นักวิชาการชี้สัมปทานปิโตรเลียมเหมาะสมสุด

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในรูปแบบของสัมปทาน, สัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี), สัญญาจ้างบริการ (เอสซี) ว่าการหารือเป็นการประมวลภาพรวมส่วนหนึ่ง ยังไม่มีการกำหนดว่าเป็นการหารือเพื่อใช้ในพื้นที่แหล่งปิโตรเลียม เอราวัณบงกช หรือแหล่งสัมปทานรอบที่ 21 รวมทั้งยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้รูปแบบใดในการเปิดประมูล เพราะต้องมีการนำมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นายฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาการวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในด้านของนักวิชาการมองว่ารูปแบบสัมปทานมีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากทำให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูล และได้รับความสะดวก เพราะประมูลได้ ก็มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ขณะที่หากเปิดประมูลภายใต้ระบบเอสซี หรือพีเอสซี ทุกอย่างจะยังเป็นของรัฐบาล ซึ่งถ้าเอกชนที่ประมูลได้ไป จะทำอะไรก็ต้องมีการขออนุญาตจากภาครัฐ และต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน หากภาครัฐไม่อนุมัติให้ดำเนินการในบางขั้นตอน ภาคเอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้

“ต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากพอสมควร หากมีการเข้มงวดกับการปฏิบัติงานต่างๆมากเกินไป แล้วเอกชนไม่สามารถไปดำเนินการได้ ประเทศชาติอาจจะมีปัญหา ขณะเดียวกันถ้าเราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เอกชนไปต่อได้ แต่คนในสังคมไม่ยอมรับก็ติดขัดหรือมีความขัดแย้งอีก ซึ่งก็ต้องมาดูว่าความเหมาะสมควรอยู่ในจุดใด”


นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชพรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเข้าร่วมการประมูลในแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ทั้ง 2 แหล่งหรือไม่ เนื่องจากต้องรอดูผลสรุปว่าจะประมูลแบบใด ทั้งนี้ จากการหารือเรื่องกำหนดรูปแบบการประมูล คงต้องพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว.

...