ผู้ชายแทบทุกคนต่างมีความฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของรถสปอร์ตสักคัน แม้จะไม่ไช่รถสปอร์ตซุปเปอร์คาร์ราคาแพงที่มีแรงม้ามหาศาล แต่ก็ขอให้มันดูดีและขับสนุกโดยมีราคาที่พอจะซื้อหามาใช้ได้แบบกระเป๋าไม่รั่ว จึงไม่น่าแปลกที่ทุกวันนี้ยังคงมีบริษัทรถยนต์ทำรถสปอร์ตคันเล็กกระทัดรัด และราคาไม่แพงมากนักเช่น MAZDA ผลิตรถสปอร์ตรุ่น MX5 โมเดลแรกสุดออกขายในปี1992 และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนถึงขณะนี้ โดย MX 5 ถูกสร้างไปแล้วถึง 3 รุ่น ตามมาด้วย TOYOTA ทำรถรุ่น MR2 เครื่องยนต์วางกลางลำ หลังคากระจกแบบ T BAR เปิดออกได้ จนมาถึงรุ่นที่สามโดยใช้ชื่อว่า MR S ที่เป็นรถในสไตล์ ROADSTER คันเล็กๆและมีหลังคาแบบเปิดประทุน วางเครื่องยนต์ขนาดแค่ 1800 C.C. HONDA เองก็ยังเคยทำรถสปอร์ตในลักษณะนี้เช่นกันโดยผลิตรถ HONDA BEAT สปอร์ตคันจิ๋วและรุ่น S2000 ที่เป็นรถในสไตล์ ROADSTER อีกเช่นกันโดยมีเครื่องยนต์น้ำหนักเบาแค่ 2000 C.C. แต่มีแรงม้าถึง 250 แรงโดยไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศแบบใดๆทั้งสิ้น รถยนต์สปอร์ตคันเล็กๆเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีน้ำหนักเบา ขับสนุกโดยไม่ต้องใช้ความเร็วสูงมากนักแบบซุปเปอร์คาร์ ราคาแพงและมีบุคลิคประจำตัวโดยสามารถตอบสนองการขับได้อย่างว่องไว อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆมีไม่มากนัก มีรูปร่างหน้าตาลู่ลมสวยงามชวนมอง และมีช่วงล่างบวกกับเครื่องยนต์ที่สามารถทำให้เจ้าของสนุกสนานไปกับมันยาม ขับขี่จนแทบไม่อยากก้าวลงจากรถ
ชื่อเสียงของ LOTUSที่สร้างไว้ในวงการรถแข่งของยุค 1970-1980 ทำให้บริษัทจากอังกฤษเจ้านี้ ผลิตแต่รถยนต์ในสไตล์สปอร์ตออกมาวางจำหน่าย ซึ่งมีทั้งรุ่น เซเว่น , อีแลน , เอสปรีท, อีลิเซ่, และยูโรป้า โดยรถที่ได้รับความนิยมและสามารถทำตลาดทั้งในยุโรป อเมริกาและในเอเซียคือรุ่น ELAN ใน โมเดล1991 ซึ่งเป็นรถ LOTUSสไตล์ ROADSTER เปิดประทุนคันเล็กมีแค่สองที่นั่งเครื่องยนต์วางด้านหน้าโดยมี DESIGNER ชื่อ JULIAN THOMPSON ลูกครึ่ง อังกฤษ-ไทย รับหน้าที่ออกแบบ ในยุค 90'นั้นLOTUS กำลังประสบกับปัญหาทางการเงินจนต้องหันไปพึ่งพาบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกัน อย่าง GENNERAL MOTORS ให้เข้ามาถือหุ้นและกำกับดูแลทิศทางของ LOTUS ที่ทำท่าว่าจะไปไม่รอด โดยที่ไม่เกี่ยงงาน และมีความสามารถทางด้านการสร้างช่วงล่างและดีไซน์รถยนต์ให้ออกมาสวยงาม LOTUS จึงต้องใช้ความสามารถในส่วนนี้ สร้างชิ้นส่วนและออกแบบตัวถังให้กับ CORVETTE ZR1หรือรถยนต์ VAUXHALL-OMEGA รวมถึงช่วงล่างของรถยนต์ ISUZU อีกหลายรุ่น โดยค่ายรถที่ให้ LOTUSทำช่วงล่างและรูปแบบของตัวถังเพื่อหวังใช้ชื่ิอของ LOTUS ที่มีภาพลักษณ์ของบริษัทรถแข่งมาสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง
เนื่องจาก ELAN โดนผลิตออกมาเพื่อให้มีราคาถูกกว่ารุ่น ESPRIT จึงมีปัญหาว่าจะเอาเครื่องยนต์อะไรมาวางลงไปเพราะหากจะนำเครื่องจาก ESPRIT มาใส่ก็คงแทบเป็นไปไม่ได้เนื่องจากเครื่องยนต์ของ ESPRIT เป็นเครื่องขนาด 2000 C.C. ติดระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบร์ที่ออกแบบจุดยึดแท่นเครื่องสำหรับวาง เครื่องยนต์ไว้กลางลำตัวรถ และห้องเครื่องของ ELAN ก็มีขนาดเล็กมากจนแทบไม่สามารถนำเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ใส่ลงไปได้หรือหากจะ ทำการออกแบบเครื่องยนต์ใหม่ทั้งตัวก็จะทำให้ค่าตัวของ ELAN แพงเกินกว่าจะเอาไว้ขายให้กับลูกค้าที่มีเงินไม่มากนักทีมวิศวกรของ LOTUS จึงติดต่อไปทางบริษัท ISUZU ที่ตนเองมีสัญญาในการร่วมมือกันพัฒนารถร่วมกันโดยขอใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก ของ ISUZU GEMINI ขนาดความจุ 1600 C.C. ทวินแคม 16 วาลว์วางขวางด้านหน้าและขับเคลื่อนล้อหน้าโดยมีทั้งตัว 1600 C.C. ธรรมดาและรุ่นสูงสุดที่ติดตั้งเทอร์โบร์เพื่อให้ขับสนุกยิ่งขึ้นไปอีก โดยเครื่องยนต์ขนาดเล็กน้ำหนักเบาตัวนี้ มีความจุที่ 1588 C.C. ใช้หัวฉีดอิเล็กโทรนิค DELCOROCHESTER แบบ MULTI POINT ทำงานร่วมกันกับเทอร์โบร์ของ IHI RHB 5 และติดตั้ง WASTEGATE เพื่อควบคุมแรงดันของอากาศยามที่เทอร์โบร์ทำงานเพื่อสร้างแรงบิด พร้อมกับ INTERCOOLLER เพื่อทำให้อากาศที่ถูกส่งมาจากเทอร์โบร์ไปทีี่ท่อไอดีเย็นลงโดยเครื่องตัว นี้ทำแรงม้าได้ 165แรงม้า และมีแรงบิดที่เหมาะสมกับน้ำหนักของ ELAN ที่ 20.4 กิโลกรัม/เมตร
มาตรฐานของรถสปอร์ตราคาเบาๆนั้นมักจะเน้น เรื่องการขับขี่และควบคุม มากกว่าจะใส่อุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกสบายในการใช้งาน โดยไม่ว่าจะเป็น ELAN รุ่นปกติหรือรุ่นสูงสุดคือรุ่น SE จะมีเพียงเกียร์ธรรมดาแบบซิงโครเมซ 5 จังหวะ และคลัตซ์แบบแห้งแผ่นเดียวทำงานด้วยระบบไฮดรอลิคจึงสามารถเหยียบคลัตซ์ได้ เบาสบายเท้าไม่หนักเหมือนรถสปอร์ตแรงม้าสูงๆโดยแทบไม่ต้องออกแรงเหยียบกด แป้นคลัตซ์ เพื่อการใช้งานในเมืองที่ต้องเปลี่ยนเกียร์กันบ่อยครั้งนั่นเอง
เครื่องยนต์ ความจุแค่ 1588 C.C. ของ ISUZU ที่ติดตั้งใน ELAN แม้จะเป็นเครื่องยนต์ขนาดเล็กแรงม้าไม่มากมายอะไรนัก แต่มันก็เหมาะสมมากกับน้ำหนักของ ELAN ที่มีเพียง 990 กิโลกรัม โดยสามารถกดคันเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรในเวลาเพียง 7.1 วินาที และไปได้ถึง 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่ผู้ขับขี่ควรระมัดระวังเนื่องจากตัวถังของ ELAN เป็นไฟเบอร์กลาสทั้งคันแถมในยุค 1990 ยังไม่ค่อยมีรถยนต์ที่ติดตั้งระบบความปลอดภัยให้กับตัวรถมากนัก แอร์แบคและระบบควบคุมการทรงตัวด้วยสมองกลอีเลคโทรนิค รวมถึงระบบช่วยเบรคยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา ELAN จึงยังจำเป็นต้องใช้ฝีมือของผู้ขับขี่ในการควมคุมรถด้วยตัวเองแต่มันก็ให้ ความรู้สึกดิบๆแบบรถแข่งที่หาไม่เจอในรถยุคนี้และถ้ายิ่งขับขี่ในเส้นทาง ขึ้นลงเขาหรือทางที่มีโค้งเยอะๆวกไปวนมา ช่วงฐานล้อที่กว้างกับตัวถังสั้นๆและช่วงล่างแบบรถแข่งที่ขึ้นชื่อของLOTUS สามารถทำให้รถสปอร์ตเครื่องยนต์ใหญ่ๆแรงม้าสูงๆ สงสัยว่าทำไมเจ้า ELAN ยังคงเกาะติดท้ายรถอยู่ได้ในเส้นทางที่อุดมไปด้วยโค้ง
ระบบช่วงล่างถือเป็นหัวใจสำคัญของรถสปอร์ตที่จะรองรับแรงม้าและสภาพถนนในทุกเส้นทาง ซึ่ง ELAN ก็ทำได้เป็นอย่างดีโดยใช้ระบบกันสะเทือนด้านหน้าและด้านหลังแบบอิสระ ปีกนกสองชั้น ช็อคแอบซอร์บเบอร์แก็ซ คอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง โดยออกแบบให้มีขนาดใหญ่แข็งแรงทนทาน กระทะล้อขนาด 6.5 JJ 15 นิ้วพร้อมยาง MICHELIN MXX 2 ขนาด 205/50/ZR15 เนื่องจากมันเป็นรถขนาดเล็กท้ายสั้นมีน้ำหนักไม่มากนักแต่ก็สามารถใส่ล้อ ขนาด 17 นิ้วเพื่อเพิ่มการยึดเกาะและความสวยงามซึ่งในยุค 1990 นั้นล้อขนาด 17 นิ้วถือว่าเป็นของแปลกใหม่เลยทีเดียว
รูปทรงของ ELAN ยังคงรักษาความเป็นรถสปอร์ตไว้อย่างเหนียวแน่นตามสายเลือดรถแข่งของ LOTUS แต่ก็ต้องทิ้งเอกลักษณ์สำคัญคือการขับเคลื่อนที่ต้องเปลี่ยนจากขับเคลื่อน ล้อหลังมาเป็นขับเคลื่อนล้อหน้าเนื่องจากมันเอาเครื่องยนต์ของ ISUZU มาวางนั่นเอง พื้นที่ที่เคยเป็นอุโมงค์เพื่อวางเพลากลางตอนเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลังในโมเดล แรกหายไป ทำให้พื้นที่ห้องโดยสารมีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ไฟหน้าเป็นแบบฮาโลเจน POP-UP ข้างละสองดวงซึ่งในยุค 1990ไฟแบบ POP-UP กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แอร์โร่พาร์ตรอบคันทำได้สวยงามกลมกลืนกับตัวรถ และตัวถังทำด้วยไฟเบอร์กลาสที่เป็นความชำนาญของ LOTUS มาช้านานในการสร้างรถแข่งจัดได้ว่าเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้ไฟเบอร์ในการ ประกอบตัวถังได้ดีที่สุดรายหนึ่งของโลกยานยนต์จนถึงทุกวันนี้
เจตนารมย์เดิมของคอลลิน แชปแมน ผู้ก่อตั้งบริษัท LOTUSที่ล่วงลับไปแล้วก่อนวัยอันควรถูกสานต่อโดยบริษัทรถยนต์มากมายที่เข้ามาร่วม ทุนกับ LOTUS ทำให้บริษัทรถสปอร์ตเล็กๆสัญชาติอังกฤษยังคงยืนหยัดอยู่ได้และผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพเพื่อยึดถือความคิดเดิมของ คอลลิน แชปแมน ตำนานของโลกความเร็วที่มีนิยามว่า เล็ก เร็ว และแรง นั่นเอง
LOTUS ELAN 1991-1995
เครื่องยนต์ : 4 สูบแถวเรียง วางขวางด้านหน้า
ลักษณะเครื่องยนต์ : ทวินแคม 16 วาวล์
บล็อก/ฝาสูบ : เหล็กหล่อ / อลูมินัมอัลลอย
ความจุ : 1588 C.C.
กระบอกสูบ/ช่วงชัก : 80.0 x 79.0 ม.ม.
อัตราส่วนกำลังอัด : 8.2:1
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง : หัวฉีดอิเลคโทรนิค DELCO-ROCHESTER MULTI POINT
ระบบอัดอากาศ : TURBO IHI RHB 5
WASTEGATE : ควบคุมแรงดัน 9.5 PSI และอินเตอร์คูลเล่อร์
แรงม้าสูงสุด : 165 DIN / 6600 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด : 20.4 กิโลกรัม-เมตร / 4200 รอบต่อนาที
ระบบส่งกำลัง : คลัตซ์แห้งแผ่นเดียว ทำงานด้วยไฮรโดรลิค
ระบบขับเคลื่อน: ขับเคลื่อนล้อหน้า
เกียร์ เกียร์ธรรมดา : แบบซิงโครเมซ์เดินหน้า 5 จังหวะ
อัตราทดเกียร์ 1 3.333:1
2 1.961:1
3 1.333:1
4 1.027:1
5 0.827:1
เกียร์ถอยหลัง : 3.583:1
เฟืองท้าย : 3.833:1
ระบบกันสะเทือนหน้า/หลัง : อิสระ ปีกนกสองช้ัน ช็อคแอบซ็อร์บเบอร์แบบแก็ซ คอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง
กระทะล้อ อัลลอย : ขนาด 6.5 JJ x 15 นิ้ว
ยาง : MICHELIN MXX 2 ขนาด 205/50/ZR 15
ระบบเบรค : ABS แบบสองวงจรอิสระ พร้อมหม้อลมและวาวล์ปรับแรงดัน หน้า ดิสเบรค ชนิดมีรูระบายความร้อน ขนาด 254 ม.ม. หลัง ดิสเบรค ขนาด 236 ม.ม.
พวงมาลัย : แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมพาว์เวอร์
รัศมีวงเลี้ยว : 10.2 เมตร
อัตราเร่ง : 0-100 กิโลเมตร - 7.1 วินาที
ความเร็วสูงสุด : 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ความจุถังน้ำมัน 47 ลิตร
...
เรื่องโดย mr.black
ภาพโดย
www.lotuswallpapers.com
www.racetep.com
www.carbuying.us