หลังจากที่เมื่อวานนี้มีหญิงสาวตั้งครรภ์ 6 เดือน พลัดตกลงไปบนรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีบ้านทับช้าง จนถูกรถไฟทับเสียชีวิต สร้างความเศร้าสลดใจแก่ผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก

วันนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ เปิดหนทาง “ต้องรอด” หากคุณเกิดพลัดตกลงไปบนรางรถไฟฟ้า โดยผู้ที่จะมาให้ข้อมูลนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ และนาทีนี้คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

2 ข้อ ต้องรอด เมื่อพลัดตกบนรางรถไฟฟ้า

ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ข้อแรก หากผู้โดยสารที่ตกลงไปบนรางรถไฟฟ้ายังมีสติอยู่ ไม่ควรอยู่บริเวณรางที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่าน เนื่องจากความสูงของท้องรางกับตัวรถมีพื้นที่แคบมาก และอันตรายอย่างมาก ส่วนผู้โดยสารหากปีนขึ้นมาไม่ทัน จะสามารถหลบรถไฟฟ้าตรงส่วนไหนได้บ้างนั้น จำไว้ว่า...

...

แอร์พอร์ตลิงก์ - ให้หลบข้างใต้ชานชาลา หรือตรงกลางระหว่างทั้งสองราง
บีทีเอส รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง - ให้หลบข้างใต้ชานชาลาเพียงอย่างเดียว เพราะตรงกลางมีกระแสไฟฟ้าแรงสูง

ข้อสอง หากผู้โดยสารที่ตกลงไปหมดสตินั้น ผู้ที่พบเห็นหรือเจ้าหน้าที่สามารถกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินนี้ได้ตลอด โดยทุบและกดได้ทันที แต่โดยปกติจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ที่จุดนี้อยู่แล้ว จากนั้น จึงมีการช่วยเหลือต่อไป อย่างเช่นเหตุการณ์เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ก็กดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินทันที

ทั้งนี้ สถานีรถไฟฟ้าแต่ละแห่งจะมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉินเป็นกล่องสีเหลือง ติดอยู่ที่ชานชาลา ฝั่งละ 5 ตัว โดยปุ่มหยุดรถฉุกเฉินจะส่งสัญญาณไปที่ตัวขบวนรถ โดยจะไม่ให้รถเข้าสถานี หากรถอยู่ไกลก็จะเบรกและหยุด โดยที่ไม่เคลื่อนเข้าสถานีทั้งสองฝั่งไปและกลับ แต่หากรถเข้ามาใกล้สถานีแล้วก็จะกดปุ่มเบรกฉุกเฉินเท่าที่ความสามารถจะหยุดรถได้

“อย่างไรก็ตาม อันตรายของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ก็คือ รถวิ่งด้วยความเร็วสูง หากเห็นคนตกลงไปการที่พลเมืองดีจะกระโดดไปช่วยในทันที ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมากทั้งพลเมืองดีที่จะกระโดดลงไปช่วยและผู้ประสบเหตุ ดังนั้น อันดับแรกที่ควรปฏิบัติคือการหยุดรถไฟฟ้าไม่ให้เข้าสถานีก่อน” ผู้เชี่ยวชาญจาก ร.ฟ.ท. ชี้แนะ

ผู้โดยสารพลัดตกลงบนรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จะถูกไฟช็อตไหม?

นายสุเทพ ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำ ว่า ไม่ช็อตครับ! โดยระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งกันอยู่ทั่วโลกมีอยู่ 2 ระบบใหญ่ๆ ได้แก่ ระบบสายส่งเหนือหัว อย่างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ตัวกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้กับตัวขบวนรถไฟฟ้า จะอยู่ด้านบน ซึ่งสูงมากประมาณ 3 เมตรกว่าๆ ซึ่งมันจะไม่ช็อต แต่ถ้าเป็นบีทีเอส รถไฟใต้ดิน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นระบบเดียวกัน โดยเป็นระบบรางที่สาม (Third Rail) จะมีรางจ่ายไฟอยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองราง จะวิ่งคู่ขนานไปกับราง ซึ่งจะอันตรายมาก เสี่ยงไฟดูดได้

เมื่อรถไฟฟ้าต้องการจะเบรกฉุกเฉิน ต้องใช้ระยะทางกี่เมตร?

สำหรับประเด็นดังกล่าวนี้ นายสุเทพ อธิบายว่า การที่รถไฟฟ้าจะเบรกฉุกเฉินต้องใช้ระยะทางกี่เมตรนั้น ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถไฟฟ้า ซึ่งความเร็วสูงสุดของรถไฟฟ้าอยู่ที่ 160 กม.ต่อชม. ต้องใช้ระยะเบรก 800 เมตร ขณะที่โดยปกติเมื่อรถไฟฟ้าเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชานชาลา จะวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 60 กม.ต่อชม. ซึ่งจะต้องใช้ระยะเบรก 100 กว่าเมตร ซึ่งเหตุการณ์เมื่อวานนี้ขบวนรถอยู่ห่างจากชานชาลาไม่ถึง 100 เมตรเท่านั้น ทำให้รถมีระยะการเบรกไม่ทัน จึงเกิดเหตุน่าสลดใจขึ้น

...

ด้าน ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้คำแนะนำกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การพลัดตกลงไปบนรางรถไฟฟ้า ดังนี้

1. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนชานชาลากดปุ่มตัดกระแสไฟฟ้าบริเวณรางรถไฟ ซึ่งจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะทำเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

2. เจ้าหน้าที่กดปุ่มหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน เพื่อใช้หยุดการเคลื่อนที่ของรถไฟฟ้า ไม่ให้เข้าหรือออกจากสถานี

3. เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าจะกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน เพื่อหยุดรถไฟฟ้า โดยรถไฟฟ้าไม่เหมือนรถยนต์ที่จะสามารถหยุดได้ทันที เพราะล้อยางบนพื้นถนน กับ ล้อเหล็กบนรางเหล็ก แตกต่างกัน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าไม่สามารถหยุดรถได้ทันที ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ และสภาพของรางรถไฟฟ้า เช่น ความเร็วของรถไฟฟ้าที่จะเข้าเทียบชานชาลาใช้ความเร็ว 60 กม.ต่อ ชม. ดังนั้น ระยะในการหยุดรถต้องใช้การเบรกไม่ต่ำกว่า 100 เมตร

4. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุก่อนเรียกรถพยาบาล เพื่อนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

...

ทั้งนี้ สำหรับระบบรักษาความปลอดภัยของรถไฟฟ้านั้น จะมีประตูกั้นบริเวณชานชาลา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารตกลงไปบนรางรถไฟซึ่งมีกระแสไฟฟ้าแรงสูง ขณะที่ หากเป็นแอร์พอร์ตลิงก์กระแสไฟฟ้าจะอยู่เหนือหัว (Overhead Catenary) โดยจะจ่ายผ่านสาลี่ซึ่งเป็นคันเหล็กยันกับสายไฟฟ้าเปลือย ขบวนรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะยกสาลี่ขึ้นติดสาย เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าสู่ระบบขับเคลื่อน จากนั้นจึงจะไหลลงรางกลับไปยังสถานีจ่ายไฟ หรือลงดินต่อไป ซึ่งการจ่ายไฟฟ้าด้วยวิธีเหนือศีรษะ จะทำให้บำรุงทางได้ง่าย โดยไม่ต้องพะวงกับการไปเหยียบกับราวจ่ายไฟฟ้าที่พื้น

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. ยังกล่าวต่อว่า ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานีรถไฟฟ้า และควรจะต้องรักษาความปลอดภัยของตัวเองด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยบนสถานีรถไฟฟ้า ไม่สามารถที่จะดูแลผู้โดยสารทุกคนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนช่วงเช้าและเย็น โดยวิธีง่ายๆ คือ ...

1. ผู้โดยสารควรยืนเว้นระยะห่างจากเส้นสีเหลือง อย่าไปยืนทับหรือยืนใกล้ๆ ไม่ว่าคนจะแน่นแค่ไหนก็ตาม

...

2. ผู้โดยสารที่รู้สึกไม่สบาย หรือเจออากาศร้อนแล้วจะหน้ามืด เป็นลม ต้องถอยห่างออกจากเส้นสีเหลืองทันที

3. แม้มีประตูกั้นชานชาลาผู้โดยสารไม่ควรยืนพิง หรือยืนใกล้ประตู เพราะหากประตูเกิดเปิดเองขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ อาจพลัดตกลงไปบนรางรถไฟฟ้าได้

“หลากหลายคำถามที่ว่า เมื่อมีคนพลัดตกลงไปบนรางรถไฟทำไมไม่มีใครกระโดดลงไปช่วย ณ เวลานั้นที่รถไฟฟ้ากำลังจะวิ่งเข้ามาภายในระยะเวลาไม่กี่วินาที เราตอบไม่ได้หรอกว่าใครจะต้องกระโดดลงไปช่วย ซึ่งหากมีคนกระโดดลงไปช่วยจะขึ้นมาทันไหม หรือจะเป็นอันตรายไปด้วยหรือเปล่า ขณะเดียวกัน หากเห็นว่ายังไม่มีรถไฟฟ้าเคลื่อนเข้ามาก็อาจจะกระโดดลงไปช่วยได้” ผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้โดยสารมองว่า เราต้องไม่ตกลงไปบนรางรถไฟ โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบและป้องกันตัวเองส่วนหนึ่ง แต่หากพลัดตกลงไปให้มีสติและช่วยเหลือตัวเองก่อนที่จะรอคนอื่นมาช่วย.