กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ย 1.5% หนุนขยายตัวเศรษฐกิจ จากส่งออกมีแนวโน้มโตกว่าที่ประเมิน มองหนี้ครัวเรือนยังสูง ทำกำลังซื้อค่อยๆ ฟื้น พร้อมติดตามใกล้ชิดสงครามการค้า...

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ส่วนอีก 1 เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควรจึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการด่าเนินนโยบายการเงิน

สำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากผลดีของการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรม มายังไทยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ตามปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น

...

อย่างไรก็ตามหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่างๆ ในระยะข้างหน้า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ สำหรับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ หลังเกิดเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่อาจต่ำกว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในกรอบเป้าหมายแต่มีความเสี่ยงด้านต่ำ จากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูงตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณผลผลิต ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คณะกรรมการฯ จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มตามศักยภาพ อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ท่าให้ต้นทุนการผลิตลดลง

สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมค่อนข้างทรงตัวภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวใกล้เคียงเดิม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังระดมทุนได้ต่อเนื่องโดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน จากทิศทางการด่าเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า โดยค่าเงินบาทมีทิศทางสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจน่าไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และเห็นควรให้ติดตามภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ตามมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ แต่ต้องติดตามความเข้มแข็งของอุปสงค์ในประเทศ พัฒนาการของเงินเฟ้อ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และแนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่อาจต่ำกว่าคาด จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป.