นายศุภชัย ศรีศุภอักษร

ไฮโซ ‘อลิสา’ ค่า 298 ล้านบ.พันฟอกเงินคดีคลองจั่น

ปปง.สั่งอายัดที่ดินตระกูล “อัศวโภคิน” 8 แปลงชั่วคราว ตั้งอยู่ที่ ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี หลังนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยักยอก ฉ้อโกงทรัพย์สินจากสหกรณ์ฯ ได้นำที่ดินไปขายให้ น.ส.อลิสา อัศวโภคิน เป็นเงิน 298 ล้านบาท แต่ไม่นำเงินส่งคืนให้สหกรณ์ต่อมาพบว่าที่ดินที่ น.ส.อลิสารับซื้อไว้และถือครอง ถูกใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารบุญรักษา หรืออาคารโรงพยาบาลของวัดพระธรรมกาย อีกคดี ปปง.อายัดทรัพย์เสี่ยเปี๋ยงและพวก โกงจีทูจีจำนำข้าว 876.5 ล้าน จ่อสอยรวม 1.29 หมื่นล้าน

ปปง.อายัดที่ดินตระกูลอัศวโภคิน เปิดเผยช่วงบ่ายวันที่ 9 พ.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการศาลยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 9/2560 โดยมี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. นายวิทยา นิติธรรม ผอ.กองกฎหมาย ปปง. เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้อายัดที่ดินจำนวน 8 แปลง ของ น.ส.อลิสา อัศวโภคิน ไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน โดยที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ที่ ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวพบว่า เมื่อปี 2556 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ขณะนั้นเริ่มถูกร้องทุกข์กล่าวโทษพฤติกรรมยักยอก ฉ้อโกงทรัพย์สินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้นำที่ดินไปขายให้ น.ส.อลิสาเป็นเงิน 298 ล้านบาท แต่ไม่นำเงินส่งคืนให้สหกรณ์ต่อมาพบว่าที่ดินที่ น.ส.อลิสารับซื้อไว้และถือครองในชื่อของตนเอง ถูกใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารบุญรักษา หรืออาคารโรงพยาบาลของวัดพระธรรมกาย

...

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวน คดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยว่า ในส่วนของทรัพย์สินที่มีที่มาจากการยักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้น ดีเอสไอได้ทำบัญชีรายการทรัพย์สินตามที่ตรวจสอบพบตามเส้นทางการเงินส่งให้ ปปง.ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่แล้ว ขณะนี้ยังไม่ทราบผลการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในทางแพ่งของ ปปง. แต่เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าในทางอาญา เนื่องจาก ปปง.สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายฟอกเงินสั่งอายัดทรัพย์สินไว้ แล้วเรียกเจ้าของทรัพย์เข้าชี้แจงแสดงที่มาของทรัพย์ต้องสงสัยได้ สำหรับในทางอาญาดีเอสไอกำลังเร่งตรวจสอบเส้นทางการเงินถึงการรับซื้อที่ดินต่อจากนายศุภชัย และเครือข่าย เบื้องต้นพนักงานสอบสวนพบการถือครองที่ดินทั้งในชื่อของ น.ส.อลิสา อัศวโภคิน และนายอนันต์ อัศวโภคิน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีร่วมกันฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมาดำเนินคดีว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่พบเบาะแสของพระธัมมชโย ถามว่ายากหรือไม่ในการจะได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี เรื่องนี้มันแล้วแต่จังหวะ บางครั้งตามจับก็ไม่ได้ บางจังหวะจะได้ตัวมันก็ได้ แต่ไม่ว่ามันจะยากหรือง่าย ตำรวจมีหน้าที่ต้องดำเนินการเอาผู้กระทำความผิดตามหมายจับมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้ ภายในอายุความ ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานว่าออกนอกประเทศ

อีกคดี ปปง.อายัดทรัพย์เสี่ยเปี๋ยง และพวกโกงจีทูจีจำนำข้าว ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. ร่วมประชุมบอร์ดพิจารณาคดี และมีการสรุปข้อมูลการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินคดีการทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (โครงการ ปี พ.ศ.2554/2555) และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปปง.มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลุ่มเอกชน เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังนี้ 1.ส่งสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.222/ 2559 ลงวันที่ 28 ก.ย.59 และตามคำสั่งเลขาธิการ ปปง.ที่ ย.220/2559 ลงวันที่ 21 ก.ย.59 ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 1,322 รายการ (ที่ดิน ห้องชุด และเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 9,692.9 ล้านบาท พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการยื่นคำร้อง และศาลแพ่งรับเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.59

2.ส่งสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.2/2560 ลงวันที่ 16 ม.ค.60 ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 2 รายการ (ที่ดิน) มูลค่าประมาณ 473.9 ล้านบาท พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการยื่นคำร้อง และศาลแพ่งรับเป็นคดีดำที่ ฟ.26/2560 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.60

3.ส่งสำนวนตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.36/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ.60 ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 14 รายการ (ที่ดิน และเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการยื่นคำร้อง และศาลแพ่งรับเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.38/2560 เมื่อวันที่ 5 พ.ค.60

4.ส่งสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องการกระทำความผิด ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.19/2560 ลงวันที่ 24 ก.พ.60 จำนวน 16 รายการ (ที่ดินและเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 1,386 ล้านบาท ให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการยื่นคำร้อง

...

5.อายัดทรัพย์สินตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.33/2560 ลงวันที่ 30 มี.ค.60 จำนวน 20 รายการ (ที่ดินและห้องชุด) มูลค่าประมาณ 138.9 ล้านบาท (เสนอส่งเรื่องให้พนักงานพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 9/2560 ในวันที่ 9 พ.ค.60

6.อายัดทรัพย์สินตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ 45/2560 ลงวันที่ 11 เม.ย.60 จำนวน 15 รายการ (ที่ดิน) มูลค่าประมาณ 49.8 ล้านบาท 7.อายัดทรัพย์สินตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ 52/1560 ลงวันที่ 28 เม.ย.60 จำนวน 177 รายการ (ที่ดิน ห้องชุด เงินฝากธนาคาร และหน่วยลงทุนในกองทุน) มูลค่าประมาณ 687.8 ล้านบาท รวมทรัพย์สินทั้งสิ้น จำนวน 1,806 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 12,929.3 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสองพันเก้าร้อยยี่สิบเก้าจุดสามล้านบาท) โดยมูลค่าทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้ไปจากการกระทำผิดประมาณ 38,000 ล้านบาท