายไปทำงานกับ Pininfarina ออกแบบ Ferrari 365 California และรถหลายรุ่นก่อนย้ายกลับมา Ghia อีกครั้ง และเมื่อ Isuzu บอกว่า MX1600 จะเป็นรถต้นแบบ ไม่มีการผลิตขาย ดีไซน์ส่วนหนึ่งของมันก็ถูกตา Tom เอาไปประยุกต์ใช้กับ De Tomaso Pantera
ในไม่กี่ปีหลังจากนั้น MX1600 GT Concept เป็นรถที่วิ่งได้จริงนะครับ เครื่องยนต์นั้นก็เอามาจาก Bellett GT-R เอามาจูนเพิ่มให้ม้าสวยขึ้นเป็น 138 แรงม้า แล้วก็วางกลางลำขับเคลื่อนล้อหลัง พละกำลังนี่จัดว่าใกล้เคียงกับ Nissan Fairlady Z ที่เปิดตัวปีเดียวกัน แล้วยังมีรุ่น MX1600 GT Mk.2 ซึ่งมีไฟหน้าสี่ดวงและปรับโฉมด้านท้ายรถนิดหน่อยตามออกมา น่าคิดทีเดียวว่าถ้าในปีนั้น Isuzu ตัดสินใจทำ Bellett MX1600 GT ขายจริงๆ ก็น่าจะสนุกเพราะดีไซน์ของตัวรถนั้นก้าวไกลไปกว่า Z หรือ 2000GT จาก Toyota เสียอีก
Isuzu Statesman De Ville
คุณต้องหาบทความที่คุณ J!MMY เขียนถึงรถรุ่นนี้ไว้ 9 ปีก่อนบน Headlightmag.com จะมันส์มาก แต่เนื้อเรื่องโดยย่อก็คือ ในปี 1971 Isuzu ซึ่งพยายามระดมพลังการเงินมาพัฒนารถเก๋ง ตัดสินใจจับมือกับ General Motors ซึ่งลงเอยด้วยการที่ GM ซื้อหุ้น Isuzu 34% นับเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่คุณเห็นว่าทำไมช่วงหนึ่ง Chevrolet Colorado กับ Isuzu D-Max ใช้ชิ้นส่วนร่วมกันเยอะมาก
ความสัมพันธ์หลายทศวรรษที่คู่นี้เขาวิวาห์กัน หนึ่งในลูกที่เกิดคนแรกๆ ก็คือเจ้า Statesman DeVille ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันก็คือรถหรูที่ผลิตโดย Holden ค่ายรถออสเตรเลียในเครือ GM นั่นเอง โดยทาง Holden แตกไลน์แบรนด์ Statesman ออกมาเพื่อให้มีภาพลักษณ์หรูหราขึ้นกว่า Holden ทั่วไป Isuzu เลือกรถรุ่นนี้มาขาย โดยไม่ได้ออกแบบอะไรใหม่ เอามาทั้งคัน เปลี่ยนแค่โลโก้เลย ง่ายดาย เพราะค่ายตัวเองมีรถขนาดเล็กและกลางอยู่แล้ว ขาดรถขนาดใหญ่ที่จะเอาไปสยบพวก Toyota Crown และ Nissan Cedric
ถ้าพูดถึงคำว่าใหญ่ ใช่ ต้องเชื่อมือฝรั่ง Statesman บอดี้ HQ นี้ยาว 5 เมตร กว้างเกือบ 1.9 เมตร ใหญ่เหมือน S-Class ของเบนซ์และกว้างกว่าด้วยซ้ำ แถมยังใช้เครื่องยนต์ V8 5.0 ลิตร 240 แรงม้า (ตามหน่วย SAE) ซึ่งเหนือกว่าทุกสรรพสิ่งที่คู่แข่งมีให้ ณ ขณะนั้น แต่ความซวยมันอยู่ตรงที่ว่าเพียงเดือนเดียวก่อนรถรุ่นนี้เปิดตัวในญี่ปุ่น โลกเรามีวิกฤติสงครามอาหรับ/อิสราเอล ซึ่งอเมริกาเข้าข้างเจ้าหลัง ญี่ปุ่นซึ่งพอแพ้สงครามโลกมาก็ต้องญาติดีกับอเมริกาไว้ เลยถูกมองเหมารวมโดนตัดโควตาน้ำมัน
ซึ่งญี่ปุ่นนั้นใช้น้ำมันที่นำเข้าจากอาหรับถึง 90% ผลก็คือรัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องสั่งควบคุมการใช้เชื้อเพลิงในประเทศให้ลดลงจากปกติ 20% รถยักษ์เครื่องแปดสูบอย่าง Statesman มาเปิดตัวในช่วงเวลาแบบนี้พอดี นับเป็นความซวยพลิกโลกของพวกเขาโดยแท้ ทำให้ตลอดหนึ่งปีตั้งแต่เปิดตัว Isuzu ขาย Statesman De Ville ได้เพียง 246 คัน จน GM ต้องยกเลิกการขายรถรุ่นนี้ไปในที่สุด
IsuzuGemini
หลังจากนั้นมา อุตสาหกรรมรถในญี่ปุ่นรู้ซึ้งเรื่องอำนาจของชาติอาหรับที่กุมชะตาเชื้อเพลิงของประเทศเขาไว้ในมือ ก็ยิ่งเร่งพัฒนารถที่ประหยัดน้ำมันออกมามากขึ้น ประชาชนเริ่มสนใจรถขนาดเล็กมากขึ้น Isuzu ซึ่งพลังการเงินไม่ได้มั่งคั่งจึงต้องเปลี่ยนไปมุ่งขายรถพาณิชย์ที่ตัวเองขายเก่งอยู่แล้ว กับรถเก๋งส่วนตัวที่ขนาดเล็กลงแทน
Isuzu Gemini รถเล็กที่เกิดมาถูกจังหวะโดยแท้จริง Gemini คือลูกคนที่สองจากความร่วมมือระหว่าง Isuzu และ General Motors โดยทางฝรั่งอเมริกันที่ GM มอบหมายให้ Opel ซึ่งเป็นค่ายเยอรมันในเครือที่เก่งเรื่องรถเล็กอยู่แล้ว ช่วยกันกับ Isuzu ในการพัฒนาขึ้นมา รถที่ออกมานั้นเรียกว่า T-Car ซึ่งใช้โครงสร้างหลักเหมือนกันหมด แต่ปรับแต่งหน้าตาให้แต่ละแบรนด์มีเอกลักษณ์ของตัวเองบ้าง อีกทั้งยังมีความเป็น Global Car อย่างแท้จริง เพราะที่ไหนขายได้ GM เขวี้ยงไปขายหมด
อย่างในไทย ก็ขายในชื่อ Isuzu Gemini/Opel Gemini ที่ญี่ปุ่นก็ให้ Isuzu
ทำตลาดไป ที่ยุโรป ก็ใช้ชื่อ Opel Kadett C และในประเทศอื่นๆ ก็ใช้ชื่อ Chevrolet Chevette แต่ที่ปวดหัวที่สุดคืออเมริกา เพราะทำตลาดในชื่อแบรนด์
“Opel by Isuzu” รถรุ่นนี้ออกมา คนอเมริกันไม่ชอบ แต่ประเทศอื่นที่ไม่บ้ารถใหญ่กลับชอบ ในปัจจุบันยังมีคนเล่นรถรุ่นนี้อยู่ในยุโรป เพราะบอดี้สวย แถมเป็นรถขับหลังราคาถูก แต่งทำรถดริฟต์ได้
ต่อมา GM เปลี่ยนนโยบายการพัฒนารถเล็กโดยแยกการทำงานระหว่าง Opel กับ
Isuzu ออกจากกันเพื่อพัฒนารถให้ตรงกับการใช้งานของแต่ละท้องถิ่นทำให้ Opel Kadett เปลี่ยนโฉมไปในปี 1979 ในขณะที่ Gemini มีการปรับแต่งหน้าทาปากนิดหน่อย ก่อนที่จะเปลี่ยนโฉมจริงจังในปี 1985 ซึ่งยังเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าแทน ทำให้ Isuzu ขายรถในชื่อ FF Gemini ซึ่งเมื่อได้อิสระในการออกแบบจาก GM ทาง Isuzu ก็จ้างนาย Giorgetto Giugiaro มาออกแบบอีกเช่นเคย ทว่าในขั้นตอนสุดท้าย GM แอบไปแก้งานออกแบบของตา Giugiaro จนเมื่อเขาเห็นรูปโฉมก่อนผลิตจริงของรถแล้วฟิวส์ขาด ประกาศไม่รับออกแบบรถให้ Isuzu อีกต่อไป
Gemini เจเนอเรชันนี้สร้างยอดขายได้ไม่ดีเท่าไรนัก และรวมถึงเจเนอเรชันถัดมา
ซึ่งหน้าออกแนวแปลกประหลาดในขณะที่เพื่อนร่วมคลาสในญี่ปุ่นต่างแข่งกันออก
แบบเอาใจลูกค้า น่าฉงนใจยิ่งนักเมื่อได้รู้ว่าคนที่ดูแลการออกแบบ Gemini รุ่นนี้คือ Shiro Nakamura ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ดูแลดีไซน์ของ Nissan GT-R R35
ในวาระช่วงท้าย รถที่ GM กับ Isuzu สร้างมาครองตลาดโลกในช่วงต้น 70s
กลับตกอับ จน Gemini เจเนอเรชันท้ายๆ นั้น คือรถ Honda Domani ซึ่งก็คือ
Civic EK ตาโตที่เปลี่ยนไฟหน้าไฟท้าย ที่ Isuzu เอามาเปลี่ยนโลโก้ ส่วนประเทศไทยซึ่งไม่มี Gemini ขายตั้งแต่ยุค 80s ตอนต้นแล้วนั้น ก็มีรถเก๋งกลับมาขายในปี 1996 ในชื่อ Isuzu Vertex ซึ่งก็คือรถ Honda Integra SJ ที่เอาบอดี้ Civic ตาโตมาเปลี่ยนไฟหน้าใหม่..แน่นอนว่าเมื่อ Isuzu วางราคาเอาไว้สูงกว่า Civic นิดๆ คนไทยก็เกาหัวแกร็กๆ ว่า แล้วฉันจะซื้อ Isuzu ทำไมถ้ามันเหมือนกับ Honda เมื่อเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ชื่อ Gemini ก็เหลือเพียงแค่ตำนานไว้เล่าให้หลานฟังนี่ล่ะ
Isuzu Piazza/Impulse
ในปี 1978 Isuzu จ้าง Giugiaro ออกแบบรถทรงสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหลัง ในช่วงนั้น Giugiaro กำลังสร้างชื่อเสียงจากการออกแบบรถสไตล์ “Wedge- shape” ที่เน้นเส้นสายเหลี่ยมคมแหลมแล้วทำให้คนยุคนั้นกรี๊ดกัน แกก็เลยเอารสนิยมแบบเดียวกันนี้มาสร้างให้ Isuzu ด้วย บนพื้นฐานที่ว่า มันต้องเป็นรถที่สปอร์ตแต่ต้องมีห้องโดยสารโอ่โถง นั่งสี่คนได้สบาย ตัวรถต้องไม่ยากต่อการผลิตแบบ Mass-produce เพราะมันคือรถบ้าน ไม่ใช่ซุปเปอร์คาร์
ผลที่ได้คือรถต้นแบบชื่อ Asso di Fiora ซึ่งนำไปโชว์ที่โตเกียวมอเตอร์โชว์ปี 1979 หลังจากเห็นปฏิกิริยาทางบวกอย่างมหาศาลจากกระแสมหาชนเพียงแค่ 2 วัน ผู้บริหารก็สั่งให้สร้างออกมาขายจริง Piazza มีตำแหน่งเป็นรถที่มีสมรรถนะและลำดับคลาสอยู่สูงสุดของ Isuzu เพราะตัวมันเองนั้นต้องมาทำตลาดแทน 117 Coupe เครื่องยนต์จึงมีพละกำลังสูงตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นก็ 120 แรงม้าแล้ว
ภายในออกแบบมาอย่างหรู เวลาขยับปรับคอพวงมาลัย หน้าปัด แผงมาตรวัดและชุดสวิตช์ควบคุมทั้งหมดจะเลื่อนตามไปด้วย ในภายหลัง รถรุ่นนี้มีเครื่องทวินแคม 2.0 ลิตร 135 แรงม้าออกมา ก่อนที่จะมีเครื่องแคมชาฟท์เดี่ยวแต่พ่วงเทอร์โบ 180 แรงม้าออกมาด้วย แล้วก็มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะกับอัตโนมัติ 4 จังหวะ Piazza ออกแบบทรวดทรงมาเข้าท่า ทาง GM ก็เลยอยากให้นำไปทำตลาดในประเทศอื่นด้วย ในออสเตรเลีย ขายในชื่อ Holden Piazza และในอเมริกาก็เปลี่ยนชื่อเป็น Isuzu Impulse แล้วชูจุดขายที่การยัดออปชันเต็มแบบที่นอกจากสีแล้ว ไม่มีอะไรให้ต้องสั่งเพิ่ม
ในอังกฤษ สื่อมวลชนทดสอบ Piazza แล้วให้ความเห็นว่าการบังคับควบคุมทำได้ไม่ดี
อาจเป็นเพราะช่วงล่างหลังแบบคาน ทาง Isuzu จึงให้ Lotus ช่วยปรับปรุงช่วงล่าง ยาง และระบบเบรกให้ใหม่จนขับดีขึ้น รถเหล่านี้จะทำตลาดโดยมีคำว่า “Handling by Lotus” ประกอบด้วย Piazza เป็นรถที่ลากขายนานคุ้มค่ารุ่นหนึ่งของ Isuzu โดยในญี่ปุ่นนั้น ก็ขายจนถึงปี 1991 เพราะรถเจเนอเรชันใหม่ที่ GM วางแผนให้สร้างมาแทนรุ่นเดิมนั้น เปลี่ยนไปใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และสร้างบนพื้นฐานของ Isuzu Gemini บอดี้คูเป้ ซึ่งเป็นรถระดับราคาต่ำกว่าเดิม ทำให้ทางญี่ปุ่นตัดสินใจแยกเป็นสองตัวถัง ขายรุ่นใหม่ควบไปกับรุ่นเก่านานกว่าตลาดประเทศอื่น
รถเจเนอเรชันหลังนี้ปรับปรุงเรื่องช่วงล่างโดยเปลี่ยนไปใช้ด้านหลังแบบมัลติลิงค์
GM ให้ Lotus ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือขณะนั้นเข้ามาช่วยดูแลเรื่องช่วงล่างให้ ในขณะเดียวกัน Lotus เองก็เอาเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรเทอร์โบจาก Gemini ปีนั้น ไปใส่ในรถของตัวเองด้วย (Lotus Elan) แต่เทคโนโลยีต่างๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายดีขึ้น ชื่อ Piazza และ Impulse จึงจบลงที่เจเนอเรชันนี้
Isuzu Aska
คราวนี้ผมว่าหลายท่านน่าจะเคยสัมผัสหรือพบเห็นรถรุ่นนี้ด้วยตัวเองกันมาบ้าง ตามต่างจังหวัดนานๆ ครั้งก็ยังมี Aska วิ่งโผล่มาให้เห็น กลายเป็นรถหาดูได้ยากแล้วในเมืองไทย Aska เป็นรถขนาดครอบครัวที่มาทำตลาดแทน Florian โดยใช้โครงสร้างตัวถัง GM J- Platform ซึ่งเกิดจากความต้องการของทาง GM ในยุค 70s ตอนกลาง ที่จะรวบเอารถยนต์ 4 ประตูขนาดเดียวกันของทุกแบรนด์ที่ตัวเองมี มาพัฒนาจากศูนย์กลางเพียงที่เดียว ใช้งบประมาณก้อนเดียวพัฒนาโครงหลัก แล้วค่อยให้แต่ละแบรนด์นำไปแต่งหน้าทาปากตามสไตล์ตัวเอง Isuzu Aska จึงมีแฝดหน้าคล้ายอยู่ทุกมุมโลก อย่างในไทยนั้น ถ้าคุณรู้จัก Holden Camira นั่นล่ะครับคือหนึ่งในแฝดของ Aska ส่วนหากใครเป็นอดีตเด็กจบนอกจากอเมริกา ถ้าคุณเคยจ่ายเงินหลักร้อยดอลลาร์ซื้อรถเก่ามือสองอย่าง Pontiac Sunbird หรือ Chevrolet Cavalier ก็นั่นล่ะครับ ใช่เลย
Aska เปิดตัวมา มีเครื่องยนต์หลายแบบ แต่ตัวที่แรงที่สุด ใช้เครื่อง 2.0 ลิตรเทอร์โบ 150 แรงม้า ซึ่งนับว่าดุดันไม่เกรงใจใครในยุคของมัน แถมยังมีการพัฒนาระบบเกียร์กึ่งอัตโนมัติคล้าย Selespeed ของ Alfa Romeo มาขายในชื่อ “NAVi5” ด้วย ทว่าประสบความล้มเหลวในด้านยอดขาย ไม่ใช่แค่เพียง Aska หรอกครับ แต่รถ J-Platform ของ GM นั้นก็สร้างยอดได้ไม่ดี Holden Camira ที่ดูจะ Hot ในช่วงแรกๆ พอเข้าสู่ปลายอายุก็เข็นยอดไม่ขึ้นเช่นกัน รถ J-Platform ทั้งหมดของ GM จึงยุติการพัฒนาเมื่อเข้าสู่ยุค 1990s ทำให้ Isuzu ถูกเท..เอ้าแล้วจะเอารถอะไรมาขายดีล่ะ? พอดีในช่วงนั้นเอง Isuzu ก็กำลังจูบปากกับ Subaru อยู่ จึงได้ข้อแลกเปลี่ยน ส่ง Isuzu Bighorn ให้ Subaru ไปทำตลาด แล้วตัวเองก็เอา Subaru Legacy มาขายเป็น Aska เจเนอเรชันสองซะเลย ทว่า เอามาแค่เพียงรุ่น 1.8 กับ 2.0 ลิตรไม่มีเทอร์โบเท่านั้น และมีแค่บอดี้ 4 ประตู
แต่สามปีหลังจากนั้น ความสัมพันธ์ฉันกิ๊กเธอก็จบลง ทำให้ Isuzu ผู้ซึ่งถูกเทอีกครั้ง ก็พอดีได้ Honda เข้ามาดามใจ ต่างคนต่างส่งรถตัวเองพะยี่ห้อของอีกคนไปขาย Isuzu ก็ไปคว้าเอา Accord โฉมปี 1993-97 มาขายในชื่อ Aska และเป็นเช่นเดียวกันในเจเนอเรชันถัดมา ในเวลานั้น Isuzu ประกาศถอนตัวออกจากสังเวียนการขายรถเก๋งแล้ว Aska จึงนับเป็น Isuzu เก๋งรุ่นท้ายๆ ที่เราได้เห็น และเลิกผลิตไปในปี 2002
Isuzu 4200R Concept
รถบรรทุก รถบัส รถเก๋ง ทำมาหมดแล้ว แต่ Isuzu ที่เป็นซุปเปอร์คาร์ล่ะ? เชิญพบกับ Isuzu 4200R รถโชว์ที่สร้างขึ้นมาเฉิดฉายในงาน Tokyo Motorshow ตั้งแต่ปี 1989 ในช่วงนั้น เป็นปีที่ GM ไปซื้อหุ้นของ Lotus บริษัทรถสปอร์ตอังกฤษเข้ามา ซึ่งทาง Lotus นี้มีชื่อเสียงด้านมอเตอร์สปอร์ต เชี่ยวชาญทุกอย่างยกเว้นการสร้างยอดขายให้รถค่ายตัวเอง ทาง Isuzu ก็อยากได้รถโชว์ที่มีความสปอร์ตเต็มขั้นแบบพลิกภาพลักษณ์ของค่ายที่มีในขณะนั้นโดยสิ้นเชิง คนที่ออกแบบตัวรถนั้นก็คือ Shiro Nakamura ซึ่งสมัยนั้นทำงานเป็นผู้บริหารฝ่ายออกแบบของ Isuzu ก่อนที่จะย้ายมาทำกับ Nissan ในภายหลัง รูปแบบของตัวรถ เป็นซุปเปอร์คาร์ เครื่องวางกลางลำ แต่วางในแนวขวางเช่นเดียวกับ Honda NSX แต่เด่นกว่าตรงที่ Nakamura ออกแบบให้มีที่นั่งตอนหลัง จึงสามารถโดยสารได้ในแบบ 2 ผู้ใหญ่+2 เด็ก ที่เป็นเด็กจริงๆไม่ใช่เด็กอายุเกิน 18
ภายในของรถ มีการติดตั้งเครื่องเล่นวิดีโอ และ..แฟกซ์! กับระบบนำทางผ่านดาวเทียม ช่วงล่างเป็นแบบอิสระ 4 ล้อ Active Suspension ปรับแข็ง/อ่อนอัตโนมัติที่พัฒนาโดย Lotus ส่วนเครื่องยนต์ เป็นความร่วมมือระหว่าง Isuzu กับ Lotus รหัส LT5 4.5 ลิตร V8 32 วาล์ว 350 แรงม้า ส่งกำลังสู่ล้อทั้งสี่ผ่านเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ในช่วงนั้น Lotus ก็ถูก GM สั่งให้พัฒนาฝาสูบมัลติวาล์วให้ Chevrolet Corvette ZR-1 เช่นกัน จึงได้นำเทคโนโลยีบางส่วนมาใส่ใน LT-5 ด้วย แต่ท้ายสุด Isuzu ก็ต้องตัดขารักษาตัว ยอมถอยตัวเองออกจากตลาดรถเก๋งในช่วงกลางทศวรรษ 1990s และนั่นก็ทำให้โครงการพัฒนารถสปอร์ต ซุปเปอร์คาร์ รวมถึงโปรเจกต์เครื่องยนต์ Formula One V12 ต้องถูกเก็บเข้ากรุไปตลอดกาล
คุณอ่านบทความนี้แล้วจะรู้สึกว่า ทำไม Isuzu มีแต่ความล้มเหลว แต่นี่ก็คือมนุษย์และโลก หากคุณไม่ศึกษาในประวัติศาสตร์และมองเฉพาะสิ่งที่เกิด ณ ปัจจุบันในไทย คุณจะไม่ทราบเลยว่า ค่ายรถที่สามารถสร้างยอดรถปิกอัพในไทยได้สูงจนบริษัทแม่ต่างประเทศต้องโค้ง คำนับนั้น ในอดีตผ่านอะไรมาบ้าง ไม่ใช่ทุกคน หรือทุกสิ่งที่จะเกิดมาแล้วประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง เรื่องของ Isuzu นั้น คุณจะเห็นได้ว่า เมื่อคุณรู้ตัวเองว่าคุณกำลังทำอะไร และต้องโฟกัสพลังเพื่อสร้างอะไร และทำที่ไหน โอกาสในการเจริญเติบโตไปยังมีอยู่เสมอแม้ว่าอดีตของคุณจะมีทั้งน้ำตาและน้ำตาลมาแล้วก็ตาม ทุกสิ่งมีเกิด และมีดับ แต่สิ่งใดก็ตามที่รู้จักตนเอง.
Pan Paitoonpong