ซอฟต์แวร์กายวิภาคของมนุษย์ หรือ THUMS ถูกสร้างขึ้นเพื่อยกระดับความปลอดภัยให้คนขับและผู้โดยสารเมื่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในขณะที่เรากำลังเดินทางโดยรถยนต์ ทุกคนต่างกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุ เมื่อไม่นานมานี้มีหลากหลายเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบป้องกัน (active safety technologies) ที่ได้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แต่เทคโนโลยีความปลอดภับแบบปกป้อง (passive safety technology) เข้ามามีบทบาทมากที่สุดในการลดการบาดเจ็บให้กับผู้คนในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

...

คุณอาจด่วนสรุปว่าเทคโนโลยีที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการทดสอบการชนของรถยนต์ ซึ่งจะว่าไปแล้วความคิดนี้ก็ถูกต้องบางส่วน อย่างไรก็ตาม หากต้องนำรถยนต์จริงๆ มาทดสอบการชนทุกครั้งที่ต้องการทดสอบสถานการณ์ต่างๆ ทั้งแรงปะทะที่เกิดขึ้น การทำงานของระบบปกป้องผู้โดยสาร และอาการบาดเจ็บของหุ่นทดสอบที่มีเครื่องมือวัดแรง G ติดตั้งอยู่ภายในตัวหุ่น คงจะเป็นการสิ้นเปลืองเกินไปสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ ในความเป็นจริง ช่วงเวลาของการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในรถยนต์รุ่นใหม่ที่ Toyota ทำการทดสอบการชน นอกจากจะทดสอบการชนโดยใช้รถจริงแล้ง Toyota ยังทดสอบในลักษณะของการใช้เทคโนโลยีแบบเสมือนจริงผ่านการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อจำลองสถานการณ์การชน ตลอดจนพยายามพิสูจน์สมรรถนะความปลอดภัยแบบปกป้อง (passive safety) จากการทดสอบการชนทั้งสองแบบ เพื่อทำการวิเคราะห์และปรับปรุงระบบความปลอดภัยให้ดีขึ้น

การทดสอบการชนแบบเสมือนจริงโดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมามักจะคิดถึงรถยนต์เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรถชนแล้วจะทำให้รูปทรงของรถเปลี่ยนไปอย่างไร วิศวกรของ Toyota วิเคราะห์ลึกลงไปกว่านั้น ด้วยการพัฒนาโมเดลจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงที่เรียกว่า THUMS โมเดลดังกล่าวนี้สามารถจำลองและคำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายของมนุษย์ในสถานการณ์การชนแบบต่างๆ ทั้งการชนปะทะอย่างรุนแรงด้านหน้า ด้านข้าง หรือแม้แต่การพลิกคว่ำ ด้วยเหตุนี้เอง ในการทดสอบการชนแบบเสมือนจริงที่ Toyota พัฒนาขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านการวิจัยเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้อง โดยวิเคราะห์ทั้งในแง่ของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวรถเอง และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับร่างกายของคนขับและผู้โดยสารที่อยู่ในสถานการณ์อุบัติเหตุรุนแรง

...

THUMS มีความแม่นยำสูง ประกอบไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยของร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างกระดูก สมอง อวัยวะภายในกล้ามเนื้อ และอื่นๆ แล้ว ยังลงรายละเอียดเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของร่างกายได้อีกด้วย (ดูจากความหนาแน่นและสสาร) เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งผลการประเมินที่ถูกต้องแม่นยำว่าร่างกายมนุษย์จะเสียหายเพียงใดกรณีเกิดรถชน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ Toyota ต้องสร้างสรรค์การจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงขึ้นมา

...

ผู้นำในการพัฒนา THUMS คือ ยูอิชิ คิตากาวา ในภาพนี้เขากำลังถือมาสคอตที่ใช้ในการโปรโมต THUMS ในเอเชีย คิตากาวา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหุ่นทดสอบ THUMS ตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการรับรองเป็นวิศวกรในภาคีสมาชิกของสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น รวมถึงปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ 

...

การพัฒนา THUMS นอกจากที่บุคลากรในทีมงานของ Toyota จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูงแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและระบบของร่างกายมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ วิศวกรแต่ละคนในทีมพัฒนา THUMS ต่างก็เป็นวิศวกรในกลุ่มยานยนต์ที่ไม่ได้มีความคุ้นเคยใดๆ เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ พูดง่ายๆ ก็คือ วิศวกรกลุ่มนี้เป็นช่าง ไม่ใช่หมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทีมงานต่างต้องลองผิดลองถูกอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังประสบกับปัญหายุ่งยากอยู่ตลอดกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวนี้

ทำไม THUMS ถึงเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนบนถนน และ THUMS ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องได้อย่างไร ถือเป็นหัวข้อที่แตกต่างไปจากการพัฒนารถยนต์โดยทั่วไป แต่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของ Toyota โดยแบรนด์สามห่วงได้ทยอยออกบทความต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่บทความนี้เป็นบทความแรก เพื่อไล่เรียงเรื่องราวความเป็นมาของการพัฒนา THUMS โดยพูดคุยกับวิศวกรผู้พัฒนา ยูอิชิ คิตากาวา หรือที่ใครๆ รู้จักกันในชื่อ Mr. THUMS เป็นผู้ที่ทำการวิจัยและพัฒนา THUMS มาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี

เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์อุบัติเหตุรถชนที่กินเวลาเพียงเสี้ยววินาที ยูอิชิ คิตากาวา ร่วมงานกับ Toyota มาตั้งแต่ปี 2547 โดยเป็นสมาชิกคนสำคัญของทีมวิจัยเพื่อความปลอดภัยแบบปกป้อง ผ่านการพัฒนาและจำลองระบบ THUMS ขณะที่ คิตากาวา กำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัย โดยเลือกวิชาเอกฟิสิกส์ประยุกต์ ลงเรียนหลักสูตรด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ย้อนกลับไปในตอนที่กำลังอยู่ในวัยเรียน คิตากาวา ได้ยินมาว่ามีบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งกำลังจะพัฒนาเทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์การชน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าต่อมาคิตากาวาก็ลงเอยด้วยการไปช่วยทีมวิจัยทีมนี้ในฐานะนักศึกษาฝึกงาน หลังจากที่เรียนจบ คิตากาวา เข้าทำงานต่อกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ Toyota ช่วงปลายทศวรรษ 1980 กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้าไปทำความรู้จักกับการจำลองสถานการณ์การชน เทคโนโลยีความปลอดภัยในรถยนต์ มีจุดกำเนิดจากแวดวงทหารอากาศในสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 1950 โดยเป็นรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่คิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่อจำลองการชนกับจรวดมิสไซล์และวัตถุอื่นๆ ที่บินด้วยความเร็วสูงเป็นพิเศษ ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เริ่มนำเอาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ในเวลาต่อมาก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อจำลองสถานการณ์การชนของยานพาหนะในรูปแบบต่างๆ การทดสอบการชนนั้นเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรวดเร็วมากเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การจำลองสถานการณ์การชนโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยจึงสามารถสร้างภาพของการชนขึ้นมาใหม่ และวิเคราะห์กระบวนการที่เกิดขึ้นกับรถที่เสียรูปทรงจากการดูดซับแรงกระแทก

การประเมินสมรรถนะความปลอดภัยแบบปกป้องนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดขึ้นทุกปี การที่ Toyota จะต้องมาสร้างรถยนต์ต้นแบบขึ้นมาจริงๆ แล้วนำไปทำการทดสอบเพื่อให้ผ่านหลักเกณฑ์เหล่านี้อยู่ตลอดนั้น ถือเป็นการสิ้นเปลืองทั้งในแง่เวลาและงบประมาณในการพัฒนา ดังนั้น บรรดานักวิจัยจึงเริ่มคิดค้นหาวิธีการที่จำลองสถานการณ์การชนที่จะช่วยคาดการณ์ผลลัพธ์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากการคาดการณ์นี้ก็จะถูกยืนยันผลอีกทีในขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบ ด้วยการนำเอารถยนต์จริงมาใช้ทดสอบการชน ต่อมา เมื่อหลักเกณฑ์ระบบความปลอดภัยในรถยนต์เริ่มทวีความเข้มงวดมากขึ้น การจำลองสถานการณ์การชนก็จำเป็นที่จะต้องมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย คอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการประมวลผลขั้นสูงกว่าเดิม ซึ่งในตอนแรก การจำลองสถานการณ์การชนจะเน้นไปที่การวิเคราะห์พิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวถัง แต่หลังจากนั้น เทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์การชนก็เริ่มถูกพัฒนาเพื่อคาดการณ์การเคลื่อนไหวและน้ำหนักจากแรงกระแทกที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการชน

ขอบเขตของการวิจัยได้ถูกขยายออกไปจากเดิม ซึ่งเน้นการจำลองการชนของยานพาหนะไปเป็นการจำลองดูว่าผู้โดยสารในรถได้รับผลกระทบและอาการบาดเจ็บอย่างไรบ้างจากอุบัติเหตุ การวิจัยและพัฒนาหุ่นทดลองเพื่อจำลองลักษณะร่างกายของผู้โดยสารที่นั่งอยู่บนรถที่ชนนั้น เริ่มมีการใช้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 โดยในช่วงทศวรรษ 1970 ได้มีการพัฒนาหุ่นทดลองรุ่น Hybrid III ขึ้นมาโดยบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส ในสหรัฐอเมริกา หุ่นทดลองรุ่นนี้ได้ถูกนำไปใช้โดยกองบริหารความปลอดภัยในจราจรบนทางหลวงแห่งชาติ (National Highway Traffic Safety Administration-NHTSA) ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมีการนำเอาไปใช้เช่นเดียวกัน

ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเริ่มตื่นตัวมากขึ้นในการวิจัยและพัฒนาระบบความปลอดภัยแบบปกป้อง โดยเริ่มแรกมีการส่งวิศวกร Toyota ไปที่มหาวิทยาลัยเวย์น สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ ในรัฐดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ คิตากาวา เคยถูกส่งไปที่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันนี้ โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ทำงานอยู่ในขณะนั้น วิศวกรในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ หันมาศึกษาเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ เป็นสาขาที่เรียกกันว่าชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) ซึ่งการที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลการทดลองการชนโดยใช้หุ่นทดลองได้นั้น ต้องทำการวิจัยโดยอาศัยศพของผู้ที่บริจาคร่างกายเพื่อหาคำตอบว่าร่างกายมนุษย์จะสามารถทนรับน้ำหนักได้มากเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น การวิจัยพบว่ากระดูกอาจแตกหักได้หากมีการเสียรูปในระดับที่มากเกินกว่าร้อยละ 3 คิตากาวา ถึงขั้นใส่เสื้อคลุมสีขาวเพื่อเข้าร่วมการผ่าศพในการศึกษากายวิภาคศาสตร์ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจร่างกายมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น ในสหรัฐอเมริกา บุคคลสามารถบริจาคร่างกายเพื่อจุดประสงค์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เหมือนกับการบริจาคอวัยวะ ซึ่งช่วยให้การศึกษาทดลองต่างๆ เป็นไปได้ง่าย ดูเหมือนว่าเป็นเพราะร่างกายที่ได้รับการบริจาคและการศึกษาวิจัยในรูปแบบนี้เองที่ช่วยผลักดันให้เทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องในรถยนต์พัฒนามาได้ไกลดังเช่นทุกวันนี้

THUMS จำลองร่างกายมนุษย์ที่บอบบางขึ้นมาใหม่
ประวัติความเป็นมาในการพัฒนา THUMS ในปี 2543 Toyota เปิดตัว THUMS เวอร์ชั่นแรก เป็นโครงการที่พัฒนาร่วมกับ Toyota Central R&D Labs ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น คิตากาวา ยังทำงานอยู่ที่ทำงานเก่า ซึ่งก็มีโอกาสได้ฟังการนำเสนอเกี่ยวกับ THUMS โดย อิวาโมโต จากสถาบัน Toyota Central R&D Labs ภายในการประชุมของสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น ในปี 2543 การได้ฟังเรื่องราวของ THUMS ในครั้งนั้นส่งผลต่อ คิตากาวา แน่นอนว่าก่อนหน้านั้นเขาเคยได้เห็นโมเดลต่างๆ ที่จำลองอวัยวะบางส่วนของร่างกายมนุษย์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่เทคโนโลยี THUMS ของ Toyota เป็นโมเดลแรกที่จำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริง โดยสามารถจำลองร่างกายมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์และแม่นยำตลอดทั้งตัว นั่นทำให้ คิตากาวา มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา THUMS ด้วยตัวเอง หลังจากนั้น คิตากาวา ถูกเรียกให้เข้ารับการสัมภาษณ์กับทาง Toyota และได้ร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในท้ายที่สุด

บริษัทรถยนต์ที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนารถที่ปลอดภัยได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจำลองร่างกายมนุษย์ที่มีความบอบบางให้ได้ก่อน แม้ว่าหุ่นทดลองจะถูกออกแบบมาให้มีความทนทานต่อการทดสอบการชนได้ซ้ำหลายครั้ง แต่ในความเป็นจริง มนุษย์สามารถตายได้ในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

นี่คือครั้งแรกของโลกที่ Toyota มีโมเดลจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริง ซึ่งสามารถจำลองร่างกายของมนุษย์ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนทั้งตัว และต้องใช้ความพยายามอย่างมหาศาลกว่าจะพัฒนามาได้ถึงขั้นนี้

ในช่วงแรกเริ่มของการวิจัยและพัฒนา THUMS ทีมงานต้องพยายามค้นหาหนทางเดินหน้าพัฒนาโครงการทั้งที่มืดแปดด้าน เพราะงานนี้จำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะทางทั้งในด้านกายวิภาคศาสตร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อิวาโมโต จาก Toyota Central R&D Labs ถึงขั้นเคยโดนดูถูกว่า ไม่มีทางที่ Toyota ทำโมเดลจำลองร่างกายมนุษย์ให้สำเร็จได้ ตอนที่ อิวาโมโต กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนา อันดับแรก ทีมวิศวกรของ Toyota ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำการจำลองรูปร่างของมนุษย์ โดยอ้างอิงจากข้อมูลด้านกายวิภาคศาสตร์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงคือ หากทำการจำลองโมเดลโดยลงรายละเอียดมากจนเกินไป ก็จะส่งผลต้องใช้เวลามากเกินไปในการประมวลผลเมื่อจำลองการชน ในทางกลับกัน หากจำลองโมเดลง่ายจนเกินไป ก็จะไม่สามารถประเมินปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายมนุษย์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การจำลองโมเดลนั้นอยู่ในจุดที่สมดุลพอดี

เนื่องจากร่างกายของมนุษย์ไม่ได้ประกอบไปด้วยเส้นตรงหรือรูปทรงวงกลมแบบทื่อๆ ทีมงานจึงต้องป้อนข้อมูลโดยการวาดด้วยมือเอง หลังจากที่ทำรูปร่างของร่างกายเสร็จสิ้นแล้ว ทีมวิศวกร Toyota ก็จะเริ่มลงรายละเอียดอื่นๆ ในเชิงกลศาสตร์สำหรับส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก และอวัยวะภายใน ซึ่งนี่จะทำให้เห็นว่าร่างกายจะเกิดการบาดเจ็บหรือเสียหายอย่างไรเมื่อมีแรงน้ำหนักเข้ามากระแทก มีการค้นคว้าหาข้อมูลมาจากงานวิจัยต่างๆ ทั่วโลก สำหรับส่วนใดของร่างกายที่ไม่มีข้อมูลปรากฏ จะมีการใช้ข้อมูลจากสัตว์แทน

รูปทรงของร่างกายมนุษย์ถูกจำลองขึ้นด้วยมือ โดยมีการสร้างกริดราว 80,000 กริดด้วยคอมพิวเตอร์ นับเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของทีมงาน จากความพยายามทั้งหมดนี้ ทำให้ Toyota ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวเวอร์ชั่นที่ 1 ออกมาในปี 2543 แต่การประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในแง่ของเทคโนโลยีเท่านั้น ด้วยความที่โมเดลจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงภายใต้ชื่อ THUMS เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ทำให้คนที่ได้ยินเกี่ยวกับโครงการนี้เป็นครั้งแรกจินตนาการไม่ออก ไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร แม้กระทั่งหลังจากที่ คิตากาวา อธิบายให้ผู้สื่อข่าวฟังคร่าวๆ ก็ยังได้รับคำถามอยู่ว่า เข้าใจเนื้อหา แต่ THUMS ตัวจริงอยู่ที่ไหนล่ะ 

เทคโนโลยีเสมือนจริง ทำให้ THUMS สามารถวิเคราะห์ผลได้มากมาย เป็นสิบ เป็นร้อย หรือกระทั่งเป็นพันๆ ผลการวิเคราะห์ โดยการปรับเปลี่ยนสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยหาก Toyota พึ่งพาการทดสอบการชนโดยใช้รถยนต์จริง เนื่องจาก THUMS ไม่สามารถจับต้องได้ ทำให้มันเป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้เพื่อค้นหาเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องที่เป็นมิตรกับผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง THUMS ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งสร้างความปลอดภัยแบบปกป้องให้กับรถยนต์ เป็นความพยายามครั้งแรกของโลกที่จะสร้างการจำลองร่างกายมนุษย์ที่มีความซับซ้อนให้ได้อย่างแม่นยำด้วยคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากว่าจะสำเร็จมาจนถึงจุดนี้ได้ ต้องอาศัยหยาดเหงื่อและประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคท้าทายมากมาย การวิจัยในลักษณะนี้จะนำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องได้ในท้ายที่สุด


20 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่ THUMS เวอร์ชั่นแรกได้รับการเปิดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ และตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป ซอฟต์แวร์ THUMS จะเปิดให้ใช้งานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ด้วยการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาความปลอดภัยในการขับเคลื่อนแห่งอนาคต บริษัทรถยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota สามารถยกระดับเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบปกป้องให้กับรถยนต์ได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น.