อีกหนึ่งบุคคลสำคัญของโลกเทคโนโลยี ชายผู้เปลี่ยนโลกโซเชียลมีเดียด้วยการสร้าง “Facebook” ขึ้นมา จนขึ้นแท่นเป็นแพลตฟอร์มสร้างชื่อ ที่แม้แต่ Gen Boomer ก็ต้องใช้ ชายที่มีชื่อว่า “Mark Zuckerberg” ด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มในแทบจะทุกภาพที่ออกสื่อ การแชร์คอนเทนต์แนวครอบครัวผ่านโพสต์ส่วนตัว และแนวทางการทำธุรกิจของ Meta ส่งผลให้ชื่อของ Mark Zuckerberg ปรากฏอยู่ในข่าวหน้าหนึ่งบ่อยครั้ง
วิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำของโลกเทคโนโลยีก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Meta แทบจะขึ้นมาครองโลก ด้วยแพลตฟอร์มโซเชียลในมือที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Whatsapp ตลอดจนแอปฯ น้องใหม่ Threads ล้วนขึ้นเป็นแอปพลิเคชัน Top 10 ที่คนทั่วโลกต้องดาวน์โหลด ซึ่งก็ส่งผลให้ Mark Zuckerberg เองทำเงินได้มหาศาลจากโปรดักต์เหล่านี้
จากข้อมูลของ Forbes ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2025 รายงานไว้ว่า Mark Zuckerberg มีความมั่งคั่งสุทธิที่ 239,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาท แซงหน้า Jeff Bezos ขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่ของความมั่งคั่งของ Mark Zuckerberg นั้นมาจากการถือหุ้นใน Meta ที่ประมาณ 13% ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีระดับโลก
ในบทความนี้ Thairath Money คอลัมน์ How to Make Money จะพาไปทำความรู้จัก Mark Zuckerberg ผู้คิดค้นและก่อตั้ง Meta เจ้าของ Facebook แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเปลี่ยนโลกที่ปัจจุบันกุม Data ของผู้ใช้กว่า 3 พันล้านคนไว้ในมือ
Mark Zuckerberg เกิดในปี 1984 และเติบโตในแถบ Dobbs Ferry นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พร้อมกับพี่สาว 2 คนและน้องสาว 1 คน ซึ่ง Zuckerberg มีความหลงใหลในคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยังเด็ก บวกกับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีอย่างเต็มที่จากคุณพ่อ Edward Zuckerberg ทันตแพทย์ และคุณแม่ Karen Kempner จิตแพทย์ ซึ่งทั้งคู่เป็นแพทย์ชื่อดังในนิวยอร์ก
Mark Zuckerberg ได้รับการแนะนำสู่โลกของการเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุยังน้อย มีความสามารถและเชี่ยวชาญในโปรแกรมภาษา C++ อีกทั้งยังโชคดีได้ทดลองพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ตั้งแต่วัยละอ่อน อีกทั้งยังมีทักษะตามธรรมชาติที่ได้รับการบ่มเพาะจากสภาพแวดล้อมที่ให้คุณค่ากับการศึกษาและเทคโนโลยีมาโดยตลอด และในช่วงวัยรุ่นตอนต้นเขาได้เริ่มสร้างโปรแกรมและเกมง่าย ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่เริ่มพัฒนาขึ้น
ในช่วงเรียนมัธยมที่ Phillips Exeter Academy ทาง Zuckerberg ได้ทดลองฝึกฝนและพัฒนาทักษะผ่านการทำโครงการต่าง ๆ ที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์กับความชำนาญทางเทคโนโลยี ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จที่โดดเด่นในช่วงแรก คือ การพัฒนาโปรแกรมส่งข้อความที่ถูกเรียกว่า “ZuckNet” จนต่อมาพ่อของ Mark Zuckerberg ก็ได้นำไปใช้ในคลินิกทันตกรรมของตัวเองอีกด้วย
ประสบการณ์ในช่วงเริ่มต้นเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงของเขาในฐานะเด็กโปรแกรมเมอร์ผู้มีพรสวรรค์ แต่ยังเป็นรากฐานให้กับความคิดริเริ่มและนวัตกรรมที่ในที่สุดจะนำไปสู่การสร้าง Facebook ที่ฮาร์วาร์ดในภายหลัง
Mark Zuckerberg เริ่มต้นแนวคิดในการสร้างสรรค์แพลตฟอร์มเชื่อมต่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยในช่วงปี 2003 ได้เริ่มต้นที่การทดลองพัฒนาเว็บไซต์ “Facemash” ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ให้ผู้ใช้งานเปรียบเทียบและโหวตรูปถ่ายของเพื่อนนักศึกษา
แต่ทว่า Facemash ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องจริยธรรมและความเป็นส่วนตัว แต่ขณะนั้นก็มีหลายฝ่ายที่มองว่าโครงการนี้ของ Mark Zuckerberg ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อผู้คนและเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล
จนต่อมาในปี 2004 ทาง Mark Zuckerberg ได้ร่วมกับเพื่อน ๆ อย่าง Eduardo Saverin, Andrew McCollum, Dustin Moskovitz และ Chris Hughes ก่อตั้ง “TheFacebook” โดยเริ่มต้นจากการเป็นเครือข่ายออนไลน์สำหรับนักศึกษาฮาร์วาร์ดที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและมีการใช้งานเฉพาะกลุ่ม จนกระทั่งประสบความสำเร็จมีนักศึกษาสนใจใช้งานจำนวนมาก
ความสำเร็จในระดับมหาวิทยาลัยทำให้แนวคิดนี้ได้รับการขยายตัวไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และในที่สุดเปิดรับสมาชิกจากทั่วโลกภายใต้ชื่อ “Facebook” ด้วยฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อสานความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Facebook กลายเป็นปัจจัยที่ช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้คนสื่อสารและเชื่อมต่อกันในระดับโลก พร้อมวางรากฐานให้กับการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในยุคปัจจุบัน
ก่อนที่ Facebook จะกลายเป็นธุรกิจโฆษณาขนาดใหญ่ นอกเหนือจากการเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแล้ว Facebook ยังพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลข้อมูล หนึ่งในนวัตกรรมสำคัญคือ “Cassandra” ระบบฐานข้อมูลกระจายที่ปรับขนาดรองรับเซิร์ฟเวอร์หลายร้อยถึงหลายพันเครื่อง โดยโค้ดถูกเปิดให้ผู้พัฒนาทั่วไปใช้งาน
นอกจาก Cassandra แล้ว Facebook ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมแพลตฟอร์มโอเพนซอร์สสำหรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง Apache Hadoop ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กสำหรับจัดการชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Large Data Set) ที่ต่อมามาพ้องกับคำว่า “Big Data” ซึ่ง Facebook ไม่เพียงแต่ได้นำ Hadoop มาใช้งานในการวิเคราะห์ข้อมูลภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลอีกด้วย
ปัจจุบัน Facebook ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการติดตามพฤติกรรมการใช้งาน เช่น การคลิก, เวลาในการใช้งาน และความสนใจในเนื้อหาต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างละเอียด และยังเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้ใช้งานในยุคดิจิทัลอีกด้วย
นอกจากนี้ Facebook ยังได้เข้าซื้อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ด้วยเหตุผลเชิงกลยุทธ์หลายประการ โดยการเข้าซื้อแพลตฟอร์มอย่าง Instagram และ WhatsApp ทำให้บริษัทสามารถขยายฐานผู้ใช้งานและเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้และรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างออกไปจากแพลตฟอร์มหลักอย่าง Facebook ได้ ซึ่งช่วยให้มีระบบนิเวศที่หลากหลายและครอบคลุมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ
อีกทั้ง การเข้าซื้อกิจการเหล่านี้ยังช่วยให้ Facebook กำจัดคู่แข่งที่อาจเข้ามาขยายตลาดและรวมส่วนแบ่งตลาดให้เป็นของตัวเอง อีกทั้งยังสามารถผสานคุณสมบัติใหม่ ๆ และโปรโมตบริการข้ามแพลตฟอร์มได้ ซึ่งส่งผลให้เพิ่มความมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานและเปิดช่องทางรายได้ใหม่ ๆ ผ่านโฆษณาที่ตรงเป้าหมายและหลากหลายมากยิ่งขึ้น
จนเมื่อ Transform ตัวเองมาเป็น Meta และเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลใหญ่ ๆ หลายตัว บวกกับ Data ของผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล ทำให้ Meta สามารถออกแบบแคมเปญโฆษณาสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลายช่องทางในเวลาเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้แคมเปญมีความครอบคลุมและสอดคล้องกันมากขึ้น
ในปี 2024 ทาง Meta มีรายงานรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 164,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ (ประมาณ 98%) มาจากการโฆษณาดิจิทัล ซึ่งโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 22% แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและความสามารถในการปรับตัวของแพลตฟอร์มนี้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
ซึ่งจากรายงานของ Meta พบว่า ส่วนใหญ่รายได้มาจาก 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแอปพลิเคชันโซเชียล และกลุ่ม Reality Labs ที่ออกแบบและทำงานวิจัยใน AR และ VR
รายได้จากแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย
รายได้จาก Reality Labs
ทั้งนี้ Mark Zuckerberg มีแนวคิดในการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นแกนหลักในการเชื่อมต่อผู้คนและสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ด้วยแนวคิด “Move Fast and Break Things” ในช่วงแรกของ Facebook ได้สะท้อนถึงความสำคัญของความรวดเร็วในการพัฒนาและนวัตกรรม แม้ว่าตอนนี้แนวคิดนี้ได้พัฒนาไปสู่ “Move Fast with Stable Infrastructure” เพื่อเน้นความสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความน่าเชื่อถือ แต่ทั้งสองแนวคิดยังคงเป็นพื้นฐานในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดในโลกดิจิทัล
ที่มา: Meta, Bloomberg, Forbes [1][2], Wired, ThoughtCo., Investopedia, People
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney