อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงพื้นที่ติดตามการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ที่ อ.น้ำปาด อุตรดิตถ์ ทวงคืนผืนป่า 616.22 ไร่ ที่ราษฎรบุกรุกหลังปี 2545 เพื่อนำมาดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 60 ที่บ้านงอมถ้ำ หมู่ที่ 1 ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นศูนย์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ดอยงอมถ้ำ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีและคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามนโยบายการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน ตามนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน (CEO) โดยมี นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) นายพงศ์สันห์ รัตน์สุวรรณ หน.อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้การต้อนรับและรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในครั้งนี้

"อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 624,468 ไร่ มีพื้นที่ทำกิน ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 จำนวน 8,261 ไร่ พื้นที่ทำกินก่อนปี 2545 จำนวน 5,561.32 ไร่ พื้นที่ทำกินหลังปี 2545 จำนวน 9,016.97 ไร่ ดำเนินการทวงคืนพื้นที่ป่าได้ จำนวน 616.22 ไร่ มาดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการ (CEO) ตามนโยบายกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยงอมถ้ำ โดยบูรณาการภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของทั้ง จ.แพร่ และ อุตรดิตถ์ ระดมบุคลากรและทรัพยากรดำเนินการปลูกเสริมป่าและสร้างฝายผสมผสานตามแนวลำห้วยต่างๆ นอกจากนี้ มีการปักธงสีบนพื้นที่ดำเนินการ ประกอบด้วย ธงสีเขียว บนพื้นที่ผ่อนผันเข้าทำประโยชน์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ธงสีเหลือง บนพื้นที่ที่มีร่องรอยการบุกรุกทำกินก่อนปี 2545 และ ธงสีแดง บนพื้นที่ล่องลอยหลังปี 2545 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ" นายพงศ์สันห์ หน.อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน กล่าว

...

สำหรับนโยบายบริหารจัดการแบบ CEO เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถปรับเปลี่ยนหมุนเวียนใช้ทรัพยากรร่วมกันแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากร ซึ่งแนวทางฟื้นฟูป่าต้นน้ำมีการแบ่งพื้นที่ดำเนินการอย่างชัดเจน โดยหลังคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ต้องไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าโดยเด็ดขาด หลังปี 2545 ยึดคืนจากนายทุนแต่ให้สิทธิ์คนจน และก่อนปี 2545 ให้มีการตรวจสอบสิทธิการทำกิน โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งการดำเนินการได้ให้เจ้าหน้าที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ซึ่ง ครม.เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ประชาชนจะมีสิทธิ์ในการทำกินได้แต่ไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่และทำกินในที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย