ทุกช่วงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยทีไร รัฐบาลและเอกชนในทุกภาคส่วนต่างลุกขึ้นมาโหมประชาสัมพันธ์และรณรงค์มาตรการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนกันอย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ที่หน่วยงานต่างๆ มีการโหมรณรงค์และประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันอุบัติเหตุมาตั้งแต่ไก่โห่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว

ทั้งที่จะว่าไปสถิติอุบัติเหตุในบ้านเรานั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เห็นได้จากข้อมูลศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. ย้อนหลัง 5 ปี (2555-2559) พบว่า ปี 55 เกิดอุบัติเหตุ 3,129 ครั้ง บาดเจ็บ 3,320 ราย เสียชีวิต 320 ราย ปี 56 เกิดอุบัติเหตุ 2,828 ครั้ง บาดเจ็บ 3,040 ราย เสียชีวิต 321 ราย ปี 57 เกิดอุบัติเหตุ 2,992 ราย เสียชีวิต 322 ราย ปี 58 เกิดอุบัติเหตุ 3,373 ครั้ง บาดเจ็บ 3,559 ราย เสียชีวิต 364 ราย ปี 59 เกิดอุบัติเหตุ 3,447 ครั้ง บาดเจ็บ 3,656 ราย เสียชีวิต 442 ราย

อีกข้อมูลอุบัติเหตุที่น่าตกใจจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่รายงานว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีสัดส่วน 36.2 ขณะที่อันดับ 1 ประเทศลิเบีย 73.4 ขณะที่เพื่อนบ้านอื่นๆในอาเซียนนั้น เวียดนามมีสัดส่วน 24.5 และมาเลเซีย 24.0

เมื่อย้อนรอยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเหล่านั้น พบว่ารถจักรยานยนต์คือพาหนะที่ครองแชมป์พาคนไทยไปตายสูงสุด มีสัดส่วนมากกว่า 60% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุใหญ่นั้นแทบไม่ต้องคาดเดากัน ล้วนเกิดจากเมาแล้วขับ และฝ่าฝืนกฎจราจรในทุกรูปแบบ

มาปีนี้ นอกเหนือจากนายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะงัด ม.44 ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 14/2560 และ 15/2560 ออกมาตรการจัดระเบียบวินัยจราจรสุดเข้มข้น จัดระเบียบการโดยสารรถยนต์และรถสาธารณะทั้งหลายแหล่แล้ว

...

หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ก็ได้โหมโรงออกมาตรการป้องกันและป้องปรามอุบัติเหตุเพื่อเสริมมาตรการของรัฐบาลข้างต้น “ทีมเศรษฐกิจ” ขอคลี่มาตรการหยุดยั้งอุบัติเหตุ ทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริมต่างๆเหล่านี้ ดังนี้ :

มาตรการหลักรับมืออุบัติเหตุ

มาตรการหลักที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติถึงกับต้องงัด ม.44 จัดระเบียบวินัยจราจรสุดเข้มข้นของการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ประกอบด้วย การออกประกาศ คสช.ที่ 14/2560 ว่าด้วยมาตรการจัดระเบียบวินัยจราจร โดยพุ่งเป้าไปที่การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

ประกอบด้วย 1.การบังคับผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถยนต์ และรถโดยสารทุกชนิดประเภทต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งขณะโดยสาร 2.การบังคับให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ได้รับใบสั่งจากกระทำผิดกฎจราจร เช่น ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงต้องไปชำระค่าปรับภายใน 30 วัน หากเจ้าของรถไม่ชําระค่าปรับที่ค้างชําระหรือชําระไม่ครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี

แม้ในส่วนของมาตรการห้ามโดยสารในแค็บ และนั่งกระบะท้าย ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดีเดย์บังคับใช้ตามคำสั่ง คสช.ข้างต้นจะถูกผู้คนในสังคมต่อต้านอย่างหนัก จนนายกฯต้องยอม “ถอยร่น” ชะลอมาตรการดังกล่าวออกไปและยอมผ่อนปรนให้โดยสารในแค็บและท้ายกระบะได้ไม่เกิน 6 คน แต่ในส่วนของมาตรการอื่นๆนั้น ยังคงบังคับใช้ต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของการคาดเข็มขัดนิรภัย และจำกัดควบคุมความเร็ว

ขณะเดียวกัน ยังออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 15/2560 จัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะที่ให้บริการทั้งในกรุงเทพฯ หรือวิ่งจากกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด หรือให้บริการระหว่างจังหวัด กำหนดมาตรฐานรถตู้ การติดตั้งเชื้อเพลิงและการบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 13 ที่นั่ง แก้ไขปัญหาความลักลั่นที่มีอยู่ก่อนหน้า

ทั้งยังกำหนดให้ประกอบการขนส่งต้องควบคุมดูแลพนักงานขับรถให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความปลอดภัย รวมถึงต้องจัดทำสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถพร้อมทำบันทึกการตรวจสอบดังกล่าว การห้ามกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการ อาทิ การบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ทิ้งผู้โดยสาร เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด กรมการขนส่งทางบกสามารถสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ทันทีโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

มาตรการหลักข้างต้นนั้น ทุกฝ่ายเชื่อว่าน่าจะทำให้สถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ลดดีกรีความรุนแรงลงไปจากอดีตและหากมาตรการนี้ได้ผล คงจะเป็น “โมเดล” ที่มีต่อต่อยอดต่อเนื่องไปยังเทศกาลอื่นๆต่อไป


คปภ.สั่งลดเบี้ยประกันจูงใจ

ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงมาตรการเสริมสร้างวินัยจราจรและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า ในส่วนของสำนักงาน คปภ.ได้มีคำสั่ง 8/2560 เรื่องอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์สำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งกับรถยนต์ให้ได้รับส่วนลดจากเบี้ยประกันภัยสำหรับการทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ 5-10% ของเบี้ยประกันสุทธิ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.60 เป็นต้นมา

“กล้อง CCVT ที่ติดตั้งกับรถมีส่วนสำคัญในการตรวจสอบวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน ตลอดจนเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันการกระทำความผิด ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ขับขี่ขับรถด้วยความระมัดระวัง ไม่กล้าฝ่าฝืนกฎจราจรแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดเหตุอาชญากรรม และยังช่วยให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

...

ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติมีความชัดเจนยิ่งขึ้น คปภ.ได้ให้คำนิยามกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งกับรถยนต์ให้หมายถึงกล้องติดรถยนต์ทุกประเภทที่ติดตั้งภายในรถยนต์ และสามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ อย่างโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตที่นำมาดัดแปลงเพื่อใช้งานเช่นเดียวกับกล้องติดรถยนต์

ทั้งนี้ เลขาธิการ คปภ.ระบุด้วยว่า ผู้ทำประกันภัยสามารถจะติดตั้งระบบกล้องไว้เพียงด้านหน้ารถยนต์คันที่เอาประกันภัย โดยไม่จำเป็นต้องติดรอบคัน เพียงให้บริษัทใช้ภาพถ่ายการติดตั้งระบบกล้องมาเป็นเอกสารประกอบเวลาทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น

“หากบริษัทประกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คปภ. มีความผิดมาตรา 90 ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย มีโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย และหากมีการร้องเรียน 10 ราย ก็อาจต้องปรับเป็นเงินสูงสุดถึง 3 ล้านบาท”


ชู “ประกันภัย 222” รับสงกรานต์

เลขาธิการ คปภ.ยังกล่าวด้วยว่า คปภ.ยังได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มูลนิธิเมาไม่ขับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิต จัดโครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ภายใต้แคมเปญ “สงกรานต์ปีนี้เดินทางสุขใจด้วยการประกันภัย” เพื่อสร้างจิตสำนึก สร้างวัฒนธรรมที่ดีในการขับขี่อย่างปลอดภัยและตระหนักในการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน

โดย คปภ.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวมทั้งภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการการดูแลผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที โดยส่วนกลางได้จัดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนภายในองค์กรทั้งสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ส่วนภูมิภาคนั้นผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ดำเนินงานแบบบูรณาการกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัย รวมทั้งให้บริการประชาชนตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์

...

ขณะเดียวกันสำนักงาน คปภ.ยังมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงหลักประกันความคุ้มครองอุบัติเหตุให้กับตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงเทศกาล จึงร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยส่งมอบของขวัญชิ้นพิเศษเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบพิเศษ ที่เรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสงกรานต์สุขใจ พลัส” หรือ “ประกันภัย 222” ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเทศกาลสุขใจ หรือ “ประกันภัย 100” ด้วยเบี้ยประกันภัยเพียง 222 บาทต่อปี โดยไม่ต้อง “ตาย” ก็ได้รับประโยชน์จากประกันภัย ซึ่งจะให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ ค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากอุบัติเหตุไม่เกิน 5,000 บาทต่อปีเพิ่มเติมมาด้วย

“คปภ.ฝากเตือนผู้ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางท่องเที่ยวให้ขับขี่ยานพาหนะด้วยความไม่ประมาท คาดเข็มขัดนิรภัย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกกันน็อก เมาไม่ขับ พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมสภาพร่างกายและตรวจสภาพรถให้พร้อม สิ่งที่สำคัญก่อนการเดินทางควรตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยด้วยว่าหมดอายุหรือไม่ แม้ว่าการทำประกันภัยจะไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น แต่หากเกิดอุบัติเหตุแล้วประกันภัยสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้”

ระวัง! แอลกอฮอล์เกิน 50 มก.ไม่คุ้มครอง

ท้ายที่สุดเลขาธิการ คปภ.ยังระบุด้วยว่า นอกจากมาตรการจูงใจต่างๆข้างต้นเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอุบัติเหตุบนท้องถนนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อแล้ว คปภ.ยังออกคำสั่ง คปภ.ที่ 11/2560 ลงวันที่ 16 มี.ค.2560 แก้ไขคำสั่งนายทะเบียนที่ 22/2551 ลงวันที่ 29 ก.ย. พ.ศ.2551 ในข้อ 2 และข้อ 3 (เดิม) ในเรื่อง “เมาแล้วขับ” โดยให้แก้ไขกรมธรรม์แนบท้ายตามประกาศนายทะเบียนประกันภัยเดิม จากที่กำหนดไว้เดิมหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เมาแล้วขับมาเป็นเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่า “เมาสุรา” โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.60 นี้เป็นต้นไป

...

เป็นมาตรการป้องปรามที่พุ่งเป้าไปยังผู้ขับขี่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหาก “เมาแล้วขับ” “กรณีที่ผู้ขับขี่รถเอาประกันภัยภาคสมัครใจ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากประสบอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรมธรรม์ แต่ในส่วนของผู้ประสบภัยหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถคันที่เอาประกันภัยดังกล่าวยังคงได้รับความคุ้มครอง”

***********

ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปลูกฝังจิตสำนึก สร้างความตระหนักในการลด ละ ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรชื่นชม เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเสี้ยววินาที และเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่อาจจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขใดๆได้

“ทีมเศรษฐกิจ” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยมาตรการหลัก และมาตรการเสริมที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน คงจะทำให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยในปีนี้เป็นเทศกาลแห่งความสุขของคนไทยอย่างแท้จริง!!!

ทีมเศรษฐกิจ