พบ “ไมโคร” และ “นาโนพลาสติก” ในผนังหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงการเกิด “หัวใจวาย” ถึง 4.5 เท่า เสียงเตือนดังๆจาก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” อาจารย์หมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ นักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว

“ในปัจจุบันไมโครพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ของโลก..มันอยู่ในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดิน ในน้ำ ในทะเล อยู่ในห่วงโซ่อาหาร อยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไป...จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันจะสะสมอยู่ในร่างกายของเรา”

ชัดเจนว่า “ไมโครพลาสติก” เป็น..“ภัยเงียบ” ที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างกายของมนุษย์

“ไมโครพลาสติก” คือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มีอยู่หลายรูปทรง เช่น เส้นใย ฟิล์ม โฟม ไมโครบีดส์ ฯลฯ ซึ่งความน่ากลัวของมันมีอยู่มากมาย และที่สำคัญ...ด้วยชิ้นที่เล็ก “จิ๋ว” ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงยิ่งเพิ่มความน่ากลัวเข้าไปอีก

เมื่อปลายปีที่แล้ว ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย ผู้ประสานงานอุตสาหกรรม (Industrial Liaison) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีงานวิจัยที่พบ “ไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์” อยู่จำนวนมาก

เช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment Inter national ศึกษาโดยสูตินรีเวชของโรงพยาบาลในกรุงโรม รายงานว่า พบไมโครพลาสติกในรกเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยพลาสติกดังกล่าวเป็นพลาสติกชนิดพอลิโพรไพลีน (PP) รวมถึงเม็ดสีต่างๆที่พบได้ในบรรจุภัณฑ์ทั่วไป

...

หรือนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนาและสํานักสิ่งแวดล้อมของออสเตรียที่พบ ไมโครพลาสติกในอุจจาระมนุษย์ ที่แตกต่างกันสูงสุด 9 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 50-500 ไมครอน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีรายงานว่า “ไมโครพลาสติก” ทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ประกาศว่าไมโครพลาสติกสามารถขับออกผ่านการขับถ่ายได้

อย่างไรก็ตาม ดร.ทัศชา มองว่า ก็ยังมีความน่ากังวลอยู่ดี เพราะหากไมโครพลาสติกถูกขับออกไม่หมดและมีระดับที่เล็กลงก็อาจคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลต่อมนุษย์ได้หลายอย่างในระยะยาว

“ไมโครพลาสติกมีสารที่เรียกว่า BPA ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพลาสติก ที่ผ่านมามีการทดลองในหนูพบว่าเป็นสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งในต่อมลูกหมาก และยังส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายอีกด้วย”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานหรืองานวิจัยที่สามารถอ้างอิงได้ แต่มีความน่ากังวลทั้งสิ้น เช่น สารนี้อาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทลดลง มีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโตทำให้เป็นหนุ่มสาวเร็วเกินไป เป็นต้น

อีกทั้ง “ไมโครพลาสติก” ยังอาจเข้าไปขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เนื่องจากหลายคนอาจรับไมโครพลาสติกสู่ร่างกายมากกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปี จากการกินอาหารทะเลและดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ซึ่งพวกมันมีขนาดเล็กเท่าแบคทีเรีย จึงอาจเข้าสู่กระแสเลือดและปิดกั้นทางเดินเลือดได้ในที่สุด

ผ่านมาถึงปัจจุบันกับงานวิจัยชิ้นล่า หมอหม่อง ย้ำว่า นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่ไม่ง่ายที่จะทดลอง เพื่อตอบคำถามเพราะจะผิดจริยธรรมอย่างมาก (ยกเว้นค่ายกักกันของนาซี) ที่ผ่านมา...จึงเป็นข้อมูลจากสัตว์ทดลอง

ซึ่งอาจจะไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงในร่างกายมนุษย์ ส่วนข้อมูลในมนุษย์นั้นแทบไม่มีเลย

ที่ผ่านมา มีการตรวจพบ...ไมโคร-นาโนพลาสติกในกระแสเลือดของมนุษย์ และมีหลักฐานว่า...กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดได้ แต่ก็ยังไม่ทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เป็นรูปธรรมอย่างไร

...

การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน New England Journal Medicine เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมานี้ จึงถือเป็น breakthrough...ความก้าวหน้าที่สำคัญยิ่ง

“ผมว่าคนคิดงานวิจัยนี้ ฉลาดมาก คิดดู เราจะทำอย่างไร จึงจะศึกษาไมโครพลาสติก ในหลอดเลือดมนุษย์ที่ยังมีชีวิตและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพได้?”

ผู้ทำวิจัยเลือกทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดที่คอตีบ (carotid stenosis) และได้รับการรักษาโดยการตัดเอาคราบไขมันที่พอกผนังหลอดเลือดออก (carotid endatherectomy) เพื่อป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตในอนาคต...จากนั้นเขานำ plaque หรือคราบไขมันที่ตัดออกมานี้ มาวิเคราะห์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์

อันดับแรก...น่าตกใจมากว่า เขาพบไมโครพลาสติก (polyvinyl chloride และ polyethylene) ปะปนอยู่ในคราบไขมันผนังหลอดเลือดในกว่า 60% ของคนไข้ที่นำมาตรวจทั้งหมด

อันดับสองที่น่าตกใจยิ่งไปอีก คือ เมื่อเขาติดตามประชากรสองกลุ่มนี้... (กลุ่มที่พบไมโครพลาสติกในผนังหลอดเลือดและกลุ่มที่ไม่พบ) ไปเป็นเวลา 3 ปี ก็พบว่ากลุ่มที่มีไมโคร...นาโนพลาสติกสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือด...เกิดโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์อัมพาตและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจวายและตาย

...

โดยผ่านกลไกการอักเสบของหลอดเลือด มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีพลาสติกสะสมถึง 4.5 เท่า!

OMG....(พระเจ้าช่วย)

อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบ Observational study...การศึกษาเชิงสังเกต มีข้อจำกัดในตัวของมัน...สิ่งที่แสดงให้เห็นคือความสัมพันธ์ (association) ระหว่างไมโครพลาสติกในผนังหลอดเลือดกับความเสี่ยงของการเกิดโรคทางหลอดเลือดหัวใจและสมอง

แต่...เราไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ไมโครพลาสติกทำให้เกิดหัวใจวายโดยตรง (cause and effect)

เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆที่อาจเข้ามากวนผลการศึกษา ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย เบาหวาน ไขมัน หรือแม้แต่มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชากรสองกลุ่มไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม นพ.รังสฤษฎ์ เห็นว่า ผลการศึกษานี้เปิดโลกมากและควรสร้างความตระหนักอย่างยิ่งของพวกเราต่อปัญหาพลาสติกล้นโลก

“ดูแล้วเราไม่อาจนิ่งนอนใจได้...มีความเร่งด่วนที่เราจะต้องตอบคำถามอีกมากมายเพราะมันกระทบกับคนจำนวนมาก”

“มนุษย์” ผลิต “พลาสติก” อย่างมโหฬารในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา และเพียงเศษเสี้ยวพลาสติกเหล่านี้เท่านั้นที่ถูกนำมา “รีไซเคิล”...ที่เหลือตกหล่นอยู่ในสิ่งแวดล้อมและกลับมาส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเรา

“เด็ดใบไม้หนึ่งใบสะเทือนถึงดวงดาว...ใช้ถุงก๊อบแก๊บสะเทือนถึงหลอดเลือดสมองและหัวใจ”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม