ดอกเบี้ยโลก เข้าสู่สภาวการณ์ที่เรียกว่า “ขาลง” ลงชัด เชื่อเงินทุนอาจไหลกลับไปยังตลาดหุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์

กระแสกดดันจากธนาคารกลางหลายประเทศ ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ(เฟด) ตัดสินใจประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย เฟด ฟันด์ เรท ลงคราวเดียว 0.50% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา

หลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2563 ส่งผลให้เงินเฟ้อมีอัตราเร่งตัวสูงขึ้นถึง 8 - 9% กระทั่งในปี 2565 เฟด จึงได้ประกาศจะกดอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากลง ด้วยการยืนกรานปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 11 ครั้ง จนกว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะเข้าสู่กรอบการควบคุมสำเร็จ

ผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดที่อยู่ในระดับต่ำที่ 0.0 - 0.25% ได้รับการปรับขึ้นไปจนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปยืนอยู่ที่ระดับ 5.25 - 5.50% เมื่อสิ้นเดือน ก.ค.ปี 2566 

นักวิเคราะห์ในตลาดเงินตลาดทุน ชี้ว่า มีเหตุผล 2 อย่างที่เฟดยอมหั่นดอกเบี้ยของตนลงเหลือ 4.75 - 5.0% 

ข้อแรก เป็นไปตามที่เฟดแถลงว่า เงินเฟ้อที่น่ากลัวของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้ว ในเวลาเดียวกันการปรับลดดอกเบี้ยลงระดับนี้ น่าจะช่วยให้การจ้างงานของบรรดาผู้ประกอบการในสหรัฐฯ มีสภาพคล่องเพียงพอ 

แม้อัตราการจ้างงานจะปรับตัวสูงขึ้นจาก 4.0% เป็น 4.4% แต่หลังปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง การจ้างงานน่าจะกลับมามีตัวเลขที่ดีขึ้น และส่งผลให้การขยายตัวของ GDP สหรัฐฯ ในปี 2567 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.0% ได้ 

เฟดยังมั่นใจด้วยว่า GDP สหรัฐฯ จะขยายตัวในระดับนี้ต่อเนื่องกันไปได้ในระยะ 3 ปีติดต่อกัน ตลอดช่วงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ตามกำหนดการเบื้องต้นในเดือน ธ.ค.ปีนี้ 1.0% ปีถัดไปอีก 1 - 1.50% และ ในปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยของเฟด น่าจะอยู่ในระดับราว 2.25 - 2.50%  

...

ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดสัญญาณชัดเจนว่า จากนี้ไป อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกอยู่ในทิศทางขาลง และเงินทุนจะไหลกลับไปหาแหล่งที่ทำกำไรได้มากกว่าคือ ตลาดหลักทรัพย์ที่จะได้ทั้งผลตอบแทนการลงทุน และราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น

ส่วนเหตุผลข้อที่สอง เฟด และรัฐบาลสหรัฐฯ อาจเห็นตัวเลขบางอย่างที่บ่งชี้ว่า ถ้าไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า ถดถอย หรือ Recession ได้ โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางทั่วโลกกำลังทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศของตนลง

ที่สำคัญสำหรับคนไทยอย่างเราๆ ก็คือ ในที่สุดการหั่นอัตราดอกเบี้ยลงคราวเดียว 0.50% ของเฟด จะกดดันให้คณะกรรมการนโนยายการเงิน(กนง.)ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ จำต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามไปโดยอัตโนมัติ เป็นไปอย่างที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

ภายใต้ความคาดหวังว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ไม่จำเป็นจะต้องไปแสดงท่าทีกดดันต่อ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ โดยเฉพาะ เมื่อมีความประสงค์จะระดมสรรพกำลังทุกฝ่ายเข้าร่วมเป็นบอร์ดกระตุ้นกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศด้วยกัน ด้วยการดึงผู้ว่าฯแบงก์ชาติเข้าร่วมแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจที่ทำให้ศักยภาพของประเทศไทย เติบโตได้ไม่เกิน 3.0% บวกลบ

สำหรับธนาคารของประเทศที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้วก็เช่น แคนาดา ลดไป 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือน มิ.ย.- ก.ค.67 เหลือ 4.50%, ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ปรับลด 2 ครั้งในเดือน มิ.ย.-ก.ย.เหลือ 3.50%, เดนมาร์ก ปรับลด 2 ครั้งเช่นกันในเดือน มิ.ย.- ก.ย.67 เหลือ 3.10%, สวิตเซอร์แลนด์ ลดไปแล้ว 2 ครั้งเหลือ 1.25%, อังกฤษ เหลือ 5.00%, นิวซีแลนด์ เหลือ 5.25% ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี, เช่นเดียวกับสวีเดน ที่ปรับลดไป 2 ครั้งเหลือ 3.50% ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา, ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซีย ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 6.00%, ในช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคารประชาชนของจีนก็ปรับลดดอกเบี้ย 0.15% ลงมาอยู่ที่ 2.50% 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ยังคงอยู่ในระดับ 2.50% นับแต่เดือน ส.ค. 67 โดยนักวิเคราะห์ คาดหวังว่า กนง.น่าจะค่อยๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก่อนจะร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้สาธารณะที่สูงถึง 90% ในการประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจนัดแรก