นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พบผู้บริโภคยังกังวลหากใช้ "รถไฟฟ้า" เหตุ EV Charger น้อย ใช้ระยะเวลาชาร์จนาน
ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า แม้ว่ายอดผลิตและยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี จะเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับการผลิตยานยนต์เพื่อส่งออกของไทย ยังเน้นที่รถปิกอัพ หรือรถกระบะ ซึ่งตลาดหลักจะเป็นโอเชียเนีย หรือ Oceania ฟิลิปปินส์ เวียดนาม
รวมถึงกลุ่มประเทศใน Middle East คาดว่าในปี 2030 การผลิตและการส่งออกจะยังไม่ได้เป็นรถ EV ทั้งหมด และสำหรับรถเครื่องยนต์สันดาป หรือ ICE ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งมาก ก็จะยังคงมีอยู่ แต่จะมีการปรับแต่งเพื่อให้พลังงานสะอาดมากขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของ ecosystem ในอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ การมีเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือให้ทัน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจต่อไป อีกทั้งผู้ประกอบการควรพิจารณาเรื่องงานวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้ยกระดับทักษะให้แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อยู่ในตลาดต่อไปได้อย่างยั่งยืน
นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า จากการที่ภาครัฐตั้งเป้าเรื่อง Net Zero ไว้ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เป็นพลังงานทางเลือกได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีปัญหาบางอย่างที่เป็นความกังวลของผู้บริโภค อาทิ ความพอเพียงของจุดชาร์จรถยนต์ที่มีให้บริการในพื้นที่สาธารณะในปัจจุบัน ระยะเวลาการชาร์จที่ค่อนข้างใช้เวลานาน ระยะทางของการขับขี่ที่ปัจจุบันสูงสุดได้เพียง 400 กม. ฯลฯ
...
นายวิชา แสวงศรี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบ ความยั่งยืน บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเส้นทางการไปสู่ Carbon Neutrality ว่า หลังจากที่ปัญหาเรื่องโลกร้อนและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ทำให้หลายภาคส่วนต่างมีมาตรการในเรื่องดังกล่าวออกมา และได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการด้วย
เช่น นโยบายการสนับสนุนรถ EV ทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ มาตรการการปรับภาษีจากยุโรป (CBAM) ที่กำหนดว่า ในการส่งออกสินค้าไปยุโรปจะต้องมีเอกสารรับรอง carbon footprint product และมีการเสียภาษีส่วนต่าง
โดยเริ่มบังคับใช้ก่อนในปี 2566 กับ 5 กลุ่มธุรกิจหลัก และจะใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 นอกจากนี้ กลต. ยังกำหนดให้บริษัทในตลาดฯ ต้องมีการทวนสอบและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 และร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บังคับให้บริษัทต้องมีการทวนสอบและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร
นายกิจนา การะเกตุ กรรมการบริหาร พร้อมด้วย Mr. Mark Sutton, VP APAC Engineering บริษัท แอเดียนท์ แอนด์ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเกี่ยวกับตัววัดผลความสำเร็จของความยั่งยืนของบริษัทว่า ทางบริษัทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ได้มีนโยบายให้ลดการใช้พลาสติก ลดปริมาณขยะ รวมถึงการหาวัสดุอื่นทดแทน
รวมถึงมีการเก็บตัวเลขวัดผลมาโดยตลอด จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าในปัจจุบัน ได้ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้แล้ว 25% และสเตปต่อไปจะเพิ่มปริมาณการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเพิ่มอีก 12% และเพื่อให้บรรลุภารกิจการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน บริษัทยังได้จัดกลุ่มความสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้าได้บรรลุเป้าหมาย ESG ไปด้วยกัน คือ
1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ 2. การผลิต 3. ซัพพลายเชน และ 4. การมีส่วนร่วมของพนักงาน ทั้งนี้ ในปี 2022 ได้มีโครงการต่างๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อม 1,174 โครงการ จาก 728 โครงการในปี 2021 และจนถึงปัจจุบัน บริษัทได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้แล้ว 6,092 เมตริกตัน ลดปริมาณการใช้น้ำ 16 ล้านลิตร ลดปริมาณการใช้พลังงาน 25 ล้าน kWh-equivalent ลดปริมาณขยะ ของเสีย 5,363 เมตริกตัน และลดการใช้กระแสไฟฟ้า 42 ล้าน kWh
ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึงการใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ว่า ไม่ว่าจะใช้รถยนต์ระบบใด ก็จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่เพื่อเป็นตัวสำรองพลังงาน
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาวัสดุที่นำมาประกอบเป็นแบตเตอรี่ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายมีปัญหา เวลาผลิตแบตเตอรี่ต้องทำให้ปลดปล่อยพลังงานให้น้อยลง ซึ่งแต่ละประเทศจะปลดปล่อยพลังงานออกมาไม่เท่ากัน ในยุโรปหรือจีน ใช้รถ EV แล้วลดปริมาณก๊าซคาร์บอนลงได้มาก ทำให้มีการสนับสนุนการใช้งานรถ EV มาก อย่างไรก็ดี เคยมีการศึกษาพบว่า การรีไซเคิลแม้จะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึง 100%.