ดีเอสไอ เข้าตรวจค้นจับกุม กรณีลักลอบถ่ายทอดสัญญาณฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท ได้ผู้ต้องหา 3 ราย พร้อมดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 พ.ค. สำนักสื่อสารองค์กร ดีเอสไอ ส่งแถลงการณ์ในกลุ่มไลน์สื่อมวลชน ระบุว่าวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นายระวี อักษรศิริ ผอ.ส่วนคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ 3 สนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านเป้าหมายตามหมายค้น ดังต่อไปนี้

1. บ้านเลขที่ 23/77 หมู่ที่ 6 หมู่บ้านฟลอร่า วงศ์สว่าง ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 2. บ้านเลขที่ 868/77 แฮปปี้คอนโด ตึกซี ซอยอยู่เจริญ 29 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 3. บ้านเลขที่ 68/55 หมู่ที่ 8 หมู่บ้านมัณฑนา บางนา กม.7 ซอยราชวินิตบางแก้ว ถนนบางนา-ตราด กม.7 ต.บางพลี จ.สมุทรปราการ 4. บริษัท เคิร์ซ จำกัด ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เลขที่ 60 ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม. และ 5. บริษัทโปรอิเมจ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เลขที่ 72 อาคาร กสท.โทรคมนาคม ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กทม.

...

เข้าจับกุม 1.นายดารี่ วิลเลี่ยม ลอยด์ (Mr.Daryl William Lloyd) อายุ 39 ปี สัญชาติอังกฤษ 2.นายวิลเลี่ยม จอห์น โรบินสัน (Mr.William John Robinson) อายุ 35 ปี สัญชาติอังกฤษ และ 3.นางสุภัตรา รักษาสัตย์ อายุ 33 ปี สัญชาติไทย พร้อมตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ที่ใช้ในการถ่ายทอดสัญญาณฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้จำนวน 9 เครื่อง กล่อง set top box สำหรับจำหน่ายให้กับสมาชิกใช้ดูการถ่ายทอดฟุตบอล จำนวน 49 กล่อง เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 9 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือจำนวน 3 เครื่อง

หลังจากตัวแทน บริษัทเดอะ ฟุตบอล แอสโซซิเอชัน พรีเมียร์ ลีก ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ์เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ของประเทศอังกฤษ มาร้องทุกข์ว่ามีการลักลอบนำสัญญาณการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ไปเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ 365sport.tv และมีเว็บไซต์ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกันอีก 5 เว็บไซต์ คือ 1. Thaiexpat.tv 2.Hkexpat.tv 3.Indoexpat.tv 4.Vietexpat.tv 5.Euroexpat.tv โดยเรียกเก็บค่าสมาชิกเป็นรายเดือน เบื้องต้นพบความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับ 3 ผู้ต้องหา ในความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 29 (3) และ มาตรา 69 และเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี ตามมาตรา 53/4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558