ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ประมาณว่า ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการใช้งานทั่วโลกราว 16 ล้านคัน โดยในปี 2021 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก รวมถึงรถยนต์ PHEV และรถยนต์ BEV มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากปี 2020 โดยมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 6.6 ล้านคันทั่วโลก ในจำนวนนี้ 53% หรือประมาณ 3.4 ล้านคัน เป็นตลาดจีน ตามด้วยตลาดยุโรป 33% และตลาดสหรัฐฯ 11% โดยในปี 2021 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในปี 2016

ตัวเลขของ BloombergNEF ในตลาดรถยนต์ระบุว่า ในปี 2021 รถยนต์ไฟฟ้า PHEV และรถยนต์ไฟฟ้า BEV มีจำนวนรวมกันมากถึง 500 รุ่น เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าจากปี 2016 และคาดว่าในช่วงสองปีข้างหน้าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าสองประเภทนี้ออกสู่ตลาดอีกประมาณ 180 รุ่น

7 ประเทศที่ถือว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาและใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก แน่นอน ประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกคือ จีน ซึ่งเริ่มต้นการพัฒนาส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่ในเวลานั้นรถยนต์ไฟฟ้ายังมีไม่มากนัก จีนใช้เงินมากกว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในการพัฒนาและลงทุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และสร้างกลยุทธ์เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกอย่างเต็มที่

...

รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแผน ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยประธานา ธิบดีโจ ไบเดน ต้องการทำตามเป้าหมาย zero-emission หรือนโยบายปลอดมลพิษ ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจำนวน 40-50% ภายในปี 2030

นอร์เวย์เป็นอีกประเทศที่มีเป้าหมายและนโยบายที่ชัดเจน โดยรัฐบาลนอร์เวย์ประกาศเป็นนโยบายเลยว่าจะ เปลี่ยนแปลงให้รถที่ใช้ภายในประเทศมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2025 โดยปัจจุบันประเทศนอร์เวย์มีรถพลังงานไฟฟ้า 50,000 คัน ตั้งแต่ปี 2015 และน่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 150,000 คันในปี 2021 โดยประชาชนสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายพอๆกับรถยนต์น้ำมัน แต่ได้สิทธิพิเศษจากรัฐมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน โดยรัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของรถยนต์ไฟฟ้า จาก 25% ลดลงเหลือ 0% รวมถึงลดภาษีเงินได้ให้ค่ายรถยนต์ที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าลง 40% เพื่อจูงใจให้ค่ายรถขายรถยนต์ไฟฟ้าทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และวางขายในราคาที่ถูกลง เป็นการจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันแบบเต็มกำลัง

อีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มนอร์ดิกเช่นเดียวกัน คือ สวีเดน ที่ผู้คนสนใจและซื้อรถพลังไฟฟ้ามาใช้งานคิดเป็นสัดส่วนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเป้าหมายของประเทศสวีเดนคือต้องการประสบความสำเร็จในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการขนส่งลง 70% ภายในปี 2030 รวมถึงทำให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และมีถนนที่ชาร์จไฟรถได้ขณะรถวิ่งด้วย เช่นเดียวกับ ไอซ์แลนด์ ที่รัฐบาล ออกนโยบายห้ามใช้รถยนต์น้ำมัน ในปี 2030 ถือเป็นหนึ่งในแผนการจัดการภาวะโลกร้อน และแน่นอนว่าสิ่งที่จะมาแทนรถยนต์น้ำมันคือรถยนต์ไฟฟ้า และรัฐวางเป้าว่าภายในปี 2030 จะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้า 950,000 คันวิ่งอยู่บนท้องถนนและยังออกมาตรการพิเศษบังคับว่า ภายในปี 2025 สถานที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยและมีที่จอดรถเกิน 10 ช่อง จะต้องมีแท่นชาร์จไฟอย่างน้อยหนึ่งแท่น อีกทั้งรัฐยังมีแผนให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และมีแผนที่จะลงทุนติดตั้งแท่นชาร์จไฟให้ครอบคลุม ทั่วประเทศ เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

อีกประเทศหนึ่งคือ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีนโยบายลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไป ทำให้ความนิยมของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเนเธอร์ แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยหลักๆน่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงยังช่วยลดการใช้น้ำมันที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์ โดยเพิ่มการให้บริการของสถานีประจุพลังงาน ทำให้เกิดการเข้าถึงและมีความคล่องตัวในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้เนเธอร์แลนด์ก้าวสู่การเป็นตลาดชั้นนำที่มียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในยุโรป

...

แม้แต่ประเทศเล็กๆในยุโรปอย่าง อันดอร์รา ที่มีประชากรไม่ถึง 80,000 คน แต่การซื้อรถพลังงานไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงถึง 5.6% ของรถทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดอันดับ 5 ของโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในอันดอร์ราหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะรถ EV คือการที่รัฐบาลให้สิทธิพิเศษของคนที่เปลี่ยนมาใช้รถ EV อาทิ ส่วนลด พิเศษเมื่อซื้อรถ สิทธิการขับในช่องเดินรถสาธารณะ (Bus Lane) สิทธิขับผ่านอุโมงค์ d-Envalira ซึ่งเป็นทางเชื่อมสู่ประเทศฝรั่งเศส ฟรี รวมถึงส่วนลดพิเศษค่าไฟในการชาร์จแบตเตอรี่ด้วย

เรียกว่าตื่นตัวกันทั้งโลกในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลหลายประเทศต่างพากันออกมาตรการสนับสนุนภายใน 2030 นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักรต่างตั้งเป้าว่ารถยนต์ที่ออกขายจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ของรถยนต์ที่ออกขายใหม่ทั้งหมด ขณะญี่ปุ่นและจีนตั้งเป้าไว้ในปี 2035 ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีให้เงินสนับสนุนประมาณ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน จีนจัดตั้งสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศและให้สิทธิประโยชน์ทั้งเป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินกับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

...

หากอ้างอิงตามรายงานของสำนักงานพลังงานสากล หรือ International Energy Agency (EIA) ที่คาดการณ์ว่า จำนวนรถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าบนท้องถนนจะเพิ่มเป็น 145 ล้านคันทั่วโลกภายในปี 2030 ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งราคาน้ำมันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไทยจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อประหยัดพลังงานและสร้างสังคม Ecosystem ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง.