ต้อนรับการกลับมาสู่หน้าสื่ออีกครั้งของ Jack Ma ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ Alibaba Group เพราะเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทาง Alibaba Group ได้ประกาศผลประกอบการของไตรมาสสุดท้ายสิ้นปี 2024 พบว่ารายได้โตกว่าที่คาดการณ์ไว้ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจคลาวด์และอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง
หลังประกาศรายได้ หุ้นของ Alibaba พุ่งขึ้นกว่า 9% ในการซื้อขายช่วงเช้าของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2025 ราคาหุ้นของ Alibaba ก็พุ่งขึ้นกว่า 50% ทั้งในตลาดหุ้นนิวยอร์กและฮ่องกง ได้รับอานิสงส์จากกระแส AI ที่นำโดย DeepSeek ซึ่งผลักดันให้กลุ่มเทคโนโลยีจีนเติบโต ตลอดจนความร่วมมือกับ Apple เพื่อเปิดตัวฟีเจอร์ AI สำหรับ iPhone ในจีน
อีกทั้งการกลับมาปรากฏตัวของ Jack Ma เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในการประชุมสำคัญของผู้ประกอบการจีนระดับสูงร่วมกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งการที่ Jack Ma ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมนี้ถูกมองว่า เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าได้รับการฟื้นฟูสถานะแล้ว หลังจากที่เคยเป็นเป้าหมายสำคัญของการกวาดล้างภาคเทคโนโลยีโดยรัฐบาลจีนในปี 2020
รายได้ของบริษัทในไตรมาสสุดท้าย สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2024 อยู่ที่ 280,154 ล้านหยวน (หรือประมาณ 38,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 279,340 ล้านหยวน (หรือประมาณ 38,498 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
กำไรสุทธิในไตรมาสนี้อยู่ที่ 48,945 ล้านหยวน (หรือประมาณ 6,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สูงกว่าการคาดการณ์ของ LSEG ที่ 40,600 ล้านหยวน (หรือประมาณ 5,595 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 14,433 ล้านหยวน (หรือประมาณ 1,989 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กำไรในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
Eddie Wu ซีอีโอของ Alibaba กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ผลประกอบการไตรมาสนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าสำคัญของกลยุทธ์ ‘User First, AI-Driven’ และการเติบโตของธุรกิจหลักที่กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง”
สำหรับกลุ่มธุรกิจ Cloud Intelligence ของ Alibaba พบว่า ยอดขายโตขึ้น 13% จากปีก่อนหน้า โดยมีรายได้ที่ 31,742 ล้านหยวน (หรือประมาณ 4,375 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ขณะเดียวกัน ธุรกิจหลักของ Alibaba ด้านอีคอมเมิร์ซทั้ง Taobao และ Tmall Group พบว่ารายได้โตขึ้น 5% อยู่ที่ 136,091 ล้านหยวน (หรือประมาณ 18,755 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาสเดียวกันนี้
ขณะที่กลุ่มธุรกิจ International Digital Commerce Group ซึ่งดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง Lazada และ AliExpress มีรายได้เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน เป็น 37,756 ล้านหยวน (หรือประมาณ 5,203 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้มีผลมาจากตลาดระหว่างประเทศที่กำลังคึกคัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายฝั่งอีคอมเมิร์ซทั้งในและนอกประเทศจีนจะเติบโต แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเศรษฐกิจจีน ที่เริ่มเห็นแนวโน้มการใช้จ่ายที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อของจีนที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบห้าเดือน
ขณะเดียวกัน Ant Group บริษัทฟินเทคยักษ์ใหญ่ของจีนที่ก่อตั้งโดย Jack Ma เช่นกัน ก็มีประกาศผลกำไรในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 พบว่า กำไรโตขึ้นกว่า 50 เท่า ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการลงทุน
อีกทั้งยังทำผลกำไรให้กับ Alibaba ที่เป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วน 1 ใน 3 ของ Ant Group ได้กว่า 4,490 ล้านหยวน (หรือประมาณ 618 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจากการคำนวณของ Bloomberg จะเท่ากับว่า กำไรของ Ant Group ในไตรมาส 3 ที่สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน อยู่ที่ประมาณ 13,600 พันล้านหยวน (หรือประมาณ 1,874 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
กิจการด้านเทคโนโลยีของ Alibaba ถูกจับตามองจากนักลงทุนอย่างใกล้ชิด หลังจากที่บริษัทประกาศความร่วมมือกับ Apple ในการพัฒนา Apple Intelligence เพื่อใช้ใน iPhone ที่จำหน่ายในจีนโดยเฉพาะ
ด้าน Eddie Wu ซีอีโอของ Alibaba ก็ได้ออกมาประกาศจุดยืนสำคัญว่า “Alibaba จะใช้เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และ AI ภายในสามปีข้างหน้ามากกว่าที่ใช้ไปในช่วงสิบปีที่ผ่านมา” แต่ก็ยังไม่มีการออกมาเปิดเผยตัวเลขที่แน่ชัด
ในปี 2024 เพียงปีเดียว Alibaba ทุ่มเงินทุนในโครงการต่าง ๆ รวมมูลค่ากว่า 72,500 ล้านหยวน (หรือประมาณ 9,992 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจาก 24,000 ล้านหยวน (หรือประมาณ 3,308 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีก่อนหน้า โดยเน้นไปที่การซื้อหน่วยประมวลผลและลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการฝึกโมเดล Large Language Models (LLMs)
โดยเป้าหมายหลักของ Alibaba ตอนนี้ คือ การพัฒนา Artificial General Intelligence หรือ AGI ที่สามารถคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ในระดับมนุษย์ได้ และคาดว่าจะเปิดตัว Deep Reasoning Model ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อแข่งขันกับ DeepSeek และ OpenAI ที่มีความสามารถด้านการใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน
Alibaba เริ่มเข้าสู่วงการ AI โมเดล AI ขนาดใหญ่ที่เป็น Open Source ด้วยตัวเองจากการเปิดตัว ModelScope ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ด้าน Open Source ของบริษัทฯ เมื่อปลายปี 2022 ต่อมาทาง Alibaba ก็ได้เปิดตัวโมเดล Open Source รุ่นแรก Qwen-7B เมื่อเดือนสิงหาคม 2023
โดยต่อมาก็มีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมทั้งโมเดลภาษา, มัลติโมดัล, โมเดลด้านคณิตศาสตร์ และโค้ด กระทั่งต้นปีที่ผ่านมานี้ ก็ได้เปิดตัว Qwen 2.5 โมเดลใหม่ซึ่งบริษัทอ้างว่ามีศักยภาพเหนือกว่าโมเดลของ DeepSeek อีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: พักจาก DeepSeek มารู้จัก “Qwen 2.5-Max” โมเดล AI ใหม่ล่าสุดของ Alibaba ที่เคลมว่าฉลาดกว่าทุกด้าน
นอกจากนี้ Alibaba ยังเร่งลงทุนอย่างหนักในสตาร์ทอัพด้าน AI ของจีน อย่างเช่น Moonshot และ 01.ai เพื่อดึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาใช้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับ Baidu และ ByteDance
และในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา Alibaba ได้เปิด Open Source โมเดลภาษาขนาดใหญ่หลายตัว เพื่อดึงดูดนักพัฒนามายังแพลตฟอร์มคลาวด์ของบริษัทและเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งในตลาด
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney