นักธุรกิจ และ ผู้ส่งออกไทยจำนวนมาก ออกมาเรียกร้องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว แทนที่จะแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราที่จะกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยอย่างมาก
ยิ่งถ้าการแข็งค่าเช่นครั้งนี้ เกิดขึ้นรวดเร็วจาก 37 บาทต่อดอลล่าร์ ขึ้นไปอยู่ในระดับ 34 - 33 บาทภายในเวลาเพียงไม่ถึงเดือน โดยปิดตลาดล่าสุดเมื่อวันศุกร์อยู่ที่ 32.39 บาทต่อดอลลาร์...ความวิตกกังวล ก็ย่อมสูงตามไปเป็นของธรรมดา
ว่าแต่ท่าทีของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ดูจะไม่ได้แสดงความวิตกกังวลใดๆ ออกมา...ก็คงเหมือนกับทุกๆ ครั้งที่มีกระแสสังคม และการเมือง เรียกร้องให้เขาต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นเอง
และแม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรท ลงแรงถึง 0.50% เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม แต่มากกว่า 1 สัปดาห์แล้วที่ ดร.เศรษฐพุฒิ ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับใดๆ ในเรื่องนี้
เขายืนยันแต่เพียงว่า ไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามเฟด เพราะแบงก์ชาติ และธนาคารกลางทุกประเทศ มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต...ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น หรือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ให้ความเห็นว่า ถ้าปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ หรือ เลยไปถึง 30 บาทต่อดอลลาร์ การส่งออกของประเทศไทยที่ดีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 15 เดือน ด้วยค่าเงินบาทที่เฉลี่ยระดับ 36.50 - 37 บาท จะประสบปัญหาการขาดทุน และโรงงานต่างๆ จะต้องพบกับปัญหาหนี้ท่วมทันที
...
เพราะทุกวันนี้ผู้ส่งออก และบรรดาโรงงานผลิตเพื่อการส่งออก ต้องผจญกับปัญหาจากประเทศที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลกส่งสินค้าเข้ามาตีตลาดในประเทศอย่างหนัก
หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเป็นตัวช่วย อีกหน่อยโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้งหลาย อาจจะต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น “เทรดดิ้ง” หรือ ผู้นำเข้าสินค้าจากจีนมาขายต่อ
ในที่สุดความสามามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยจะลดต่ำลง และจะมีคนจำนวนมากต้องตกงาน เสียทั้งแชร์การผลิต และแชร์การขาย
ขณะที่นักท่องเที่ยวที่กำลังเดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวนมากเพราะค่าเงินบาทถูก ก็จะชะลอการเดินทางออกไป เพราะฉะนั้น “อย่าอยู่กับทิฐิ หรือ ความเป็นอิสระที่ทำร้ายความสามารถของประเทศเลย” อิศเรศ ตบท้าย
กลับมาที่แบงก์ชาติอีกครั้ง เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมแบงก์ชาติซึ่งเป็นผู้ดูแลนโยบายดอกเบี้ย และ เสถียรภาพของค่าเงินบาท จึงไม่มีวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของดอกเบี้ย หรือค่าเงินบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
อะไรคือตัวการที่ทำให้แบงก์ชาติยืนยันว่า พวกเขาจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระเพื่อดำเนินนโยบายการเงินต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เพื่อการแก้ปัญหาระยะสั้น หรือ ปัญหาเฉพาะหน้า
ตามทฤษฏีของ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์ผู้เป็นบรมครูของพวกเรา บ่นดังๆ มานานว่า แบงก์ชาติมัวติดยึดอยู่กับ กรอบเงินเฟ้อ(Inflation Targeting) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 1 - 3% ต้องไม่เกินนี้
การจะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ก่อนครบกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ จึงทำไม่ได้ ดังนั้นแทนที่จะใช้นโยบายดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือร่วมกับเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ก็เลย ทำไม่ได้ตามไปด้วย เนื่องเพราะติดกรอบเงินเฟ้ออยู่เรื่องเดียว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงต่ำกว่าเป้ามาตลอด
ที่ร้ายกว่าก็คือ คนไทยยังมีทัศนคติที่แปลกมาก ตรงที่ไม่อยากทำอะไรที่ตัวเองต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายขึ้น อยู่เฉยๆ จึงดีกว่าจะเอาตัวเข้าไปสู้ หลายครั้งจึงพบว่ามีคนออกมา “แก้ตัว” มากกว่า “แก้ไข”
ข้ออ้างที่มักได้ยินบ่อยๆ ก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ยังไม่แข็งเท่าประเทศอื่น อัตราแลกเปลี่ยนไม่กระทบต่อการส่งออก หรือ กระทบกับเศรษฐกิจประเทศ ไม่ก็ผู้ส่งออกนั่นแหละ ต้องรู้จักปรับตัวบ้าง เป็นต้น
การพูดว่า อัตราดอกเบี้ยไม่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน หรือ อัตราแลกเปลี่ยนไม่กระทบต่อการส่งออก เท่ากับเป็นการพูดที่ไม่ตรงความเป็นจริง น่าจะทำให้เกียรติภูมิของผู้พูด และองค์กร เสียหายได้
ก็ได้แต่หวังว่า วันที่ 3 ตุลาคมนี้ กระทรวงการคลัง กับ แบงก์ชาติ จะหารือกันในเรื่องของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง พร้อมๆ กับการดูแลค่าเงินบาทให้ผู้ส่งออกไทย และเศรษฐกิจประเทศได้รับประโยชน์ โดยไม่ต้องมีวิวาทะกันถึงขั้นต้องปลดผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศ ออกจากตำแหน่ง