แม้ว่าการขยายตัวในอัตราส่วนของรถ EV จะไม่ได้เพิ่มสูงมากเท่ารถไฮบริด (HEV) ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการชาร์จเวลาเดินทางไกลค้ำคออยู่ วินาทีนี้คนไทยที่เปิดใจให้กับรถ EV นั้นมีมากกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด เพียง 4 ปีก่อนหน้านี้ การพบเห็น EV บนท้องถนนเป็นเรื่องแปลก แต่ในวันนี้ รถใหม่ที่ขายออกไป 15% เป็น EV แล้ว ทำให้การครอบครองรถประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ผ่านมา 10 เดือนแล้วสำหรับปี 2024 เรามาดูกันว่าค่ายไหน รุ่นใด ทำผลงานได้ดีที่สุดในปีนี้
...
อันที่จริง โอกาสในการเติบโตของรถ EV ในไทยน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าไม่ใช่ว่ามาเจอวิกฤติเศรษฐกิจ/ไฟแนนซ์ตั้งแต่ช่วงปี 2023 ยอดขายที่ยังดูรุ่งโรจน์กันในช่วงปีนั้น กลับเงียบเหงาลงในปีนี้ บางส่วนเพราะเงินฝืดเคืองจริง บางส่วนเพราะบางค่ายเร่งรัดการขายปิดยอดให้ทันสิ้นปี รวมถึงมีการปล่อยข่าวว่าพอขึ้นปี 2024 ราคารถ EV จะแพงขึ้น ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่อะไรที่มันเคยเปรี้ยงปร้าง พอมาปี 2024 กลับดูเหี่ยวเฉาลง อย่างไรก็ตาม ตามที่บางท่านคุยกับผมว่า รถ EV จะมาเป็นกระแส เสร็จแล้วก็จะหายต๋อมไป “ดูสิพี่ ขนาดค่ายจีนที่เน้นขาย EV ยังกลับไปทำไฮบริดกับ PHEV เลย” อันนี้ผมตอบได้เลยว่า EV จะไม่หายไปแบบนั้นหรอกครับ เพราะคนที่ใช้ EV มีทั้งคนที่ใช้เพราะชอบความแปลกใหม่ และคนที่ใช้เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตร อย่างพวกหลังๆนี่ ถ้าไม่ซวยไปเจอรถเจ๊งเฮงซวยบริการห่วยบริหารแย่จริงๆ ให้ตายก็ไม่กลับไปใช้รถน้ำมันหรอกครับ โอกาสโตของ EV จึงยังมีต่อไปเรื่อยๆ จะโตช้า หรือเร็ว แค่นั้นเอง
สำหรับข้อมูลในบทความนี้ก็ต้องขอบคุณ น้องหมู แห่ง AutolifeThailand.tv ซึ่งนำเสนอข่าวสารพวกตัวเลขยอดจดทะเบียนรถ EV มาโดยตลอด
อันดับ 10 MG EP (ยอดสะสม 1,643 คัน)
EP นับเป็นรถพลังไฟฟ้ารุ่นหนึ่งที่มีส่วนขยายจำนวนประชากร EV ในไทยในยุคก่อนการมาของ BYD และแม้หลังจากที่ BYD เริ่มลุยตลาดไทยอย่างจริงจัง ความที่ EP มาในรูปทรงแบบรถสเตชั่นแวก้อนที่ดูคันไม่เล็ก และจัดอุปกรณ์มาเพื่อทำราคาทำให้มีผู้กล้า EV ยุคแรกซื้อไปใช้เยอะ ในช่วงหลังๆ ตัวเลือกเด่นๆในราคาเดียวกันเริ่มเพิ่มจำนวน ก็มีการลดราคาลง จนครั้งล่าสุดคือลดจาก 771,000 เหลือ 671,000 บาท เมื่อเดือนกันยายนรวมถึงการได้ดีลส่งมอบรถ 2,000 คันให้กับทาง Autodrive EV ไปทำเป็น Grab EV ยอดจดทะเบียนของ EP จึงยังทรงตัวอยู่ได้แม้จะเข้าปลายอายุตลาด
อันดับ 9 ORA Good Cat (ยอดสะสม 1,835 คัน)
ยอดจดทะเบียน คือยอดจากรถที่ซื้อไปแล้วขึ้นทะเบียนกับขนส่ง ไม่ใช่ยอดส่งมอบ หรือยอดจอง ดังนั้นผลของตัวเลขอาจจะไม่ได้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบันนัก จริงอยู่ว่าช่วงหลังมาตั้งแต่พี่ณรงค์ อดีตผู้บริหาร GWM ฝั่งไทยลาออกไป แล้วตามมาด้วยการประกาศลดราคาทีละรุ่นตลอดปลายเดือน ต.ค. ถึงต้น พ.ย. แต่ก่อนหน้านี้ ยอดจดของ ORA Good Cat ก็ถือว่าสร้างยอดได้ดีพอสมควร หลังจากเปิดตัวรุ่นประกอบในประเทศ ใช้แบตเตอรี่ใหม่สเป็คเดียวกันทุกรุ่นย่อย แม้ราคาถูกลงกว่าเวอร์ชั่นประกอบจีนไม่มากนัก และไม่ได้น่าดึงดูดใจเท่าส่วนลดของ BYD แต่จากการที่ ORA เป็นรถที่ขายดีไซน์ Retro-futuristic ทำให้คนที่ชอบ ก็ซื้อเพราะเอาดีไซน์และยอมจ่ายเพื่อรูปทรงที่ตัวเองอยากได้ ทำให้แม้จะได้ลูกค้าไม่เยอะ แต่ยอดที่เข้ามาสม่ำเสมอ บวกกับการที่สมัยพี่ณรงค์อยู่นั้น GWM ชูนโยบายไม่แข่งเรื่องลดราคา ลูกค้าบางส่วนจึงซื้อเพราะเชื่อมั่นว่าไม่โดนดอย อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปหมดสิ้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสาม และเราคงต้องรอต้นปีหน้าจึงจะทราบกันว่าการบริหารของ GWM ยุคที่ยอมแข่งสงครามราคา ทำให้รถขายได้มากขึ้นจริงหรือไม่
...
อันดับ 8 Tesla Model 3 (ยอดสะสม 2,718 คัน)
ยอดจดของ Model 3 ในปีนี้ถือว่าทำผลงานได้ดีทีเดียวในขณะที่ปีก่อนๆ Model Y จะขายได้เยอะกว่า อาจเป็นเพราะการที่ Model 3 นั้นมีการไมเนอร์เชนจ์ (Refresh) ใหม่ มีความเปลี่ยนแปลงชัดเจนในขณะที่ Model Y เป็นการอัปเดต HW 3.0 ไปเป็น 4.0 ตัด Ultra-sonic sensor กับอัปเกรดกล้องใหม่แค่นั้น โดยรวมปัจจัยในความสำเร็จของ Model 3 ยังอยู่ที่การนำเสนอเทคโนโลยีล้ำหน้า ระบบช่วยขับที่ทำงานเก่งกาจเด็ดขาดฉลาดจริงของ Tesla กับรูปทรงภายนอกที่สวยเหมือน Concept Car มีราคาเริ่มต้นพอๆกับ Camry/Accord รุ่นกลางๆ คนเน้นใช้ก็จ่ายถูก คนเน้นแรง ก็ซื้อตัว Performance แรงกระชากจิตกระชากใจในราคาเท่ารุ่นถูกสุดของ BMW 3 Series ประกอบกับพลังของแบรนด์ Tesla ที่คนให้ความเชื่อถือว่าคิดมาดี ทำมาดี และผลการทดสอบความปลอดภัยที่ทำคะแนนได้ดี
...
อันดับ 7 Aion Y Plus (ยอดสะสม 3,452 คัน)
เปิดตัวอย่างลุ่มๆดอนๆ และงงๆ ด้วยราคาที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาถึง 4 รอบตั้งแต่ต้นปี เปิดรุ่นย่อยใหม่แต่ฟังก์ชั่นบางอย่างกลับใช้ไม่ได้ ท่ามกลางความงงเหล่านี้ แต่ Aion Y Plus กลับสร้างตัวเลขได้ไม่น้อยจากการที่ปรับกลยุทธ์ด้านราคาเข้าสู้ และตัวรถเองก็ไม่ได้แย่ แม้บางครั้ง AI ในระบบ Voice Command จะบ่น ลาออกๆ ไม่ทำตามต้องการบ้าง แต่เมื่อขับเคลื่อนไปแล้ว หลายคนก็บอกว่าเป็นรถจีนที่ขับดี ภายในกว้างขวาง เบาะนั่งสบาย และมีรุ่น 410 Premium ที่มาจอยตอนช่วงงานมอเตอร์โชว์ในราคาแปดแสนกลางๆ ทำให้ยังสร้างยอดจองได้ค่อนข้างดี และถือเป็นตัวเริ่มต้นสร้างแบรนด์ในไทยที่มีประสิทธิภาพโดยรวมยอมรับได้
อันดับ 6 ChangAn Deepal S07 (ยอดสะสม 4,153 คัน)
สูตรสำเร็จของ S07 คือเอาหน้าตาแบบที่คนใช้ SUV ในไทยอยากได้ แต่ไม่มีใครทำให้ เอามาให้ซื้อในราคาระดับ CR-V รุ่นย่อยล่างๆ ตอนเผยโฉมในงาน Motor Expo 2023 บูธแทบระเบิดเพราะคนให้การตอบรับล้นหลาม รถทั้งคันมีจุดติแค่ระบบไฟ 400V เก่าและช่วงล่างยวบโยน แต่ในราคาดังกล่าวลูกค้าบอกว่าได้แค่นี้ก็ดีแล้ว สวย หรู คันใหญ่ ของครบ ยอดขายจึงดีตั้งแต่เปิดตัว แต่คนไทยก็เก่งพอจะสังเกตได้ว่าดูวิธีการตั้งราคาที่จีนเทียบคู่แข่ง กับวิธีการตั้งราคาที่ไทย ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันทำไมบวกเยอะกว่าค่ายอื่น ยิ่งเข้าใกล้ต้นปี ยอดขายกลับเริ่มแผ่วลง จนล่าสุด งัดแคมเปญที่เขาให้เรียกว่า Big Surprise Deal ไม่ให้เรียกว่าลดราคา แต่ถ้าซื้อสดลดสองแสนกว่าบาท หวังว่ายอดท้ายปีจะกราฟพุ่งขึ้นได้บ้าง แต่ดีลนี้เขาบอกมีเป็นระยะเวลาจำกัด พอข้ามปีเดี๋ยวเรามาดูกันว่าจำกัดจริงหรือไม่
...
อันดับ 5 BYD Seal (ยอดสะสม 4,746 คัน)
สูตรสำเร็จของ Seal คือการที่เอาสิ่งที่ลูกค้าเคยอยากได้จาก Accord/Camry แล้วค่ายเหล่านั้นไม่ทำให้สักที มาอยู่ในรถ EV ที่ตัวใหญ่พอๆกัน แต่พลังม้าชนะขาด ถึงแม้การเซ็ตช่วงล่างจะชวนให้คิดว่านี่รถหรือนี่วัว แต่ราคาโดยรวมเทียบกับรูปทรง พลัง และอุปกรณ์ ตลอดจนดีไซน์ซึ่งความน่ารักของ BYD คือมีปุ่มจริงให้กดในฟังก์ชั่นที่จำเป็น ทำให้คนที่ไม่ชอบเอะอะก็กดจอ ตกลงปลงใจกับ BYD ยอดปลายปีที่แล้วบูมหนักมากจนคนบอกว่า Accord/Camry ตายแน่ แท้จริงเป็นบูมเพราะกลัวราคาขึ้นตอนข้ามปี ซึ่งก็ไม่ได้มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด และยิ่งเข้าใกล้ปลายปียอดยิ่งแผ่ว ดูยอดแล้วก็บอกได้ว่าใจเย็นๆ Accord/Camry ยังไม่ตายหรอกจ้ะ รถมีจุดเด่นเยอะจริงและยังไม่มี Defect อะไรเรื้อนๆหนักๆ แต่คนอาจจะไม่กล้าซื้อ EV ล้านกลางๆตอนนี้จากค่ายนี้เพราะกลัวดอย..หรือเปล่า?
อันดับ 4 MG 4 ELECTRIC (ยอดสะสม 4,828 คัน)
อะไรที่ Dolphin มี 4 ก็ขาด แต่อะไรที่ Dolphin ขาด 4 ก็มี ถ้าให้พูดยาวๆก็คือในขณะที่คนมองหาความคุ้มค่าแบบยกคันจะหนีไป BYD กลุ่มที่จะมา MG 4 ก็คือกลุ่มที่ไม่ได้ชอบรถหลังคากระจก แต่อยากได้รถช่วงล่างดีแบบไม่ต้องโมดิฟายก็ขับดีไปเลย การเปิดตัวเวอร์ชั่นประกอบไทยในรุ่น D, X และ V Long Range ที่เปลี่ยนจอกลางและปรับซอฟท์แวร์การจำค่าระบบความปลอดภัยที่ลูกค้าเคยบ่น และมาในราคาที่ถูกลงมาก ทำให้ 4 เป็นรถที่ขายได้ไม่เยอะแต่ขายได้ตลอด มีคนซื้ออยู่เรื่อยๆ และลูกค้าบางส่วน ก็มองว่าการที่ MG อยู่ในไทยมาแล้วกว่า 10 ปี จึงน่าจะมีความมั่นคงสูง ไม่น่าแจกแพลูกค้าง่ายๆ อีกทั้งยังลงทุนและมีโรงงานประกอบรถในไทย ในแง่ความมั่นคงระยะยาวจึงดีในสายตาของลูกค้าเหล่านั้น
อันดับ 3 NETA V/VII (ยอดสะสม 5,870 คัน)
Neta V เป็นตัวบุกเบิก EV ราคาถูกที่นั่ง 4 คนได้ไม่แคบอัดเป็นปลากระป๋องตัวแรกๆของไทย ทำให้คนที่มีงบเงินพอจะซื้ออีโคคาร์มีตัวเลือกที่เป็น EV เข้ามา รวมถึงฐานลูกค้าต่างจังหวัดเช่น อุตรดิตถ์ เป็นฐานสำคัญที่ Neta เจาะเข้าหากลุ่มผู้ซื้อที่ขับรถไม่ไกลในแต่ละวัน ในช่วงต้นปี เปิดตัวรุ่น V II ที่ท้ายสวยขึ้น อุปกรณ์แน่นขึ้น ฟันลูกค้าไปได้เยอะก่อนที่จะประกาศลดราคาในเดือน ก.ค. แสนกว่าบาท ยอดจดภายรวม 10 เดือนจึงดี ต้นปีกระแสตก ก็เปิดตัว V II พอ V II กระแสตก ก็ลดราคา ทำให้ยอดจดมีตัวเลขขึ้นๆลงๆรุ่นแรงอยู่ จากจุดนี้ไป สิ่งที่น่ากังวลอยู่ที่ความไม่ชัดเจนในอนาคตของแบรนด์ จากการที่มีข่าวสถานภาพทางการเงินที่เสถียรดีพอๆกับช่วงล่างสเป็คโรงงานของ Neta V แต่ผลที่เกิดจากมากพอจนดึงยอดปลายปีร่วงได้หรือไม่ เราคงทราบอีกทีต้นปีหน้า
อันดับ 2 BYD Atto3 (ยอดสะสม 7,245 คัน)
ปัจจัยความสำเร็จของ Atto3 อยู่ที่การเป็นรถในขนาดที่คนไทยชอบ ในทรง SUV ที่เหมาะกับถนนไทย รูปทรงภายนอกสวยแต่ภายในแล้วแต่คนจะชอบ พละกำลังแรงเหลือพอ อุปกรณ์มาอย่างครบ ทั้งหมดนี้แล้วจบในราคาที่ Honda กับ Toyota ได้แต่ฝันถึง ยิ่งในปีนี้ มีการเปิดโฉม 2024 ด้วย ประกอบกับการลดราคาที่ในช่วงต้นปี ก็ลดราคา MY2023 พอช่วงกลางปี ก็ลด 2023 ซ้ำจนส่วนลดเทียบกับวันเปิดตัวหายไป 340,000 บาท และรุ่น 2024 ก็ลดราคาเป็นแสนบาท กลยุทธ์การลดราคารวมกับตัวรถที่ดูจะถูกจริตคนไทยส่วนใหญ่อยู่แล้วทำให้ยอดขายไม่มีจุดร่วง มีแต่ขายดี กับดีโคตรๆในบางเดือน นับจากจุดนี้ไป สิ่งที่ต้องรอดูก็คือ เมื่อการลดราคาเกิดขึ้นบ่อยในแบรนด์นี้ และมูลค่าส่วนลดที่เกิดทำให้ลูกค้าเก่าบางส่วนไม่พอใจ ลูกค้าใหม่บางส่วนอยากซื้อก็ยั้งมือไว้เพราะกลัวดอย ก็ต้องมารอดูผลของยอดจดช่วงปลายปี BYD ไม่น่าจะแพ้ค่ายไหนถ้านับเฉพาะ EV แต่ในด้านยอดขาย คนที่จะเป็นปัญหากับตัวเขาได้ ก็คงมีแต่ตัวเขาเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าไทยยังให้โอกาสเขาแค่ไหน
อันดับ 1 BYD Dolphin (ยอดสะสม 11,323 คัน)
ตัวรถ ไม่ใช่รูปแบบรถ SUV ที่คนไทยส่วนมากอยากได้ก็จริง แต่ในเมื่อตัวรถจริงๆขนาดไม่ได้เล็ก และมีให้เลือกทั้งรุ่น 95 แรงม้าและ 204 แรงม้า และมาในราคาที่ถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ และยังมีเบาะหลังที่คนตัวสูง 6 ฟุตนั่งแล้วหัวไม่ติด รูปทรงดีไซน์ ไม่ฉีกแนวแบบ Good Cat แต่ไปแนวกลางๆเน้นถูกจริตคนหมู่มาก อุปกรณ์เทียบรุ่นต่อรุ่นแล้วครบครันกว่า MG ในขณะที่การใช้งาน ถือว่าค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ใช้เมื่อเทียบกับ EV จีนเจ้าอื่น ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ Dolphin เป็นรถ EV ยอดนิยมอันดับ 1 ของไทย เรียกได้ว่าขายดีกระแสไม่มีตก ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวจนกระทั่งปัจจุบัน พอยอดเริ่มร่วงเพียงนิดเดียว ก็มีลดราคาทันที ลดครั้งแรกช่วงก่อนมอเตอร์โชว์ต้นปี และลดหนักอีกครั้งช่วงกลางปีซึ่งเป็นการระบายสต็อคก่อนเปิดตัวรถเวอร์ชั่นประกอบไทยที่แบตโตขึ้นและรุ่น Standard รองรับ Fast charge ได้ไวขึ้น รูปแบบรถ ขนาดรถ ราคา และการขยันมีกระแสอยู่เสมอ คือสิ่งที่ทำให้โลมาตัวนี้ ว่ายนำคู่แข่งเจ้าอื่น และเป็นรถรุ่นเดียวที่สร้างยอดจดทะเบียนปี 2024 สะสมได้เกิน 10,000 คัน เรียกได้ว่า รถ EV ที่จะทะเบียนไปในปีนี้ 1 ใน 6 คันจะเป็น Dolphin
และนี่ล่ะครับ คือ EV ยอดฮิตติดลมบน วัดจากยอดจัดทะเบียน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2024 ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังไม่นับ Neta X ซึ่งยอดจดเพิ่งจะเริ่มมาเมื่อตุลาคมทำให้ยอดสะสม 10 เดือนยังไม่เยอะ แต่เพียงเดือนเดียวได้ยอดจด 570 คัน ก็ถือว่าเริ่มต้นได้ไม่เลว ทางบริษัทดูจะภูมิใจ ส่งข่าวให้สื่อฯลง แต่ผมว่าแทนที่จะคุยเรื่องยอดจนจากเดือนแรกแค่นี้ อยากให้ Neta ไทยออกมาแถลงข่าวเรื่องสถานภาพของบริษัทแม่ที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้มากกว่า ถ้ามันไม่ได้มีอะไร ก็พูดมา ผู้บริโภคจะได้สบายใจครับ
ตัวเลขอื่นๆ อันดับ 11 เป็นต้นไป และข้อมูลยอดจดรถรุ่นอื่นๆ ติดตามดูได้ใน AutolifeThailand.tv ครับ มีอะไรแปลกๆให้เห็นอีกเยอะ อาทิ คุณทราบไหมว่า 10 เดือนที่ผ่านมา มี Porsche Taycan จดทะเบียนไปเยอะกว่า ChangAn Lumin เกือบเท่าตัว? อยากรู้มากกว่านี้ ลองตามอ่านงานของน้องหมูครับ ผมยกงานหมูมาใช้ ขอตอบแทนน้องด้วยการประชาสัมพันธ์งานของน้องให้ครับ
Pan Paitoonpong