- สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือแอปพลิเคชันสั่งอาหาร มากขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน
- ความทุกข์ของร้านอาหารคือแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เก็บค่า GP หรือค่าธรรมเนียมราว 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ซึ่งเป็นอัตราที่ร้านอาหารบอกว่าแทบไม่เหลือกำไร ฝั่งแพลตฟอร์มมีต้นทุนการดำเนินการ จึงต้องเก็บค่า GP จากร้าน และแม้เก็บแล้วแพลตฟอร์มก็ยังขาดทุน
- มีแพลตฟอร์มเกิดขึ้นมาใหม่ชูจุดขาย ‘ไม่เก็บค่า GP’ แล้วแพลตฟอร์มนี้เอาเงินที่ไหนมารับภาระค่าใช้จ่าย แพลตฟอร์มจะอยู่ได้ในระยะยาวหรือไม่
หิวไหม คุณมีอะไรทานหรือยัง ? แอปพลิเคชันส่งอาหารมักจะส่งมาถามในเวลาใกล้ๆ มื้ออาหาร เพียงแค่เรากดสั่งแล้วรออีกสักหน่อยก็จะมีคนขับนำอาหารมาส่งถึงที่บ้าน เป็นความสะดวกสบายที่ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ และช่วยเราได้มากในสถานการณ์ปัจจุบันที่จำเป็นต้องงดออกนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค
เห็นได้ชัดว่าทั้งร้านอาหารและผู้บริโภคจำเป็นต้องพึ่งพาแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า ครึ่งแรกของปี 2563 การสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มสั่งอาหารมีการขยายตัวสูงถึงประมาณ 150 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 และเมื่อเดือนมกราคม 2564 แอปพลิเคชันสีเขียวรายหนึ่งเปิดเผยว่า ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุม มีการจำกัดการรับประทานอาหารที่ร้าน หรือจำกัดเวลาเปิด-ปิดร้านนั้นยอดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันฟูดเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น 3 เท่า
ในความสะดวกสบายของผู้บริโภค และในโอกาสของร้านอาหารที่มีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น ก็มีความเดือดร้อนของเจ้าของร้านอาหารแฝงอยู่ในทุกออเดอร์ เพราะร้านอาหารโดนแพลตฟอร์มเก็บ ‘ค่า GP’ สูงจนแทบไม่เหลือกำไร ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนถึงปัญหานี้อยู่ตลอด บางช่วงเสียงเบา แต่ช่วงนี้เสียงดังขึ้นมาเพราะร้านอาหารต้องขายผ่านแพลตฟอร์มในสัดส่วนมากขึ้นกว่าในภาวะปกติ
...
ค่า GP คืออะไร เจ้าไหนเก็บเท่าไร
GP มาจากคำว่า Gross Profit เรียกอย่างกลางๆ ว่า ค่าธรรมเนียม สำหรับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ก็หมายถึงค่าธรรมเนียมหรือค่าส่วนแบ่งการขายที่ร้านอาหารต้องแบ่งให้แก่แพลตฟอร์มนั่นเอง
ในเมืองไทยมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่อยู่ 4 เจ้าหลักๆ คือ GrabFood, LINE MAN, foodpanda และ gojek (เดิมคือ GET) ซึ่งทุกเจ้าเก็บค่า GP ในอัตราใกล้เคียงกัน แต่มีรายละเอียดและมีเงื่อนไขบางอย่างที่ต่างกัน
GrabFood เคยเก็บค่า GP สูงสุดที่เพดาน 35 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขาย แต่ปัจจุบัน เก็บในอัตรา 15-30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ด้าน LINE MAN เก็บ 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย แต่ก็มีทางเลือกให้ร้านไม่จ่ายค่า GP ได้ ส่วน gojek เก็บในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย และ foodpanda เก็บ 32 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่จะเพิ่มค่า GP อีก กระทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้กรมการค้าภายในเรียกประชุมหารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ 11 ราย หลังจากประชุมหารือกันแล้ว วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในให้ข่าวว่า แพลตฟอร์มยืนยันว่าไม่มีนโยบายปรับค่า GP เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์และต้องการช่วยเหลือร้านค้าอยู่แล้ว
ค่า GP สูงเกิน ร้านอาหารอยู่ยาก
ในภาวะปกติทั่วไปที่ยังไม่มีโรคโควิด-19 ระบาด ร้านอาหารก็เป็นกิจการที่มีความท้าทายหลายด้านอยู่แล้ว ทั้งมีอัตรากำไรต่ำ มีสภาพคล่องต่ำ และมีความอยู่รอดต่ำจนน่าตกใจ
ข้อมูลจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด บอกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของร้านอาหารในประเทศไทยมีอายุอยู่ไม่เกิน 5 ปี และเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีอายุอยู่นานกว่า 10 ปี
เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดเป็นเหตุให้ลูกค้าน้อยลง ส่งผลให้ร้านอาหารอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ยิ่งในช่วงที่ภาครัฐออกมาตรการห้ามนั่งทานอาหารที่ร้าน ร้านอาหารยิ่งเหมือนเจอมรสุมเข้าไปอีกหลายลูก แม้หันหน้าเข้าหาแพลตฟอร์มบริการส่งอาหารแล้วก็ยัง ‘อยู่ยาก’ เพราะโดนเก็บค่า GP สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ (ยังไม่รวม VAT 7 เปอร์เซ็นต์)
ยอดขายที่ขายได้จะถูกหักแบ่งให้แพลตฟอร์มในอัตราที่สูงจนทำให้กำไรหดหาย หรือแทบไม่เหลือกำไร เป็นเหตุผลที่ก่อนหน้านี้ร้านอาหารจำนวนมากไม่เข้าไปขายในแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ขายหน้าร้านแทบไม่ได้ ร้านที่เคยยืนอยู่ด้วยตัวเองต้องยอมหันไปพึ่งฟู้ดเดลิเวอรี่เพื่อเอายอดขายไว้ก่อน แล้วค่อยหาทางให้อยู่รอดต่อไปได้
วิธีการทำกำไรของบางร้านคือ ขึ้นค่าอาหารที่ขายในแพลตฟอร์มเหล่านี้ เพื่อให้ร้านยังคงคุณภาพอาหารเท่าเดิม และให้ร้านมีกำไรหลังจากโดนหักค่า GP ไปแล้ว แต่ผู้ให้บริการบางเจ้าไม่อนุญาตให้เพิ่มราคาอาหารจากราคาขายปกติที่หน้าร้าน หากเข้าไปขายในแพลตฟอร์มของเจ้านั้น ร้านอาหารก็ใช้วิธีนี้ไม่ได้
อีกทางหนึ่งสำหรับร้านที่ไม่อยากเพิ่มราคาอาหาร หรือติดเงื่อนไขของแพลตฟอร์มที่ไม่ให้เพิ่มราคาก็คือ ขายอาหารราคาเท่าเดิม แต่ลดต้นทุนลง โดยอาจจะเลือกวัตถุดิบที่คุณภาพต่ำลง หรือคงคุณภาพวัตถุดิบเท่าเดิม แต่ลดปริมาณอาหารลง
หากร้านอาหารเลือกทางใดทางหนึ่งใน 2 ทางนี้ คนที่รับผลกระทบก็คือลูกค้าที่จะต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้น หรืออาจจะได้อาหารที่คุณภาพลดลง หรือปริมาณลดลง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในกรณีที่ร้านค้าไม่อยากจ่ายค่า GP เลย ผู้ให้บริการบางเจ้าก็มีทางเลือกนี้ให้ แต่ร้านก็ต้องยอมรับว่าการเลือกไม่จ่ายค่า GP นั้นจะทำให้เสียโอกาสในการขาย เพราะว่าค่าส่งอาหารจะคิดตามระยะทางในอัตราที่ตกลงไว้กับคนขับ ร้านจะไม่ได้เข้าร่วมโปรโมชั่นส่งฟรีหรือค่าส่งต่ำๆ และไม่ได้เป็นร้านแนะนำในแอปพลิเคชัน ซึ่งเมื่อค่าส่งสูงและไม่อยู่ในร้านแนะนำ โอกาสที่ลูกค้าจะเลือกก็น้อย หากไม่ใช่ร้านที่มีแฟนเหนียวแน่นจริงๆ
เก็บขนาดนี้แอปฯ ยังขาดทุน แล้วทางออกคืออะไร ?
การทำธุรกิจต้องมีกำไรหรืออย่างน้อยก็ต้องทำรายได้ไม่ขาดทุน ซึ่งช่องทางหารายได้ของแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มีอยู่ 2 ทางหลักๆ คือ การเก็บค่า GP และแบ่งส่วนแบ่งค่าส่งจากคนขับ
ในความเป็นจริง บรรดาแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังไม่ได้เก็บค่าส่งตามอัตราจริง เนื่องจากบรรยากาศการแข่งขันที่ดุเดือดในอุตสาหกรรมนี้ แต่ละเจ้าจึงดึงดูดลูกค้าให้ใช้บริการแพลตฟอร์มของตัวเองโดยการคิดค่าส่งที่ถูกกว่าอัตราค่าส่งจริง แล้วเอาเงินของบริษัทแบกรับภาระค่าส่งเอาไว้
ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ทั้ง 4 เจ้าหลักจึงยังไม่มีเจ้าไหนเลยที่ทำกำไรได้
จากการค้นงบการเงินของบริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้ใน DBD DataWarehouse+ ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบงบการเงินอัปเดตล่าสุดปี 2562 ซึ่งเปิดเผยว่า 4 บริษัทนี้มีรายได้และกำไร (ขาดทุน) ดังนี้
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai เคยเขียนบทความอธิบายเรื่องนี้ในบล็อกส่วนตัวเมื่อเดือนเมษายน 2563 ว่า วิธีการที่แฟร์ที่สุดคือ ร้านอาหารขายอาหารในราคาปกติ ผู้บริโภคจ่ายค่าส่งตามระยะทางจริง คนส่งอาหารได้ค่าส่งตามระยะทางจริง แล้วหักส่วนแบ่งให้แพลตฟอร์มตามที่ตกลงกันไว้ แต่วิธีนี้มีจุดอ่อนคือ ต้นทุนส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าส่งค่อนข้างแพง ซึ่งทำให้แรงจูงใจในการสั่งอาหารลดลงไปด้วย ดังนั้นทางแพลตฟอร์มจึงคิดโมเดล ‘ค่าส่ง 10 บาท’ ขึ้นมาแก้ปัญหา
เมื่อค่าส่งถูกกว่าความเป็นจริงที่คนขับต้องได้รับ แพลตฟอร์มคือผู้ควักส่วนต่างจ่ายค่าคนขับเกือบทุกออเดอร์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่แพลตฟอร์มต้องเก็บค่า GP จากร้านอาหาร ให้ร้านอาหารมารับผิดชอบต้นทุนส่วนนี้ร่วมกัน
อิสริยะอธิบายอีกว่า หากใช้ตัวเลข GP อัตรามาตรฐานในท้องตลาดคือ 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าอาหาร ในหนึ่งออเดอร์ ร้านอาหารต้องขายอาหารได้ขั้นต่ำ 100 บาทต่อ 1 ออเดอร์ จึงจะได้ค่าส่ง 30 บาทไปจ่ายให้คนขับพอดี โดยที่แพลตฟอร์มเท่าทุน ไม่ได้กำไร แต่ในความเป็นจริงต้องคิด VAT อีก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 32.1 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่าร้านต้องขายได้เป็นออเดอร์ละ 102-103 บาท จึงจะพอดีกับต้นทุนค่าส่งขั้นต่ำสุดๆ ที่ 40 บาท
“ในทางปฏิบัติจริง แพลตฟอร์มไม่ได้กำหนดว่าออเดอร์ขั้นต่ำต่อเที่ยวต้องเป็นเท่าไร ดังนั้นหากผมสั่งชาไข่มุก 1 แก้ว 50 บาท ต่ำกว่าสมการข้างต้นที่คิดขั้นต่ำไว้ที่ 100 บาท แปลว่าจะมีคนขาดทุนนั่นเอง ออเดอร์รวม 60 บาท = ค่าชาไข่มุก 50 บาท + ค่าส่ง 10 บาท ต้องจ่ายค่าส่งให้คนขับ 40 บาท ผู้บริโภคจ่ายให้แล้ว 10 บาท เหลืออีก 30 บาท ค่าชาไข่มุก 50 บาท คิด GP 30 เปอร์เซ็นต์ = ร้านอาหารช่วยจ่าย 15 บาท เหลืออีก 15 บาท ตรงนี้แพลตฟอร์มต้องแบกรับการขาดทุนไปนะครับ” เขาแจกแจง
“หากผู้บริโภคสั่งอาหารในราคารวมที่มากขึ้น (ภาษาในวงการเรียก basket size) เช่น 200-300 บาท ก็จะช่วยให้ส่วนแบ่งของแพลตฟอร์ม (ค่า GP 30 เปอร์เซ็นต์) เพิ่มมากตามไปด้วย เพียงพอที่จะจ่ายค่าส่งได้ไม่ขาดทุน แต่ในมุมของร้านอาหารที่เสียส่วนแบ่ง GP คงที่เสมอ ก็อาจมองว่าไม่ได้อะไรเพิ่มจากค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นมากนัก”
ทางออกที่เหมาะสมในมุมมองของอิสริยะคือ ผู้บริโภคต้องยอมจ่ายค่าส่งมากขึ้น เพื่อช่วยแบกรับต้นทุนของค่าส่งจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่น
“การที่เราอยู่บนโมเดลทางเศรษฐกิจที่ ‘มีใครสักคนขาดทุน’ มันคงไม่ยั่งยืน เป็นธุรกิจที่เป็นจริงได้ไม่นาน ดังนั้นในระยะยาว โมเดลค่าส่ง 10 บาทคงไม่สามารถยืนระยะได้”
...
บางแพลตฟอร์มไม่เก็บค่า GP เอาเงินจากไหนมาแบกต้นทุน
มีแพลตฟอร์มบางเจ้าที่เกิดขึ้นมาใหม่ชูจุดขายไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับร้านอาหาร แต่หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อไม่เก็บค่า GP แล้วจะเอารายได้มาจากไหน การดำเนินการใดๆ ย่อมมีต้นทุนมีค่าใช้จ่าย ถ้าไม่มีรายได้จะเอาเงินที่ไหนมาแบกต้นทุนนี้ และธุรกิจที่ไม่มีรายได้จะอยู่ได้อย่างไรในระยะยาว
กรณีที่ต้องยกมากล่าวถึงเพราะเป็นเจ้าดังที่เปิดตัวพร้อมจุดขายไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร และได้ใจคนในสังคมมากก็คือ Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือ เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อีกที
ตอนเปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2563 Robinhood บอกว่า มุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็กๆ ในการเพิ่มโอกาสการขาย แก้ปัญหาที่เดิมไม่สามารถค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง ซึ่ง Robinhood แก้ปัญหานี้โดยการไม่คิดค่า GP
เงื่อนไขของ Robinhood มีข้อเดียวคือ ร้านอาหารที่จะเข้าไปขายในแพลตฟอร์มต้องเปิดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์สำหรับรับเงินค่าอาหาร ซึ่งร้านจะได้รับเงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง อันนี้เป็นอีกจุดเด่นของ Robinhood ที่ช่วยให้ร้านอาหารมีเงินหมุนเวียนสำหรับดำเนินธุรกิจต่อไปได้
อีกหนึ่งเจ้าที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพร้อมชูจุดขายไม่เก็บค่า GP นั่นก็คือ TrueFood ของ True ในเครือซีพี ที่บอกว่า ร้านอาหารสมัครเป็นพันธมิตรส่งอาหารกับ TrueFood ได้โดยไม่มีค่าสมัครและไม่เก็บค่าธรรมเนียม (GP) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งร้านที่สมัครจะได้สิทธิพิเศษในการสมัครใช้บริการของทรู และส่วนลดซื้อวัตถุดิบราคาพิเศษ
...
ส่วนที่เราสงสัยกันว่า แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ไม่เก็บค่า GP เอาเงินที่ไหนมาถมต้นทุน ในระยะยาวจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร
คำตอบในกรณีของ Robinhood ก็คือ Robinhood ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อหารายได้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น แพลตฟอร์มตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการทำซีเอสอาร์ของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งโดยปกติไทยพาณิชย์ได้จัดสรรงบประมาณไว้สำหรับทำซีเอสอาร์อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะนำไปใช้ผ่านโปรเจกต์ไหน อย่างไร ดังนั้น Robinhood จึงสบายตรงที่มันไม่ได้มีภารกิจที่จะต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง แต่มีภารกิจเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัทแม่เป็นหลัก
แต่ถึงอย่างนั้น Robinhood ก็ได้สร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจให้แก่บริษัทแม่แบบอ้อมๆ ก็คือ การหาลูกค้าให้ธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ร้านค้าทุกร้านที่ขายใน Robinhood จะต้องเปิดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ อีกทั้ง Robinhood ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยไทยพาณิชย์ผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสด เพราะระบบชำระเงินของ Robinhood เป็นแบบดิจิทัลเพย์เมนต์ทั้งหมด ไม่มีการใช้เงินสดเลย
ส่วนกรณีของ TrueFood ก็คล้ายๆ กันตรงที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทใหญ่และมีเงินจากบริษัทแม่มาเลี้ยง แต่ TrueFood อาจจะไม่ได้เน้นทำเป็นซีเอสอาร์อย่าง Robinhood หากสังเกตจะพบว่า TrueFood ถูกใช้เป็นอีกช่องทางส่งเสริมการขายสินค้าและบริการของเครือซีพี ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิพิเศษจูงใจให้ร้านค้าใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตของ True และมีส่วนลดสำหรับการซื้อวัตถุดิบจากซีพี และดึงให้ลูกค้าจ่ายเงินผ่านทรูมันนี่ วอลเล็ท ส่วนการไม่เก็บค่า GP นั้นก็ยังไม่แน่ว่าจะไม่เก็บตลอดไปหรือไม่เก็บแค่ในระยะแรก เพราะตามข้อมูลที่บอกว่า ฟรีค่าสมัครและไม่เก็บค่า GP นั้นกำหนดระยะเวลาไว้แค่สิ้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น
สรุปคือ การที่แพลตฟอร์มไม่เก็บค่า GP จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย 2 กรณี กรณีธรรมดาทั่วไปก็คือแพลตฟอร์มต้องเก็บค่าบริการจากลูกค้าในอัตราที่ครอบคลุมต้นทุนหรือมีกำไร อีกกรณีเป็นกรณีพิเศษอย่างที่ว่ามา คือแพลตฟอร์มนั้นไม่ได้ทำเพื่อรายได้หรือกำไร เพราะมีเงินจากทางอื่นมาเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแม่ที่มั่งคั่งจากกองทุน จากมูลนิธิ หรืออะไรก็ว่ากันไป
...