หากพูดถึงกองทุนรวมหลายๆ คน จะนึกภาพกองทุน LTF-RMF 2 คู่หูที่ช่วยลดภาษีให้กับมนุษย์เงินเดือน หากขยับมาอีกนิดก็จะนึกถึงกองทุนตราสารหนี้ ที่ลงทุนเพียงสั้นๆ แต่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคาร และสิ่งที่ต่อมาซึ่งผู้คนจะนึกถึง คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่หลายๆ ค่ายถือเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิย์
และหนึ่งใน บลจ.ที่หลายคนคุ้นหู และหลายคนเป็นลูกค้าอยู่นั้นก็คือ "บลจ.กสิกรไทย" ซึ่งปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (Asset Under management) อยู่ที่ถึง 1.24 ล้านล้านบาทถือเป็น บลจ.ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในวงการ แยกเป็นกองทุนรวม 9.86 แสนล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) 21.2% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถึง 1.64 แสนล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 16.8% และกองทุนส่วนบุคคล 0.9 แสนล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 12.1% (ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2559)
ทั้งนี้ การรักษาความเป็นผู้นำและการบริหารงานในยุคดิจิตอลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวันนี้ คู่แข่งที่เป็น บลจ.ด้วยกันเองต่างงัดกลยุทธ์เด็ดๆ ออกมาสู้ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายกองทุนใหม่ๆ ก็เข้ามาร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย ซึ่งยังไม่รวมการก่อกำเนิดบรรดาฟินเทคต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในแวดวงการเงินและการลงทุน
ดังนั้น วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" จะพาผู้อ่านทุกๆ คน ไปพูดคุย แลกเปลี่ยนกับ "วศิน วณิชย์วรนันต์" ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทยรวมไปถึงกลยุทธ์ความสำเร็จในธุรกิจ การบริหารงาน ก้าวย่างต่อไปและทิศทางของ บลจ.กสิกรไทยในยุคที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนยุคไทยแลนด์ 4.0
...
หากมองในมุมของผู้ลงทุนจะเห็นนักลงทุนหลากหลายแบบ ยกตัวอย่างนักลงทุนออนไลน์ นักลงทุนที่ชอบการลงทุนผ่านรูปแบบเดิม และก็มีนักลงทุนที่ชื่นชอบแบบผสมผสาน นอกจากนี้ เราก็ยังมองเห็น Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ได้เห็นการลงทุนที่แข็งแกร่ง (robust investment) การลงทุนแบบ passive fund ที่มีการแข่งขันมากกว่า Active Fund เป็นต้น
การคัดสรรผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการผสมผสานการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นโจทย์อุตสาหกรรม การมองหากองทุนใหม่ หรือ การออกแบบกองทุนในรูปแบบใหม่ๆ เป็นหน้าที่ของ บลจ.ซึ่งความซับซ้อนเหล่านี้ นักลงทุนอาจทำความเข้าใจได้ยาก
ที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทยได้ดีไซน์กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนซับซ้อนให้ง่ายขึ้น และเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง (Risk protection) ยกตัวอย่างง่ายๆ เปรียบเทียบเหมือนการขับรถยนต์ คนก็ขับไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครถามว่า ระบบเบรกเอบีเอส หยุดได้ในระยะ 10 เมตรหรือไม่ ซึ่งเหมือนการลงทุนในกองทุนรวม บลจ.หน้าที่ดีไซน์การลงทุนออกแบบเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อตอบโจทย์การลงทุนให้กับนักลงทุน เป็นต้น
ในอนาคตจะเห็นรูปแบบการลงทุนผ่าน AI มากขึ้น ซึ่งต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับอนาคตข้างหน้า เราไม่สามารถรอให้เปลี่ยนก่อนแล้วค่อยปรับ เราคาดหวังว่าสิ่งที่บลจ.กสิกรไทยทำไม่ช้าเกินไปเมื่อเทียบกับตลาด
เปิดหมดเคล็บลับบริหารงานมูลค่ากว่าล้านล้าน
หลังจากรับตำแหน่งซีอีโอเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือนสิ่งที่ตั้งโจทย์ใหญ่ก่อนคือ ทำบริการ เราเป็นบริษัทจัดการกองทุนที่ต้องตอบโจทย์กับตลาดและสร้างความภูมิใจให้กับทีมงานอย่างไรได้บ้าง คือ ทุกวันตื่นเช้าขึ้นมา ทีมงานของเราต้องรู้สึกอยากทำอะไรที่ท้าทาย และสนุก ได้ทำอะไรขึ้นมาใหม่ๆ เมื่อมากำหนดโจทย์การเป็นผู้นำการตลาดในยุคถัดไปและสร้างสิ่งที่มีความหมายกับคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้มาลงทุน ตัวเรา อย่างไรได้บ้าง
เมื่อได้ภาพเหล่านี้ ก็เริ่มดึงเอาเรื่องของลูกค้าเป็นที่ตั้ง และมองดูปัจจัยอื่นๆ และสิ่งที่สำคัญเราต้องดูตัวเราเอง เห็นปัญหา เห็นการเปลี่ยนแปลงจึงตั้งโจทย์กว้างๆว่า "ทำอย่างไรให้การลงทุนง่ายขึ้น" ก็กลับมาดูคำว่า "ง่ายขึ้นอย่างไร" จากนั้น จะพบโจทย์ว่า 1. บลจ.กสิกรไทย มีกองทุน 150 กองทุน นักลงทุนก็เลือกยาก เพราะแต่ละกองมีนโยบายการลงทุนไม่เหมือนกัน และ 2.ลงทุนแล้วจะไปถึงตรงไหน ดีไม่ดี นักลงทุนก็ไม่รู้ จึงพัฒนาปัจจัยต่างๆ ไปตอบโจทย์กว้างๆ ที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการทำเรื่องลงทุนให้เป็นเรื่องง่ายนั้นเอง
วัฒนธรรมองค์กรสำคัญต้องสร้างให้กล้าคิดใหม่
ต้องบอกก่อนว่า วัฒนธรรมในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ ต้องตั้งคำถาม ต้องสร้างสภาพแวดล้อม ให้ทีมงานเพื่อให้กล้าบอกแนวคิดใหม่ๆ หลายคนบอกว่าจังหวะนี้ ยากนะ หลายคนจะบอกอีกว่า อันนี้ ไม่โอเค หรือ จะคิดไปทำไม อันนี้เป็นหน้าที่ของคนอื่น
...
สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้แนวคิดดีๆ ไม่ถูกตีตกไป และไม่ให้ฟุ้งเกินไป พร้อมให้ทำได้จริง เหล่านี้ ต้องใช้ทีมสปิริตอย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่ทีมงานผู้บริหารลงไป หากว่าผู้บริหารไม่เห็นองค์รวม การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) ก็เกิดยาก หรือบางคนจะมองออกผลิตภัณฑ์ไปใครมีหน้าที่ก็ขายไป แต่หากเรามองในอีกแง่มุมหนึ่งถ้าผู้ลงทุนซื้อแต่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่เขาคาดหวังเขาก็ด่าเราอยู่ หากทำให้เขาเห็นภาพใหญ่การสร้างวัฒนธรรมที่ดีจะทำให้เรื่องดีๆ เกิดขึ้น
โชคดีของผมมากทีม บลจ.กสิกรไทยเก่งมาก พวกเขามีฝัน ผมมีหน้าที่ดึงฝันของเขาขึ้นมา สิ่งที่ทีมงานเคยทำมาก่อนดีมากแล้ว จึงให้โจทย์สำคัญๆ คือ ต้องชนะ 3 อย่างคือ 1. ผู้จัดการกองทุนต้องบริหารกองทุนให้ชนะเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) สม่ำเสมอที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ 2.ต้องชนะคู่แข่ง 3. ต้องชนะในลูกค้า ถ้ามีองค์ประกอบครบทั้ง 3 อย่าง ยั่งยืนแน่ๆ และต้องทำให้ครบวงจรไม่ควรให้น้ำหนักข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป
ธุรกิจต้องคำนึงถึงลูกค้าต้องได้ประสบการณ์ที่ดี
การรักษามาร์เก็ตแชร์ 21.2% และมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ 1.24 ล้านล้านก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องคำนึงถึงลูกค้า โจทย์เราคือ ต้องการให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดยเฉพาะการให้ลูกค้าบรรลุวัตถุประสงค์ของการลงทุน โดยกองทุนจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากนักลงทุนไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์การลงทุน
ทั้งนี้ หากพูดถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินจริงแล้วๆ ส่วนใหญ่อยากได้ผลลัพธ์ ซึ่งหากแยกภาคออกมาจะพบว่าคนส่วนใหญ่ชอบบริการ เรายึดแนวทางที่ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่เคยให้โจทย์เรื่องลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเมื่อนำการให้บริการมาผนวกกับผลิตภัณฑ์ที่คัดสรรมาแล้ว สิ่งนี้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญและเป็นจุดแข็งของ บลจ.กสิกรไทย
...
การทำผลิตภัฑณ์ทางการเงินให้เข้าถึงง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และไม่ยุ่งยาก จึงเป็นที่มาของการออกแบบและจัดทำเครื่องมือ อาทิเช่น Fund Navigator การลงทุนตามวัตถุประสงค์ My Port Simulator การจำลองพอร์ตการลงทุน หรือ Retirement Plan การคำนวณแผนเกษียณอายุ รวมไปถึง K-My PVD แอปพลิเคชันลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ K-Mutual Fund แอปพลิเคชันลูกค้ากองทุนรวม เพื่อเป็นบริการเสริม ให้การลงทุนเป็นเรื่องง่ายๆ.