“พรเพชร” มั่นใจ สนช.ผ่าน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกินเดือน ก.ย.นี้ กรมธนารักษ์เร่งประเมินราคาที่ดินแปลง 32 ล้านไร่ทั่วประเทศ มั่นใจเสร็จภายในปีนี้ รองรับ พ.ร.บ.ใหม่ ด้าน สศค.คาดว่ารัฐเก็บภาษีเพิ่มอีก 5-6 หมื่นล้านบาท ไม่หวั่นลดอัตราเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ในวันที่ 27 มี.ค. วิปรัฐบาลและวิป สนช.จะพิจารณามติ ครม.ดังกล่าวเพื่อเตรียมบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช. ส่วนจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวดหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูรายละเอียดเนื้อหาก่อนว่า สนช.ต้องปรับแก้ไขเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ ในการพิจารณา สนช.พร้อมรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐบาลและผู้ได้รับผลกระทบ คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.ไม่เกินเดือน ก.ย.2560

ส่วนกรณีนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เกรงว่าจะมีคนต่อต้าน นายพรเพชรตอบว่า ไม่กังวลจะถูกต่อต้านเพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับประชามติมีผลประกาศบังคับใช้แล้ว สนช.จะต้องรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ระหว่างรอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ สนช.จะรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนปกติไปเรื่อยๆ ถ้าใครคัดค้านตรงไหน สนช. ต้องรับฟังอยู่แล้ว

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ ยังคงเดินหน้าในการประเมินที่ดินรายแปลงให้แล้วเสร็จทั้งหมด 32 ล้านไร่ทั่วประเทศ ภายในปี 2560 เพื่อรองรับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจาก ครม.เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณา สนช.โดยคาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้ประเมินที่ดินรายแปลงไปแล้ว 17 ล้านไร่ ยังเหลืออีกประมาณ 15 ล้านไร่ก็ครบทั่วประเทศ

...

ทั้งนี้ การประเมินราคาที่ดินแปลงจะทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ สะท้อนความเป็นจริงได้มากขึ้น เพราะแต่เดิมกรมฯ ประเมินราคาที่ดินเป็นตามสภาพภูมิประเทศ หรือประเมินที่ดินเป็นรายบล็อก ทำให้การประเมินราคาที่ดินในบางพื้นที่ไม่ตรงกับความจริง หรือไม่สะท้อนราคาซื้อขายที่แท้จริงในท้องตลาดได้ จึงส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายที่ดินด้วย โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หลังจากกรมฯ ได้ประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่ทุก 4 ปี พบว่า การจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้นปีละ 30,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งราคาประเมินที่ดินใหม่นี้จะเป็นฐานของการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าอัตราภาษีที่ดินตาม พ.ร.บ.ใหม่ จะจัดเก็บในอัตราใดเนื่องจากรัฐบาลต้องนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ส่วนอัตราภาษีกรณีที่ดินทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.เดิมกระทรวงการคลังเสนอให้เก็บภาษีในอัตรา 5% แต่ร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขให้เก็บในอัตรา 2% และหากที่ดินนั้นยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้ปรับขึ้น 0.5% ทุกๆ 3 ปีแต่ไม่เกินเพดานอัตรา 5% นั้น มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีน้อยมาก ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ สศค.คาดว่าจะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริม-ทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด กล่าวว่า โอกาสจะทำให้ที่ดินทิ้งไว้ว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควร ออกมาหมุนเวียนสู่ตลาดมาก เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนจะมีผลกระทบกับวงการอสังหา-ริมทรัพย์มากหรือไม่ ก็คงไม่มาก เพราะบริษัทแต่ละบริษัทจะต้องจัดหาซื้อที่ดินเตรียมไว้พัฒนาแต่ละปีอยู่แล้ว ซึ่งมีแผนลุยพัฒนาโครงการต่างๆ ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วง

สำหรับราคาที่ดินในปัจจุบันจากการออกสำรวจและเก็บสถิติของบริษัทฯ พบว่าราคาที่ดินเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล เฉลี่ยปรับขึ้นปีละ 4% ที่ดินในใจกลางเมือง และแนวติดโครงการรถไฟฟ้า จะมีราคาปรับขึ้นปีละ 7-8% ส่วนที่ดินในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ราคาก็จะขยับขึ้นปีละ 4%

ด้านนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากจะให้คาดการณ์ว่า พ.ร.บ.ใหม่จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจพัฒนาอสังหาริม-ทรัพย์หรือไม่ อาจจะเร็วเกินไป แต่ในระยะสั้นแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจส่งผลกระทบไม่มากต่อเจ้าของที่ดิน แต่ในระยะยาวอาจมีผลกระทบ เพราะภาษีที่จัดเก็บจะทำให้การถือครอบครองที่ดินเปล่ามีต้นทุนที่สูง และเปิดโอกาสให้เกิดความต้องการขาย (ซัพพลาย) ที่ดินเปล่าถูกปล่อยลงตลาดในที่สุด.