- คนไทยต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากเป็น 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งหมด
- ที่ผ่านมาหลังจากไกล่เกลี่ยหนี้แล้วลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามแผน เพราะข้อเสนอรับชำระหนี้มุ่งตอบโจทย์เจ้าหนี้
- แบงก์ชาติจัด ‘มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้’ ขึ้นมา เพื่อให้ลูกหนี้ไกล่เกลี่ยหนี้ได้ง่ายขึ้น และสามารถจ่ายหนี้ได้จริง
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ บอกว่า ในแต่ละเดือนคนไทยใช้จ่ายหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสูงถึง 34 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของการจ่ายหนี้ทั้งหมด ปัญหาหนี้บัตรเครดิตจึงถือเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
แล้วคุณล่ะ เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ ตอนนี้ยังจ่ายหนี้ได้คล่องเป็นปกติอยู่ไหม หรือเริ่มฝืดเคืองติดขัดแล้ว หรือจ่ายไม่ไหวมานานจนปล่อยเป็นหนี้เสียไปแล้ว
ไม่ว่าจะอยู่ในข่ายไหน ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ลูกหนี้จะได้จัดการแก้ไขหนี้ด้วยข้อเสนอการไกล่เกลี่ยชำระหนี้ที่ดีกว่าที่เคยมีมาก่อน
อย่างที่เราเห็นๆ กันว่าในช่วงเผชิญวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 หลายคนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ บางคนตกงานหรือมีคนในครอบครัวตกงาน รายจ่ายของแต่ละครอบครัวยังเท่าเดิมแต่รายรับลดลง บางคนชักหน้าไม่ถึงหลัง และความสามารถในการชำระหนี้ชะงักไป
เนื่องจากสถานการณ์ไม่สู้ดีแบบนี้ แบงก์ชาติจึงร่วมกับพันธมิตรจัดงาน ‘มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้’ ขึ้นมา เพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้หาทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน
รู้จัก ‘มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้’
‘มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้’ มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล’ เป็นมหกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อให้ลูกหนี้สามารถยื่นขอไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี
เดิมทีงานนี้กำหนดช่วงเวลาไว้ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์-14 เมษายน 2564 แต่เนื่องจากผลตอบรับดีมาก มีประชาชนมากกว่า 200,000 คน สนใจและลงทะเบียนเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยเกือบ 500,000 บัญชี แบงก์ชาติจึงขยายเวลาจัดมหกรรมนี้ออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
...
แก้ปัญหาการไกล่เกลี่ยหนี้แบบเดิม
เนื่องจากเห็นว่าการไกล่เกลี่ยหนี้ที่เคยมีก่อนหน้านี้ไม่ตอบโจทย์และไม่ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะว่าแผนหรือข้อเสนอรับชำระหนี้นั้นมุ่งตอบโจทย์เจ้าหนี้ อาจจะไม่ได้คำนึงว่าลูกหนี้จะสามารถทำตามแผนได้หรือไม่
ดังนั้นในมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครั้งนี้ แบงก์ชาติจึงแก้ไขปัญหาโดยเข้าไปจัดทำข้อตกลงที่จะใช้เป็นมาตรฐานกลาง มีข้อเสนอการรับชำระหนี้ที่ผ่อนปรน อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้สามารถปฏิบัติได้จริง ให้ผู้ไกล่เกลี่ยนำไปใช้ในกระบวนการเจรจาต่อไป และสำหรับบางหนี้บางกลุ่มจะใช้ข้อเสนอและเงื่อนไขของโครงการ ‘คลินิกแก้หนี้’ ที่ดำเนินการก่อนหน้านี้
พูดง่ายๆ ว่า การยื่นคำขอเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ในมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้ขอไกล่เกลี่ยได้ง่ายขึ้น และได้รับเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยเอง อีกทั้งยังครอบคลุมหนี้บัตรทุกกลุ่มทุกสถานะ ทั้งหนี้ดี ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน, หนี้เสีย ก่อนฟ้องและอยู่ระหว่างฟ้อง และหนี้เสียที่มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว
ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้จากมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้
อย่างที่กล่าวไปว่า มหกรรมไกล่เกลี้ยหนี้ครั้งนี้จะช่วยให้ลูกหนี้ไกล่เกลี่ยหนี้ได้ง่ายขึ้น และครอบคลุมหนี้ทุกสถานะ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดี หนี้เสียที่ยังไม่ถูกฟ้อง หนี้เสียที่กำลังจะถูกฟ้อง ไปจนถึงหนี้เสียที่มีคำพิพากษาแล้ว ดังนั้น มหกรรมนี้จึงดีต่อลูกหนี้มากกว่าที่เคยเป็นมา
รายละเอียดข้อเสนอการชำระหนี้นั้นแตกต่างออกไปตามสถานะของหนี้ 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้สถานะยังเป็นหนี้ดี
ลูกหนี้สถานะยังเป็นหนี้ดี สามารถขอเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง 16 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนนาน 4 ปี ดอกเบี้ยลดลงเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ และมีค่างวดคงที่แน่นอน ซึ่งดีกว่าการจ่ายผ่อนขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น หนี้บัตร 100,000 บาท ถ้าผ่อนขั้นต่ำปีแรกเฉลี่ย 5,000 บาท ต้องจ่าย 84 งวดจึงจะหมดหนี้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นสินเชื่อผ่อนรายเดือนเฉลี่ยงวดละ 3,000 บาท จะจ่ายแค่ 40 งวดเท่านั้น
การเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่มีระยะเวลาดังกล่าวนี้จะไม่กระทบประวัติในฐานข้อมูลเครดิตบูโร นอกจากนี้ ยังสามารถขอให้ผู้ให้บริการคงวงเงินบัตรเครดิตบางส่วนเอาไว้ได้ด้วย
ส่วนหนี้บัตรกดเงินสดก็สามารถเปลี่ยนเป็นหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนนาน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทผ่อนรายเดือนที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ สามารถขอลดดอกเบี้ยลงเหลือ 22 เปอร์เซ็นต์ และลดค่างวดลงได้ 30 เปอร์เซ็นต์ด้วย
กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้สถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ทั้งที่ยังไม่ถูกฟ้องและถูกฟ้องแล้ว
สำหรับลูกหนี้ที่สถานะเป็นหนี้เสียทั้งที่ยังไม่ถูกฟ้องและถูกฟ้องแล้ว ข้อเสนอที่ได้รับจะเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการคลินิกแก้หนี้ คือ สามารถผ่อนชำระหนี้ได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำเพียง 4-7 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ข้อเสนอของคลินิกแก้หนี้เป็นหนึ่งข้อเสนอที่ใช้ในขั้นตอนไกล่เกลี่ยทางออนไลน์ของศาล ลูกหนี้ที่ใช้ช่องทางของมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้จะถือว่าสมัครเข้าคลินิกแก้หนี้ และเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาลไปพร้อมๆ กัน เมื่อตกลงกันได้แล้วสามารถเลือกไปลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงได้ที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ
กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้สถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ที่มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว
...
สำหรับลูกหนี้สถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ที่มีคำพิพากษาและถูกบังคับคดีแล้ว หรือที่เรียกว่า ‘คดีแดง’ โดยปกติถ้าถึงขั้นนี้แล้วเจ้าหนี้จะไม่ยอมเจรจา แต่ในมหกรรมไก่เกลี่ยหนี้ครั้งนี้เจ้าหนี้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง
ข้อเสนอที่ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับคือ ผ่อนปรนให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 5 ปี ส่วนดอกเบี้ยจะได้รับการยกให้ไม่ต้องจ่ายหากลูกหนี้ผ่อนชำระเงินต้นตามแผนได้สำเร็จ
เจ้าหนี้ที่เข้าร่วม
มีเจ้าหนี้ตกลงเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ 23 แห่ง เป็นธนาคารพาณิชย์ จำนวน 11 แห่ง และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือธนาคาร (non-bank) จำนวน 12 แห่ง ได้แก่
ธนาคารพาณิชย์
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
5. ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. สาขากรุงเทพฯ
6. ธนาคารซีไอเอ็มบี จำกัด (มหาชน)
7. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
8. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
9. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
10. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
11. ธนาคารออมสิน
Non-bank
1. บริษัท เจนเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
2. บริษัท ซิตี้คอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
3. บริษัท เทสโก้ โลตัส มันนี่ เซอร์วิส จำกัด
4. บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด
5. บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด
6. บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด (บัตร First Choice)
9. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน) (บัตรยูเมะ)
11. บริษัท ไอร่ำ แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
12. บริษัท ไอทีทีพี จำกัด
...
ช่องทางและขั้นตอนลงทะเบียนไกล่เกลี่ยหนี้
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ มีหลายช่องทางให้เลือกผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานที่ร่วมจัดงาน และเว็บไซต์ของผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วมงาน
และเว็บไซต์ของผู้ให้บริการทางการเงินทั้ง 23 แห่งที่เข้าร่วมงาน
ข้อมูลที่ต้องกรอกในการลงทะเบียน ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล หมายเลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ เจ้าหนี้ที่ต้องการขอไกล่เกลี่ยด้วย รูปแบบการชำระที่ต้องการ (มีตัวเลือกให้) ช่องทางที่ได้รับข่าวสาร อีเมล และที่อยู่
เมื่อกรอกข้อมูลและกดส่งข้อมูลแล้วจะต้องยืนยันด้วยรหัสที่ส่งทาง SMS มายังโทรศัพท์ตามหมายเลขที่ลงทะเบียน เมื่อยืนยันแล้วถือว่าการส่งคำขอเสร็จสมบูรณ์ จากนั้นก็รอทางผู้ให้บริการทางการเงิน (เจ้าหนี้) ติดต่อกลับมา
หากใครต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม หรือถ้าไม่สะดวกจะทำเองต้องการให้เจ้าหน้าที่ช่วยกรอกข้อมูลให้ ก็สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร 1213 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการ สามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือส่งอีเมลไปที่ fcc@bot.or.th เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ ธปท.ติดต่อกลับ
...