- กิจกรรม ‘Education Empower เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้’ และแฮชแท็ก #ชาวเสมารวมใจ มีโปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศโดยการคัดเลือกวิทยากรจากสถาบันกวดวิชา และเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากสถาบันเอกชนมาอบรมครูในระบบการศึกษา
- ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ กิจกรรมดังกล่าวยังสะท้อนความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อบริบทของครูในโรงเรียนและติวเตอร์ในสถาบันกวดวิชาที่มีลักษณะการสอนและจุดมุ่งหมายทางการเรียนรู้ต่างกัน
- อีกประการที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความสำเร็จในการศึกษาของเด็กส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากการดิ้นรนขวนขวายเรียนพิเศษตามเท่าที่ศักยภาพของตนเอื้อมถึง ไม่ได้เกิดจากการที่โรงเรียนสนับสนุน
เป็นที่พูดถึงอย่างออกรส นับแต่การปรากฏขึ้นของโปสเตอร์กิจกรรม ‘Education Empower เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้’ และแฮชแท็ก #ชาวเสมารวมใจ ‘สร้างทางเลือกการศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียน ฝ่าวิกฤติ COVID-19 ให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ยุค New Normal’ โปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศโดยการคัดเลือกวิทยากรจากสถาบันกวดวิชาและเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากสถาบันเอกชนที่ขายคอร์สพัฒนาครูเป็นหลัก มาอบรมครูในระบบการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 12-28 พฤษภาคม เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปิดภาคเรียนใหญ่ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
เสียงของเหล่าครูและนักการศึกษาต่อโครงการที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ มีการตั้งคำถามร่วมกันอย่างน่าสนใจ นั่นคือ กิจกรรมนี้กำลังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจต่อเรื่องการศึกษา และสะท้อนชุดความคิดที่ล้าหลังต่อกระบวนการพัฒนาครู ที่ติดกับวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้ชนิดที่ว่า มีผู้พูด (วิทยากร) และมีผู้ฟัง (ครู) อย่างตายตัว
มากกว่านั้น กิจกรรมดังกล่าวยังผูกมาพร้อมเงื่อนไขที่บางโรงเรียนมีคำสั่งให้ครูเข้าอบรมและเขียนรายงานด้วยลายมือเพื่อส่งแก่ผู้บริหารโรงเรียน บางโรงเรียนให้ครูเข้าอบรมและรายงานตัวในระบบ (รายงานชื่อ โรงเรียน สังกัด) พร้อมสรุปรายงานการอบรม แม้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจะชี้แจงภายหลังว่ากิจกรรมดังกล่าวนั้น ครูสามารถเลือกเข้าเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย ทว่าในทางปฏิบัติ ครูจำนวนไม่น้อยต้องเข้าอบรมด้วยความจำยอมต่อคำสั่งของผู้บริหารอย่างเลี่ยงไม่ได้
...
‘ครูทิว’ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล คือหนึ่งในผู้ออกมาตั้งคำถามต่อประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา เขามองว่า ความพยายามในการนำภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันจัดการศึกษา และเป็นทางเลือกให้กับครูนั้นคือเรื่องที่ดี แต่วัฒนธรรมแบบราชการและอำนาจนิยมในระบบการศึกษาต่างหากที่มีปัญหา
“สิ่งที่ครูส่วนใหญ่วิตกคือ การยกติวเตอร์ขึ้นมาพร้อมๆ กับคำพูดของ อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่กล่าวว่า 'โรงเรียนกวดวิชาไม่ใช่เรื่องเลวร้ายครับ ต้องยอมรับความจริงว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ที่เด็กของประเทศนี้ยืนแท่นรับรางวัลระดับนานาชาติ โรงเรียนกวดวิชาอยู่เบื้องหลังนะครับ'
“นั่นหมายความว่า ความสำเร็จของเด็กๆ จริงๆ แล้วคือการเด็กต้องดิ้นรนขวนขวายเรียนพิเศษตามเท่าที่ศักยภาพของตนเอื้อมถึง ไม่ได้เกิดจากการที่โรงเรียนสนับสนุนเลยด้วยซ้ำ ซึ่งผมมองว่า จริงๆ โรงเรียนก็สนับสนุน แต่พาร์ตใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเด็กโอลิมปิก หรือเด็กที่สอบติดมหาลัยดีๆ ส่วนใหญ่เข้าถึงการกวดวิชาเพราะความพร้อมทางเศรษฐกิจของครอบครัว”
ขณะเดียวกัน กิจกรรมดังกล่าวยังสะท้อนความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อบริบทของครูในโรงเรียนและติวเตอร์ในสถาบันกวดวิชาที่มีลักษณะการสอนและจุดมุ่งหมายทางการเรียนรู้ต่างกัน
“ความมุ่งหมายในการสอนของติวเตอร์นั้นต่างไปจากการเรียนการสอนเพื่อจัดการเรียนรู้ที่ให้เกิดการคิดขั้นสูง มีคุณลักษณะ มีองค์ความรู้ มีสมรรถนะ มีทักษะต่างๆ กับการสอนเพื่อเร่งรัดให้เด็กทำตามเป้าหมาย ทำข้อสอบได้ จำได้ สรุปได้ มันไม่เหมือนกัน”
จะดีกว่าหรือไม่ หากกระบวนการอบรมและพัฒนาครูจะเริ่มต้นจากการ ‘ถามครู’ ถึงปัญหาในหน้างานและความต้องการการสนับสนุน โดยมีโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา หรือกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้อำนวยทรัพยากรตามบทบาทของต้น ไม่ว่าจะ งบประมาณ เครื่องมือ และองค์ความรู้
“หรืออย่างโครงการติวเตอร์นี้ หากทำเป็นเพลย์ลิสต์ออกมา แล้วให้ครูเข้าไปดูได้ตามอัธยาศัย คนที่ริเริ่มโครงการก็สามารถเห็นตัวเลขได้ว่าครูเข้าไปดูมากน้อยแค่ไหน ดูอะไรบ้าง เพื่อนำไปวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ทำนั้นไปถึงครูมากน้อยแค่ไหน โดยที่ครูไม่ต้องมาทำรายงาน ทุกคนจะแฮปปี้เมื่อไม่มีการบังคับและเสียดแทงกัน แต่เป็นการฟังการเปิดพื้นที่ให้สนทนากันว่ายังขาดเหลืออะไรแล้วสนับสนุนอะไรกันได้บ้าง”
เมื่อรัฐยัดคุณค่า
‘สร้างเด็กไทยให้เป็น Global Citizen’ คือหนึ่งในหัวข้อการอบรมออนไลน์โดยกระทรวงศึกษาธิการที่ครูทิวสนใจ และหลังจากจบการบรรยาย ครูทิวตั้งคำถามที่น่าสนใจต่อสื่อที่รัฐกำหนดขึ้นให้ครู
“คนพยายามเรียกร้องสิทธิ แต่ไม่รู้หน้าที่ของตัวเองว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่เรียกร้องแต่สิทธิ์ตัวเอง”
ข้างต้นคือถ้อยคำบางช่วงตอนจากการบรรยายในหัวข้อ ‘สร้างเด็กไทยให้เป็น Global Citizen’ นำมาสู่คำถามของครูทิวต่อการสื่อสารมุมมองดังกล่าว ว่าในฐานะสื่อหลักที่รัฐจัดให้ครู แท้จริงแล้วรัฐกำลังแฝงชุดคุณค่าบางประการเพื่อเป็นไปตามอุดมการณ์ของรัฐหรือไม่
“หรือวิชา 'การหารายได้เสริมยุคใหม่ไม่ใช่ทางเลือกที่คือทางรอด' ซึ่งมันก็ดี ทำให้ครูได้เรียนรู้ เพียงแต่สิ่งที่สื่อออกมานั้น เขาบอกว่า 'ครูต้องพึ่งพาตัวเอง ต้องขวนขวายนะ จะได้รอด จะได้มีชีวิตที่ดี ไม่ต้องไปเป็นหนี้สหกรณ์' อะไรอย่างนี้ มันกลายเป็นการผลักภาระไปตัวปัจเจกอีกที ว่าทุกปัญหามันต้องแก้ที่ตัวเราสิ ซึ่งการสื่อสารเหล่านี้มันไปลดทอนปัญหาเชิงโครงสร้างหรือคุณค่าบางอย่างในสังคม”
การศึกษาไทยควรเป็นอย่างไร มีเป้าหมายอะไร ต้องการให้ครูเป็นแบบไหน คำถามเหล่านี้ครูทิวมองว่า อาจไม่ใช่หน้าที่ของรัฐหรือใครคนใดคนหนึ่งในการตอบคำถาม แต่ควรเป็นพื้นที่ที่ทั้งรัฐ ประชาชน นักเรียน และทุกคนในสังคมสามารถแสดงความคิดเห็นและหาแนวทางร่วมกัน
สำคัญคือ พื้นที่การมีส่วนร่วมเหล่านั้น ต้องไม่ใช้การทำเป็น ‘พิธีกรรม’ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐ แต่ต้องเป็นพื้นที่สร้างความหมายและส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการศึกษาร่วมกันอย่างแท้จริง
พัฒนาครู - ถามครูบ้าง
...
“เขาไม่เคยถาม... ไม่เคยถามว่าครูต้องการอะไร”
แม้ผู้บริหารในบางโรงเรียนจะมองว่าการพัฒนาครูนั้นต้องเริ่มต้นจากการถามความต้องของครู แต่โรงเรียนที่ว่านั้น มีจำนวนน้อยนิดจนแทบนับนิ้วได้
“ไม่มีครูคนไหนไม่อยากเห็นการศึกษาดีขึ้น ทุกคนมีความอยากเปลี่ยนแปลง และพร้อมจะพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว หากสิ่งที่ทำไปมันมีความหมายและส่งผลต่อการสอนของตัวเองและต่อผู้เรียนจริงๆ”
ในปัจจุบัน เราพบเห็นพื้นที่แลกเปลี่ยนปัญหา องค์ความรู้ ไอเดียการสอนมากมายทั้งบนพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อหยิบยืมและต่อยอดการเรียนการสอนในหน้างานของตนเอง ซึ่งเหล่านี้ครูทิวมองว่าสามารถช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของครูได้เช่นเดียวกัน
อีกหนึ่งข้อคิดเห็นของครูทิวต่อกระบวนการพัฒนาครู นั่นคือ บทบาทของสถาบันครุศึกษาและศึกษาศาสตร์ที่เป็นแหล่งรวมรวบองค์ความรู้ทางวิชาการจำนวนมาก ทว่าในความเป็นจริง สถาบันเหล่านี้กลับเหินห่างและไร้ซึ่งการมีส่วนร่วมต่อสถานการณ์ปัญหาการศึกษาและความล้มเหลวของระบบ
“หนึ่ง - สถาบันเหล่านี้คือแหล่งองค์ความรู้ งานวิจัยเชิงวิชาการต่างๆ สอง - งานที่เป็นข้อค้นพบเชิงปฏิบัติหน้างาน อยู่ที่โรงเรียน ทำไมกระทรวงไม่นำสองส่วนนี้มาร่วมมือกัน ทั้งที่สถาบันครุศึกษาและศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยก็มีงานบริการวิชาการอยู่แล้ว และส่งนิสิตนักศึกษามาไปฝึกประสบการณ์ที่โรงเรียนอยู่แล้ว หรืออาจารย์ก็ต้องมาเก็บข้อมูลจากโรงเรียนอยู่แล้ว”
“ดังนั้น ทำไมจึงไม่นำจุดแข็งทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยและการปฏิบัติงานของโรงเรียนมาพบกันเพื่อพัฒนาทั้งองค์ความรู้วิชาการและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มาสู่โรงเรียน สู่การปฏิบัติ และนำไปสู่ข้อค้นพบใหม่ๆ เชิงวิชาการร่วมกัน”
...
ปลดแอกครู
โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย - คือหนึ่งในข้อเรียกร้องของครูและนักเรียนจากขบวนการเคลื่อนไหวทางการศึกษาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
ในทางกลับกัน แล้วโรงเรียนไม่ปลอดภัยอย่างไร ครูเผชิญกับหน้างานแบบไหน และผลกระทบที่จะเกิดกับนักเรียนล่ะ - เราคาดเดาได้หรือ?
“หนึ่ง - หากมีนโยบายหรือคำสั่งอะไรลงมา ครูไม่กล้าตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นที่จะไปขัดกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจสั่งมา เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นคนไม่น่ารัก ไม่มีความดีความชอบ ครูจึงต้องอยู่ใน comfort zone ของตัวเองเพื่อความมั่นคงของการงานและรายได้”
“สอง - ถ้าครูทำอะไรแตกต่างจากคนอื่น มันอาจหมายถึงความโดดเดี่ยว ครูไม่มีพวก และถูกตีตราเป็นพวกต่อต้าน หลายคนที่ไม่ได้มีอำนาจภายในมากพอ เขาก็จะต้องเกาะกุมกับสิ่งที่เป็นอยู่เดิมไว้ ไม่กล้าจะก้าวไปเปลี่ยนแปลง”
“สาม - ครูจะสอนนอกเหนือจากหลักสูตร จากหน่วยงานเรียน จากแบบเรียนได้ไหม? จริงๆ แล้วทำได้ แต่ทำไมครูส่วนใหญ่ไม่ทำ นั่นเพราะว่า ครูต้องดิ้นรนเองทั้งหมด แล้วถ้าหากครูคนอื่นไม่เอาด้วยก็ซวยอีกเพราะไม่ได้สอนอยู่คนเดียว เขาจึงต้องตามน้ำหรือตามเสียงส่วนใหญ่ไป”
ปลายทางของสิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้ของเด็กที่ทุกอย่างล้วนมีคำตอบตายตัว การตั้งคำถามหรือวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์จึงกลายเป็นอัมพาต ครูไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เพราะความกลัว นักเรียนจึงถูกกดซ้ำอัตโนมัติตามสายพานอำนาจที่เคลื่อนจากบนสู่ล่าง
“ก่อนจะพัฒนาครู เริ่มต้นจากการปลดแอกครูก่อนครับ” ครูทิวทิ้งท้าย
...