สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เผยปัญหารอบด้านทั้งยอดขายรถปิกอัพหดตัวตลอดทั้งปี 67 รถยนต์ไฟฟ้าเร่งโต ทุนจีนรุกคืบ แถมต้นทุนที่กำลังจะเพิ่มขึ้นทั้งค่าแรง ค่าไฟ และส่วนต่างของดอกเบี้ย วอนรัฐบาลและหน่วยงานรัฐส่งเสริมมาตรการทางภาษี จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมไปถึงการร่วมทุนในต่างประเทศ

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย หรือ TAPMA กล่าวว่า สถานการณ์ที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนี้ เรามองว่าหากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อุตสาหกรรมอาจจะไม่สามารถรักษาตำแหน่งที่สำคัญในเศรษฐกิจของประเทศได้ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่านโยบายภาครัฐ ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคและส่งต่อมายังอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอยู่เสมอ ภาครัฐฯ จึงจะเป็นส่วนสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตามถึงเวลาที่รัฐฯ จะต้องรับฟังอย่างจริงใจ และร่วมกันแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กับภาคเอกชน จึงสามารถก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้ ซึ่งสมาคมฯ มีความมั่นใจว่าภาครัฐฯ พร้อมที่จะหารือร่วมกัน จนตกผลึกเป็นนโยบายที่มีความเป็นธรรม และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง

"ต้องบอกว่าบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือ SME เราปรับตัวตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พยายามประคองตัวให้อยู่รอด และเรามองว่ารถยนต์สันดาปยังไม่หมดโลก แต่ในอนาคตเนี่ยจะมีเทคโนโลยีตัวอื่นที่มาแทนตัวรถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV และทาง TAPMA เองก็ได้มีการหารือรวมทั้งสนับสนุนในทุกกิจกรรมเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้"

...

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราอยากจะเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดัน คือ หาแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ การหาตลาดใหม่ๆ ด้วยการสนับสนุนให้ทั่วถึง ขณะเดียวกันอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับกลยุทธ์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการสนับสนุนให้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นการหาเงิน หรือนำเงินกลับเข้าประเทศคล้ายกับประเทศจีนทำอยู่ และเขาทำได้เก่ง เราเก่งที่จุดไหนก็ไปในจุดที่เราเก่งกว่าเขา 

"ขณะเดียวกัน TAPMA ก็ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน คือ การสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยร่วมทุนกับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ต่างชาติ ด้วยการกำหนดการถือหุ้นในประเทศ 51% ต่างประเทศ 49% คล้ายกับโมเดลของจีนที่ไปลงทุนในซีกโลกตะวันตก ข้อดีจีนคือการเป็นผู้ประกอบการที่มีจุดแข็งด้านวัตถุดิบ และเทคโนโลยี ซึ่งเรามองว่าจะสามารถส่งต่อองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยได้"

อย่างไรก็ตามหลังจากที่เราได้มีการหารือร่วมกับสมาชิกแล้วจึงมี 3 กลยุทธ์ในการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมดังนี้

1. การเป็น Last Man Standing (Future ICE) หรือฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สันดาปสุดท้ายของโลก สมาคมฯ มองว่ากลยุทธ์นี้สำคัญ และตอบโจทย์มากที่สุด เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศกำลังจะย้ายฐาน ICE เดิมออกมา ทั้งจากการต้องการรวมการผลิตเพื่อลดต้นทุน และนโยบายแบน ICE ของบางประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รถยนต์สันดาปสะสมยังคงจะยังวิ่งได้ต่อไป ทำให้ยังคงมีความต้องการชิ้นส่วนและอะไหล่ไปอีกอย่างน้อย 7-15 ปี

ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสของไทย ที่จะสามารถใช้จุดแข็งเดิม รักษาฐานการส่งออกของ ICE โดยเฉพาะพวงมาลัยขวา ดึงดูดการลงทุนจากทุกประเทศทั่วโลก มาตั้งฐานการผลิตที่ไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสุดท้าย รวมถึงความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ซึ่งอาจเกิดการ Reborn ของ ICE อีกด้วย

แต่ด้วยปัญหาเรื่องต้นทุน ทั้งวัตถุดิบต้นน้ำและการพัฒนา R&D รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสนับสนุน เช่น การลดภาษีนำเข้าของวัตถุดิบสำคัญ, สิทธิภาษีในการนำเข้าเครื่องจักร หรือภาษีจากรายได้ โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิต ในกลุ่ม relocation Downsizing มาที่ไทยฯ ซึ่งในเรื่องนี้ อยู่ระหว่างหารือกับ BOI

นอกจากนี้ประเด็น การดึงดูดการย้ายฐานมาที่ประเทศไทยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ที่ทำให้การแข่งขันมีความเท่าเทียม และเป็นไปตามกลไกการตลาด ดังนั้นหากเป็นไปได้ภาครัฐควรเร่งพิจารณาลดภาษีเพื่อจูงใจมากขึ้น โดยเฉพาะการลดภาษี HEV เหลือ 6% นี้ อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการใช้ชิ้นส่วนฯ น้อยกว่า

2. การพัฒนาตลาด REM หรือ After Market เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก หรือขยายฐานลูกค้า ซึ่งสมาคมฯ เห็นว่ารัฐควรสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว โดยมีหน่วยงานกลาง เหมือนอย่างที่ไต้หวันมีการจัดตั้ง TAIWAN Excellence เพื่อดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่การทำ R&D การเป็นศูนย์กลางในการส่งออกไปทั่วโลก รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร่วมออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศเพื่อหาตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ

...

นายสุพจน์ สุขพิศาล รองเลขาธิการสมาคมฯ และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า ส่วนกลยุทธ์ที่ 3 คือ Parts Transformation การหาโอกาสใหม่ๆ จากฐานอุตสาหกรรมเดิมต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เครื่องมือแพทย์ ระบบราง หรืออากาศยาน

ทั้งนี้การที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูงมาก เรียกได้ว่าเรามีความสามารถในการผลิตระดับสูง มีระบบระเบียบแบบแผนจากการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 50 ปี ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยับไปทำอุตสาหกรรมอื่น เช่น ระบบราง เครื่องมือแพทย์ อากาศยาน ได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ผลิต

ขณะเดียวกันปัญหาปัจจุบันยังคงเป็นช่องว่างด้านเทคโนโลยีและความรู้ของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเปลี่ยนไปทำได้ อุปสรรคด้านการลงทุนและต้นทุนที่สูง ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการเปลี่ยนแปลง โดยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาและการปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นอุปสรรคสำคัญ รวมถึงการเข้าถึงตลาดและความไม่แน่นอนของความต้องการ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่ต้องได้รับการยินยอมจากแพทย์ เป็นต้น

...

ดังนั้นหากภาครัฐ ต้องการให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ สามารถปรับเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรมอื่นได้นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมและเปิดทางให้แก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ต้องเป็นหน่วยงานกลางในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคบางอย่าง

"ตลาดรถปิกอัพค่อนข้างหดตัวกว่า 40% ขณะที่รถเก๋งเองก็มีส่วนแบ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะการเข้ามาของรถอีวี ที่สำคัญค่าแรงก็จะปรับตัวขึ้นในไม่ช้า ต้นทุนค่าไฟ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็มีเพิ่มขึ้น เหล่านี้ถือเป็นความกดดันรอบด้าน ซึ่งทางสมาคมก็คุยกันว่าเราต้องทำตัวให้ลีนมากขึ้น SME และหลายๆ บริษัทก็ช่วยเหลือตัวเองกันอยู่ สิ่งที่อยากจะเรียกร้องจากภาครัฐนั้นเราเชื่อว่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้เดินต่อไปได้"

นางอนุษฐา เชาว์วิศิษฐ เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย หรือ TAPMA กล่าวว่า อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบอร์ดบริหารสมาคมฯ ได้มีการติดตามประเด็นต่างๆ อย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าเข้าใจปัญหามาโดยตลอด ซึ่งคาดว่า 3 กลยุทธ์หลักของสมาคมที่ได้มีการหารือร่วมกันนั้น จะช่วยให้สมาชิกมากกว่า 660 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยอยู่รอด และถือเป็นการรักษาอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ป้องกันปัญหาการตกงานของคนไทยต่อไปได้ในอนาคต