"พี่จะเอาฟิล์มแบบไหนครับ"? ประโยคคำถามกึ่งต้องการคำตอบชนิดเฉียบพลัน บางคนเตรียมตัวมาดีก็รอดไป แต่ถ้าใครไม่ทันได้คิดละก็มีสิทธิ์บ้าใบ้เหมือนโดนฟ้าผ่าเปรี้ยงเข้าที่แกนกลางสมอง ก่อนที่จะตอบคำถามด้วยคำถามกลับไปว่า "แล้วส่วนใหญ่เขาติดแบบไหนกัน"?

'ฟิล์ม' ของแถมยอดนิยมของรถป้ายแดงที่มักถูกร้องขอเป็นลำดับต้นๆ และแน่นอนในเมื่อฟิล์มเป็นสิ่งที่รถแทบทุกคันต้องการ ย่อมมีทั้งยี่ห้อและรูปแบบต่างๆ มากมายที่แสยะยิ้มทักทายเราบนหน้าแคตตาล็อก

วันนี้ไทยรัฐออนไลน์ขอนำไปทำความรู้จักเพื่อค้นหาไลฟ์สไตล์ของรถคุณว่าเหมาะกับฟิล์มชนิดไหน เพื่อให้ได้ทั้งความสวยงามและได้อรรถประโยชน์คุ้มค่าคุ้มราคา

...

ความเข้มของฟิล์ม เข้าใจผิดกันชนิดบอกต่อ

ฟิล์มที่นิยมติดกันมี 3-4 เบอร์ เช่น 05,20,35 และ 50 เบอร์ของฟิล์มจะบ่งบอกค่าของแสงที่ส่องผ่านได้ แต่ในทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจผิดกันชนิดบอกต่อ เพราะความจริงแล้ว ฟิล์มเบอร์ 05 ซึ่งแสงส่องผ่านได้ร้อยละ 5 ฟิล์มนั้นจะมีความเข้มที่ 95% แต่เรากลับเรียกมันว่าฟิล์ม 80% ในขณะที่ฟิล์มเบอร์ 20 ที่ปล่อยให้แสงผ่านร้อยละ 20 เท่ากับฟิล์มเข้ม 80% เราดันเรียกฟิล์มเบอร์นี้ว่าฟิล์ม 60% แปลกแต่จริง!

เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลาเราบอกว่าติดฟิล์ม 80% เราจึงได้ฟิล์มที่มีแสงส่องเข้ามาได้แค่ร้อยละ 5 ในขณะที่ความเข้มจริงของฟิล์มสูงถึง 95% เลยทีเดียว

ความร้อนจากแสงแดด สิ่งสำคัญที่ต้องป้องกันได้ดี

ฟิล์มรถยนต์ที่ดีจะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนจากแสงแดดเป็นหลัก ไม่ใช่ป้องกันเฉพาะแสงอินฟราเรด และที่สำคัญต้องป้องกันรังสี UV ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 99  ค่าการสะท้อนแสงของฟิล์มที่กระจกบานหน้าไม่ควรเกิน 10% ถ้าเกินกว่านี้จะรบกวนรถที่สวนทาง รวมทั้งคนภายในที่มองออกไปอาจสะท้อนเงาตัวเองทำให้มองเห็นด้านนอกไม่ชัดเจนจนเกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนฟิล์มที่ติดรอบคันไม่ควรเกิน 30%

ฟิล์มปรอท กันร้อนได้ดี แต่มีข้อเสีย

ฟิล์มปรอท เป็นฟิล์มที่สามารถกันความร้อนได้ดี เนื่องจากเป็นฟิล์มติดอาคารที่นำมาติดในรถยนต์ แต่ผลเสียของฟิล์มชนิดนี้คือความเงาแวววาว ทำให้มีค่าสะท้อนแสงที่สูงลิ่ว จึงไม่เหมาะที่จะนำมาติดกับกระจกบานหน้ารถอย่างที่สุด เพราะฟิล์มปรอทความเข้ม 60% สามารถลดความร้อนได้ 65-80% ก็จริง แต่ค่าสะท้อนแสงปาไปถึง 25-30% เข้าให้แล้ว ในขณะที่ฟิล์มดำจะมีค่าสะท้อนแค่ 8-10%  แต่ก็สามารถลดความร้อนได้แค่ 50-60% เช่นกัน

ติดแล้วไม่สวย จะติดทำไม

เมื่อเลือกคุณสมบัติของฟิล์มได้แล้ว ความสวยงามเข้ากับสีของรถก็เป็นสิ่งจำเป็น รถที่มีสีอ่อนจะเหมาะสมกับฟิล์มที่มีสีเข้มและหลีกเลี่ยงฟิล์มปรอท โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถสีขาวเมื่อรวมเข้ากับฟิล์มปรอทด้วยแล้วยิ่งทำให้รถดูจืดชืดไร้อารมณ์สิ้นดี ส่วนรถสีเข้มจะสามารถเลือกฟิล์มได้แทบทุกชนิดและง่ายกว่า แต่สุดท้ายแล้วรสนิยมของเจ้าของรถต่างหากที่เป็นตัวตัดสินว่าพอใจที่จะเลือกแบบไหน

...

ความมั่นใจ ใบการันตี นี่ก็สำคัญ

ยี่ห้อและตัวแทนจำหน่ายก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะปล่อยละเลยไปไม่ได้ ตัวฟิล์มต้องมีแหล่งผลิตที่ชัดเจนและมั่นคงมายาวนานเป็นที่เชื่อถือ รวมทั้งต้องมีการรับประกันคุณภาพฟิล์มที่ไม่ต่ำกว่า 7 ปีเป็นอย่างน้อย

สุดท้ายแล้วการสำรวจพฤติกรรมการใช้รถของตัวเองนั่นแหละเป็นสิ่งสำคัญ หากใช้รถกลางวันเป็นหลักอาจติดฟิล์มเข้มหน่อยเพื่อความเป็นส่วนตัวก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าหากเป็นคนใช้รถในเวลากลางคืนแล้วยังเลือกติดฟิล์มที่มีความเข้มสูง ก็เท่ากับว่าเรากำลังเลือกที่จะปิดตาขับรถ "เป้าหมายอาจมีไว้พุ่งชน แต่ถ้าขับรถไม่ต้องหาทางพุ่งชนก็ได้" จริงไหม!!!

ด้านล่างเป็นตารางสรุปคุณลักษณะของฟิล์มเพื่อให้ได้เห็นภาพชัดขึ้น อาจเป็นส่วนช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้นและถูกต้องเหมาะสม แต่ขออนุญาตเรียกความเข้มของฟิล์มตามที่คนทั่วไปเข้าใจกันมาอย่างผิดๆ เพื่อให้ง่ายต่อการไปบอกต่อใช้งานจริง ไม่ต้องเสียเวลาไปยืนอธิบายให้ยืดยาว

...