ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการ ธปท. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ยืนยันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เมื่อเปรียบกับเศรษฐกิจโลก ถือว่าฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวและทยอยกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ ซึ่งการออกมาประเมินเศรษฐกิจประเทศดังกล่าว ทำให้ ธปท.ถูกโจมตีว่า มองเศรษฐกิจดีเกินไป และไม่เห็นความลำบากของคน ที่ ธปท.ออกตัวว่าเป็นตัวเลขภาพรวม แต่เราเข้าใจดีว่าที่ซ่อนอยู่คือความลำบากและความทุกข์ของประชาชนอีกหลายกลุ่ม

อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้หมายความว่า ราคาสินค้าต่ำลง ปัจจุบันราคาสินค้าเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นมา ทั้งสินค้าพลังงาน อาหาร ไข่ไก่ เนื้อหมู รวมทั้งการซ้ำเติมจากหนี้ครัวเรือนและราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ภาคอุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้าง จากการแข่งขันทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกลับมา มีศักยภาพที่ 3% ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ตายตัว ถ้าอยากจะฟื้นตัวก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ที่ไม่ได้มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะถ้าขีดความสามารถเท่าเดิมจะกระตุ้นให้ตายก็กลับมาที่ศักยภาพเท่าเดิมคือ 3% ปัจจัยด้านโครงสร้างขึ้นอยู่กับการขยายตัวภาคแรงงานและประสิทธิภาพของแรงงาน ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบและขาดแรงงานที่มีทักษะ การเติบโตเพียง 3% เมื่อเทียบกับระดับรายได้ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ถือว่าไม่เพียงพอ

ที่ตั้งข้อสังเกตคือ แบงก์ชาติมีมุมมองต่อ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่าย มีการชะลอตัวอันเนื่องมาจากวัฏจักรสินเชื่อ ที่มีการแข่งขันกันสูงมากและขาดการควบคุม ถึงจะยังไม่ลามไปถึงการก่อตัวของวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน ก็มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยเฉพาะวงกว้าง ตัวเลขจาก สภาอุตสาหกรรม จำนวนรถยนต์ที่ผลิตในเดือน ม.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวน 518,790 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว 17.05% สอดคล้องกับเศรษฐกิจภาพรวม ที่ทำให้ยอดขายลดลงจากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโตในอัตราต่ำ กำลังซื้อเปราะบาง

...

การหั่นราคาลงของรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์สันดาปหลายรุ่นหลายยี่ห้อ ตอกย้ำถึงการชะลอตัวของอุตสาหกรรมและธุรกิจรถยนต์ในประเทศไทย เป็นเหตุผลที่มีการลดคนงาน และย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนของอุตสาหกรรมประเภทนี้ (ผลกระทบไปถึงตลาดรถยนต์มือสองต้องปิดกิจการ)

ในขณะที่ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุประเทศไทยตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้ 30% ในปี 2030 ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าอันดับ 10 ของโลก คาดปี 2567 จะผลิตรถอีวี 9 หมื่นคันจากค่ายรถสัญชาติจีน และยุโรป ซึ่งจะต้องใช้เงินอุดหนุน 1.4 หมื่นล้านสำหรับจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับการชดเชยอีก 3.5 หมื่นคัน โดยจ่ายชดเชยไปแล้ว 4 หมื่นคัน มูลค่า 7 พันล้านบาท

คำถามเราจะได้อะไรจากการนี้ ล่าสุดอียูเตรียมเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอีก 17.4-36.7% ป้องกันภัยคุกคามจากอีวีจีนที่คาดว่าจะมีสัดส่วนในตลาดอียูแตะระดับ 15% ในปีหน้า เราจะตั้งใจเสียค่าโง่หรือไม่เป็นอีกเรื่อง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม