ดัชนีความเชื่อมั่นล่วงหน้าต่ำสุดรอบ 9 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มี.ค.อยู่ที่ 87.5 ขยับตัวดีขึ้นเร่งผลิตรับออเดอร์หยุดยาวสงกรานต์ แต่ดัชนีล่วงหน้า 3 เดือน อาจอยู่ที่ 99 ต่ำสุดรอบ 9 เดือน เหตุกังวลอัตราแลกเปลี่ยน–ศก.โลกและผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์ ขณะที่ตัวเลขยอดขายรถยนต์ 3 เดือนแรกปีนี้ 2.1 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15.9% เหตุต้นปีมีการเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นใหม่เพียบ บวกราคาพืชผลเกษตรเริ่มฟื้น

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 1,125 ตัวอย่าง พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.อยู่ที่ 87.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.ที่อยู่

ที่ระดับ 86.2 เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อรองรับยอดคำสั่งซื้อในเทศกาลสงกรานต์ และเร่งกำลังการผลิตเพื่อชดเชยวันหยุดยาวในเดือน เม.ย. ประกอบกับราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตร มีการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้และการบริโภคภายในประเทศ

ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 99 ปรับตัวลดลงจากเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 100.9และยังลดต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2559 ที่อยู่ที่ระดับ 99.8 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความไม่ชัดเจนในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในหลายๆประเทศ

“สิ่งที่ผู้ประกอบการส่งออกกังวลมากที่สุด คือ เรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินบาทในเดือน มี.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 34.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากเดือน ก.พ.ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 35.02 บาทต่อเหรียญฯ หรือแข็งค่าขึ้น 1.16% สำหรับปัจจัยเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศทั้ง ฝรั่งเศส ตะวันออกกลาง และสหภาพยุโรป รวมถึงความชัดเจนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภาคเอกชนก็ยังคงมีความกังวลอยู่ เพราะจะมีผลกระทบต่อตลาดส่งออกในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในเดือน พ.ค.นี้ จะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการรับมือผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์ออกมา

...

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ตอบแบบ สอบถาม ได้ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ในภูมิภาค รวมถึงมีการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิต เร่งศึกษาผลกระทบจากนโยบายการค้า ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และแก้ไขปัญหาผังเมือง ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามีจำนวนรวม 84,800 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 16.7% ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) มียอดขายรวม 210,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 15.9% เนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ มีการเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ออกมาหลายรุ่นจากหลายๆค่าย รวมทั้งมียอดจองรถยนต์ภายในงานมอเตอร์โชว์เมื่อเร็วๆนี้ ประมาณ 30,000 คัน ส่งผลให้ยอดขายเฉพาะรถยนต์นั่งในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 40% ส่วนยอดขายรถกระบะเมื่อเดือน มี.ค.มีจำนวน 35,800 คัน เพิ่มขึ้น 15.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่มียอดขายเพียง 30,900 คัน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น มีการลงทุนของภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น ตัวเลขดังกล่าวที่ออกมาเมื่อเฉลี่ยดูแล้วยอดขายรถยนต์ในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 70,000 คัน หากเป็นเช่นนี้ ก็เชื่อว่ายอดขายรถยนต์ภายในประเทศปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 800,000 คัน ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4% ที่มียอดขายรวมอยู่ที่ 768,000 คัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง.