โลกพลิกเปลี่ยน เอเชียเศรษฐกิจผงาดธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วยการมองว่าปี 2560 ภูมิภาคเอเชียจะครองสัดส่วนเศรษฐกิจของโลกไว้มากถึง 2 ใน 3 หรือ 60% ของมูลค่าการเติบโตในโลก
คาดว่า การเติบโตของจีดีพีในเอเชียแปซิฟิกจะมากถึง 5.8% หรือมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับสหรัฐฯและยุโรปที่เติบโตเฉลี่ยราว 2%
เศรษฐกิจเอเชียยังมีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนด้านเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนา และแนวโน้มของอุปสงค์ภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้อุตสาหกรรมหลักอย่างการผลิตและการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับอานิสงส์สนับสนุนการเติบโตระยะยาว
การเติบโตด้านการบริโภคในประเทศที่มีศักยภาพด้านประชากรอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก
เป็นความได้เปรียบและมีความต่างชัดเจน
ในภูมิภาคเอเชียใต้แนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วที่สุดด้วย ศักยภาพการขยายตัวของจีดีพีที่ต่ำกว่า 7% โดยเฉพาะแรงหนุนจากอินเดียที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวราว 7.4% และเพิ่มเป็น 7.6% ในปี 61
แต่ในกลุ่มประเทศเอเชียกลางการเติบโตจะน้อยที่สุดคาดว่าไม่เกิน 3%
อุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต้องเร่งแก้ไขก็ คือ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นภาระใหญ่ของรัฐบาลแต่ละประเทศ
อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังเสี่ยงกับกระแสเงินทุนไหลออกในภูมิภาคเอเชียในอนาคตอีกด้วย
...
ก่อนหน้านี้เอดีบีได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.5% จากการคาดการณ์ปีก่อนหน้านี้ โดยระบุการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัว
การท่องเที่ยวและการบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวแข็งแกร่ง
ไทยได้เริ่มแผนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 3 ด้านหลัก คือ การเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรกรรม ปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม และยกระดับภาคบริการ
แต่ได้เตือนว่าไทยยังเจอปัญหาท้าทายเรื่องการพัฒนาภาคบริการ เนื่องจากยังขาดแคลนแรงงานทักษะ
ทางแก้ไขก็คือ จะต้องพัฒนาด้านการศึกษาและการฝึกอาชีพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามความต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย
ผลวิเคราะห์ของเอดีบีนี้ได้ชี้ออกมา 2 ส่วน คือ
ประเทศไทยแนวโน้มที่เศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน เพราะการแก้ไขปัญหาเดินมาถูกทางเพียงแต่จะต้องใช้เวลาเติบโตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ที่สะท้อนอย่างหนึ่งก็คือ เบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินที่เกินเป้าหมาย
ในระดับเอเชียที่คาดการณ์ว่าจะครองสัดส่วนถึง 60% ในระดับโลกนั้นมีความชัดเจนและอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง
แต่สหรัฐฯ-ยุโรปแม้จะดีขึ้นแต่ไม่มีทางเหมือนเดิมได้
ถ้าบวกกับสภาพความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ส่วนนี้กำลังเดินไปสู่ความล้มเหลวอย่างที่สหรัฐฯพยายามที่จะตั้งป้อมกีดกันประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ในด้านการค้า
อีกทั้งการเปิดสงครามโจมตีซีเรียและการเคลื่อนทัพเรือไปจ่อที่เกาหลีเหนือ
นั่นเป็นผลสะท้อนที่ทำให้สหรัฐฯและยุโรปพยายามดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจด้วยการใช้ความเป็นมหาอำนาจทางการทหารเพื่อปิดล้อมจีนและรัสเซีย
พร้อมที่จะเปิดสงครามเพื่อจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกกันใหม่.
“สายล่อฟ้า”